posttoday

ไทยนี้รักสงบ...แต่ถึง“ม๊อบ”ไม่ขลาด:การรับมือกับชัยชนะของฝ่ายต่อต้านอำนาจเก่า

19 ตุลาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร                               

*******************

บางคนบอกว่า การเมืองไทยขณะนี้ ต้องจับตาดูแบบวันต่อวัน ตาอย่ากระพริบ เพราะที่ผ่านมา บางช่วง กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นต่อ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายรัฐบาล สลับไปมา แต่ถ้าดูรวมๆจะพบว่า ก่อนวันที่ 14 ตุลาคม กระแสของฝ่ายผู้ชุมนุมดูแผ่วลง และยิ่งแผ่วลงหลังจากกรณีขบวนเสด็จ

จุดหักเหอยู่ที่การประกาศ พรก ฉุกเฉิน  ที่สังคมแบ่งออกเป็นสองความเห็นทั้งต่อการประกาศ พรก และต่อกรณีขบวนเสด็จ แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมประสบความสำเร็จในการช่วงชิงกระแส “ตีความ” กรณีขบวนเสด็จได้จนทำให้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านท้าทาย พรก ฉุกเฉิน ที่ราชประสงค์เป็นจำนวนมาก ประกอบกับทำเลที่การเดินทาง การกิน การขับถ่ายสะดวก และเป็นที่ๆคุ้นเคยและใกล้สถานศึกษาต่างๆด้วย

วันต่อมา นัดที่เดิมแต่เปลี่ยนมา (แกง !) เป็นสี่แยกปทุมวัน เป็นทำเลสะดวกเช่นเคยหรืออาจจะสะดวกมากขึ้นเพราะอยู่ใกล้สถานศึกษาและโรงเรียนกวดวิชา  และเป็นเย็นวันศุกร์ด้วย  ผู้มาร่วมชุมนุมที่เป็นคนวัยเรียนก็มาร่วมได้ง่าย และที่เป็นคนทำงานก็มาง่ายเช่นกัน

จุดหักเหครั้งที่สองอยู่ที่การบังคับใช้ พรก สลายการชุมนุมโดยการใช้น้ำฉีด ซึ่งขาว่าว่า เป็นไปตามหลักสากลจากเบาไปหาหนัก  และรถฉีดน้ำนี้ก็เพิ่งซื้อมาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (2554-2557) และเท่าที่มีคนบอก มีการใช้รถฉีดน้ำต่อผู้ชุมนุมประท้วงมาแล้วในสมัย กปปส.  มาแล้วครั้งหนึ่ง

และก็อีกที่ฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมประสบความสำเร็จในการช่วงชิงกระแส “ตีความ” การบังคับใช้ พรก สลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำ เพราะกระแสสังคมโดยทั่วไปต่างประณามโจมตีการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมที่เป็น “เด็ก เยาวชน นักเรียนนักศึกษา ลูกหลานของเราเอง”  คือพูดง่ายๆว่า ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้ พรก สลายการชุมนุมโดยใช้การฉีดน้ำ แม้ว่าจะเป็นมาตรการสากลจากเบาไปหาหนักตามตำราก็ตาม

และภายใต้บริบทวัฒนธรรมไทยและอาจจะรวมทั้งโลกด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ มันยากที่จะหาใครออกมาอธิบายว่า  ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา เยาวชน หากทำผิด พรก ฉุกเฉินแล้ว ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ว่า ถ้าเป็นพี่น้องเสื้อแดงรากหญ้าหรือพี่น้องปักษ์ใต้บ้านเรา ก็กระหน่ำฉีดได้เต็มที่ ทั้งๆที่สมัยพี่น้องเสื้อแดงหรือพี่น้องเสื้อเหลืองมาชุมนุม ก็ใช่ว่าจะไม่มีเด็กเยาวชน

ที่เห็นก็มีอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา ดร.ปิติ ศรีแสงนามกล้าออกมาให้ความเห็นกับบางกอกโพสต์ว่าการสลายฝูงชนเป็นไปตามมาตรฐาน โดนทัวร์ลงหรือเปล่าไม่ทราบได้ ถ้าทัวร์ไม่ลงแบบอ้าซ่า (อ้าซ่าคือ ด่าคนแล้วกล้าเปิดสาธารณะ กล้าให้คนถูกด่าเห็น)  ก็คงลงแบบอีแอบ (อีแอบ คือ ด่าคนแบบสนุกปากกันเองเฉพาะในหมู่ แต่ไม่กล้าให้คนถูกด่าเห็น)

ก็ว่ากันไป เสรีภาพในการแสดงออก!

การใช้น้ำฉีดกลุ่มผู้ชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันที่เป็น “เด็ก เยาวชน นักเรียนนักศึกษา ลูกหลานของเราเอง”  เป็นประเด็นให้ฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นต่อ และรัฐบาลเพลี้ยงพล้ำ  และกลายเป็นประเด็นให้ต้องขบคิดว่า ตกลงแล้ว จะทำอย่างไรกับการบังคับใช้ พรก และจะชุมนุมอย่างไรต่อไป ?

จนต้องมีสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์นักวิชาการอย่าง ศ. ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่คนส่วนใหญ่มักตีตราท่านว่าเป็นนักสันติวิธี แต่จริงๆแล้ว ท่านบอกว่า ท่านเป็นนักวิชาการด้านการไม่ใช้ความรุนแรง (non-violence) ต่างหาก (แปลว่า สันติวิธีกับไม่ใช้ความรุนแรงคงไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียทีเดียว) ท่านได้ให้ความเห็นทำนองว่า  ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องทำตามตำรามากนัก แต่ผู้ชุมนุมต้องชุมนุมตามตำรา

อาจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร นักมานุษยวิทยามือหนึ่งแห่งธรรมศาสตร์ได้ยินแล้ว ต้องออกมาตั้งคำถามกับอาจารย์ชัยวัฒน์มากมาย รวมทั้งคุณกล้า สมุทวนิชที่ “กล้า” สมชื่อที่โพสต์ในเฟซบุ๊คแบบอ้าซ่าว่า “…หลังจากนี้ ต้องให้ชัยวัฒน์เป็นโมฆะบุคคลทางวิชาการ แบบไม่ปล่อยหรือเปิดโอกาสให้กลับมาอีก” !!!  OMG

ผม (ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสลายฝูงชน) เข้าใจไปเองซึ่งไม่รู้ถูกหรือเปล่าว่า อาจารย์ชัยวัฒน์ท่านต้องการสื่อเป็นนัยว่า ตำรวจไม่ต้องเริ่มต้นตามตำราโดยการฉีดน้ำ อาจจะใช้วิธีการอย่างอื่นนอกตำราที่เบากว่า หรือฉีดน้ำให้มันเบาๆหน่อยหรือเปล่าไม่ทราบ (คล้ายๆจะได้ยินแกเอ่ยคำว่าสงกรานต์และปืนฉีดน้ำหรืออะไรสักอย่าง ฟังไม่ถนัด เพราะเสียงในคลิปมันไม่ดี) แต่เอาเป็นว่า น่าจะคล้ายๆกับการอะลุ่มอล่วยอะไรแบบนี้ เหมือนกับเวลาตำรวจจราจรเจอคนทำผิดกฎจราจร ก็ไม่ต้องเป๊ะๆจับปรับทันที แต่ตักเตือนและกำชับกำชา ไป

ส่วนที่บอกให้ผู้ชุมนุมต้องชุมนุมตามตำรา ผมก็ไม่รู้ว่าเหมือนกันว่า มันคืออะไร เพราะปกติ ตำราเรื่องอะไรมันก็มีตีความกันหลากหลายอยู่  แต่อาจารย์ชัยวัฒน์คงไม่ได้หมายความให้ผู้ชุมนุมชุมนุมตามกฎหมายกระมัง  เพราะถ้าชุมนุมตามกฎหมาย ก็หมายความไม่ต้องชุมนุม เพราะ พรก ฉุกเฉิน เขาไม่ให้ชุมนุม  แต่ผมเดาว่า ตามชุมนุมตามตำราที่ว่านี้ก็คือ ไม่เกิดและไม่ใช้ความรุนแรง  เห็นอาจารย์ชัยวัฒน์ก็ชมการชุมนุมที่ผ่านมาว่าไม่มีความรุนแรง แต่จะติงเรื่องการใช้ภาษาอยู่นิดหน่อย และแกก็ออกตัวว่า แกเป็นคนรุ่นเก่าไม่คุ้นกับภาษาสมัยใหม่ที่หยาบเป็นปกติ

ตามตำราที่ว่านี้ของแกคือ ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ได้หมายความว่าต้องไม่ละเมิดกฎหมาย แต่แกก็คงไม่สามารถบอกออกมาตรงๆได้ว่า ให้ชุมนุมไปเถอะ แม้จะฝ่าฝืนกฎหมาย พรก ฉุกเฉิน  เพราะถ้าแกพูดอย่างนั้นออกมาตรงๆ แกก็จะผิดกฎหมายทันที  เพราะนอกจากแกจะเป็นนักวิชาการแนวไม่ใช้ความรุนแรงแล้ว แกยังเขียนหนังสือเรื่อง “อารยะขัดขืน” ด้วย

ทีนี้จะให้เจ้าหน้าที่เขาไม่ตามตำรา ก็แปลว่า ให้เขาใช้ดุลพินิจ แต่ถ้ากฎหมายนั้นไม่เปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจเหมือนอย่างกฎหมายบางอย่างที่บอกว่าให้เจ้าหน้าที่ทำได้ตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือนไปจนถึงปรับและจะปรับเท่าไรก็แล้วแต่ดุลพินิจ  ก็คงจะยากที่จะให้เขาไม่ต้องทำตามตำรา  (ทางออกในเรื่องนี้ อาจจะต้องออก พรก ฉุกเฉินฉบับเยาวชนหรือฉบับนักเรียนกระมัง !)

แต่ที่ผมสงสัยมาก และผมก็ให้สัมภาษณ์จนปากแฉะไปตั้งแต่วันแรกที่มีการประกาศ พรก ฉุกเฉินจนถึงวันนี้ คือ ผมเห็นว่า    ถ้าสังคมมีความเห็นต่างกับความสมเหตุสมผลในการประกาศ พรก ฉุกเฉิน  คนที่ไม่เห็นด้วยก็ดี ผู้ชุมนุมก็ดี น่าจะไปร้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวนี้ชอบหรือไม่ ?

หรืออย่างในกรณีวิธีการบังคับใช้ พรก ที่อาจารย์ยุกติว่า “วิธีการที่รัฐใช้เมื่อคืนวันที่ 16 ตค. นั้น เป็นไปตาม ‘ตำรา’ เล่มไหน  ขณะนี้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หลักการสลายการชุมนุมอย่างสากลนั้น จะไม่ใช้น้ำผสมสารพิษร้ายแรง มีกลุ่มแพทย์จำนวน 300 กว่าคนยอมสละหน้าตา ชื่อเสียง หน้าที่การงาน ระบุว่าเป็นสารพิษ มีอันตราย มีข้อมูลว่า หลักสากลจะไม่ฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมโดยตรง ฯลฯ”

ถ้าไม่ตามตำรา ไม่ตามหลักสากล  ก็น่าจะไปร้องต่อศาลท่านเสียสิครับ !

แต่ปรากฏว่า ไม่มีใครไปร้องเลย ในขณะที่ผู้ชุมนุมสมัยพันธมิตร นปช. กปปส. ก็ไปร้องศาลขอคุ้มครองชั่วคราวกันทั้งนั้น  แปลกจริงๆ ปากก็บ่นว่า แต่ก็กลับไม่ไปร้อง แต่ปล่อยให้ชุมนุมล่อเป้ากันไป มีอะไรในก่อไผ่หรือเปล่า ?  เพราะเห็นว่า พอฉีดน้ำสลายปั๊บ อาจารย์ปิยบุตรก็ออกมาประณามทันทีว่า “รัฐบาลลุงและเจ้าของ” เป็นทรราชอย่างสมบูรณ์แบบ

ทั้งๆที่อาจารย์ก็เป็นนักกฎหมายมหาชน แต่กลับยังไม่ไปร้อง   น่าจะสนใจสวัสดิภาพและสิทธิการชุมนุมตามกฎหมายของ “น้องๆ นักเรียน นักศึกษา เด็ก เยาวชน ลูกหลานของเรา”  โดยร้องต่อศาลท่านหน่อยนะครับ

ที่พูดมายืดยาวนี้ ก็ต้องการชี้ให้เห็นถึงการติดตามการเมืองแบบวันต่อวัน ที่ทั้งสองฝ่ายอาจจะสามวันดีสี่วันไข้สลับกันไปมา แต่สี่วันที่ผ่านมานี้ ดูรัฐบาลจะเป็นฝ่ายจับไข้เสียมากกว่า เพราะนอกจากคนชุมนุมจะเยอะแยะหลายที่แล้ว พวกผู้ชุมนุมเขาก็ยังสนุกสนานกับการ “แกง” ตำรวจด้วย

แต่ฝ่ายชุมนุมเองก็อย่าประมาทนะ ของแบบนี้ มันวันต่อวันจริงๆ เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอก ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ-ไวรัส อย่าได้วางใจ

แต่สมมุติ ดูการเมืองกันแบบยาวๆชนิดข้ามช๊อต  จะพบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมน่าจะเป็นฝ่ายชัยชนะ (อย่าถามว่าทำไมเลยนะครับ ก็บอกอยู่ทนโท่ว่าสมมุติ)  แต่ชัยชนะนี้มีหลายระดับตั้งแต่เบาไปหาหนัก  หนักคือ ได้ทุกอย่างที่ต้องการ (อะไรคือทุกอย่างที่ต้องการ ผมไม่ทราบได้ครับ ถึงไปถาม พวกเขาก็คงไม่บอก เหมือนกับที่อาจารย์ชัยวัฒน์ก็ไม่ได้บอกตรงๆให้ชุมนุมโดยละเมิดกฎหมายแหละครับ)

เริ่มจากชัยชนะที่เบาที่สุดก่อนคือ พลเอกลุงตู่ลาออกและยุติบทบาททางการเมือง ที่ว่าเป็นชัยชนะที่เบาที่สุด ก็เพราะมันเป็นเรื่องของคนๆเดียวตัดสินใจ  ส่วนการยุบสภานั้นมันกระทบคนตั้ง 500 คนที่เป็น ส.ส. และจะว่าไปแล้ว มันก็กระทบประชาชนหลายสิบล้านที่ลงคะแนนเสียงเลือกห้าร้อย ส.ส. เข้าไปเป็นตัวแทนในสภา   การลาออกของลุงตู่ถือว่าเป็นชัยชนะแบบเบาๆ ประเภทตัดช่องย่องเบาแต่พอตัว

ทีนี้ต้องถามผู้ชุมนุมว่า เมื่อได้ชัยชนะแบบเบาๆนี้แล้ว จะรับมือกับมันยังไง ?  ที่ถามก็เพราะว่า เมื่อลุงตู่แกลาออกไป (ชีวิตแกคงจะสบายทีเดียว จะบอกให้ แถมคนจะยกย่องสรรเสริญแกด้วย เพราะที่ผ่านมา ไม่เห็นมีนายกรัฐมนตรีคนไหนลาออกง่ายๆเลย)  ตามรัฐธรรมนูญ (ที่ยังไม่แก้) ก็จะต้องมีการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองต่างๆได้ให้ไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งปีที่แล้ว  และตามธรรมเนียม  พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดที่ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ (ซึ่งไม่มีชื่อใครให้เสนอแล้ว เพราะให้ชื่อลุงตู่ไว้ชื่อเดียวกับ กกต.) จะเป็นผู้ลีดก่อน

นั่นคือ พรรคเพื่อไทย ที่มีตัวเลือกถึงสามคน ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ ท่านชัยเกษม  อาจารย์ชัชชาติ  และขั้นตอนแรกคือ พรรคเพื่อไทยต้องตกลงกันให้ได้ก่อนว่า จะเสนอชื่อใครให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากลุงตู่ (เชื่อว่าคงวุ่นวายสักพักหนึ่ง แต่ยังไงๆก็ต้องลงตัว เพราะโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลนอนหงายอยู่ตรงหน้าเห็นๆ)

เมื่อได้ชื่อแล้ว ก็เอาไปชื่อไปเสนอขาย (ขายนะครับ ไม่ใช่ซื้อ อย่าสับสน) กับพรรคอื่นๆในสภา และไม่ปิดกั้นว่าจะต้องเป็นพรรคที่เคยร่วมเป็นฝ่ายค้านเท่านั้น  พรรคฝ่ายรัฐบาลก็ได้ มาเลย แต่ยังไงๆก็คงไม่ได้เสียงถึง 376 แน่ๆ ยกเว้นจะมีปาฏิหาริย์ แต่ขอให้ได้เกิน 250 ก็พอ เพราะคราวลุงตู่ พรรคพลังประชารัฐจับมือกับพรรคต่างๆพอได้เกิน 250 ก็ถือว่าได้เสียงเกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และ สว. ก็ต้องลงเพิ่มมาให้จนครบ 376  ส.ว.

คำถามคือ ส.ว. จะไม่ลงให้ ได้ไหม ?  ได้สิ กฎหมายเขาไม่ได้บังคับ  แต่รับรองว่า ทัวร์ลงแบบไม่ต้องได้ผุดได้เกิด เพราะคราวที่แล้ว ส.ว. อ้างว่า ที่ลงให้ลุงตู่เป็นนายกฯ เพราะลุงตู่ได้เกิน 250 ไม่ใช่ลงเพราะเป็นสภาทาส คสช.

และที่สำคัญคือ ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคือ ให้ลุงตู่ลาออก  ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา เลือกตั้ง  แต่เขาไม่ได้บอกสักกะหน่อยว่า จะไม่เอารัฐบาลเพื่อไทย หรือ ปชป หรือ ภูมิใจไทย !!!

ทีนี้ ถามว่า พรรคเพื่อไทยจะหาพรรคร่วมได้ถึง 250 ไหม ? สมมุติว่าได้ ก็แปลว่า เราจะได้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และจะมีนายกรัฐมนตรีชื่อดังต่อไปนี้ชื่อใดชื่อหนึ่งคือ คุณหญิงสุดารัตน์ ท่านชัยเกษม อาจารย์ชัชชาติ

ผมเชียร์ทั้งสามท่านเลยนะครับ ด้วยเหตุผลส่วนตัวดังต่อไปนี้คือ

เชียร์คุณหญิงหน่อย เพราะ ลูกเพื่อนผมไปทำงานกับท่าน ถ้าท่านได้เป็นนายกฯ ลูกเพื่อนผมจะได้มีตำแหน่งแน่ๆ และผมจะได้เกาะขากางเกงลูกเพื่อน

เชียร์ท่านชัยเกษม เพราะ ท่านจบโรงเรียนเดียวกับผม และจบรัฐศาสตร์ จุฬาฯด้วย (สมัยที่นิติศาสตร์ยังอยู่กับรัฐศาสตร์) สถาบันของผมทั้งสองสถาบันจะได้มีศิษย์เก่าเป็นนายกฯ

เชียร์อาจารย์ชัชชาติ เพราะเคยมีสถานะเป็นอาจารย์จุฬาฯเหมือนผมตอนนี้  เราขึ้นลิฟต์ด้วยกันสองต่อสอง เลยพบว่า แกมีอัธยาศัยดีพูดคุยกับผมอย่างให้เกียรติ และไม่ถือตัวว่าตัวใหญ่กว่าผมและแข็งแรงที่สุดในปฐพี

เอาเป็นว่า จะเป็นตายร้ายดียังไง ถ้าลุงตู่ลาออก เพื่อไทยจะต้องทุ่มหมดหน้าตักเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน (ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสีย ก็เตรียมตัวตักไว้ ก็แล้วกัน)

ผมเลยจะถามผู้ชุมนุมว่า  จะรับมือกับชัยชนะที่ว่านี้อย่างไร ?  รับได้ไหม ? จะหยุดชุมนุมหรือจะชุมนุมต่อจนกว่าจะได้ชัยชนะที่หนักขึ้น เช่น แก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามที่ต้องการ

ก็ถามต่ออีกว่า ที่ว่าจะแก้นั้น แก้หมด รวมทั้งหมวดพระมหากษัตริย์และทั้งฉบับ ใช่ไหม ? (น่าจะใช่แหละ มาถึงขนาดนี้แล้ว)  แล้วหากรัฐบาลเพื่อไทยเขาไม่แก้หมวดพระมหากษัตริย์หละ ? จะเอายังไง ชุมนุมต่อ ?  แต่เพื่อไทยเขาก็มีพี่น้องประชาชนของเขาด้วยนะ ไม่ใช่พรรคกำพร้าซะกะหน่อย และเวลาพ่อแม่พี่น้องของเขามากัน  มันแดงทั้งแผ่นดินทีเดียวเจียวนะฮ้าบ

แต่ถ้าเพื่อไทยเขาเห็นด้วยกับการแก้ทั้งฉบับ ก็แปลว่า กอดคอไปกันได้กับผู้ชุมนุม และน่าจะได้เสียงสนับสนุนตอนเลือกตั้งครั้งต่อไปท่วมท้น แต่ก็จะเกิดปัญหาอีกแบบตามมา (ไว้บอกตอนหน้า)

เอาเป็นว่า ตอนนี้ ผู้ชุมนุมเตรียมรับมือกับชัยชนะขั้นเบาๆไว้ให้ดี  ส่วนชัยชนะขั้นหนักระดับต่อไปเป็นยังไง จะบอกคราวหน้า

ว่าแล้ว ลุงตู่ขอรับ รีบลาออกเถิดครับ แล้วเรามานั่งดูเขารับมือกับชัยชนะ..มีชัยชโย..ด้วยกันดีกว่านะคร้าบ