posttoday

สงครามกลางเมืองอังกฤษ: พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (The World Turned Upside Down)

22 ตุลาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*********************

ในปี ค.ศ. 1642 ฝ่ายรัฐสภาได้ยื่นข้อเสนอสิบเก้าประการต่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง โดยมีเนื้อหาจำกัดและลดทอนพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบ ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว และให้เหตุผลว่า หากพระองค์ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ก็เท่ากับพระองค์ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

และหลังที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งทรงปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว ทั้งฝ่ายสนับสนุนรัฐสภาและฝ่ายพิทักษ์ราชบัลลังก์ต่างก็เตรียมตัวในการเผชิญหน้าทางกำลังทหารอย่างเปิดเผย

จากนั้น เดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน สงครามกลางเมืองก็เกิดขึ้นระหว่างคนอังกฤษด้วยกันเอง โดยพระเจ้าชาร์ลส์ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายรัฐสภาที่เมืองน็อตติงแฮมในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1642

สงครามระหว่างคนอังกฤษสองฝ่าย-----ระหว่างฝ่ายนิยมเจ้าสนับสนุนกษัตริย์ (Royalists) กับอีกฝ่ายที่สนับสนุนรัฐสภา (Parliamentarians)-----หรือที่รู้จักกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่า “สงครามกลางเมืองอังกฤษ” (the English Civil War) แบ่งออกเป็นสามช่วง

ช่วงแรกคือนับตั้งแต่การประกาศสงครามในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1642 จนถึง ค.ศ. 1646 ช่วงที่สองระหว่าง ค.ศ. 1648-1649 และช่วงที่สามคือ ค.ศ. 1649-1651 ในงานเขียนที่ชื่อ The World Turned Upside Down: Radical Ideas During the English Revolution ของศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อังกฤษในช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ด ให้ความเห็นไว้ว่า การก่อการกบฏของประชาชน (popular revolt) เกิดขึ้นมากมายหลายครั้งในช่วงเวลาหลายร้อยปีของประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษ จนกล่าวได้ว่า กบฏของประชาชนนั้นได้กลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของการเมืองอังกฤษก็ว่าได้

แต่การกบฏครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษคือช่วงกลางทศวรรษของศตวรรษที่สิบเจ็ด ซึ่งเป็นช่วงเวลาของสงครามกลางเมืองที่นำพาไปสู่การปฏิวัติทางการเมืองสมัยใหม่ครั้งแรกของอังกฤษและของโลกด้วย

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า สงครามหรือการปฏิวัติอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดนี้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐสภากับฝ่ายที่สนับสนุนพระราชอำนาจกษัตริย์ ซึ่งแกนนำหลักของฝ่ายรัฐสภาก็คือพวกชนชั้นเจ้าที่ดินและพ่อค้า ขณะเดียวกัน ก็มีไพร่ฟ้าประชาชนชั้นล่างที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นขบวนการต่างๆเข้าร่วมสนับสนุนฝ่ายรัฐสภา ซึ่งคริสโตเฟอร์ ฮิลล์เห็นว่า คนเหล่านี้คือพวกที่เป็นกบฏประชาชน หรือถ้าจะเรียกว่าเป็นกบฏรากหญ้าก็คงไม่ผิด

จะว่าไปแล้ว ในการต่อสู้กับฝ่ายสนับสนุนเจ้า ในที่สุด มันก็ลงเอยด้วยผลประโยชน์ของฝ่ายชนชั้นเจ้าที่ดินและพ่อค้าเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยนิดในสังคมอังกฤษ มีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด และแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมอังกฤษขณะนั้นก็คือพวกรากหญ้า

คนชั้นล่างหรือรากหญ้าอังกฤษที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มต่างๆ ได้เข้าร่วมในการปฏิวัติครั้งนั้น ถือเป็นกบฏของคนชั้นล่างที่เกิดขึ้นภายใต้การปฏิวัติแย่งชิงอำนาจระหว่างพวกพ่อค้าเจ้าที่ดินกับพวกเจ้านายฝ่ายกษัตริย์ กลุ่มกบฏรากหญ้าเหล่านี้มีชื่อกลุ่มของตัวเองต่างๆหลากหลาย ได้แก่ Levellers, Diggers, และ Fifth Monarchists ขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มศาสนาเข้าร่วมด้วย ได้แก่ Baptists, Quakers, Muggletonians

นอกจากนี้ยังมีพวก Seekers และ Ranters แม้ว่าแต่ละกลุ่มจะมีเป้าหมายในการเรียกร้องต่อสู้แตกต่างกัน แต่กระนั้น ข้อเรียกร้องหรือเป้าหมายของพวกเขาก็ดูจะแยกกันไม่ออกเด็ดขาดชัดเจนว่า กลุ่มนี้ต่อสู้ในทางการเมือง กลุ่มนั้นต่อสู้ในเรื่องที่ทำกิน หรือกลุ่มโน้นต่อสู้ในเรื่องศาสนา เพราะในที่สุดแล้ว ก็เป็นการต่อสู้กับผู้ปกครองขณะนั้น นั่นคือ สถาบันกษัตริย์

จากการที่มีคนหลายระดับและหลายภาคส่วนเข้าร่วมต่อสู้ในสงครามกลางเมือง-ปฏิวัติครั้งนั้น กล่าวได้ว่า เกือบทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมอังกฤษช่วง ค.ศ. 1645-1653 ถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ปฏิเสธ ให้ค่าใหม่ คงไม่ต่างจากการเมืองไทยขณะนี้

ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมอังกฤษช่วงทศวรรษ 1645 ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสถาบัน-ค่านิยม-ความเชื่อดั้งเดิม ทุกอย่างมันดูกลับหัวกลับหางบิดเบี้ยวไปหมดจากที่เคยรับรู้เข้าใจ ซึ่งในสังคมไทยเราขณะนี้ก็กำลังสัมผัสความรู้สึกที่คล้ายๆกันนี้อยู่

ได้แต่หวังว่าถ้ามันจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ก็ขอเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดสงครามกลางเมืองเข่นฆ่าประหัตประหารล้มตายกันอย่างของอังกฤษ เพราะประวัติศาสตร์น่าจะให้บทเรียนแก่เราในการที่ไม่ต้องซ้ำรอยมัน เพราะอย่างน้อยในการปฏิวัติของอังกฤษครั้งนั้น มันก็หาได้ลงเอยที่ประโยชน์ของคนรากหญ้าส่วนใหญ่แม้แต่น้อย !

ขณะเดียวกันในช่วงเวลาขณะนั้นของอังกฤษ คริสโตเฟอร์ ฮิลล์พบว่า ในบรรดากลุ่มคนรากหญ้านั้น ผู้คนทั่วไปก็ย้ายสังกัดความนิยมไปมาระหว่างกลุ่มต่างๆ คนที่เคยอยู่กับพวก Quakers ก็ย้ายไปอยู่กับพวก Levellers หรือจาก Levellers มาอยู่กับพวก Quakers กล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวายโกลาหลที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษเลยทีเดียว

อย่างที่ เจอรราด วินสตันเลย์ (Gerrard Winstanley: 1609-1676) หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Levellers และ Diggers ได้กล่าวถึงความเป็นไปในช่วงนี้ของอังกฤษว่า “โลกใบเก่า....กำลังวิ่งไปเหมือนกับแผ่นหนังที่กำลังถูกเผาผลาญ” การเปรียบเทียบกับแผ่นหนัง ก็เพราะแผ่นหนังติดไฟยาก เปรียบได้กับจารีตประเพณีอันเก่าแก่ของสถาบันต่างๆของอังกฤษ แต่เมื่อติดแล้ว ไฟก็จะค่อยๆมอดไหม้กัดกินแผ่นหนังนั้นไปเรื่อยๆ และเขายังกล่าวอีกด้วยว่า “เสรีภาพ คือ คนที่จะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจเลยที่เขามีศัตรู”

สงครามกลางเมืองอังกฤษ: พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (The World Turned Upside Down)

แต่ในที่สุด ไฟแห่งการปฏิวัติของประชาชนคนรากหญ้าก็ถูกขยี้ดับสิ้นจากฝ่ายที่ได้ชัยชนะในการปฏิวัติ อันเป็นฝ่ายที่มวลชนคนรากหญ้าเคยให้การสนับสนุนเสียด้วย เพราะหลังจากที่ฝ่ายเจ้าพ่ายแพ้สงคราม ผู้นำฝ่ายรัฐสภาอันได้แก่ โอลิเวอร์ ครอมแวล (Oliver Cromwell: 1599-1658 ) ได้สถาปนาตัวเองเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (the Protectorate) และนำพาอังกฤษเข้าสู่การปกครองภายใต้อำนาจของชนชั้นเจ้าที่ดินและพ่อค้า แทนที่อำนาจของกษัตริย์และพวกพระ เปลี่ยนแปลงจากพระราชอำนาจ-พระราชสิทธิ์ที่อิงอยู่กับเทวสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้ามาสู่อำนาจที่อิงอยู่กับการครอบครองทรัพย์สิน โดยมีจริยธรรมแบบโปรเตสแตนท์เป็นอุดมการณ์ที่รองรับประสานสอดคล้องกับการค้าพาณิชย์ในขณะนั้น

คริสโตเฟอร์ ฮิลล์เห็นว่า นั่นคือผลพวงของการปฏิวัติอังกฤษที่ผู้คนมักจะกล่าวถึง ในขณะที่มีการปฏิวัติที่ซ้อนและซ่อนอยู่ภายใต้การปฏิวัติของบรรดาชนชั้นกระฎุมพีเหล่านั้น นั่นคือ การปฏิวัติของคนรากหญ้า ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่ไม่สำเร็จ หรืออาจจะเรียกได้ว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นการปฏิวัติจริงๆ เป็นแต่เพียงความพยายามเท่านั้น และแม้ว่าเป็นเพียงแต่ความพยายาม มันก็ได้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวจากทั้งฝ่ายนิยมกษัตริย์และพวกกระฎุมพีที่สนับสนุนฝ่ายรัฐสภา และในการร่วมต่อสู้กับพวกกระฎุมพี คนรากหญ้าก็ได้ช่วยโค่นล้มระบอบกษัตริย์ลงไปได้ แต่การดำรงอยู่ของพวกกบฏรากหญ้านั้นเป็นภัยต่อชนชั้นกระฎุมพีอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้น พวกรากหญ้าจึงต้องถูกบดขยี้กวาดล้างไปในที่สุด

คริสโตเฟอร์ ฮิลล์กล่าวว่า หากการปฏิวัติของคนรากหญ้าได้ชัยชนะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคมอังกฤษก็คือ การจัดตั้งการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกันของคนทุกคนในชุมชน (communal property) สิทธิทางการเมืองจะไม่จำกัดแต่เฉพาะคนรวย สถาบันทางการเมืองและกฎหมายก็จะเป็นประชาธิปไตยที่เข้มข้นมากกว่าจะเป็นประชาธิปไตยของพวกกระฎุมพีเท่านั้น และแน่นอนว่า ในทางศาสนา ชัยชนะของคนรากหญ้าก็จะล้มศาสนจักรที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ ขณะเดียวกันก็จะปฏิเสธจริยธรรมแบบโปรเตสแตนท์ด้วย

และของเราจะลงเอยอย่างไร ?

สงครามกลางเมืองอังกฤษ: พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (The World Turned Upside Down)

    บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันที่ 18 ต.ค. 63 เวลา 18.00 น.