posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรหน้าอู่ฮั่น (29)

15 กันยายน 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*******************

ช่วงวันสงกรานต์ 13 เมษายน 2563 องค์การอนามัยโลก ได้สรุปความก้าวหน้าเรื่องการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า มีวัคซีนทดลอง (Candidate Vaccine) รวมทั้งสิ้น 66 ชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนการ ทดสอบในห้องทดลองและในสัตว์ทดลอง รวม 60 ชนิด ที่เข้าสู่การทดลองในคนแล้วมีพียง 2 ชนิด เป็นของบริษัทโมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา 1 ชนิด และของบริษัทแคนซิโนไบโอโลจิคัลของจีน 1 ชนิด

นับเป็นความก้าวหน้าที่รวดเร็วมาก จากเดิม 44 ชนิด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 เพียง 2 สัปดาห์ต่อมา เพิ่มอย่างก้าวกระโดดอีกถึง 18 ชนิด ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เกิดจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศเจริญแล้วหลายประเทศ และคุณูปการสำคัญที่จีนเปิดเผยรหัสพันธุกรรมของเชื้อโรคนี้ต่อชาวโลกทางสื่อดิจิทัล เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563

เปรียบเทียบกับการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้ว จะเห็นความแตกต่างอย่างมากมายมหาศาล

สมัยก่อนความรู้ด้านไวรัสวิทยายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การทดลองเพาะเลี้ยงไวรัสไข้หวัดใหญ่จากน้ำคร่ำของไข่ไก่ฟักเป็นการลองผิดลองถูกอย่างยาวนาน เมื่อพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เจริญเติบโตดีในน้ำคร่ำของไข่ไก่ฟัก การพัฒนาวัคซีนก็เริ่มต้นจากเทคโนโลยีที่อาศัยไข่ไก่ฟักนั้นเอง และใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ต้องพึ่งพาไข่ไก่ และทำให้การผลิตใช้เวลาเนิ่นช้ามาก

เมื่อความเจริญก้าวหน้าทางชีววิทยาโมเลกุลมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีการระบาดของโรคไข้หวัดนก (Bird Flu) ซึ่งเริ่มครั้งแรกที่ฮ่องกง เมื่อ พ.ศ. 2540 นับเป็น “โรคอุบัติใหม่” จากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ คือ เอช 5 เอน 1 (H5N1) ซึ่งมีความรุนแรงมาก อัตราสูงถึงราวร้อยละ 30 ทำให้มีความวิตกทั้งเรื่อง (1) การระบาดของโรคนี้ในไก่ จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนไข่ไก่ ซึ่งต้องมีการผลิตให้ได้ไข่ไก่ที่ปราศจากเชื้อตามที่กำหนด (Specific Pathugen-Free Egg : SPF Egg) ทำให้การผลิตวัคซีนมีปัญหาตามไปด้วย (2) อาจมีปัญหาที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่กับการผลิตวัคซีนเองด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการเร่งพัฒนาการผลิตวัคซีนจากห้องปฏิบัติการโดยไม่ต้องพึ่งพา ไข่ไก่ เช่น ดีเอ็นเอวัคซีน , วัคซีนจากการตัดต่อพันธุ์กรรมไวรัส

ในที่สุดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตโดยเทคโนโลยีฐานดีเอ็นเอชนิดแรก ก็เข้าสู่การทดลองในมนุษย์เมื่อ พ.ศ. 2554 ซึ่งประสบความสำเร็จ และ อย.สหรัฐรับขึ้นทะเบียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2555 แต่ทั่วโลกยังใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากไข่ไก่ฟักอยู่มาก เพราะยังต้องติดตามต่อไปโดยเฉพาะในเรื่องประสิทธิผลของวัคซีน และแม้เทคโนโลยีดีเอ็นเอจะผลิตได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่เร็วมาก และทุกครั้งก็ยังต้องมีการทดสอบทั้งความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนก่อนจะอนุญาตให้ใช้กับประชาชนทั่วไป

ศักยภาพการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกยังอยู่ในระดับหลักร้อยล้านโด๊ส ขณะที่ประชากรโลกมีมากกว่า 7 พันล้านคน จึงยังห่างไกลจากความต้องการโดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) อย่างกรณีของไวรัสโคโรนาขณะนี้ ถ้าโชคดี วัคซีนที่กำลังศึกษาทดลองอยู่เวลานี้ หากพบว่าปลอดภัยและมี “ประสิทธิศักย์” (Efficacy) ในการป้องกันโรค ก็คงจะเกิดความแตกตื่นโกลาหลในการที่จะ “แย่งชิง” “ช่วงชิง” หรือ “เรียกร้อง” “กดดัน” ให้มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม (equitable) ซึ่งเป็น “โลกอุดมคติ” แต่มนุษย์ก็จะต้องเผชิญกับ “โลกแห่งความเป็นจริง” ต่อไป เพราะปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องของกำลังผลิตเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาของเรื่อง “ราคา” และปัญหาลอจิสติกส์อื่นๆ ด้วย

นอกจากดีเอ็นเอวัคซีนแล้ว มีความพยายามใช้วิธีการสร้าง (construct) “อนุภาคไวรัสเสมือน” (virus-like particles : VLP) ให้คล้ายเชื้อไวรัสมาพัฒนาเป็นวัคซีน หรือใช้ “หน่วยย่อย” (subunit) ของไวรัสมาพัฒนาเป็นวัคซีน ซึ่งวัคซีนทดลองเหล่านี้ จะมีความปลอดภัยสูง เพราะไม่ใช่ตัวไวรัสโดยตรง และไม่มีปัญหาการแพ้ไข่ด้วย แต่ปัญหาที่มักพบคือมักไม่มี “ประสิทธิศักย์” ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเท่าที่ควร วัคซีนเอดส์ก็มีความพยายามใช้เทคโนโลยีหลากหลายแต่ไม่ประสบความสำเร็จดังกล่าวแล้ว

ปัญหาไข้หวัดนก ซึ่งระบาดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2540 นั้น นับว่าโชคดีของมนุษยชาติที่โรคนี้ไประบาดที่ฮ่องกง ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ตลอดจนระบบสาธารณสุขและการเมืองการปกครอง เวลานั้นฮ่องกงอยู่ในช่วงของการพ้นจากการปกครองของอังกฤษเข้าสู่ระบบใหม่ภายใต้การปกครองของจีน คือ “หนึ่งประเทศสองระบบ” โดยนักสาธารณสุขและผู้ปกครองของฮ่องกงสามารถตรวจพบการระบาดได้ค่อนข้างรวดเร็ว และใช้ความเด็ดขาดฉับไวฆ่าไก่-เป็ด ทั้งเกาะ ทำให้โรคสงบลง

โดยไข้หวัดนกที่แพร่จากไก่สู่คนนั้น ยังแพร่จากคนสู่คนได้ยาก และโรคระบาดนี้ในเป็ดไก่และสัตว์ปีกอื่นๆ ก็สงบลงไปยาวนานถึง 7 ปี ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีเวลา “ตั้งตัว” ในการหาทางป้องกันและควบคุมโรคนี้ เมื่อโรคนี้กลับมาระบาดใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2547-2548 โดยแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้ต้องมีการฆ่าไก่-เป็ด ยกเล้าทั่วโลก จึงสามารถควบคุมโรคนี้ได้

และโลก “หลังยุคไข้หวัดนก” ก็มีการพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่-เป็ดใหม่ เป็น “ระบบปิด” เพราะเชื้อมีอยู่ในนกซึ่งส่วนใหญ่เป็นนกป่า ไม่ใช่นกเลี้ยง และไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องป้องกันไม่ให้แพร่เข้ามาสู่ ไก่-เป็ด เลี้ยง การเปลี่ยนแปลงระบบการเลี้ยงไก่-เป็ด เป็นระบบปิด ทำให้การระบาดของโรคสงบลงมาแล้วหลายปี แต่มนุษย์ก็ยังมีระบบการ “เฝ้าระวัง” เพื่อให้สามารถตรวจพบการระบาดที่จะเกิดขึ้นใหม่เมื่อไรก็ได้ พบว่ายังมีการรายงานโรคประปราย และยังพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วย ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มนุษย์และสัตว์ต่างอาศัยอยู่ร่วมโลกใบเดียวกัน จึงย่อมแพร่โรคถึงกันได้เป็นธรรมดา

สำหรับไข้หวัดนก ซึ่งมีอาการรุนแรง และมีอัตราตายสูง โดยจุดแรกของการระบาดที่ฮ่องกง พบผู้ป่วย 18 รายตาย 6 ราย ต่อมามีการระบาดรอบสองในปี 2547-2548 มีรายงานการตายรวม 359 ราย ใน 12 ประเทศ จึงได้มีการพัฒนาวัคซีนจนเป็นผลสำเร็จ และ อย.สหรัฐรับขึ้นทะเบียนวัคซีนไข้หวัดนกชนิดแรกเมื่อเดือนมกราคม 2563 นี้เอง นับจากการระบาดของโรคนี้ครั้งแรกในปี 2540 จนได้วัคซีนชนิดแรกนี้ขึ้นทะเบียนจำหน่ายได้ กินเวลายาวนานถึง 23 ปี

วัคซีนนี้คงไม่แพร่หลาย เพราะโรคนี้สงบลงแล้ว แต่ก็ประมาทไม่ได้เพราะเชื้อโรคชนิดนี้ เมื่อ “เคย” ข้าม “กำแพง” (Barrier) เข้ามาสู่มนุษย์ได้แล้ว ก็ย่อมสามารถกลับมาได้เสมอ ระบบเฝ้าระวังจึงต้องมีเครือข่ายทั่วโลก และต้องอาศัยความร่วมมือกันของมนุษย์ทั่วโลก

น่าเสียดายที่คนอเมริกันเลือกคนอย่างโดนัลด์ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี และได้แสดงบทบาท “ผู้นำอันธพาล” ที่บ้าอำนาจและใจแคบ นำพาสหรัฐถอยหลังกลับจากโลกยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อหวังให้สหรัฐกลับมา “ยิ่งใหญ่อีกครั้ง” (America Great Again) ด้วยการทำลายระบบ “โลกาภิวัตน์” ที่สหรัฐสร้างขึ้นเองตั้งแต่ยุคสมัยประธานาธิบดีเรเกน โดยการก่อสงครามการค้าไปทั่ว และทำลาย “ระบบข่าวกรองด้านสาธารณสุข” ของตัวเอง คือการยุบ “หน่วยความมั่นคงทางสุขภาพโลก” (Global Health Security Unit) ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ของสหรัฐเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561

ถ้าหน่วยงานนี้ยังคงอยู่ สหรัฐคงจะมีข้อมูลที่ดีกว่านี้เมื่อเริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่อู่ฮั่นและสหรัฐคงจะเตรียมการควบคุมป้องกันประชาชนของตนเองได้ดีกว่านี้ ไม่เกิดสถานการณ์ที่สหรัฐนำเป็นที่หนึ่งในทุกด้าน ตามสโลแกน “อเมริกาเป็นที่หนึ่ง” (America First) ของทรัมป์ คือ จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 เป็นที่หนึ่ง ของโลกจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เป็นที่หนึ่งของโลก และจำนวนคนตายจากโรคนี้เป็นที่หนึ่งของโลก

ช่วงสงกรานต์ มีข่าวในสหรัฐว่า หน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐได้แจ้งเตือนทรัมป์ถึงภัยคุกคามนี้แล้ว แต่ทรัมป์มัวแต่หลงระเริงกับอำนาจและความอวดรู้ของตนเอง จึงสั่งการควบคุมป้องกันช้าไปราว 3 สัปดาห์ ประชาชนอเมริกันจึงตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้

ก็คงต้องติดตามต่อไปว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่จะยังคงให้โอกาสทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหรือไม่