posttoday

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่ห้า)

16 กรกฎาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*********************************

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนเริ่มลงตัวในปี ค.ศ. 1680 และมาสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1718 สาเหตุสำคัญคือ Charles XII พระมหากษัตริย์สวีเดนนำประเทศเข้าสู่ “มหาสงครามทางเหนือ” (the Great Northern War) ที่ลงเอยด้วยความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของประเทศไม่ว่าจะเป็นชีวิตผู้คนและสภาพเศรษฐกิจ ทั้งประชาชนธรรมดาและข้าราชการ ตัวแทนประชาชนในรัฐสภาส่วนใหญ่เห็นว่า สาเหตุสำคัญคือตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมากเกินไป ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลการตัดสินใจทำสงครามของพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังมีปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ เพราะ Charles XII ทรงไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา

Ulrika Eleonora (อูลริกา เอลิโอนอรา) ผู้เป็นพระขนิษฐภคินีของ Charles XII อยู่ในลำดับที่จะเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ และพระองค์ทรงปรารถนาที่จะครองราชย์บัลลังก์ แต่อำนาจในการตัดสินใจว่าผู้ใดจะเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์คือรัฐสภาที่ประกอบไปด้วยผู้คนจากสี่ฐานันดร อันได้แก่ ฐานันดรอภิชน ฐานันดรนักบวช ฐานันดรพ่อค้า และฐานันดรชาวนา และฐานันดรที่ทรงอิทธิพลที่สุดคือพวกอภิชน

ทั้งรัฐสภาก็ดี สภาบริหารก็ดีและกองทัพล้วนต้องการให้ยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐสภาจึงได้ต่อรองกับ Ulrika Eleonora ว่า หากพระองค์ต้องการให้รัฐสภาลงมติยอมรับให้พระองค์ขึ้นครองราชย์ พระองค์จะต้องประกาศยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระนางก็ทรงยินยอม คำถามที่เกิดขึ้นมาตามก็คือ ระบอบการปกครองในรัฐธรรมนูญสวีเดนหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีหน้าตาอย่างไร ?และฝ่ายเจ้ายอมสละอำนาจไปง่ายๆเช่นนี้หรือ ?

สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1718 ที่พระนาง Ulrika Eleonora ทรงมีพระราชดำรัส“คำประกาศยินยอมสละพระราชอำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตย” ต่อรัฐสภา ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1720 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1720 (regeringsform 1720) โดยสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบันนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างยิ่งกับ “คำประกาศยินยอมสละพระราชอำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตย” ของสมเด็จพระราชินี Ulrika Eleonora นั่นคือ รัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1720 ได้ปฏิเสธอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ทุกรูปแบบและให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา ทำให้การปกครองของสวีเดนได้เริ่มเข้าสู่รูปแบบการปกครองที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา

(parliamentary supremacy) รัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1720 ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพมากที่สุดในยุโรปขณะนั้น วอลแตร์ (Voltaire) นักปราชญ์ฝรั่งเศสกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้สวีเดนเป็นประเทศที่เสรีที่สุด และสำหรับรุสโซ (Rousseau) รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น “ตัวอย่างแห่งความสมบูรณ์แบบ” (an example of perfection) ทำให้มีการกล่าวว่า สวีเดนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 1720 เป็น “ยุคแห่งเสรีภาพ” (the Age of Liberty)

รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 กำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นเพียงหนึ่งในตัวแทนของรัฐบาล และได้ยกเลิกการสืบราชสันตติวงศ์โดยผ่านสายโลหิตโดยอัตโนมัติที่ปฏิบัติกันมาในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงมีองค์รัชทายาทสายโลหิตตรงหรือลำดับถัดไปก็ตาม บุคคลที่จะขึ้นครองราชย์จะต้องผ่านการลงมติเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฐานันดรเท่านั้น ดังนั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 จึงไม่เหลือร่องรอยของการให้ความชอบธรรมแก่การครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ผ่านแนวคิดเทวสิทธิ์และการสืบสายโลหิตอีกต่อไป

แต่ที่น่าสังเกตคือ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ตามแนวเทวสิทธิ์และความชอบธรรมทางสายโลหิต แต่กระนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้คงอยู่ต่อไป

และกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ทรงใช้พระราชอำนาจนั้นตามคำแนะนำของสภาบริหารเท่านั้น นั่นคือ พระองค์ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินตามพระราชหฤทัย แต่ต้องตามเสียงข้างมากของสภาบริหาร

ในที่ประชุมสภาบริหาร พระมหากษัตริย์สามารถมีสองเสียงในกรณีที่เสียงแตก นั่นคือ ในการลงมติต่อนโยบายใดๆ หากเสียงก้ำกึ่งหรือปริ่มๆ พระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิ์ที่จะลงคะแนนเพิ่มไปอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่พระองค์ได้ทรงลงคะแนนเสียงไปแล้วหนหนึ่ง พระองค์จึงมีสถานะไม่ต่างจากการเป็นสมาชิกสภาบริหารคนหนึ่งเท่านั้น จะพิเศษก็ตรงที่สามารถลงคะแนนได้สองครั้ง พระองค์ไม่ใช่ประธานสภาบริหาร แต่ประธานสภาบริหารจะมาจากการลงคะแนนเสียงเลือกในสภาฐานันดร ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงต้องผูกพันกับเสียงส่วนใหญ่ในสภาบริหาร ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ พระมหากษัตริย์ทรงยากที่จะมีความเป็นอิสระในการบริหารราชการแผ่นดิน

แต่ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 คือการกำหนดว่า สภาบริหารจะต้องรับผิดชอบต่อสภาฐานันดร และจากการที่สภาบริหารต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาก็คือ สภาบริหารจะต้องยอมรับและปฏิบัติตามเจตจำนงของรัฐสภา และหากรัฐสภาเห็นว่าสภาบริหารบกพร่องไม่ปฏิบัติตามเจตจำนงของรัฐสภา รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภามีอำนาจในการถอดถอนสมาชิกสภาบริหารได้

ดังนั้น สัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ สภาบริหารและสภาฐานันดรในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 คือ พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจตามคำแนะนำ (เสียงข้างมาก) ของสภาบริหาร และสภาบริหารต้องปฏิบัติตามตามเจตจำนงของรัฐสภา ดังนั้น การที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงผูกพันกับเสียงข้างมาในสภาบริหาร และสภาบริหารต้องรับผิดชอบตามเจตจำนงของรัฐสภา ดังนั้น จริงๆแล้ว พระมหากษัตริย์จึงทรงอยู่ภายใต้เจตจำนงของรัฐสภานั่นเอง

ในศตวรรษที่สิบแปด รัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1720 ถือว่าก้าวหน้าที่สุดในยุโรป และเป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบการปกครองแบบ “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ที่ลดทอนพระราชอำนาจมากกว่าของอังกฤษในขณะนั้นด้วย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงจากระบอบที่อำนาจอยู่ในมือของคนๆเดียวไปสู่การเริ่มต้นของการมีรัฐสภาซึ่งเรียกในภาษาสวีเดนว่า “Riksdag” ที่เป็นฐานอำนาจของพวกอภิชนชนชั้นสูงในการลดทอนพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะในบรรดาฐานันดรทั้งสี่ที่ประกอบขึ้นเป็นรัฐสภาสวีเดน ฐานันดรอภิชนเป็นฐานันดรที่ทรงอำนาจและอิทธิพลมากที่สุด

แต่ยุคแห่งเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากปัญญาชนในกระแสภูมิปัญญา (the Enlightenment) ทั่วทั้งยุโรป ต้องมาสิ้นสุดอวสานลงในปี ค.ศ. 1772 โดยมีอายุขัย 52 ปี ดังนั้น เรื่องราวทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่งว่า เพราะเหตุใด รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ถึงได้พบจุดจบในปี ค.ศ. 1772 จากการทำรัฐประหารโดย Gustav III พระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยอมรับสนับสนุนชื่นชมจากประชาชนชาวสวีเดน รวมทั้ง วอลแตร์ ด้วย !?

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่ห้า)

หน้าแรกของรัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1720

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่ห้า)

วอลแตร์ ปราชญ์ฝรั่งเศสทั้งชื่นชมรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 และดี ใจที่ถูกฉีกโดยพระเจ้ากุสตาฟที่สาม !!?