posttoday

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (13): การพยายามเอาคืนจากฝ่ายกษัตริย์และการกำเนิดของ “คณะเจ้า” ชุดที่สอง

17 กันยายน 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*************************

The Hat เป็นชื่อของพรรคการเมืองพรรคแรกของสวีเดน ที่เกิดขึ้นในยุคแห่งเสรีภาพ และได้ครองอำนาจทางการเมืองในปี ค.ศ. 1739 แต่รัฐสภาภายใต้รัฐบาลก่อนหน้านี้ ได้ลงมติแต่งตั้งให้ Adolf Frederick เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อจาก Frederick I

การลงมติดังกล่าวนี้เกิดจากการที่สวีเดนต้องยอมรับเงื่อนไขที่รัสเซียได้กำหนดไว้ในการเจรจาสันติภาพ หลังจากที่สวีเดนแพ้สงครามกับรัสเซีย แต่จุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศของ The Hat ฝักใฝ่ฝรั่งเศสและอังกฤษ และไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย ดังนั้น The Hat จึงหาทางที่จะดึง Adolf Frederick ให้ผละออกจากรัสเซีย โดย The Hat ได้ยื่นข้อเสนอว่า เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มพระราชอำนาจให้สถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น ซึ่ง Adolf Frederick ก็ทรงคล้อยตาม และหันไปมีสัมพันธ์อันดีกับฝรั่งเศส

แต่หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1751 และ The Hat บรรลุตามที่ตนต้องการและสามารถรักษาฐานอำนาจทางการเมืองไว้ได้อย่างมั่นคง ก็กลับไม่ทำตามสัญญาที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับ Adolf Frederick เป็นอย่างยิ่ง แต่ความไม่พอใจในส่วนของพระองค์มิได้เป็นปัญหาเท่ากับความไม่พอใจของ Louisa Ulrika ผู้เป็นสมเด็จพระราชินีของพระองค์ เพราะ Adolf Frederick ทรงมีบุคลิภาพไม่เข้มแข็ง แต่ Louisa Ulrika ทรงมีความเป็นผู้นำและมีพระปรีชาญาณอย่างยิ่ง (ผู้เขียนได้กล่าวถึงคุณสมบัติความสามารถของอุดมการณ์ทางการเมืองของพระองค์ไว้ในตอนทีแล้ว https://www.posttoday.com/politic/columnist/632658?utm_source=posttoday.com&utm_medium=article_relate_inread&utm_campaign=new%20article)

ดังนั้น หลังจากความร้าวฉานจากการถูกหักหลังโดย the Hat ในปี ค.ศ. 1751 Louisa Ulrika ทรงเป็นปฏิปักษ์ชัดเจนกับ the Hat ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ไม่ทรงปรารถนาที่จะหันฝักใฝ่ทาง the Cap ที่เป็นพรรคตรงข้ากับ The Hat มากเกินไปด้วย เพราะพระองค์ไม่ทรงโปรดที่ the Cap ฝักใฝ่ใกล้ชิดกับรัสเซียจนเกินไป พระองค์ทรงต้องการจะมีกลุ่มการเมืองของพระองค์ที่มีเป้าหมายร่วมกันหนึ่งเดียว และด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองที่สามจึงถือกำเนินขึ้นในยุคแห่งเสรีภาพ นั่นคือ “พรรคหรือคณะเจ้า” (Hovpartiet) ที่มี Louisa Ulrika เป็นศูนย์รวมใจสำคัญ กล่าวได้ว่า คณะเจ้าเป็นพรรคที่รวมบรรดาผู้ที่ผิดหวังหรือตกเป็นเหยื่อจากทั้ง the Hatและ the Cap

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (13): การพยายามเอาคืนจากฝ่ายกษัตริย์และการกำเนิดของ “คณะเจ้า” ชุดที่สอง

                                    Adolf Frederick                                                       Louisa Ulrika

คณะเจ้าภายใต้ Louisa Ulrika ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1751 ถือเป็นคณะเจ้าชุดที่สองที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยคณะเจ้าชุดที่หนึ่งได้เกิดขึ้นในรัชสมัยของ Frederick I ในความพยายามที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มพระราชอำนาจในปี ค.ศ. 1723 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

คณะเจ้าชุดที่สองนี้มีเป้าหมายสำคัญสามประการ คือ

เป้าหมายแรกที่เป็นเป้าหมายหลักและเป็นที่รับรู้กัน คือ ต้องการการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า บรรดาผู้ที่เข้าร่วมในคณะเจ้าตั้งใจที่จะสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมาหรือเพียงต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะยังมีความเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอยู่ เช่น บางฝ่ายต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้น ในขณะที่อีกฝ่ายต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จัดสรรการแชร์อำนาจใหม่ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐสภาและสภาบริหาร (สภาบริหารทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรี)

เป้าหมายประการที่สองคือ Louisa Ulrika ทรงต้องการให้สวีเดนเป็นอิสระจากมหาอำนาจต่างชาติไม่ว่าจะมหาอำนาจชาติใดก็ตาม เพราะที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า พรรคการเมืองทั้งสองพรรคทำให้สวีเดนต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจากต่างชาติ เช่น ฝรั่งเศสในกรณีของ the Hat และรัสเซียและอังกฤษในกรณีของ the Cap

เป้าหมายประการที่สาม Louisa Ulrika ทรงต้องการสร้างให้คณะเจ้าเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองในการสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริของพระมหากษัตริย์เพื่อให้บรรลุความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยเกิดก่อน

และด้วยเหตุนี้เองที่บางครั้ง จะมีการขนานนามคณะเจ้าว่าเป็น “พรรคของสมเด็จพระราชินี” (the queen’s party) เพื่อชี้เห็นถึงบทบาทอันสำคัญยิ่งภายใต้การนำของ Louisa Ulrika และบรรดาแกนนำคณะเจ้าก็มักจะประชุมกันที่พระตำหนักของสมเด็จพระราชินี

การรวมตัวกันเป็นคณะเจ้าระหว่างปี ค.ศ. 1751-1755 ประกอบไปด้วยบุคคลต่างๆ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง สมาชิกของพวกอภิชนและพระสหายส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี

สอง บุตรหรือเครือญาติของผู้เป็นเหยื่อทางการเมืองของ the Hats ในปี ค.ศ. 1739 อันได้แก่ ผู้ที่เป็นฝ่ายของ Horn ในขณะนั้น (โปรดดูรายละเอียดเกี่ยวกับ Arvid Horn ได้ใน ตอนที่ห้าและหก)

สาม สมาชิกพรรค the Cap ที่หมดทางต่อสู้กับ the Hat จึงหันมาฝักใฝ่ในสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหวังจะร่วมกันโค่นล้มอำนาจของ the Hat

สี่ กลุ่มนายทหารหนุ่มที่อาจเรียกได้ว่าเป็นฝ่าย the Hat เพราะนายทหารกลุ่มนี้เคยชื่นชมคลั่งใคล้สนับสนุน the Hat ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1738-1741 แต่ต่อมาไม่พอใจกับการที่แกนนำ the Hat ใช้อำนาจแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งให้บุคคลบางคนอย่างไม่เคารพกติกาและข้ามหน้าข้ามตา และผู้ที่พยายามต่อสู้ขัดขวางการใช้อำนาจที่ไม่ชอบนี้คือ Adolf Frederick ที่ต่อมาได้กลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อบรรดานายทหารหนุ่มนี้

จากข้างต้น เราสามารถวิเคราะห์เหตุผลของการมารวมตัวกันเป็นคณะเจ้าได้ดังนี้คือ การที่คณะเจ้าประกอบด้วยบุคคลประเภทที่หนึ่งที่เป็นสมาชิกของพวกอภิชนและพระสหายส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์และพระราชินี เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะคนกลุ่มนี้ย่อมจะมีอุดมการณ์นิยมพระมหากษัตริย์ (Royalism) อยู่แล้ว แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้วก็ตาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้เกิดขึ้นจากการใช้กำลังความรุนแรงชนิดถอนรากถอนโคน อุดมการณ์ทางการเมืองของคนเหล่านี้จึงยังไม่ถูกสั่นคลอนอะไรมากนัก

ดังนั้น เหตุผลของการมาร่วมตัวกันของคนกลุ่มนี้คือเป็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง

ส่วนคนกลุ่มที่สอง ที่เป็นบุตรหรือเครือญาติของผู้เป็นเหยื่อทางการเมืองของ the Hat ในปี ค.ศ. 1739 ซึ่งพอเข้าใจได้ถึงสาเหตุที่มารวมตัวเป็นคณะเจ้า นั่นคือ มี the Hat ที่เป็นศัตรูร่วมกันที่ต้องแก้แค้น ดังนั้น เหตุผลในการเข้าร่วมเป็นคณะเจ้าของกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องเสียผลประโยชน์และการแก้แค้นทางการ เมือง และไม่น่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบพระมหากษัตริย์นิยม (Royalism) จริงๆ เพราะต้องอย่าลืมว่าคนกลุ่มนี้อยู่ภายใต้ Arvid Horn ที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ลดทอนพระราชอำนาจจากสมบูรณา ญาสิทธิราชย์

แต่ถ้าคนกลุ่มนี้หันกลับมาสนับสนุนให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมีพระราชอำนาจอย่างกว้างขวางจริงๆ ก็อาจกล่าวได้ว่า นอกจากเหตุผลของการแก้แค้นทางการเมืองแล้ว คนกลุ่มนี้ถือเป็นพวกย้ายข้าง (turncoat) และมีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยเสริมในการเข้าร่วมเป็นคณะเจ้า

และคนกลุ่มที่สามที่เป็นสมาชิกพรรค the Cap ที่หมดทางต่อสู้กับ the Hat จึงหันมาฝักใฝ่ในสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหวังจะร่วมกันโค่นล้มอำนาจของ the Hat แน่นอนว่า เราสามารถอธิบายเหตุผลในการเข้าร่วมคณะเจ้าของคนกลุ่มนี้ได้ในทำนองเดียวกันกับคนกลุ่มที่สอง

ส่วนกลุ่มที่สี่เป็นกลุ่มนายทหารหนุ่มที่เคยสนับสนุนคลั่งใกล้ the Hat มาก่อนในช่วง ค.ศ. 1738-1741 อันเป็นช่วงที่ the Hat เดินหน้าทำสงครามเพื่อหวังจะให้สวีเดนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งย่อมจะเป็นที่พอใจของนายทหารรุ่นใหม่ๆ แต่ต่อมาหลังจากที่สวีเดนต้องพ่ายแพ้สงคราม และ the Hat ได้ใช้วิธีการปัดความรับผิดชอบให้กับสองนายพลที่เป็นผู้บัญชาการทหาร ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการพิพากษาของคณะกรรมาธิการพิเศษ

และกลุ่มนายทหารหนุ่มเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากความพยายามอย่างยิ่งของ Adolf Frederick ที่จะปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ และเหนือสิ่งอื่นใด กลุ่มนายทหารเหล่านี้มีความชื่นชมใน Adolf Frederick ที่ทรงต่อต้านการที่ the Hat ละเมิดกฎระเบียบการเลื่อนขั้นปกติของกองทัพโดยแต่งตั้งนายทหารใหม่ที่เป็นคนของพวกตน ทำให้คณะนายทหารหนุ่มเหล่านี้หันมานิยมสถาบันพระมหา กษัตริย์ที่พวกเขาคิดว่าเป็นผู้นำที่รับผิดชอบและมีความเป็นธรรมต่อกองทัพมากกว่านักการเมือง ทำให้พวกเขาหันมารวมตัวกับคณะเจ้า

ซึ่งเหตุผลในการหันมานิยมกษัตริย์ของคนกลุ่มนี้ก็มีส่วนถูกตรงที่ว่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ที่ผ่านมาของสวีเดน พระมหากษัตริย์ที่โดดเด่นทรงเป็นนักรบและเป็นผู้นำทัพและย่อมจะมีความรับผิดชอบร่วมเป็นร่วมตายกับนายทหารของพระองค์มากกว่านักการเมืองในคณะกรรมาธิการลับหรือสภาฐานันดรที่คอยแต่เพียงกำหนดนโยบาย

แต่นายทหารรุ่นใหม่เหล่านี้น่าจะไม่เคยมีประสบการณ์อันขมขื่นจากการทำสงครามอันยาวนานในรัชสมัยของ Charles XII ที่เกิดจากการตัดสินพระทัยตามลำพังพระองค์ และการที่พวกเขาอาจจะเชื่อหรือคาดหวังว่าว่า ในระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมากจะไม่มีการแต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่งโดยอำเภอใจเลย ก็ถือว่าเป็นความไร้เดียงสาอย่างที่สุด พระมหากษัตริย์บางพระองค์อาจจะไม่ทรงทำตามอำเภอใจแม้จะมีพระราชอำนาจมาก แต่การหวังไปที่ตัวบุคคลมากกว่าตัวระบบ ถือเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง

คณะเจ้าที่มีศูนย์รวมใจสำคัญอยู่ที่ Louisa Ulrika สมเด็จพระราชินีสามารถมีใครเป็นแกนนำ ? และสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่วางไว้ได้มากน้อยแค่ไหน ? โปรดติดตามตอนต่อไป

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (13): การพยายามเอาคืนจากฝ่ายกษัตริย์และการกำเนิดของ “คณะเจ้า” ชุดที่สอง

Count Erik Brahe นายทหารหนุ่มอายุเพียง 29 ปี แกนนำคนสำคัญของคณะเจ้า