posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรน่าหวู่ฮั่น (30)

23 กันยายน 2563

โดย..น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*******************

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ใช้เวลาพัฒนามายาวนาน มีประสบการณ์มากมายให้เรียนรู้สำหรับการพัฒนาวัคซีนต่อสู้กับโรคโควิด-19

การพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เริ่มขึ้นหลังจากการระบาดใหญ่และรุนแรงที่สุดของไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อ พ.ศ. 2461-2463 เมื่อเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนที่เชื่อว่าเริ่มต้นในสหรัฐ ซึ่งเวลานั้นการแพทย์และสาธารณสุขโดยรวมยังพัฒนาน้อย แต่หลายเมืองในสหรัฐ หลายโรงพยาบาลและหลายมหาวิทยาลัย การแพทย์และการสาธารณสุขเริ่มมีการพัฒนาแล้ว เพราะสหรัฐให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาตั้งแต่ก่อนการก่อตั้งประเทศ หลักฐานสำคัญในเรื่องนี้คือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก่อตั้งก่อนการร่างรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกที่เมืองฟิลาเดลเฟียของสหรัฐถึง 167 ปี มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในกรุงนิวยอร์คก็ตั้งขึ้นก่อนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น 16 ปี

หนังสือ “การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่” (The Great Influenza) เขียนโดย จอห์น เอ็ม. แบร์รี่ (John M. Barry) นักประวัติศาสตร์คนสำคัญได้เล่าเรื่องการระบาดของโรคนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องราวของ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ เช่น วิลเลียม เฮนรี เวลช์ (William Henry Welch) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ , ไซมอน เฟลกซ์เนอร์ (Simon Flexnor) ผู้สามารถลดอัตราการตายของโรคไข้สมองอักเสบลงเหลือเพียง 18% ในปี พ.ศ. 2453

ขณะที่เมื่อมียาปฏิชีวนะแล้ว อัตราตายยังสูงถึง 25% วิลเลียม ปาร์ค (William Park) ผู้พัฒนาห้องปฏิบัติการของเทศบาลเมืองนิวยอร์คให้เป็นสถาบันวิจัยชั้นนำ และมหาเศรษฐีจอห์น ดี ร็อคกีเฟลเลอร์ ผู้สถาปนาสถาบันวิจัยการแพทย์ ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์ ฯลฯ เหล่านี้คือ การสร้างความรู้ผ่านการศึกษา วิจัย และพัฒนาทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ จนเกิดความก้าวหน้าทางวิทยาการที่สามารถต่อสู้กับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิผล

เวลานั้นสหรัฐยังเป็นประเทศเกิดใหม่ และพัฒนาน้อยกว่ายุโรป แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของบรรดาบิดรผู้ก่อตั้งประเทศ (Founding Fathers) ได้ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2330 เพราะนอกจากนักกฎหมาย นักการเมือง นักการทหาร และนักวิชาการแขนงต่างๆ แล้ว คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีผู้อาวุโสสูงสุด คือ เบนจามิน เเฟรงคลิน นายแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักการทูต และนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีชื่อเสียงร่วมอยู่ด้วย

เวลานั้นสหรัฐอเมริกาอันกว้างใหญ่ไพศาล ทั่วประเทศมีสะพานข้ามแม่น้ำใหญ่เพียงสะพานเดียว ถนนหนทางยังเป็นถนนดินที่มีหล่มโคลนมากมาย ผู้ที่เดินทางมาเป็นตัวแทนจากรัฐต่างๆ มาร่วมร่างรัฐธรรมนูญครั้งนั้น หลายคนมาล่ากว่ากำหนดนัดหลายวัน บางคนมาหลังเปิดประชุมไปแล้วหลายสัปดาห์ เพราะหนทางคมนาคมยังทุรกันดารมาก

การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดขึ้นระหว่างสงคราม เมื่อแรกยังเข้าใจผิดว่าเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุคือ เชื้อเฮโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ (Henophilus influenze) ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคปอดบวม จนกระทั่ง พ.ศ. 2464 จึงเริ่มพบเชื้อไวรัสที่เพาะเลี้ยงในไข่ไก่ฟัก ทำให้เริ่ม “มาถูกทาง” หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนาวัคซีนจนเป็นที่ยอมรับและสามารถขึ้นทะเบียนจำหน่ายได้ในเวลากว่า 10 ปีต่อมา วัคซีนดังกล่าวได้ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ผลิตในนำคร่ำ (Amniotic Fluid) ของไข่ไก่ฟัก จึงมีโปรตีนของไข่ไก่ตกค้างอยู่ในวัคซีนทำให้เกิดการแพ้ในคนที่แพ้ไข่ไก่ จึงต้องมีกระบวนการกำจัดโปรตีนจากไข่เพื่อทำให้วัคซีน “บริสุทธิ์” ขึ้น ลดการแพ้ลง

การผลิตวัคซีนจากไข่ไก่ฟัก จะต้องเริ่มต้นที่การเลี้ยงไก่อย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อให้ได้ไข่ที่ปลอดเชื้อกว่า 30 ชนิดตามที่กำหนด (Specific Pathogen-Free Egg) โดยไข่ไก่จะต้องมีการผสมจากตัวผู้แล้ว วิธีการคือในกรงไก่จะมีตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 9 ตัว นำไข่มาฟัก 11-12 วัน เพื่อให้เริ่มเป็นตัวและเกิดถุงน้ำคร่ำขึ้นตรงด้านบนของไข่ นำไข่มาเจาะตรงบริเวณที่ไม่มีหลอดเลือดไปเลี้ยง แล้วหยอดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ลงไปให้เชื้อเพิ่มจำนวน แล้วนำไปเข้าตู้อบที่อุณหภูมิ 37oซ. เป็นเวลา 48 ชั่วโมง จะได้เชื้อไวรัสในน้ำคร่ำไข่ไก่ฟักราว 10 มล. นำไปผ่านกระบวนการทำให้เชื้อตาย (inactivate) โดยทำจากเชื้อไวรัสแต่ละตัวตามสูตรที่องค์การอนามัยโลกประกาศกำหนดสำหรับแต่ละซีกโลก ในแต่ละฤดูกาล จากนั้นนำมาผสมตามสูตรแล้วบรรจุจำหน่ายต่อไป

ถ้าเป็นเชื้อชนิดเป็นจะไม่ต้องผ่านกระบวนการทำให้เชื้อตาย ซึ่งมีข้อดีคือจะผลิตได้เร็วกว่า และการนำไปใช้จะใช้วิธีพ่นเข้าทางจมูก ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันทั้งในกระแสโลหิตและภูมิต้านทาน “เฉพาะที่” คือในระบบทางเดินหายใจด้วย แต่วัคซีนเชื้อเป็นก็มีข้อจำกัดในการใช้หลายอย่างดังกล่าวแล้ว

จะเห็นว่ากระบวนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนมาก ทั้งในส่วนของการผลิตไข่ไก่ฟักให้ได้คุณภาพตามที่กำหนดจำนวนมาก เพราะไข่ไก่แต่ละฟองจะผลิตวัคซีนได้จำนวนไม่มาก กำลังการผลิตทั่วโลกจึงมีน้อยกว่าจำนวนประชากรของโลกมาก ช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั่วโลกมีประชากรกว่า 6 พันล้าน แต่โรงงานวัคซีนทั่วโลก มีกำลังผลิตราว 600 ล้านโด๊สเท่านั้น

ในช่วงที่ไม่มีการระบาด มีการจำกัด “ประชากรกลุ่มเป้าหมาย” (Targeted population) ในการฉีด และมีช่วงเวลาในการทยอยฉีดหลายเดือน จึงไม่เกิดโกลาหลเหมือนเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งทั่วโลกต้องการฉีดวัคซีนพร้อมๆ กัน ในเวลาอันรวดเร็ว

ในเวลาปกติ การ “ระบาด” ย่อมๆ ในประเทศซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ยังไม่พร้อมกัน โดยซีกโลกเหนือมักระบาดช่วงฤดูหนาว แต่ซีกโลกใต้มักระบาดในช่วงฤดูฝน ประเทศต่างๆ และโรงงานต่างๆ จึงมีเวลา “หายใจ” โดยที่ “กลุ่มเป้าหมาย” ของการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ยังไม่มารับการฉีดด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เช่น

(1) ไม่เชื่อในประสิทธิผลของวัคซีนว่าจะป้องกันโรคได้จริง

(2) กลัวอันตรายจากผลข้างเคียงหรือฤทธิ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีน

(3) บางประเทศมิได้ฉีดให้ฟรี จึงมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย

(4) ความไม่สะดวก เช่น ในประเทศไทย เป็นห่วงเรื่องผลไม่พึงประสงค์จากวัคซีนเกินกว่าเหตุ จึงให้ฉีดในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ ซึ่งทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไม่ได้ให้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้านประชาชนมากกว่า เหมือนการให้บริการวัคซีนพื้นฐานทั่วไป เช่น วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ ตับอักเสบบี เป็นต้น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยจึงมีผู้รับบริการราวร้อยละ 50 ของเป้าหมายเท่านั้น บางท้องที่อัตราการฉีดวัคซีนนี้ ต่ำมาก

ความไม่เชื่อเรื่องประสิทธิผลของวัคซีน มิใช่ความเชื่อเลื่อนลอย ในสหรัฐซึ่งมีระบบข้อมูลค่อนข้างดีทำให้การประเมินผลมีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง พบว่า ประสิทธิผล (Effectiveness) ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วง พ.ศ. 2547-2562 อยู่ระหว่าง 10-60% เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า การผลิตวัคซีนแต่ละปี ผลิตตาม “คำทำนาย” ของนักวิชาการ

ขณะที่เชื้อมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ประสิทธิผลจึงอาจเกิดจากทั้งการทายที่ไม่แม่นยำ หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ หรือคุณภาพของวัคซีน ซึ่งนอกจากขึ้นกับการผลิตแล้ว คุณภาพยังอาจเสื่อมจากการขนส่งและการเก็บรักษาโดยเฉพาะระบบห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain) ที่ไม่ดีพอด้วย ตัววัคซีนเองก็มี “ประสิทธิศักย์” (Efficacy) ในประชากรกลุ่มต่างๆ แตกต่างกัน ร่างกายผู้รับวัคซีนเองแต่ละคนก็มีส่วนในประสิทธิผลของวัคซีน และวิธีการประเมินผลเองก็มี “ตัวกวน” ได้มาก เพราะอาการป่วยอาจมิใช่ไข้หวัดใหญ่ แต่เป็น “อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่” (Flu-like symptoms) ก็ได้

การที่เชื้อกลายพันธุ์ตลอดเวลา ทำให้ต้องฉีดทุกปี จึงมีผลให้หลายคนไม่อยากเอามาเป็นภาระหรือหลงลืม

ทางด้านอาการไม่พึงประสงค์ นอกจากอาการเจ็บบริเวณที่ฉีดหรือไข้ต่ำๆ แล้ว บางรายอาจมี “อาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรง” คืออาการของกลุ่มอาการกีแลงบาร์เร (Guilan-Barre Syndrome) ทำให้เกิดอาการคล้ายอัมพาตขึ้น แม้จะพบอัตราต่ำ ราว 0.1 ต่อล้าน แต่ก็น่ากลัว

นี่คือประสบการณ์ส่วนหนึ่งของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ซึ่งนักวิชาการในวงการทราบดี แต่ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่คงไม่ทราบ

*************