posttoday

“ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จ ก็ว่ากันด้วยสงครามกลางเมือง” 

14 กันยายน 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                           

*******************

ข้อความนี้ ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ และเผยแพร่ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557 (หน้า A6)      เป็นการให้ความเห็นหลังการทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นเวลาประมาณเกือบสี่เดือน เหตุผลที่กล่าวว่า “ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จ ก็ว่ากันด้วยสงครามกลางเมือง” เพราะผู้เขียนได้ประเมินว่า รัฐประหารสองครั้งหลัง นั่นคือ 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 สะท้อนถึงเงื่อนไขที่แตกต่างจากรัฐประหารก่อนหน้าดังนี้คือ

หนึ่ง มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประชาชนสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนรัฐบาล อีกฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และมีการชุมนุมของผู้คนทั้งสองฝ่ายเป็นจำนวนมาก และมีการใช้กำลังความรุนแรงต่อกัน

สอง มีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นในการต่อสู้ทางการเมือง ทำให้ฝ่ายหนึ่งมีภาพของความจงรักภักดี และผลักอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายไม่จงรักภักดี

สาม หลังจากรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลขณะนั้น คณะรัฐประหารกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

สี่ เชื่อมโยงกับข้อสามและสอง  ทำให้รัฐบาลที่ถูกทำรัฐประหารและประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นได้ตั้งข้อกังขาถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับการทำรัฐประหาร

ห้า มีประชาชนออกมาต่อต้านการทำรัฐประหารมากขึ้น

หก เงื่อนไขการทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีความคล้ายคลึงกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่มีความรุนแรงเข้มข้นทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ

ดังนั้น จากเงื่อนไขทั้งหกข้อนี้ สรุปได้ว่า หากจะมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ก็หนีไม่พ้นที่เงื่อนไขจะต้องทวีความเข้มข้นรุนแรงกว่าที่ผ่านมา และรวมทั้งการต่อต้านก็จะเข้มข้นทั้งปริมาณและคุณภาพด้วย และต้องอย่าลืมว่า ในการทำรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ เริ่มปรากฏให้เห็นถึงความแตกแยกในทหารและตำรวจ รวมทั้งข้าราชพลเรือนด้วย  ดังที่จะได้ยินวลี “ทหาร ตำรวจแตงโม” เป็นต้น

ที่นี้เรามาดูสิ่งที่เป็นเจตนารมณ์/นโยบาย ที่ หัวหน้า คสช.ได้ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557 หลังรัฐประหารได้ประมาณ 25 วัน โดยมีข้อความดังต่อไปนี้

“๑. เจตนารมณ์: เพื่อยุติความขัดแย้งของคนในชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่น ภายใต้ระบบบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เป็นการใช้พระราชอำานาจของพระมหากษัตริย์ผ่านกระบวนการดังกล่าวซึ่งเดิมรัฐบาลปกติได้ใช้อำนาจนั้น โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ ในเวทีนานาชาติบนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ชาติ และสร้างความมั่นใจในการลงทุน การประกอบกิจการต่าง ๆของชาวต่างประเทศในประเทศไทย  สร้างเสถียรภาพในทุกมิติ ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน โดยได้รับความเชื่อมั่นจากทุกพวกทุกฝ่าย ประสานแนวคิด แสวงจุดร่วมของผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง โดยมุ่งผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ยกระดับการศึกษา สร้างมาตรฐานของการด ารงชีวิตของประชาชนในสังคมไทย ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างยั่งยืนตลอดไป” (ดูรายละเอียด https://www.posttoday.com/politic/news/299575)

ทีนี้ถามว่า คณะผู้ก่อการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ตระหนักรู้หรือไม่ว่า การทำรัฐประหารในอนาคตจะทำได้ยาก และต้องอาศัยเงื่อนไขที่เข้มข้นรุนแรงกว่าที่ผ่านมา ซึ่งความเข้มข้นรุนแรงที่ต้องมากขึ้นกว่าที่ผ่านมานี้อาจจะล่อแหลมต่อการเกิดสงครามกลางเมือง หรืออาจจะต้องรอให้เกิดสงครามกลางเมืองแล้ว รัฐประหารถึงจะชอบธรรม ?

ผู้เขียนเชื่อว่า คณะ “คสช.”ย่อมตะหนักดี และหากแม้ไม่ตระหนัก แต่อย่างน้อย ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ที่เผยแพร่ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ว่า “ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จ ก็ว่ากันด้วยสงครามกลางเมือง”

ย้อนไปปี พ.ศ. 2562 ในบทความของผู้เขียนเรื่อง “ซินซินนาทัส: ขุนพลผู้รักษาโรมให้รอดวิกฤติ” ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2561 ได้กล่าวถึงขุนพลโรมันที่ได้รับมอบสิทธิ์ให้เผด็จอำนาจเพื่อแก้วิกฤตให้โรมถึงสองครั้ง และทุกครั้งที่เขาแก้วิกฤตเสร็จ เขาก็รีบลงจากอำนาจทันที และที่ผู้เขียนเขียนบทความเรื่องขุนพลโรมัน “ก็เพื่อจะให้คิดกันว่า ผู้นำการทำรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 จะลงเอยแบบใด ?”

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644220

ต่อมา วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์  ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า “…..ประเมินผลงานตลอด ?4 ปีที่?มีโอกาสที่รัฐประหารครั้งนี้จะ ‘เสียของ’ ไหม ?” ผู้เขียนก็ได้ตอบไปว่า ?“…ไม่เสียของ แต่ของจะเสียถ้าคิดจะอยู่ต่อไป” นั่นคือ ผู้เขียนได้เตือนไว้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า อย่าคิดจะอยู่ต่อ

https://www.posttoday.com/politic/report/551770

ต่อมา ในบทความของผู้เขียนที่ลงในโพสต์ทูเดย์เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 เรื่อง “รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ๒๕๕๗ จะลงอย่างไร ?” ผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า “ถึงแม้ว่า ในที่สุดจะมีการเลือกตั้ง และลงเอยด้วยการส่งผ่านอำนาจไปสู่ผู้นำทางการเมืองที่จะมาจากการเลือกตั้ง   แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีของไทยก็คือ   การเลือกตั้งไม่ได้เสรีและเป็นธรรม  และหากผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งนั้น เป็นอดีตผู้นำรัฐประหารเข้าไปอีก  รัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ก็จะนำประเทศชาติไปสู่วิกฤตที่อาจจะปะทุขึ้นทันที  หรือถ้าไม่ก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่     ดังนั้น หนทางที่จะไม่ไปสู่วิกฤติใหญ่ ก็คือ หนึ่ง ผู้นำรัฐประหารประกาศชัดเจนว่าจะยุติบทบาทผู้นำทางการเมืองทันทีและจะไม่รับตำแหน่งใดๆ”

ต่อมา ในบทความเรื่อง “ผู้พะรุงพะรังแห่งปฐพี กับ  ถนนสายเลือกตั้ง”  ของผู้เขียนในโพสต์ทูเดย์ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ก่อนการเลือกตั้ง ผู้เขียนได้กล่าวถึงพลเอกประยุทธ์ในฐานะที่เป็น “ผู้ที่พะรุงพะรังแห่งปฐพี”  โดยกล่าวเตือนความพะรุงพะรังของพลเอกประยุทธ์ไว้ว่า

“ที่ผ่านมา มีบางช่วงที่ลุงได้คะแนนนิยมสูงมาก แต่ก็บางช่วงที่หล่นวูบ แต่ลุงก็แสดงให้เห็นถึงความอึดอดทนแบบชายชาติทหารที่ไม่ฆ่าน้องไม่ฟ้องนายไม่ขายพี่  คนที่เอาใจช่วยลุงบางคนก็เกือบถอดใจ ป๋าเองก็เตือนลุงว่าเสียงสนับสนุนเริ่มลดลง เหตุก็เพราะลุงพะรุงพะรัง แต่ก็เข้าใจได้ว่า ลุงมีน้ำใจแบบว่า ถ้าร่วมเป็นร่วมตายกอดคอกันมา ก็ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  อย่างที่ลุงชอบพูดเสมอ แต่จริงๆแล้ว ลุงก็น่าทิ้งใครไว้ข้างหลังบ้าง หลายคนที่เชียร์ลุงแอบหวังเงียบๆว่าหากลุงกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกโดยผ่านคะแนนนิยมของประชาชนมากมายเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กปกป้องคุ้มลุง ลุงจะสลัดความพะรุงพะรังนั้นได้ แต่จนบัดนี้ ก็ดูจะไม่มีสัญญาณใดๆที่ลุงจะส่งซิกให้เห็นว่า ลุงจะประกาศอิสรภาพตัดความพะรุงพะรังนั้นตอบแทนเสียงพี่น้องประชาชนที่ยังสนับสนุนและหวังในตัวลุง ยิ่งถ้าพิจารณาข้อความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับที่มาของพรรคการเมืองที่ลุงถูกเขาคาดหวังว่าจะปลงใจด้วยแล้ว ก็เชื่อได้ว่า ลุงจะแบกความพะรุงพะรังนี้ต่อไป ความพะรุงพะรังนี้นอกจากจะเป็นของเดิมที่ลุงแบกมาห้าปีแล้ว ยังมีความพะรุงพะรังใหม่ที่ลุงต้องแบกอีก นั่นคือ บรรดานักการเมืองหน้าเก่าๆที่ย้ายมาสังกัดพรรคที่ว่านี้ คนที่สนับสนุนลุงส่วนใหญ่เขาเบื่อนักการเมือง แต่ถ้าพวกเขาต้องสนับสนุนลุงโดยเลือกนักการเมืองพวกนี้ คนที่สนับสนุนลุงจำนวนหนึ่งเขาก็จะหนีลุงไป เพราะคนพวกนี้เขาชอบที่ลุงเอาไม้กวาดของลุงกวาดนักการเมืองออกไป แต่ถ้าลุงจะไปสังฆกรรมกับนักการเมืองพวกนี้ เขาก็จะเห็นว่าลุงกลืนน้ำลายตัวเอง แถมยังใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดพวกนี้กลับมาอีก คนที่คิดดีกับลุง เขาก็ยังปักเชื่อว่า ลุงไม่ได้เป็นคนวางแผนดูดพวกนี้ แต่คนใกล้ตัวและพวกที่อยากจะอยู่ยาวๆเป็นคนทำให้ นักการเมืองพวกนี้จะเป็นความพะรุงพะรังอันใหม่ที่ลุงจะเหนื่อยมาก ลุงจะไปปลดหรือสั่งเขาเหมือนทหารใต้สังกัดหรือเหมือนสมัยลุงเป็นนายกรัฐมนตรี ม. ๔๔ ก็เป็นไปไม่ได้” (ดูที่ผู้เขียนออกอากาศในเรื่องนี้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.  2562

https://curadio.chula.ac.th/Program-Special-Detail.php?id=9

ต่อมา วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562   ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ไว้ว่า จากการที่พลเอกประยุทธ์ต้องอาศัยเสียงของพรรคการเมืองอื่นๆในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจากพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ยังมีพรรคฝ่ายค้านต้องการให้แก้รัฐธรรนูญด้วย โดยผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ลุงไปให้เขามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ลุงจะเอาหรือ ? ถ้าลุงเอา ลุงก็ควรเป็นโต้โผ ทำประชาพิจารณ์ ไม่ใช่ปล่อยนักการเมืองเขาเล่น เพราะเขาก็ต้องเล่นเอาประโยชน์ของเขา ถ้าลุงเปิดประชาพิจารณ์อย่างเสรีไม่มี ม.44 มันก็จะกินเวลาไปอีกปีสองปี ลุงก็มีเวลาหาความสุขให้ตัวเอง...เอ้ย...คืนความสุขให้ประชาชน...แต่ถามจริงๆ เหอะ ลุงมีเป้าหมายวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่าที่อยู่ยาวมา 5 ปี และแถม อะไรๆ ก็ลากช้าไปหมด นักวิชาการอย่างผม ไม่กล้านึก!!???”

https://www.thansettakij.com/content/politics/405067

ต่อมา วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2563   ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์ workpointTODAY  ว่า “….เรื่องที่มาและอำนาจของ สว. ทางพรรคพลังประชารัฐ คงไม่อยากแตะตรงนี้ แต่พรรคการเมืองอื่นๆคิดว่า ตราบใดที่มี สว. 250 คน คงไม่มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี มองด้วยทฤษฎีการใช้เหตุผล การแก้ตรงนี้คือการปลดล็อก ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ ถ้ารวบรวมเสียงได้เกิน ก็จะเป็นนายกฯได้ ดังนั้น ฝั่งที่ สว.เป็นมิตรด้วย ก็ไม่อยากแก้ตรงนี้ ผมคิดว่า ลึกๆแล้ว วาระของทุกพรรคที่ไม่ใช่พลังประชารัฐ พุ่งเป้าไปที่เรื่อง สว. คือ ไม่ให้มีอำนาจเลือกนายกฯ” และผู้เขียนได้คาดการณ์การเมืองปี พ.ศ. 2563 ไว้ว่า “ครึ่งปีแรกรอด-ครึ่งปีหลังต้องลุ้น” โดยชี้ไปที่ปัจจัยการชุมนุมบนท้องถนนของฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล

https://today.line.me/th/v2/article/ศ+ไชยันต์+ไชยพร+มองการเมืองปี+63+ครึ่งปีแรกรอด+ครึ่งปีหลังต้องลุ้น-E0glym

ต่อมา ในบทความของผู้เขียน วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2563 ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเรื่อง “การแก้รัฐธรรมนูญ: ประเด็นวุฒิสภาและอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี”  ผู้เขียนได้สรุปตอนท้ายบทความไว้ว่า “สรุปคือ หนึ่ง ยกเลิกอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสภา สอง ไม่ต้องยกเลิก แต่ให้ลุงตู่ ลุงป้อม อาป๊อกยุติบทบาททางการเมืองเสีย......ถ้าไม่ทำหรือทำไม่ได้...แม้ว่าจะยังไม่มีการชุมนุมใหญ่ตอนนี้.....แต่ก็น่าจะเป็นระเบิดเวลาให้เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ต่อไปอยู่ดี”

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/649179

ต่อมา ผู้เขียนให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563 ภายใต้หัวข้อ “คดียุบพรรค อนค. กับผลที่จะตามมา”  ซึ่งผู้เขียนได้เตือนถึงประเด็นการถูกล่าวหาว่าสืบทอดอำนาจ โดยแนะนำพลเอกประยุทธ์ไปว่า “หากจะแก้ข้อกล่าวหานี้ ง่ายนิดเดียว แต่คงทำไม่ได้ นั่นคือ พลเอกประยุทธ์ลาออกเลย โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ เมื่อพลเอกประยุทธ์ลาออก รัฐสภาก็ต้องกลับไปซาวเสียงหานายกรัฐมนตรีใหม่ คราวนี้ภาพเผด็จการและการสืบทอดอำนาจที่อนาคตใหม่ใช้ในการปลุกระดมโจมตีก็จะหายไปทันที”

https://www.thaipost.net/main/detail/54914

จากที่ผู้เขียนทั้งให้สัมภาษณ์และเขียนบทความเตือนมานานและหลายครั้ง แต่ดูจะเหมือนจะเปล่าประโยชน์ เพราะในที่สุด สถานการณ์การเมืองขณะนี้ก็เข้าข่ายวิกฤตที่รุนแรงอีกครั้งหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากการสืบทอดอำนาจโดยผ่านการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐที่มีฐานกำลังสำคัญจากนักการเมืองหน้าเดิมที่ คสช. เคยกล่าวหาโจมตีหลังรัฐประหาร และการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกโดยบุคคลระดับนำของ คสช.ส่งผลให้บุคคลระดับนำของ คสช.(โปรดอย่าอ้างว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ โปรดดูเหตุผลของผู้เขียน ใน “วิกฤตการเมืองมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีจริงหรือ ? (ตอนที่หนึ่ง)”

https://www.posttoday.com/politic/columnist/631890)

บุคคลระดับนำของ คสช. สืบทอดอำนาจและได้กลายมาเป็นรัฐบาลและกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับขั้วการเมืองทั้งใหม่และเก่า ทำให้เห็นได้ว่า นอกจากจะไม่สามารถยุติความขัดแย้งของคนในชาติแล้ว ยังได้สร้างให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีกด้วย หากไม่มีการสืบทอดอำนาจ บุคคลระดับนำของ คสช. ก็จะพ้นจากการเป็นปัจจัยที่สร้างความขัดแย้งให้คนในชาติได้ และความขัดแย้งของคนในชาติจะไม่ได้เกิดจากพวกท่าน แต่อาจจะเกิดจากนักการเมืองในสภาฯ แต่พวกท่านก็จะยังเป็นกลุ่มพลังนอกสภาฯที่นักการเมืองจะต้องฟังเสียง

ความขัดแย้งใหม่นี้ ไม่ได้ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเป็นประเด็นกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่ความขัดแย้งใหม่กลับทวีความรุนแรงจากการที่ประชาชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลตั้งข้อเสนอที่จะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านข้อเสนอสิบข้อ นอกเหนือไปจากการต่อต้านรัฐบาลผ่านการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านการตั้ง สสร.และเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ก็แน่นอนว่าจะต้องมีการยุบสภาภายใต้กติกาใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในวิกฤตการเมืองขณะนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐบาลสืบทอดอำนาจต่างเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกันและกันไม่ว่าจะในทางบวกหรือลบ นั่นคือ หากรัฐบาลประสบความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดินก็จะมีความชอบธรรมและสามารถปกป้องแบกรับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ในความหมายที่แท้จริงมากกว่าที่เป็นอยู่ และในมุมกลับกัน ก็เช่นเดียวกัน แต่ถ้ามีการต่อต้านและตั้งข้อสงสัยทั้งรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ในเวลาเดียวกัน ก็จะเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติ ผู้เขียนเชื่อว่า กองทัพโดยรวมก็ตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ และรวมทั้งประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝั่งปลดแอก อันจะเห็นได้ว่า ประชาชนบางกลุ่มต่อต้านรัฐบาล แต่ยังให้การเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และกลับกัน ส่วนกลุ่มประชาชนอีกฝั่งหนึ่งนั้นแน่นอนว่าต่อต้านรัฐบาลและต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหา กษัตริย์ในเวลาเดียวกัน

การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม”ในวันที่ 19 กันยายนที่จะถึงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของพายุใหญ่ที่จะเกิดขึ้นเป็นระลอกตามมา โดยมีวันที่ 6 ตุลาคมเป็นหมุดหมายสำคัญที่รออยู่ข้างหน้า และหากยาวต่อจนถึงวันที่ 13 ตุลาคมอันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ไม่รู้ว่า จะเกิดปรากฏการณ์อะไรทั้งจากฝ่ายประชาชนปลดแอกหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

แต่ที่แน่ๆคือ รัฐประหารไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป ยกเว้นว่าสถานการณ์จะเคลื่อนตัวจมดิ่งลงไปสุ่เงื่อนไขที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้น และแน่นอนว่า  รัฐประหารยากที่จะสำเร็จลงอย่างง่ายๆเหมือนที่ผ่านมา

ดังนั้น ควรตัดการรัฐประหารออกไปจากระบบความคิดเสีย

ระหว่างรัฐบาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์  เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลเท่านั้นที่เปลี่ยนได้ นั่นคือ ลาออกและยุติบทบาททางการเมือง ซึ่งจะสังเกตย้อนกลับไปจะพบว่า ในปี พ.ศ.2549  หากคุณทักษิณตัดสินใจลาออก ก็ถือว่าเป็นการเสียสละปลดชนวนวิกฤต หรือในปี พ.ศ. 2557  หากฝ่าย กปปส. ยอมรับการยุบสภาของคุณยิ่งลักษณ์ และเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ก็ไม่มีเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม

หากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์คิดว่า นอกเหนือไปจากการปฏิรูปประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจนผู้คนมีความอยู่ดีกินดีแล้ว ตนยังจำเป็นต้องอยู่ในอำนาจเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็คิดเสียใหม่ เพราะภารกิจทั้งสองนี้ ไม่ใช่ท่านเท่านั้นที่จะทำได้ โดยเฉพาะภารกิจอันหลัง ซึ่งถ้าท่านอ้างว่า ไม่มีใครนอกจากท่านที่จะสามารถปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันของกลุ่มประชาชนปลดแอก ท่านกำลังดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้ามาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ขัดต่อเจตนารมณ์ที่ท่านได้ประกาศเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557:“เพื่อยุติความขัดแย้งของคนในชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่น ภายใต้ระบบบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เป็นการใช้พระราชอำานาจของพระมหากษัตริย์ผ่านกระบวนการดังกล่าวซึ่งเดิมรัฐบาลปกติได้ใช้อำนาจนั้น โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง”

ขอให้ทบทวนเสียเถิดว่า ท่านได้ตัดสินใจผิดพลาดที่ “สืบทอดอำนาจ”

“...ปฏิรูปไม่สำเร็จ ก็...สงครามกลางเมือง”