posttoday

ทรราช:ข้อสังเกตต่อข้อถกเถียงในทฤษฎีการเมือง

17 ตุลาคม 2563

โดย...ดร.ไชยันต์ ไชยพร

************************

“นักเรียน นักศึกษา เด็กมัธยม ประชาชน มีเพียงสองมือเปล่า ทุกคนออกมาใช้สิทธิเสรีภาพอย่างสงบ เพื่อเรียกร้องสังคมที่ดีกว่าเท่านั้น ระบอบประยุทธ์และเจ้าของ กำลังเป็น ทรราชย์โดยสมบูรณ์แบบ หากเจ้าหน้าที่ยังพอมีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่บ้าง อย่าเป็นเครื่องมือ ทรราชย์ หยุดฟังคำสั่งนาย หยุดใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมโดยทันทีวางอาวุธ แล้วมายืนข้างประชาชนเถอะครับ” ปิยบุตร แสงกนกกุล fb คืนวันที่ 16 กันยายน 2563

นักคิดทางการเมืองตั้งแต่สมัยกรีก-โรมันและยุคกลางต่างเชื่อว่าผู้ปกครองที่เป็นทรราชนั้นมีจริงๆและไม่ใช่มีแต่เฉพาะในทางทฤษฎี แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย ที่น่าสนใจคือ นักคิดกรีกโบราณอย่าง อาริสโตเติล ได้บอกไว้ด้วยว่า ทรราชไม่ได้มีแต่เฉพาะผู้ปกครองที่เป็นผู้นำ แต่แก๊งหรือคณะบุคคลที่กุมอำนาจรัฐก็เป็นทรราชได้เช่นกัน และที่สำคัญ อาริสโตเติล บอกว่าคนจำนวนมากก็เป็นทรราชได้ด้วย โดยเกณฑ์ที่จะบอกว่าใครคือทรราชอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจใช้อำนาจไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมหรือส่วนตัว ไม่ว่าผู้มีอำนาจนั้นจะเป็นคนๆเดียว กลุ่มคนหรือคนส่วนใหญ่

ในศตวรรษที่สิบห้า เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงมุมมองที่มีต่อทรราชในงานของ มาคิอาเวลลี นั่นคือ ในความคิดทางการเมืองของมาคิอาเวลลี เราจะเห็นการก่อตัวของแนวคิดเรื่องอำนาจฝ่ายบริหารสมัยใหม่ ที่แตกต่างจากยุคกลางและยุคคลาสสิค โดยเฉพาะจากที่มาคิอาเวลลีใช้คำว่า esecuzioni ในการสื่อถึงการใช้อำนาจบริหารจัดการอย่าง “สัมฤทธิ์ผล” นั่นคือ หากบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตที่จำเป็นต้องใช้วิธีการความรุนแรงเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล ผู้ปกครองก็ย่อมต้องใช้ได้

esecuzioni ของมาคิอาเวลลีจึงทำให้เส้นแบ่งระหว่างทรราชในฐานะผู้ปกครองที่ชั่วร้ายและผู้ปกครองที่เที่ยงธรรมเจือจางลง นั่นคือ ผู้ปกครองที่ดีที่อยู่ในสถานการณ์ความจำเป็น ก็จำต้องใช้วิธีการที่โหดร้ายพอๆกับผู้ปกครองที่เลวเพื่อให้การแก้วิกฤตมันสัมฤทธิ์ผฃ แต่เขาจะโหดร้ายน้อยกว่าผู้ปกครองที่เลว หากเขาใช้ความทารุณโหดร้ายนั้นไปอย่างสุขุมรอบคอบและด้วยความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของรัฐไว้เท่านั้น จากความคลุมเครือของเส้นแบ่งระหว่างผู้ปกครองที่ดีกับทรราชทำให้มาคิอาเวลลีเป็นนักคิดทางการเมืองที่ถูกมองว่าทั้งปกป้องพิทักษ์อำนาจเผด็จการและก็เป็นทั้งศัตรูตัวฉกาจที่ต่อต้านการปกครองของทรราชด้วย

เมื่อถึงศตวรรษที่สิบเจ็ด มุมมองเกี่ยวกับทรราชก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนในงานของนักทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่อย่างโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างกษัตริย์กับทรราชหายไป !

ฮอบส์ ยืนยันว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าทรราช เพราะคำว่าทรราชนี้ ถูกใช้เรียกผู้ปกครองที่คนจำนวนหนึ่งไม่ชอบ ใครไม่ชอบผู้ปกครองคนไหน ก็เรียกว่าทรราช ส่วนคนที่ชอบก็เรียกว่าผู้นำหรือผู้ปกครองที่เรียกกันตามปกติ ฮอบส์เห็นว่า ทฤษฎีการเมืองกรีกและโรมันโบราณมีอิทธิพลสำคัญอย่างยิ่งในการแบ่งแยกระหว่างรูปแบบการปกครองที่ดีและไม่ดี ซึ่งการแบ่งแยกดังกล่าวส่งผลให้ผู้คนเป็นกบฏต่อต้านการปกครองที่ตนไม่ชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองโดยคนๆเดียวที่ใครก็ตามที่ไม่ชอบ ก็จะเรียกว่าเป็นการปกครองของทรราชเสมอ

ฮอบส์ เตือนว่า คนวัยหนุ่มสาวที่อ่านตำรับตำราทฤษฎีการเมืองที่พร่ำพูดเปรียบเทียบผู้ปกครองที่ดีกับผู้ปกครองที่เลวหรือทรราช แต่ตัวพวกเขาหล่านั้นยังไม่พัฒนาการใช้เหตุผลของตัวเองได้ดีและหนักแน่นพอที่จะครุ่นคิดไตร่ตรองในสิ่งที่ตัวเองได้อ่านไปอย่างระมัดระวัง คนเหล่านี้มักจะเกิดอารมณ์รุนแรงและพอใจที่จะให้เกิดสภาวะ “สงคราม” ในบ้านเมืองของตนขึ้น โดยจินตนาการไปว่า หลังสงครามการโค่นล้มทรราชย์แล้ว จะเกิดความเจริญรุ่งเรืองใหญ่โตตามมาจากความประเสริฐเลิศศรีของผู้ปกครองคนใหม่หรือรูปแบบการปกครองใหม่ที่พวกเขานิยมชมชอบ แต่พวกเขากลับละเลยที่จะเฉีลวพิจารณาถึงการปลุกปั่นให้เกิดการจลาจลและสงครามกลางเมืองที่มีต้นตอมาจาก “คนเหล่านั้น” ที่พวกเขานิยมชมชอบ

และจากอิทธิพลของตำรับตำราทฤษฎีการเมืองที่แบ่งแยกระหว่างผู้ปกครองหรือกษัตริย์กับทรราช ผู้คนหนุ่มสาวก็ลุกขึ้นมาประหัดประหารผู้ปกครองของพวกเขา เพราะนักคิดนักเขียนทางการเมืองที่เทศนาเรื่องทรราช ได้ทำให้เกิดความชอบธรรมตาและเป็นสิ่งที่น่ายกย่องสรรเสริญ หากผู้ใดสามารถ “สังหารทรราช” ได้ (Death to Tyrants !)

โดยก่อนที่เขาจะลงมือ เขาจะต้องหาทางพยายามทำให้ผู้นำคนนั้นถูกเรียกว่าเป็นทรราชเสียก่อน เพื่อที่จะทำให้การกระทำของพวกเขานั้นไม่ใช่เป็นการฆ่าผู้ปกครอง แต่เป็นการฆ่าทรราช ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม และในยุคกรีกโบราณ การฆ่าทรราชไม่ผิดกฎหมาย เพราะมีการออกกฎหมายให้ประชาชนสังหารทรราชได้

และจากอิทธิพลเดียวกันนี้ ฮอบส์กล่าวว่า คนที่อยู่ภายใต้ระบอบกษัตริย์มักจะเกิดความคิดอย่างหนึ่งที่ว่า หากเขาพอใจกับกษัตริย์พระองค์นั้น เขาก็จะบอกว่า ราษฎรที่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พระองค์นั้นมีชีวิตอย่างอิสรเสรีและเป็นไท แต่หากเขาไม่พอใจกับกษัตริย์พระองค์นั้น เขาก็จะบอกว่า ราษฎรที่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พระองค์นั้นมีชีวิตเยี่ยงทาส

จากที่กล่าวมานี้ ฮอบส์จึงเห็นว่า ไม่มีอะไรที่จะสร้างอคติต่อการปกครองของกษัตริย์ไปกว่าการปล่อยให้สาธารณะชนได้อ่านทฤษฎีการเมืองแบบนั้น อันเป็นอิทธิพลที่ทำให้เกิดทรรศนะแบ่งแยกระหว่างผู้ปกครองหรือกษัตริย์กับผู้ปกครองที่เป็นทรราช ฮอบส์เห็นว่า การจะอ่านทฤษฎีการเมืองเหล่านั้น ผู้อ่านควรจะต้องมีภูมิต้านทานเพียงพอที่จะสู้กับพิษร้ายหรืออคติที่ว่านี้

ฮอบส์เปรียบเทียบอคติทางการเมืองนี้กับพิษสุนัขบ้า เพราะพิษสุนัขบ้าจะทำให้เกิดอาการกลัวน้ำพร้อมๆกับมีอาการกระหายน้ำ คือ เมื่อใครในสังคมถูกพิษจากพวกนักคิดที่อ้างประชาธิปไตย ผู้คนที่ต้องพิษนั้นจะขู่คำรามอยู่ตลอดเวลาและไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการโค่นล้ม “ผู้ปกครอง” ที่พวกเขารังเกียจ ขณะเดียวกันก็โหยหา“ผู้ปกครอง” คนใหม่ที่เขานิยมชมชอบ”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ด จากข้อเขียนของฮอบส์ ที่โต้แย้งมุมมองเกี่ยวกับทรราชของเพลโตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอริสโตเติล ฮอบส์ได้ฟันธงลงไปว่า จริงๆแล้ว ไม่มีรูปแบบการปกครองที่เรียกว่าทรราช จะมีก็แต่รูปแบบการปกครองที่ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ชอบก็จะเรียกว่าทรราช นั่นคือ ฝ่ายใดที่ไม่พอใจหรือสูญเสียประโยชน์จากผู้ปกครองใดหรือรูปแบบการปกครองใด ก็จะตีตราผู้ปกครองหรือรูปแบบการปกรองนั้นว่าเป็นทรราช

จากความคิดของฮอบส์ เราอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาอคติต่อการปกครองทรราชไม่ได้อยู่ที่พฤติกรรมอันเลวร้ายในการปกครองของทรราชเท่ากับความขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อความชอบในรูปแบบการปกครองที่ต่างกัน เช่น คนที่เชื่อว่าการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของมหาชนย่อมต้องดีกว่าการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือคนๆเดียวเสมอ ย่อมเห็นว่า การปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนๆเดียวย่อมเป็นการปกครองที่เลวร้ายและย่อมต้องเป็นทรราชเสมอ ไม่มีทางดีได้ แต่ขณะที่ทฤษฎีการเมืองของเพลโตและอาริสโตเติลยังเปิดพื้นที่ให้การปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนๆเดียวอาจจะดีหรือเลวก็ได้ ขึ้นอยู่ว่า ผู้ปกครองจะใช้อำนาจไปเพื่อเป้าหมายอะไร

ทรราช:ข้อสังเกตต่อข้อถกเถียงในทฤษฎีการเมือง

อันที่จริง ทฤษฎีการเมืองของฮอบส์ที่ว่าด้วยเรื่องทรราชนี้ ก็มีส่วนจริงอยู่ ดังจะเห็นได้ว่า ในขณะที่มีประชาชนส่วนหนึ่งด่าว่าผู้นำของตนว่าเป็นทรราช ก็จะมีอีกส่วนหนึ่งที่ชื่นชม เช่น คนที่ไม่ชอบ ก็จะด่าว่าฮิตเลอร์ สตาลิน ถนอม-ประภาส ทักษิณ ชินวัตร โดนัล ทรัมป์ หรือคิมจองอึน ฯลฯ ว่าเป็นทรราช ส่วนคนที่ชอบก็จะยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่

ขณะเดียวกัน ก็มีนักคิดทางการเมืองชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งคือ จอห์น ล็อก (John Locke) เขาได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งเสรีนิยม เขามาจากครอบครัวที่อยู่ฝ่ายรัฐสภาและต้องการทัดทานลดทอนพระราชอำนาจของกษัตริย์ ซึ่งในขณะนั้นคือพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง (Charles I) ทฤษฎีการเมืองของเขาแตกต่างจากของฮอบส์ นั่นคือ ล็อกมองว่า กษัตริย์ที่ใช้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตคือทรราช เพราะทฤษฎีการเมืองของเขาสนับสนุนระบอบการปกครองที่รัฐบาลจะต้องมีอำนาจจำกัด (limited government) ในขณะที่ฮอบส์เชื่อว่า หากบ้านเมืองจะสงบได้ จะต้องมีรัฐบาลที่มีอำนาจอันสมบูรณ์ (absolute power) เพราะหากรัฐบาลหรือผู้ปกครองมีอำนาจไม่สมบูรณ์แล้ว ประชาชนก็จะไม่เคารพกฎหมาย และจะทำอะไรตามอำเภอใจเพื่อตอบ สนองความต้องการอันไม่จำกัดของตน เพราะฮอบส์เชื่อว่าโดยธรรมชาติ มนุษย์มีความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา ส่วนทฤษฎีการเมืองของล็อกไม่ได้เชื่อเช่นนั้น

ล็อกมีมุมมองเกี่ยวกับทรราชแตกต่างไปจากของฮอบส์ ล็อกได้กล่าวถึงการปกครองของทรราชไว้ว่า ทรราชคือผู้ที่แย่งชิงอำนาจที่เป็นของคนอื่น และการปกครองของทรราชคือ ผู้ที่ใช้อำนาจเกินสิทธิ์ ไม่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย แต่ใช้อำนาจไปเพื่อสนองตัณหาตามเจตจำนงอำเภอใจของตัวเอง

ล็อกได้ยกตัวอย่างกษัตริย์ที่ใช้อำนาจตามครรลองของกฎหมาย โดยอ้างถึงพระราชดำรัสของพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งที่ทรงพระราชทานแก่รัฐสภาอังกฤษในปี ค.ศ. 1603 ที่กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างทรราช กับกษัตริย์ผู้ทรงสิทธิ์อันชอบธรรม พระองค์ได้อธิบายว่า ทรราชคือผู้ที่เห็นว่าราชอาณาจักรและประชาชนดำรงอยู่เพื่อประโยชน์และเป้าหมายของตน ส่วนกษัตริย์ที่ทรงสิทธิ์อันชอบธรรมรู้ว่า พระองค์เป็นผู้ปกครองได้ก็เพราะประชาชนมอบอำนาจให้ และต่อมาในพระราชดำรัสปี ค.ศ. 1609 พระเจ้าเจมส์ทรงตรัสว่า กษัตริย์จะต้องผูกมัดพระองค์ในการปฏิบัติตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรและปกป้องราช อาณาจักร เมื่อใดก็ตามที่กษัตริย์ละเลยกฎหมาย พระองค์ก็จะกลายเป็นทรราช พระองค์ทรงย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า กษัตริย์จะต้องยึดพระองค์กับกฎหมาย หาไม่แล้วพระองค์ก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นภัยมหันต์ต่อราชอาณาจักรของพระองค์เอง

ล็อกได้ชี้ว่า ความแตกต่างที่เห็นได้ง่ายๆระหว่าง ทรราช และ กษัตริย์ที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ ทรราชจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเอื้อต่อเจตน์จำนงของตัวเอง ส่วนกษัตริย์จะมุ่งสู่การสร้างความดีสาธารณะโดยผ่านกฎหมาย

นอกจากนี้ ล็อกเห็นว่า ไม่เพียงแต่ กษัตริย์จะเป็นทรราชได้ แต่การปกครองแบบประชาธิปไตย และคณาธิปไตยก็เป็นทรราชได้เช่นกัน เพราะผู้มีอำนาจในทุกรูปแบบการปกครองย่อมอ่อนไหวต่อการกลายเป็นทรราชได้เสมอ ไม่ว่าผู้มีอำนาจทางการเมืองจะมีจำนวนเท่าใด หากใช้อำนาจยึดทรัพย์สินหรือล่วงละเมิดผู้คน พวกเขาเหล่านั้นก็จะเป็นทรราชได้ทันที เมื่อไรก็ตามที่อำนาจถูกใช้เกินขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่า ล็อกได้รับอิทธิพลจากอาริสโตเติล เพราะอาริสโตเติลเป็นนักคิดทางการเมืองคนแรกที่บอกว่า ทรราชไม่ได้เกิดเฉพาะกับการปกครองที่มีกษัตริย์ แต่เกิดได้กับแม้กระทั่งคณาธิปไตยและประชาธิปไตย

ผู้ใช้อำนาจอย่างที่กล่าวไปนี้จะไม่ใช่กษัตริย์อีกต่อไป และไม่ต่างจากการที่คนๆหนึ่งใช้กำลังในการละเมิดกดขี่คนอื่น ล็อกย้ำว่า บุคคลที่มีฐานะดี มีอำนาจ และมีความรู้มีการศึกษามากกว่าคนอื่นๆควรที่จะตระหนักถึงความได้เปรียบเหล่านี้ และพึงระวังที่จะไม่ใช้อำนาจและความได้เปรียบของตนไปลิดรอนผู้อื่นนั่นคือ ล็อกกำลังเตือนว่า คนที่อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบมีแนวโน้มที่จะเป็นทรราชได้มาก

ในสายตาของล็อก พระเจ้าเจมส์เป็นตัวอย่างอันดีสำหรับผู้ปกครองที่มีเหตุผลและมีสติปัญญาและเคารพหลักกฎหมายบ้านเมืองและหลีกเลี่ยงที่จะละเมิดความไว้วางใจระหว่างพระองค์กับประชาชน ในขณะที่ ผู้ปกครองที่ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม จะต้องถูกตีตราว่าเป็นทรราช เพราะเขาได้ทำลายสายใยแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนกับตัวเขาโดยการใช้อำนาจนอกกรอบกฎหมาย

ล็อกเห็นว่า ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะต่อต้านขัดขืนต่อการปกครองของทรราช และในการลุกฮือขัดขืนไม่เชื่อฟังรัฐบาลทรราชนั้น ประชาชนก็หาใช่กบฏไม่ แต่ผู้ปกครองที่เป็นทรราชต่างหากที่เป็นกบฏ ด้วยเขาใช้อำนาจที่ขัดต่อหลักการการปกครองที่อำนาจเป็นของประชาชนที่ได้ตกลงกันไว้ก่อน

ทรราช:ข้อสังเกตต่อข้อถกเถียงในทฤษฎีการเมือง

จะเห็นได้ว่า แม้ฮอบส์และล็อกจะเป็นนักคิดทางการเมืองชาวอังกฤษในยุคที่ไล่เรี่ยกัน และต่างก็ถูกจัดให้อยู่ในสำนักที่เรียกว่า “ทฤษฎีการเมืองสำนักสัญญาประชาคม” แต่ฮอบส์ไม่เชื่อในแนวคิดเรื่องทรราช เพราะเขาเห็นว่า ทรราชคือคำที่ใช้เรียกผู้ปกครองที่คนไม่ชอบ ที่ไม่ชอบเพราะไปขัดผลประโยชน์หรือความต้องการของตน ส่วนคนที่ชอบ ก็จะไม่เรียกผู้ปกครองคนนั้นว่าเป็นทรราช

ฮอบส์มองว่าแนวคิดเรื่องทรราชเป็นแนวคิดที่เป็นอัตวิสัยหรือเป็นอคติของผู้คนมากกว่าจะเป็นลักษณะการปกครองหรือวิธีการปกครองจริงๆ ส่วนล็อกเชื่อว่า ทรราชมีจริง และผู้ปกครองที่เป็นทรราชก็คือ ผู้ปกครองที่ใช้อำนาจที่เกินสิทธิ์ ใช้อำนาจไปในแบบที่เห็นแก่ตัวเพื่อสนองความปรารถนา ตัณหาตามอำเภอใจ ไม่ยอมอยู่ใต้กรอบกฎหมาย

สิทธิ์ที่ว่านี้คือสิทธิ์อำนาจที่ประชาชนไว้วางใจมอบให้ผู้ปกครอง เป็นการทำสัญญาตกลงกันระหว่างประชาชนกับผู้ปกครองที่กำหนดว่า ผู้ปกครองมีสิทธิ์ที่จะใช้อำนาจได้มากน้อยแค่ไหน แต่จะมากหรือน้อยก็ไม่สามารถล่วงละเมิดสิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์แต่ละคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด ดังนั้น ผู้ปกครองในทฤษฎีการเมืองของล็อกจึงมีอำนาจจำกัด และต้องใช้อำนาจไปเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ตามธรรมชาติของผู้คน นั่นคือ ปกป้องชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินไม่ให้มีใครมาละเมิดได้ และแม้นว่ามีใครมาละเมิด ก็เป็นพันธะหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะต้องใช้อำนาจในการจับกุมผู้ละเมิดมาลงโทษเพื่อป้องปรามไม่ให้มีผู้ใดกล้าละเมิดอีกและเป็นให้ความยุติธรรมแก่ผู้ถูกละเมิด ดังนั้น หากผู้ปกครองคนใดใช้อำนาจเกินกว่านี้ ก็ถือว่าละเมิดสัญญาข้อตกลง และถือว่าเป็นผู้ที่ก่อกบฏต่อสัญญาการปกครองระหว่างผู้ปกครองและประชาชน และด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงมีสิทธิ์ที่จะขัดขืนไม่เชื่อฟังผู้ปกครองที่ผิดสัญญาและเป็นกบฏต่อประชาชน หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ปกครองได้แปรสภาพเป็นทรราชไป

ขณะเดียวกัน การให้สิทธิ์ประชาชนในการขัดขืนต่อการปกครองของทรราชในทฤษฎีการเมืองของล็อก อาจจะเป็นจุดแข็งในทฤษฎีการเมืองของเขาได้จากมุมมองฝ่ายประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ แต่ก็อาจจะเป็นจุดอ่อนได้ เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถกล่าวอ้างความชอบธรรมในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลได้อย่างง่ายดาย โดยการตั้งข้อกล่าวหาทรราชขึ้น

หากตั้งคำถามนี้กับล็อกว่า ตกลงแล้ว มันเป็นจุดอ่อนหรือไม่ ? ล็อกจะตอบว่า เขาเชื่อมั่นในสติปัญญาและการมีเหตุผลที่อยู่ในธรรมชาติของมนุษย์

ซึ่งความเชื่อมั่นดังกล่าวนี้อาจจะเป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยในเวลาเดียวกันในทฤษฎีการเมืองของเขา เพราะบางครั้งมันก็ยากที่ยืนยันอย่างไม่มีเงื่อนไขว่า ประชาชนทุกคนหรือส่วนใหญ่มีสติปัญญาและเหตุผล แต่การเชื่อมั่นแบบนั้นเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ชอบ

อีกทั้งบางครั้งมันก็ยากที่จะตัดสินว่า การกระทำใดของผู้ปกครองหรือรัฐบาลเป็นการละเมิดพันธะสัญญาและใช้อำนาจเกินกรอบกฎหมาย เพราะบางทีในสถานการณ์ความจำเป็น ผู้ปกครองหรือรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบก็จำต้องใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราย้อนคิดถึง “สถานการณ์เงื่อนไขพิเศษ” ในทฤษฎีการเมืองของมาคิอาเวลลี ที่กล่าวถึงสถานการณ์พิเศษหรือวิกฤตทางการเมืองที่ผู้ปกครองต้องหาทางแก้ไขและนำประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หรือนำพาประเทศให้พ้นจากสถานการณ์อันคับขันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะสงคราม การก่อการร้าย โรคระบาด ภัยธรรมชาติ การจลาจล ฯลฯ ซึ่งมาคิอาเวลลีเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ ผู้ปกครองที่จะพาประเทศให้พ้นภัยจำต้องใช้ “อำนาจพิเศษเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล” อันทำให้เส้นแบ่งเจือจางลงระหว่างผู้ปกครองที่สามารถพาชาติพ้นภัยได้กับผู้ปกครองที่เป็นทรราช

ในทฤษฎีการเมืองของล็อก เราจะพบว่าเขาก็ให้ความสำคัญต่อ “สถานการณ์พิเศษ” ที่ว่านี้ด้วยเช่นกัน โดยเขาได้กล่าวไว้ในบทที่ว่าด้วย “อำนาจพิเศษ” ที่ล็อกเองก็ตระหนักว่า อาจมีสถานการณ์ความจำเป็นพิเศษที่ผู้ปกครองหรือรัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปจัดการก่อนที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะสามารถประชุมลงมติเพื่อพิจารณาหามาตรการและออกกฎหมายในการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งฝ่ายบริหารจำต้องมีและสามารถใช้อำนาจพิเศษภายใต้ “การตัดสินวินิจฉัยที่ดี” (good judgment) โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของตัวแทนประชาชนในสถานการณ์เหล่านี้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ล็อกเองก็เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายบริหารมีความชอบธรรมในการดำเนินมาตรการที่อยู่นอกกรอบของกฎหมายได้ หากเป็นไปเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของรัฐ คำว่า “นอกกรอบกฎหมาย” ที่ว่านี้ ล็อก หมายถึงการดำเนินมาตรการโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายที่มิได้บัญญัติห้ามไว้ แต่ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ให้ทำ ซึ่งการใช้มาตรการนอกกรอบกฎหมายนี้จะต้องไม่ใช่เป็นการทำลายกฎหมาย และล็อกได้ให้นิยามอำนาจพิเศษนี้ไว้ว่า “ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจาก อำนาจของการทำสิ่งที่ดีต่อสาธารณะโดยไม่มีกฎกติกา"

ล็อกกล่าวย้ำว่า การทำอะไรที่เกินขอบเขตของกฎหมายนี้ไม่ใช่เป็นการกระทำบนฐานของสิทธิ์ของฝ่ายบริหาร เพราะขอบเขตของอำนาจของฝ่ายบริหารมีมากเท่าที่ประชาชนมอบให้ ดังนั้น การกระทำที่เกินขอบเขตของกฎหมายของฝ่ายบริหารจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยฐานของหลักการแห่งประโยชน์หรือความดีสาธารณะเท่านั้น อำนาจพิเศษนี้จึงเป็นอำนาจที่เกิดขึ้นจากความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหารสามารถใช้อำนาจพิเศษนี้อย่างอิสระตราบเท่าที่ใช้อย่างเป็นธรรม

จากนัยดังกล่าวนี้ ผู้นำที่ดีจึงสามารถมีอำนาจพิเศษจากฉันทานุมัติของประชาชน หากเขาใช้อำนาจอย่างไตร่ตรองเพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ของประชาชนทุกคน

แต่ใครเล่าจะเป็นผู้ตัดสินเมื่อผู้ปกครองได้ล้ำเส้นอำนาจพิเศษของเขา ? ล็อกยืนยันว่า จะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากประชาชนเอง

คำตอบดังกล่าวนี้ของล็อกเป็นปัญหาอมตะ และเป็นปัญหาก็ย้อนกลับมาที่ทฤษฎีการเมืองของฮอบส์ ทฤษฎีการเมืองของฮอบส์จะชี้ให้เห็นถึงปัญหาในทฤษฎีการเมืองของล็อกที่ยันยันว่ามีทรราช แต่กลับไม่สามารถมีเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนในการตัดสิน และการให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ก็จะกลับมาสู่ปัญหาเรื่องอัตวิสัยและอคติของประชาชนที่ฮอบส์กล่าวไว้ในทฤษฎีการเมืองของเขา

แน่นอนว่า การที่ฮอบส์ตัด “ทรราช” ทิ้งไปจากทฤษฎีการเมืองของเขา ทำให้ปัญหาการประเมินตัดสินว่ากษัตริย์พระองค์ใดหรือผู้ปกครองคนใดเป็นหรือไม่เป็นทรราชนั้นหมดไป แต่ปัญหาที่ฮอบส์เผชิญคือ ทฤษฎีการเมืองของเขาถูกโจมตีว่าเป็นทฤษฎีที่ไม่พูดเรื่องถูกผิดหรือเรื่องจริยธรรมคุณธรรมของผู้ปก ครอง

ขณะเดียวกัน ปัญหาการไร้จริยธรรมคุณธรรมดังกล่าวไม่เกิดขึ้นในทฤษฎีการเมืองของล็อก เพราะเขามีเส้นแบ่งระหว่างผู้กครองที่ดีที่ใช้อำนาจตามสัญญาข้อตกลงกับทรราชที่ใช้อำนาจเกินข้อตกลง แต่ล็อกก็ต้องเผชิญกับคำถามของฮอบส์ที่ว่า เราสามารถมีเกณฑ์ที่ถูกต้องชัดเจนเด็ดขาดแน่นอนในการลากเส้นแบ่งระหว่างกษัตริย์กับทรราชได้หรือไม่ ?

และยิ่งล็อกยอมรับความจำเป็นที่จะต้องมีการใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์พิเศษด้วยแล้ว เส้นแบ่งระหว่างกษัตริย์กับทรราชก็จะเจือจางอย่างที่ปรากฎในทฤษฎีการเมืองของมาคิอาเวลลี

และยิ่งล็อกโยนให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่า ผู้ปกครองที่ใช้อำนาจพิเศษคนไหน ใช้อำนาจไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือใช้ไปเพื่อตัวเอง ? ก็อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ผู้ปกครองคนนั้นใช้อำนาจพิเศษไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม อีกฝ่ายเห็นว่าใช้ไปเพื่อตัวเองและพวกพ้อง ซึ่งในสถานการณดังกล่าว ยากที่จะหาความเห็นพ้องต้องกันของประชาชนในการตัดสินว่าใครคือผู้ปกครองที่ดีหรือใครคือทรราช มิพักต้องพูดถึงเกณฑ์ที่ไม่อคติและไม่อัตวิสัย

และแม้นว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ผู้ปกครองผู้นั้นใช้อำนาจพิเศษไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มันก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนนั้นจะถูกเสมอ และผู้ปกครองที่ได้รับการยอมรับร่วมกันนั้นไม่ใช่ทรราช

ดังที่ปรากฏให้เห็นในสังคมการเมืองเยอรมนีในปี ค.ศ. 1934 ที่เสียงส่วนใหญ่ที่กำลังรู้สึกว่า บ้านเมืองกำลังอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้าย และพากันลงประชามติด้วยคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละแปดสิบให้ฮิตเลอร์มีอำนาจพิเศษจากการควบรวมตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเข้าไว้ในตำแหน่งใหม่ที่เรียกว่า Führer หรือ “ท่านผู้นำ”

ซึ่งต่อมา เป็นที่ประจักษ์ว่า เสียงส่วนใหญ่หรือทั้งหมดไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงที่ถูกต้องเสมอไป แต่อาจจะเป็นผลรวมของอคติดังที่ฮอบส์ (และต่อมา นันคิดทางการเมืองอย่างรุสโซในศตวรรษที่สิบแปดได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจน) ว่าไว้ และทรราชก็เป็นเพียงคำที่ผู้คนใช้เรียกผู้ปกครองที่พวกเขารังเกียจ และท่านผู้นำคือคำที่ใช้เรียกผู้ปกครองที่พวกเขาชื่นชอบ

ทรราช:ข้อสังเกตต่อข้อถกเถียงในทฤษฎีการเมือง

        ฮอบส์                                                         ฮิตเลอร์                                               ล็อก