posttoday

การต่างประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

25 กันยายน 2563

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

*****************

ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดพิมพ์หนังสือผลงานของ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ว่าด้วยนโยบายต่างประเทศไทยหลังจากคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 : Charivat Santaputra, Thai Foreign Policy 1932 - 1946 (Bangkok: International Studies Center, Ministry of Foreign Affairs, 2020) การจัดพิมพ์คราวนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งก่อนร่วม 20 ปี นับเป็นโอกาสเหมาะที่จะนำผลงานของท่านทูตจริย์วัฒน์ มาแนะนำต่อท่านผู้อ่าน

การต่างประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ผมขอเริ่มด้วยการกล่าวถึงบริบทในการทำงานศึกษาวิจัยของท่านทูตจริย์วัฒน์ ซึ่งสำเร็จผลออกมาทีแรกในรูปวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ University of Southampton ในปีค.ศ. 1982 บริบทดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในช่วงเวลาประมาณ 15 ปีสุดท้ายของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ที่ท่านออกมาต่อสู้ในสนามความรู้ “เพื่อสัจจะทางประวัติศาสตร์” ตามแนวทางกฎหมายที่ท่านสามารถทำได้

การต่อสู้นี้ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องตัวท่านเองจากความอาสัตย์ในการเขียนประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเขียนโดยฝ่ายชนะ ฝ่ายแพ้ หรือฝ่ายเกือบแพ้ ที่จะยอมให้มีเรื่องแบบ “จริงเจ็ดเท็จสามปะปนกัน” ในการเขียนประวัติศาสตร์ ดังคำปรารภในอีกบริบทหนึ่งของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

แต่อาจารย์ปรีดี ต่อสู้เพื่อรักษาความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเพื่อให้ “ชนรุ่นหลังจะได้อาศัยค้นคว้า” และจากการค้นคว้าจะได้ประเมินความถูกผิดความสำเร็จล้มเหลวที่เกิดขึ้นแล้วนั้น และเก็บบทเรียนที่เป็นประโยชน์จากอดีตสะสมเป็นทุนทางปัญญาสำหรับปัจจุบันและอนาคตของประเทศชาติได้

การต่างประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

แนวทางการต่อสู้ด้วยกฎหมายของอาจารย์ปรีดีในสนามความรู้คือการจัดพิมพ์หนังสือการฟ้องคดีต่างๆ ที่ประกอบพร้อมด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์แย้งกับคนเขียนงานประวัติศาสตร์ที่ไม่เคารพต่อหลักฐานข้อเท็จจริง ท่านต้องการให้หนังสือเหล่านี้เป็น “อนุสาวรีย์” แทนตัวท่าน ใครที่มีโอกาสอ่านหนังสือ “บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่อาจารย์ปรีดีจัดพิมพ์ ก็คงอดเศร้าใจไม่ได้ที่ “อนุสาวรีย์” ของท่านต้องปรากฏออกมาในรูปการจัดพิมพ์เอกสารคำฟ้องออกมาเป็นหนังสือเพื่อรักษาสัจจะทางประวัติศาสตร์แบบนี้ และเป็นอนุสาวรีย์แห่งการต่อสู้ไม่เพียงแต่กับฝ่ายปรปักษ์ในทางอุดมการณ์ความคิด

แต่ความน่าเสียใจก็คือหลายแห่งในนั้นยังเป็นการต่อสู้กับคนที่น่าจะเข้าใจถึงอุดมการณ์และการทำงานของคณะราษฎรที่ผ่านความยากลำบากมาด้วยกันเป็นอย่างดี

“อนุสาวรีย์” ของท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้รากฐานทางวิชาการอันหนักแน่นจากผลงานท่านทูตจริย์วัฒน์ ซึ่งศึกษาการต่างประเทศไทยสมัยคณะราษฎร และค้นคว้าจากเอกสารชั้นต้นในหอจดหมายเหตุของไทยและต่างประเทศ รวมทั้งเอกสารบันทึกส่วนบุคคลของผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารและพลเรือน ท่านที่อ่านหนังสือของท่านทูตจริย์วัฒน์ที่ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจัดพิมพ์ครั้งใหม่นี้ จะได้พบการศึกษาค้นคว้าที่มาจากความตั้งใจรักษาอุดมคติประการสำคัญของปรีดี พนมยงค์ไว้ นั่นคือ การสร้างความรู้ที่เคารพต่อ “สัจจะทางประวัติศาสตร์”

งานของท่านทูตจริย์วัฒน์แม้จะเป็นเรื่องการต่างประเทศไทยในยุคสมัยที่ผ่านเลยไปแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรียนรู้และดำเนินไป โดยผล โดยปัญหา และโดยความเข้าใจ ที่ได้รับมาจากอดีตมากกว่าจะเป็นไปโดยความคาดหวังเกี่ยวกับอนาคต และหนังสือเล่มนี้ก็ช่วยพาอดีตมาให้ปัจจุบันเรียนรู้

ถ้าท่านกำลังมองหาความเข้าใจในปัจจุบันเกี่ยวกับการแข่งขันและความเป็นปรปักษ์ระหว่างมหาอำนาจเดิมกับมหาอำนาจใหม่ ที่ฝ่ายแรกยึดถือคุณค่าแบบเสรีนิยมและต้องการรักษาสถานภาพเดิมในภูมิภาค รักษาอำนาจในการเป็นผู้กำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจและการเมืองโลก และฝ่ายหลังที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของภูมิภาค ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมและครองไว้ด้วยความคิดชาตินิยม ที่ไม่เพียงมุ่งขยายอิทธิพลออกไปให้มากที่สุด แต่ยังต้องการรุกเข้าแทนที่มหาอำนาจเดิมที่เคยคุมอิทธิพลในภูมิภาคไว้

งานของท่านทูตจริยวัฒน์ก็จะมีบทเรียนฉายให้เห็นจากยุคสมัยที่ผ่านเลยไปแล้วว่า เมื่อไทยเลือกดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบทหารนิยมโดยหวังผลประโยชน์ต่อการเมืองภายใน และเข้ากับมหาอำนาจฝ่ายอำนาจนิยมที่ต้องการเปลี่ยนสถานภาพเดิมในภูมิภาค แลกกับการที่ประเทศนั้นช่วยสนับสนุนไทยสร้างความเข้มแข็งภายในและขยายอำนาจรัฐด้วยกำลังทหารไปผนวกดินแดนเพิ่มเติม ราคาที่ประเทศมหาอำนาจชาตินั้นกดดันเรียกผลตอบแทนจากไทยคืออะไร

การมองแต่ผลลัพธ์สุดท้ายว่าในที่สุดแล้วประเทศไทยไม่ถึงกับเสียหายในทางเศรษฐกิจ ไม่ถูกมองเป็นประเทศผู้รุกรานประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามที่ถูกปลดอาวุธปลดทหารและถูกยึดครองโดยกองกำลังต่างชาติ ไม่มีใครต้องถูกส่งตัวไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามระหว่างประเทศ ประสบความสำเร็จในการเจรจาเกี่ยวกับสถานะหลังสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรและเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาติได้ในเวลาไม่นาน ก็เท่ากับมองไม่เห็นถึงความสำคัญและไม่ได้เรียนรู้ว่า การดำเนินการทางการทูตและการเจรจา การหาทางหนีทีไล่ในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของไทยนั้นละเอียดอ่อนและยากเพียงใดในช่วงเวลาของสถานการณ์โลกที่ไม่มีใครช่วยใครและแม้แต่กฎหมายและระเบียบระหว่างประเทศก็ไม่อาจมาเป็นหลักได้

การต่างประเทศไทยในช่วงเวลานี้จึงเป็นระยะเวลาที่การทูตไทยได้ฝึกฝนและสะสมความชำนาญในการอ่านสถานการณ์ การตอบสนองต่อการพลิกเปลี่ยนของอำนาจ และการแก้ไขปัญหาและผลกระทบพลิกตัวออกจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายที่ไม่อาจจะเรียนได้จากสำนักศึกษาแห่งไหน เพราะเป็นการฝึกฝนและเรียนรู้จากของจริง

ผลงานของท่านทูตจริยวัฒน์เล่มนี้ได้รวบรวมมาให้เห็นว่า เมื่อผู้นำประเทศได้เลือกดำเนินนโยบายที่มีผลตอบแทนสูง พร้อมกับความเสี่ยงต่อความเสียหายที่สูงพอกัน การทูตไทยในเวลานั้นดำเนินการอย่างไรในการรับมือกับแรงกดดันจากมหาอำนาจที่มาเรียกร้องเอาผลตอบแทน ในการแก้ไขปัญหาที่จะผ่อนเพลาผลกระทบที่ตามมาจากนโยบายขยายอำนาจด้วยกำลังทหาร หรือการหาทางผ่อนปรนเงื่อนไขจากเหตุปัจจัยในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศด้วยวิธีที่สอดคล้องกับขีดความสามารถอันจำกัดของประเทศตามที่เป็นจริงในแต่ละช่วงเวลาที่สถานการณ์พลิกผันไป

ความชำนาญทางการทูตในช่วงเวลานี้เกิดขึ้นมาภายใต้สถานการณ์จำเป็นเพราะเดิมพันอันสูงลิ่วทั้งในทางได้และทางเสีย ทั้งในส่วนที่เป็นผลประโยชน์โดยรวมของชาติ และสถานะทางประวัติศาสตร์ของผู้นำแต่ละคน และของระบอบใหม่ที่พวกเขาร่วมกันสถาปนาขึ้นมา

หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่จะให้ความเข้าใจนโยบายต่างประเทศไทย แต่เรื่องที่ซ่อนอยู่อีกชั้นหนึ่งในเล่มนี้ก็น่าสนใจสำหรับผู้ปฏิบัติไม่แพ้กัน เราคงไม่อ่านสามก๊กโดยสนใจแต่เฉพาะโจโฉ เล่าปี่ หรือซุนกวน ผู้เป็นตัวหัวหน้า

ผมขอแนะนำท่านผู้สนใจว่าเราจะเข้าใจความขัดแย้งระหว่างตัวหัวหน้าและผลที่ตามมาไม่ได้เลยถ้าไม่เข้าใจลักษณะทางจิตวิทยาและบุคลิกภาพของเขาแต่ละคน กับการกระทำดำเนินการของตัวรองๆ ทั้งหลายที่ฉายให้เห็นถึงจุดอ่อนและข้อจำกัดของตัวหัวหน้า และสิ่งที่พวกเขาที่เป็นตัวรองๆ ทำ หรือไม่ทำ หรือตัดสินใจอย่างไร ก็มีผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่าสิ่งที่มาจากการตัดสินใจและการกระทำของตัวหัวหน้า ความจริงแล้ว การกระทำหรือตัดสินใจของตัวหัวหน้าก็มาจากการจัดเสนอของตัวรองๆ อยู่ไม่น้อย

เช่น ถ้าท่านสนใจบุคลิกภาพทางจิตวิทยาและการตัดสินใจของจอมพลป. โปรดอย่าลืมพิจารณาหลวงวิจิตรวาทการ และข้อสังเกตของ Sir Josiah Crosby ทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเวลานั้น ผมคิดว่าคนสนใจวิชาการทูตจะเรียนอะไรได้มากจากเอกสาร Crosby ที่ท่านทูตจริย์วัฒน์ใช้ในงานวิจัย

หนังสืออันทรงความหมายของท่านทูตจริย์วัฒน์เล่มนี้จึงอ่านได้ประโยชน์หลายทาง ไม่ว่าจะอ่านจากทางไหนก็จะเห็นดวงดาวพราวพรายอยู่ในนั้น