posttoday

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน(12):เมื่อพรรคการเมืองหักหลังกษัตริย์ และการพยายามเอาคืนจากฝ่ายกษัตริย์

10 กันยายน 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***************

ในปี ค.ศ. 1718 สวีเดน เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่รัฐสภามีอำนาจสูงสุด แต่ในช่วงที่สวีเดนภายใต้การนำของ Arvid Horn พ่ายแพ้สงครามต่อรัสเซีย

ในการเจรจาสันติภาพที่รัสเซียเป็นต่อได้วางเงื่อนไขให้สวีเดนจะต้องวางตัว Adolf Frederick ให้เป็นพระมหากษัตริย์ต่อจาก Frederick I ซึ่งรัฐสภาสวีเดนก็ต้องจำยอมลงมติตั้งให้ Adolf Frederick เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองภายในสวีเดน ฝ่ายของ Horn หมดอำนาจ และพรรคการเมืองที่ชื่อ The Hat ได้ขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองทั้งในรัฐสภาและสภาบริหาร

แต่ The Hat ฝักฝ่ายในฝรั่งเศสและอังกฤษ และไม่ต้องการญาติดีกับรัสเซีย จึงกังวลว่า หาก Adolf Frederick ที่รัสเซียหนุนหลังอยู่ได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตน ครั้นจะเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้มีการลงมติเปลี่ยนตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์ ก็จะทำให้เกิดปัญหาแตกแยกรุนแรงภายในประเทศ

ดังนั้น The Hat จึงหาวิธีการที่จะผูกมิตรและโน้มน้าวให้ Adolf Frederick หันหลังให้รัสเซียและมาเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสและอังกฤษ และวิธีการของ The Hat คือ ไปให้สัญญากับ Adolf Frederick ว่า หากพระองค์หันมาสนับสนุนจุดยืนทางการต่างประเทศของ The Hat The Hat จะให้มีการแก้ไขกฎหมายในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อเพิ่มพระราชอำนาจให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์หลังจากที่พระองค์ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ซึ่งปรากฏว่า The Hat ประสบความสำเร็จ เพราะ Adolf Frederick หันมามีสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสและอังกฤษก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์

วิธีการดังกล่าวนี้ ถือเป็นการต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมืองกับว่าที่พระมหากษัตริย์นั่นคือ ถ้าพระองค์ทรงสนับสนุนนโยบายต่างประเทศของพรรค พรรคจะสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์ ถือเป็นการต่อรองที่จะเพิ่มพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ขณะเดียวกัน ก็มีการต่อรองเพื่อลดพระราชอำนาจด้วยเช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1718 ที่อำนาจสามฝ่ายอันได้แก่ รัฐสภา สภาบริหารและกองทัพยื่นเงื่อนไขแก่พระขนิษฐภคินี Ulrika Eleonora ว่าหากพระองค์ประสงค์จะได้รับการยอมรับให้เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์จะต้องยอมสละพระราชอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ และยอมรับที่จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในปี ค.ศ. 1751 Frederick I เสด็จสวรรคต และ Adolf Frederick ได้รับการลงมติจากรัฐสภาให้เป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน คำถามคือ The Hats ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่ ? นั่นคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มพระราชอำนาจให้สถาบันพะมหากษัตริย์

ประเด็นที่ The Hats เคยเสนอไว้ว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายพระราชอำนาจให้แก่องค์พระมหากษัตริย์ The Hat กลับไม่มีท่าทีที่จะดำเนินการแต่อย่างไร ทำให้เข้าใจได้ว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ The Hats มีทีท่าดังกล่าวก็ด้วยต้องการให้ Adolf Frederick หันเหจากรัสเซียมาเป็นพันธมิตรกับฝ่ายตนในช่วงที่รัฐบาล the Hat พ่ายแพ้สงครามต่อรัสเซีย และมีสถานะตกต่ำในทางการเมืองภายในประเทศ จึงจำเป็นจะต้องได้ผู้สืบราชสันตติวงศ์ไว้ในฝ่ายตน

และเพื่อความชอบธรรมทางการเมืองเหนือ กลุ่มการเมือง the Caps ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม แต่หลังจากที่ The Hats สามารถขึ้นสู่อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จและมีเสถียรภาพมั่นคง และสวีเดนได้พระมหากษัตริย์สืบต่อจาก Frederick I แล้ว The Hat ก็ไม่มีเหตุผลจำเป็นอันใดที่จะต้องรักษาสัญญาในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อขยายพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นปัญหาแก่การปกครองของ the Hat และแน่นอนว่า ทาง Adolf Frederick ย่อมทรงตระหนักได้ว่า พระองค์ทรงถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือเท่านั้น และประเด็นดังกล่าวนี้ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนึ่งในสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองของในสวีเดนในเวลาต่อมา นั่นคือ ความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างพรรค the Hat กับสถาบันพระมหากษัตริย์

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน(12):เมื่อพรรคการเมืองหักหลังกษัตริย์ และการพยายามเอาคืนจากฝ่ายกษัตริย์                                   Adolf Frederick                                                         Louisa Ulrika

อันที่จริง เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่าง the Hat กับสถาบันพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อมาคือ ความขัดแย้งระหว่าง the Hat กับ Louisa Ulrika สมเด็จพระราชินีใน Adolf Frederick มากกว่าจะเป็นความขัดแย้งต่อองค์พระมหากษัตริย์ Adolf Frederick เอง เพราะ Adolf Frederick ทรงมีบุคลิกภาพอ่อน เจตนาดี และเข้ากับผู้คนได้ง่าย แต่ไม่ทรงมีความมุ่งมั่นมากนัก ความที่พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่อ่อนนี้ทำให้ขาดลักษณะของการเป็นผู้นำ และด้วยความที่พระองค์ทรงรักความสบาย ทำให้พระองค์ไม่ทรงเข้าร่วมประชุมสภาบริหาร พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยในกิจการบ้านเมือง แต่พระองค์กลับไปสนพระทัยในงานอดิเรกที่พระองค์ทรงโปรด นั่นคือ การต่อตู้ใส่ข้าวของ

แต่พลังขับเคลื่อนสำคัญจากภายในสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อความขัดแย้งกับ the Hat คือ สมเด็จพระราชินี Louisa Ulrika ผู้ทรงเป็นสตรีที่ทรงปัญญาความรู้ และทรงภาคภูมิใจในการเป็นสายโลหิตในราชวงศ์ Hohenzollern อันเป็นราชวงศ์เยอรมันที่ปกครอง Brandenburg ตั้งแต่ ค.ศ. 1415 และต่อมาได้ขยายการปกครองไปยังปรัสเซียในปี ค.ศ. 1525

และภายใต้ Frederick I ที่ทรงปกครองตั้งแต่ ค.ศ. 1701-1713 ได้รวมเป็นราชอาณาจักรปรัสเซีย Louisa Ulrika ทรงมีบารมีในการบังคับบัญชา และพระองค์ทรงเป็นพระภคินีของ Frederick II มหาราชแห่งปรัสเซีย หนึ่งในพระมหากษัตริย์ยุโรปที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “Enlightened King/Despot” หรือ “พระมหากษัตริย์ที่ทรงภูมิธรรม”

พระองค์ทรงโปรดศิลปะและวรรณคดีอย่างที่ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในสวีเดนสามารถเทียบเท่าได้นับตั้งแต่รัชสมัยของ Christina สมเด็จพระราชินีพระองค์แรกผู้ครองบัลลังก์สวีเดน ผู้ซึ่งมีความสนใจในปรัชญาความรู้และทรงมีความสนิทสนมกับบรรดานักคิดชั้นนำในยุโรป

Louisa Ulrika สนใจพระทัยศึกษา ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และการที่พระองค์ทรงมีสติปัญญาล้ำเลิศและสนใจในความรู้ ได้ดึงดูดผู้ที่มีความโดดเด่นในความรู้ทางศิลปะวิทยาการต่างๆให้มาพบปะกันภายใต้พระบรมราชินูปถัมภ์ในราชสำนักของพระองค์

อีกทั้ง พระองค์ยังทรงโปรดให้มีการตั้งสำนักราชบัณฑิต (Academy of Letters) แห่งสวีเดนขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงให้มีการตั้งคณะจัดทำละคร และทรงโปรดให้คณะจัดอุปรากรอิตาเลียนเดินทางเข้ามาแสดงในสวีเดนเป็นครั้งแรก และโดยตัวพระองค์เอง ทรงเป็นตัวเชื่อมกับโลกแห่งปัญญาความรู้ที่ดีที่สุดและใหม่ที่สุดในยุโรป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝรั่งเศส พระองค์ทรงได้รับอิทธิพลอย่างยิ่งจากการศึกษาประวัติศาสตร์ราชาธิปไตยของฝรั่งเศส ที่เป็นแบบแผนสำคัญของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปตั้งแต่รัชสมัยของ Louis XIV ทำให้พระองค์ทรงเห็นว่าระบอบราชาธิปไตยที่อำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการอยู่ในสถาบันพระมหา กษัตริย์ถือเป็นการดำเนินตามระเบียบสังคมตามธรรมชาติ ขณะเดียวกัน พระองค์ไม่ได้เพียงทรงนำวัฒนธรรมจากพระราชสำนักแห่ง Fredrick II มหาราชเท่านั้น แต่ยังทรงนำเอาหลักการการปกครองจากปรัสเซียมาด้วย

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงไม่ทรงสามารถปรับพระองค์ให้คุ้นเคยกับกติกาทางการเมืองการเมืองสวีเดนในยุคแห่งเสรีภาพที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและแทบจะไม่มีพระราชอำนาจเลย พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยว่า สิ่งที่สวีเดนต้องการคือการปกครองภายใต้ “พระราชอำนาจอันสมบูรณ์โดยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงภูมิธรรม” (an enlightened despotism) ตามตัวแบบของปรัสเซียที่พระเชษฐาของพระองค์ทรงปกครองอยู่

ดังนั้น ในสายพระเนตรของพระองค์ หลังรัชสมัยของ Charles XII ระบบการเมืองสวีเดนที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติและน่ารังเกียจอย่างยิ่ง และจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง พระองค์ทรงชื่นชมในพระมหากษัตริย์ที่เป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ของสวีเดนอย่าง Gustav II Adolf ผู้ซึ่งเป็นวีรบุรุษแห่งสงครามสามสิบปีและเป็นอัศวินแห่งโปรเตสแตนท์ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่งในรัสเซีย

อีกทั้งพระองค์ยังได้ทรงศึกษาผลงานพระราชชีวประวัติของ Charles XII ของปราชญ์ฝรั่งเศศอย่างวอลแตร์ (Voltaire) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1731 ที่สอดคล้องต้องกับจิตวิญญาณยุคภูมิธรรม (the Enlightenment spirit) ที่ก่อให้เกิดความสนใจจากคนยุโรปต่อประวัติศาสตร์และความเป็นพระมหากษัตริย์นักรบของสวีเดน

และจากการที่พระองค์ทรงได้รับอิทธิพลทางความคิดจากผลงานชีวประวัติดังกล่าวและรวมทั้งพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชชีวประวัติทั้งของ Charles XII และ Frederick II ทำให้ทรงเห็นแนวความคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความสำเร็จในทางการทหาร ซึ่งเป็นแนวทางที่พระองค์ทรงปรารถนาจะให้เกิดขึ้นในสวีเดน โดยพระองค์ทรงยึดเอาแนวการปกครองของปรัสเซียและสวีเดนภายใต้ Charles XII เป็นตัวแบบ นั่นคือ การปกครองแบบ “ภูมิธรรมสมบูรณาญาสิทธิราชย์” “Enlightened absolutism”

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเอาคืนของฝ่ายกษัตริย์ในการเมืองสวีเดนในยุคที่รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ไม่เพียงแต่จะจำกัด แต่ได้ลิดรอนจนแทบจะไม่เหลือพระราชอำนาจอะไรเลย