posttoday

ความในใจของนักการเมืองบ้านนอก

18 กรกฎาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

********************

“ผมถือคติว่าเลวได้ แต่อย่าชั่ว”

หลายปีก่อนผู้เขียนได้พบกับเพื่อนนักเรียนมัธยมคนหนึ่ง ซึ่งได้ผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองตั้งแต่หนุ่มๆ เป็น ส.ส.มาหลายสมัย เติบโตจนถึงขั้นได้เป็นรัฐมนตรี แต่ก็มาสะดุดอยู่ในช่วงหนึ่งที่เจอข้อหาทุจริต หลังจากต่อสู้อยู่ระยะหนึ่งก็เอาตัวหลุดรอดมาได้ โดยข้าราชการประจำก็รับเคราะห์ไป ปัจจุบันเขายังโลดแล่นอยู่ในทางการเมือง แม้จะไม่รุ่งเรืองอย่างในอดีต แต่ก็ได้ปั้นลูกๆ ขึ้นมาสืบทอดในอาชีพทางการเมืองนี้ ที่เขาบอกว่าเป็น “อาชีพที่ดีที่สุดในโลก”

ขอสมมุติชื่อนักการเมืองคนนี้ว่า “สมชาย” (เนื่องจากเป็นชื่อยอดนิยมของคนสมัยก่อน โดยมีจำนวนปรากฏในสมุดรายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์ที่เรียกว่า “เยลโล่เพจเจส” มากที่สุด) สมชายเกิดมาในครอบครัวของนักธุรกิจที่รับสัมปทานจากรัฐ ในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน เขาเติบโตมาท่ามกลางการเดินเข้าออกของข้าราชการจำนวนมาก ที่เดินเข้ามาในออฟฟิสของพ่อ “เพื่อกินกาแฟ” แต่กลับออกไปด้วยซองกระดาษหรือห่อของมัดใหญ่ ซึ่งเขาก็เคยเห็นว่าพ่อเอาธนบัตรมัดใส่ซองหรือมัดกระดาษนั้น

โดยพ่อบอกกับข้าราชการที่รับเอาไปว่า “นี่ค่าน้ำร้อนน้ำชาครับท่าน” สมชายคิดประสาเด็กว่า เอ๊ะ ก็มาขอกาแฟเขากิน แต่ทำไมตอนกลับพ่อต้องจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชานั้นให้ด้วย และทำไมไม่เรียกว่าค่ากาแฟ ทั้งที่มากินกาแฟ บางคนแค่นั่งมองถ้วยกาแฟก็รับเงินมัดใหญ่ แต่บางคนนั่งจิบกาแฟอยู่หลายถ้วยเป็นนาน ก็ได้ไปแค่ธนบัตรในซองไม่กี่ใบ

ขณะที่สมชายเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ตอนปิดเทอมก็กลับมาอยู่บ้าน วันหนึ่งเขาเห็นพ่อหน้าเศร้าๆ ก็เข้าไปถามไถ่ พ่อก็ตอบว่าพ่อเหนื่อยเหลือเกินลูกเอ๋ย ทำธุรกิจอย่างเรามันต้องพึ่งเจ้าพึ่งนาย ไม่มีเงินจ่ายเขาก็กลั่นแกล้งรังแกเอา ไม่มีพรรคไม่มีพวกก็เอาตัวไม่รอด พ่อไม่อยากให้ลูกมารับภาระหนักเรื่องนี้เลย สมชายจึงถามพ่อว่าแล้วพ่อจะให้เขาทำอะไร แล้วอะไรที่ใหญ่กว่าข้าราชการ พ่อตอบว่าเป็นนักการเมืองสิลูก ข้าราชการกลัวนักการเมือง นักการเมืองย้ายข้าราชการ ลงโทษข้าราชการ สั่งข้าราชการให้ทำอะไรก็ได้ รวมถึงช่วยปกป้องคุ้มครองธุรกิจของเราได้

สมชาย กลับกรุงเทพฯ เขาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยตลาดวิชาแห่งหนึ่ง ควบคู่ไปกับมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนอยู่เดิม แต่ที่มหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้เขาเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ เพราะเขาทราบมาว่าคนที่เป็นนักการเมืองต้องเก่งกฎหมาย ส.ส.ต้องไปออกกฎหมาย ไปควบคุมข้าราชการ และดูแลทุกข์สุขของประชาชน กว่าเขาจะเรียนจบก็อายุได้ 25ปี พอดีกับที่มีการเลือกตั้งในปีนั้น ดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นใจทั้งอายุและคุณวุฒิ

ที่สำคัญคือพ่อเขาก็มีฐานะพอควร แถมยังมีเครือข่ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากมาย รวมถึงนักการเมืองในท้องถิ่นหลายคน พ่อเขาได้พาไปหานักการเมืองคนหนึ่งที่เป็นระดับรองหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ บอกฝากฝังลูกชายกับนักการเมืองคนนั้น ตอนแรกนักการเมืองคนนั้นก็อิดออด แต่พอพ่อของเขาเสนอเงินช่วยหาเสียงเป็นเลขแปดหลัก นักการเมืองคนนั้นก็ตอบตกลง แถมยังบอกว่าไม่รับประกันนะว่าจะได้เป็น ส.ส. เพราะคู่แข่งล้วนแต่คร่ำหวอดและมีทุนหนา

แต่พ่อของเขาก็ไม่ย่อท้อ ใช้ลูกน้องและบริวารออกช่วยหาเสียง เข้าหาอาจารย์ใหญ่ทุกโรงเรียน กำนันผู้ใหญ่บ้านทุกคนและสมภารวัดทุกวัดในเขตเลือกตั้ง ที่จะลืมไม่ได้ก็คือตำรวจทุกโรงพักที่พ่อเคยอุดหนุนเลี้ยงดู สุดท้ายในปีนั้นเขาก็ได้เป็น ส.ส.

ในสภา สมชายทำตัวเรียบๆ เงียบๆ เดินตามผู้ใหญ่คือรัฐมนตรีและผู้บริหารพรรคบางคน ไม่ชอบเป็นข่าว ไม่ให้สัมภาษณ์หรืออภิปรายใดๆ แต่กระนั้นก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาทุกครั้ง เขาบอกว่าผู้ใหญ่ได้ให้โครงการและงบประมาณต่างๆ ให้เขาเป็นประจำ รวมถึงได้รับการสนับสนุนให้เป็นกรรมาธิการงบประมาณอย่างต่อเนื่อง

เขาเอาโครงการและงบประมาณไปแจกจ่ายให้พรรคพวกในเขตเลือกตั้ง มีเหลือก็เอาไปกระจายให้ ส.ส.คนอื่นๆ ในจังหวัดใกล้เคียง เขาจึงสร้างฐานสร้างกลุ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ที่สุดเขาก็ได้เป็นรัฐมนตรี แต่ช่างโชคร้าย เพราะเพียงสมัยแรกของการเป็นรัฐมนตรี เขาก็ถูกฝ่ายค้านเสนอญัตติซักฟอกว่าเขาโกงงบประมาณ ซื้อวัสดุอุปกรณ์หลายอย่างแพงเกินจริง มีการฮั้วและเอาพรรคพวกมาทำมาหากิน เขาถูกถอดจากตำแหน่ง

แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาก็ได้รับเลือกตั้งกลับมาอีก จนคดีเก่าสิ้นสุดด้วยการเอาผิดข้าราชการประจำจำนวนหนึ่ง เขาก็ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีอีก แม้ในยุคที่ทหารครองเมือง เขาก็ยังรักษา “ที่ยืน” ทางการเมืองไว้ได้

สมชาย บอกว่า เขาไม่ได้ทำชั่ว การทำชั่วคือความจงใจที่จะคดโกง การทำร้ายผู้อื่นและเบียดเบียนผู้อื่น เขาเพียงแต่อยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ระบบของเรา(ประเทศไทย)มันเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร คือคนทำมาหากินก็พยายามหาช่องทางเอากำไรสร้างความร่ำรวย แล้วก็มีข้าราชการที่ถือกฎหมายและรู้กฎระเบียบต่างๆ เป็นผู้ชี้แนะ นักการเมืองเป็นปลายน้ำ ร่วมทำความชั่วภายใต้ระบบนั้น เพราะมีแต่คนบอกว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเป็นการช่วยชาวบ้าน เป็นการทำหน้าที่ของ ส.ส. เขาก็เป็นแค่คนอีกคนที่อยู่ในระบบนั้น

สังคมอาจจะบอกว่านักการเมืองอย่างเขาชั่วช้าเลวทราม แต่เขารู้ตัวเองว่าตัวเขาไม่ได้ชั่วช้าเลวทรามอย่างนั้น ความเลวเป็นสิ่งที่สังคมพิพากษา แต่ความชั่วต้องเกิดจากเจตนาที่จะทำความชั่วจริงๆ “ผมขอยืนยันว่าผมไม่ได้ชั่ว แต่ผมอาจจะเลวในสายตาคนอื่นเท่านั้น” ซึ่งผู้เขียนยังไม่ค่อยเข้าใจมาจนทุกวันนี้

ประเทศไทยคงจะต้องเรียนจริยธรรมกันใหม่ ที่ความชั่วกับความเลวเป็นคนละเรื่องกัน

*******************************