posttoday

สู่ความสำเร็จของการปลดแอก

19 กันยายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*********************

การต่อสู้ที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา จะนำมาซึ่งความสำเร็จ

หลายคนคงจะ “มึนงง” กับขบวนการม็อบปลดแอกที่กำลังดำเนินอยู่ ว่าจริงๆ แล้ว พวกเขาต้องการอะไร จะต้องต่อสู้ไปถึงไหน และจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนทั้งหลายมึนงงก็คือ การสื่อสารที่ “แปลกแยก” และ “แปลกประหลาด” ที่ได้สร้างความไม่เข้าใจ รวมถึงความไม่มั่นใจ ในกระบวนการของการต่อสู้ในครั้งนี้ อย่างที่หลายๆ คนได้ตั้งคำถามมานี้ โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าที่ยังไม่เข้าใจในวิธีการ ถ้อยคำ และความมุ่งหมาย ที่คนรุ่นใหม่กำลังดำเนินการ “ปลดแอก” อยู่ในขณะนี้

แต่สำหรับในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวร่วมกัน พวกเขาน่าจะมีความเชื่อว่า สิ่งที่พวกเขากำลังดำเนินการอยู่คือสิ่งที่พวกเขาสามารถสื่อสารกันได้อย่างดีที่สุดแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะสื่อสารกันแต่เฉพาะในหมู่พวกเขาเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นแนวทางที่จะประสบความสำเร็จได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจำเป็นจะต้องมีการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจอย่างถ้วนทั่ว เพื่อให้สังคมเคลื่อนที่ตามกันไปได้ ซึ่งจะทำให้ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นประสบความสำเร็จได้ และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วสังคมก็จะเกิดบูรณาการ คือเป็นกลุ่มก้อนของความเข้าใจอันเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สังคมภายหลังการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็น “สังคมร่วมอุดมการณ์” อย่างแท้จริง ทั้งนี้พวกเขาจะต้องความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

ประเด็นแรก “พวกเขากำลังสื่อสารกับใคร”

ตามที่เข้าใจกัน กลุ่มม็อบปลดแอกต้องการสื่อสารแต่เฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือคนที่มีอุดมการณ์ไปในแนวทางเดียวกันเท่านั้นหรือ เพราะถ้าหากพวกเขาต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้สำเร็จจริงๆ พวกเขาจะต้องสร้างพลังให้เกิดอุดมการณ์ร่วมไปในผู้คนทุกหมู่เหล่า เพื่อให้คนจำนวนมากในประเทศเห็นด้วยและเชื่อมั่นในการเคลื่อนไหวของพวกเขา แต่ถ้าเขายังพยายามเพียงแค่จะปลุกปั่นคนรุ่นใหม่ ผู้คนก็อาจจะตีความไปได้หลายด้าน เป็นต้นว่า ต้องการละทิ้งคนรุ่นเก่า หรือ “คนพวกอื่น” (ที่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่) ออกเสียจาก “สังคมใหม่” ที่พวกเขากำลังจะสร้างขึ้นกระนั้นหรือ หรือว่ามองคนรุ่นเก่าว่าไม่มีคุณค่า และต้องการสร้างสังคมใหม่ขึ้นตามลำพัง ซึ่งความคิดอย่างนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวอันตราย เพราะสังคมก็จะมีแต่ความแตกแยก และที่สำคัญที่สุด การเคลื่อนไหวก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดการเคลื่อนตัวของสังคมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมสนับสนุนนั่นเอง

ประเด็นต่อมา “พวกเขากำลังสื่อสารเรื่องอะไร ทำไมจึงดูไม่ชัดเจนและไม่โปร่งใส”

ประเด็นนี้น่าจะเป็นที่สังคมให้ความสนใจที่สุด เพราะส่วนหนึ่งมองไปว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มปลดแอกนี้ คือความพยายามที่จะ “ล้มเจ้า” เป็นพวก “ชังชาติ” และอาจจะมีกลุ่มคนที่คอย “ชักใย” อยู่เบื้องหลัง

ในขณะที่กลุ่มคนที่ร่วมในม็อบปลดแอกนี้ก็ไม่ได้ปฏิเสธ แถมยังมีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงมากขึ้น จนน่าเป็นห่วงว่าถ้ายังมีการเคลื่อนไหวไปในแนวนี้ สังคมก็ยิ่งขัดแย้งกันมากขึ้น ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้สังคมเป็นกังวล ว่าการเคลื่อนไหวอาจจะนำไปสู่สังคมที่ไม่พึงปรารถนา ดังนั้นถ้ากลุ่มม็อบต้องการที่จะสร้างความชัดเจน ก็จะต้องแสดงออกให้ “สว่าง” มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้ ที่ง่ายที่สุดก็คือให้ประกาศและอธิบายให้ชัดเจนไปเลยว่า สังคมใหม่ที่พวกเขาต้องการนั้น จะสดสวย สดใส และน่าอยู่อย่างไร เพราะเพียงแค่บอกว่าจะล้มล้างสถาบัน

โน้นสถาบันนี้ ก็อาจจะทำให้ผู้คนยิ่งมีแต่ความหวาดหวั่น ไม่เฉพาะแต่ที่เกิดความหวาดหวั่นว่าสถานการณ์จะร้ายแรงมากขึ้น แต่ยังหมายถึงความหวาดวิตกต่ออนาคตของของชาติภายใต้การบริหารของคนรุ่นใหม่นี้ด้วย

อีกประเด็นหนึ่ง “บ้านเมืองที่จะรุ่งเรืองสงบสุขย่อมเกิดจากผู้ปกครองที่สามัคคีและมีฝีมือ”

เราต้องยอมรับว่า กลุ่มม็อบที่เคลื่อนไหวอยู่นี้ล้วนแต่เป็น “คนหน้าใหม่” จนหลายๆ คนไม่เชื่อว่า ลำพังแต่เฉพาะเด็กๆ นี้จะคิดทำ “การใหญ่” แบบนี้ได้ และยิ่งไม่เชื่อไปอีกว่า ถ้าเด็กๆ เหล่านี้เคลื่อนไหวจนประสบความสำเร็จแล้ว จะสามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง รวมถึงความสงบสุขนั้นได้ เพราะในการเคลื่อนไหวที่เป็นอยู่ก็เหมือนว่าจะมีหลายกลุ่มหลายแนวคิด ซึ่งบางครั้งก็มีข่าวว่าเกิดความขัดแย้งกันเสียด้วยซ้ำ แล้วอย่างนี้ถ้าได้ขึ้นปกครองบ้านเมืองแล้ว จะสามารถพาประเทศไปสู่ความสงบสุขได้หรือ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่อง “ฝีมือ” หรือประสบการณ์ของการบริหาร(และการทำงาน) ที่ผู้คนก็ไม่ทราบเลยว่าพวกนี้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในเรื่องใด และจะบริหารประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองนั้นได้อย่างไร

ผู้เขียนนึกถึงสภาวการณ์ของบ้านเมืองภายหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516ที่นิสิตนักศึกษาได้รับชัยชนะ แต่แล้วบ้านเมืองก็ยิ่งมีแต่ความวุ่นวาย และกลายเป็นภาระให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนที่สุดก็ต้องมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ กระนั้นบ้านเมืองก็ไม่สงบสุข จนทหารได้ใช้ความวุ่นวายนั้นสร้างกระแสให้สังคมเบื่อหน่ายเกลียดชังนักศึกษา และล้อมปราบในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม2519 คือเพียงแค่ 3 ปีภายหลังชัยชนะของนักศึกษาที่ทุกคน “ฝันเฟื่องนั้น”

ทว่าความสำเร็จของเหตุการณ์วันที่14 ตุลาคม2516 เกิดขึ้นได้ก็เพราะว่า นิสิตนักศึกษาประกาศและอธิบายให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทหารในยุคนั้น “แย่มากๆ”

อย่างไร จนเกิด “อุดมการณ์ร่วม” ขึ้นในสังคมส่วนใหญ่ ที่ได้กลายเป็นพลังหนุนให้นักศึกษาโค่นล้มทหารได้สำเร็จ แต่ต่อมาผู้คนกลับพบว่า นักศึกษานั่นเองที่มีความเห่อเหิม ใช้เสรีภาพกันอย่างวุ่นวาย ผู้คนเลยหมดความเชื่อถือศรัทธาต่อนักศึกษา ทั้งยังเห็นด้วยกับทหารที่ใส่ร้ายว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ และบางคนก็สะใจที่เห็นภาพอันสยดสยองในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม2519 นั้น รวมถึงที่หลายๆ คน ตนก็ยังแคลงใจว่าผู้นำนักศึกษาเมื่อ 14 ตุลาคม2516 สามารถไปเรียนเมืองนอกหรือมีชีวิตที่สุขสบายได้อย่างไร แม้เหตุการณ์ร้ายๆ เหล่านั้นจะผ่านไปหลายปี โดยที่ก็ไม่ได้ทำงานจนประสบความร่ำรวยอะไร

ขอเพียงทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีความโปร่งใส ก็จะคุ้มภัยให้ “เด็กๆ” ไปได้ด้วยดี

*******************************