posttoday

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร: มหามนตราที่ครูประมวลช่วยเผยแผ่

13 กรกฎาคม 2563

โดย...โคทม อารียา 

*******************************

ครูประมวล เพ็งจันทร์ เป็นชาวสมุย จบการศึกษาจากอินเดียแล้วมาสอนหนังสือที่ภาควิชาปรัชญาและศาสนาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุกคนจึงเรียกว่าอาจารย์ แต่เมื่อถูกถามว่ามีอาชีพอะไร จะตอบว่าอาชีพครู จึงขอเรียกชื่อว่าครูประมวลก็แล้วกัน เมื่ออายุครบ 51 ปีพอดี ครูประมวลตัดสินใจลาออกจากราชการ เพราะ “อ่านหนังสือและใช้ความคิดมามากแล้ว” จึงอยากใช้ความรู้สึกให้มากขึ้น โดยตั้งใจเดินข้ามเส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งความคิด ไปสู่โลกแห่งความรู้สึกตัว การเดินจึงเป็นการภาวนาเพื่อให้เกิดญาณหยั่งรู้ ครูประมวลกำหนดหมายไว้ว่า จะเดินด้วยจิตที่ผ่องใสเบิกบาน ปราศจากความคิดปรุงแต่ง ยามใดที่จิตใจขุ่นมัว เพราะความคิดเข้ามาแทรกหรือเผลอคิดไปแล้ว จะหยุดเพื่อทบทวน ครูประมวลได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเดิน 66 วันจากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุยไว้ในหนังสือชื่อ “เดินสู่อิสรภาพ” แต่วัตถุประสงค์หลักของการเขียนคือการขอบคุณผู้ที่ให้ความช่วยเหลือให้การเดินลุล่วงไปได้ โดยที่ครูประมวลไม่ได้มีเงินทองติดตัว หนังสือดังกล่าวจึงไม่ได้เน้นเรื่องวิปัสสนาญาณ หรือญาณที่เกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนา หลังจากนั้นสิบกว่าปี ครูประมวลจึงมาอธิบายเรื่อง “ญาณ” ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดที่ชื่อว่า “ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” โดยสรุปความว่า ญาณไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการใช้ความคิด แต่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราหยั่งลงไปภายในตัวของเราเอง และเกิดความรู้ชุดหนึ่งที่ไม่ใช่ความคิด

ในปี 2553 ผมได้มีโอกาสเดินไปกับครูประมวลและคณะ จากศาลายาสู่สันติปัตตานี ใช้เวลา 53 วัน แต่พวกเราเน้นเรื่องการสื่อสารกับสังคมว่า “อยู่ดี ๆ อย่าตีกันเลย” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นี่คือคำพูดที่รับฟังมาจากเด็กคนหนึ่ง) ผมเลยพลาดโอกาสการเรียนรู้เรื่องปัญญาญาณจากครูประมวลไปอย่างน่าเสียดาย โชคดีที่เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว มีเพื่อนเอาหนังสือของครูประมวลมาให้เล่มหนึ่ง พิมพ์ขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เพื่อแจกเป็นธรรมทาน หนังสือชื่อ “ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” เสียดายที่ระบุว่าสงวนลิขสิทธิ์ ห้ามคัดลอก ตัดตอนไปพิมพ์จำหน่ายเผยแพร่ ผมเห็นว่า อย่างน้อยส่วนที่ควรคัดลอกและนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางคือบทแปล “ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” ของครูประมวล (หน้า 12 – 15) และผมขออนุญาตนำข้อความบางตอนของหนังสือมาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้

ปรัชญาปารมิตามีอยู่หลายสูตร มีตั้งแต่ขนาดยาวที่มีหลายแสนพระคาถา ไปจนถึงขนาดสั้นที่สุด ที่ประกอบด้วยอักษร “อะ” (แปลว่าไม่) ตัวเดียว โดยที่ทุกสูตรว่าด้วย “ศูนยตา” สูตรที่ครูประมวลแปลเป็นสูตรว่าด้วยหัวใจแห่งปรัชญาปารมิตา สูตรนี้มีขนาดสั้น (ฉบับเต็มมี 25 พระคาถา ฉบับย่อมี 14 พระคาถา) สูตรที่แพร่หลายมากในจีนและทิเบตคือสูตร “วัชรเฉทิก” หมายความว่าตัดทำลายอวิชชาได้ดุจดั่งเพชร

ผมทราบมาบ้างแล้วว่าปรัชญาปารมิตาเป็นมหามนตราที่แพร่หลาย และถือเป็นแก่นคำสอนของพุทธศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนามหายานและวัชรยาน และเป็นที่มาของบทสวดของพุทธศาสนิกจำนวนมาก นั่นคือ “โอม คเต คเต ปารคเต ปารสังคเต โพธิ สวาหา” (ก้าวไป ก้าวเดินไป ก้าวเดินไปให้ถึงฟากฝั่ง ไปให้ถึงฟากฝั่งที่ตรงกันข้ามนี้ ฟากฝั่งที่ตื่นรู้ สดใส เบิกบาน) เมื่อพระสมณะเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง พ.ศ. 1145 - 1107) เดินทางจากเมืองจีนไปอินเดีย ปรัชญาปารมิตาสูตร เช่นฉบับอัษฏสาหัสริกา ได้รับการแปลจากพระภิกษุอินเดีย นามว่าพระอาจารย์กุมารชีพ (พ.ศ. 887- 956) และเป็นที่แพร่หลายแล้ว พระสมณะเสมียนจั้งจึงมุ่งไปเรียนในนิกายศูนยวาท ที่นาลันทามหาวิหาร นิกายนี้สืบทอดคำสอนของพระคุรุเทพนาคารชุน หลักคำสอนก็คือ “ความหมายทั้งหมดล้วนอยู่ในใจเรา จงภาวนาเพื่อสลายความหมายอันซับซ้อนที่คิดปรุงแต่งขึ้นภายในใจ ให้มีความหมายกลายเป็นศูนย์”

ก่อนหน้านี้ผมได้อ่านคำแปลของ “หฤทัยสูตร” แล้ว แต่ไม่ค่อยจะเข้าใจ จริตผมหนักไปทางความคิดและเหตุผล เมื่อฉบับที่แปลบอกว่า “รูปคือความว่าง ความว่างก็คือรูป” ผมก็งงแล้ว แต่ครูประมวลมาช่วยไขข้อสงสัยของผมว่า คำว่าว่างเป็นคำพระ เช่น ทำจิตให้ว่าง ซึ่งแปลมาจากคำว่าศูนย์ในภาษาสันสกฤต คำว่าศูนย์ถูกนำมาใช้ในภาษาไทยในวิชาคณิตศาสตร์ว่า มีค่าเป็นศูนย์คือไม่บวกไม่ลบ จึงน่าจะมีความหมายตรงกับพระสูตรนี้ นั่นคือ การใช้ญานหยั่งเห็นรูปขันธ์โดยไม่คิดปรุงแต่งให้เป็นบวกหรือลบ ให้ชอบหรือไม่ชอบ จึงจะเห็นว่า “รูปนี้มีความหมายเป็นศูนย์ ความเป็นศูนย์นั้นแลปรากฏเป็นรูป ความเป็นรูปมีค่าไม่ต่างจากความเป็นศูนย์” จากสำนวนแปลของครูประมวล ผมจึงพอเห็นเค้าลางขึ้นมาบ้าง

ข้อสงสัยอีกข้อที่ครูประมวลช่วยไขให้ผมคือ บทแปลที่อ่านก่อนหน้านี้บอกว่า “ในความว่าง” นั้น ไม่มีขันธ์ 5 ไม่มีอายตนะ ไม่มีวิชชา ไม่มีอวิชชา ไม่มีปฏิจจสมุปบาท ไม่มีอริยสัจจ 4 ไม่มีการบรรลุธรรมและไม่มีการไม่บรรลุธรรม ผมได้แต่อุทานกับตนเองว่า “อ้าว แล้วจะเหลืออะไรจากคำสอนหลัก ๆ ของพุทธศาสนา” แต่ครูประมวลใช้คำว่า “ในศูนยตาวิหารธรรม” แทนคำว่า “ในความว่าง” พร้อมอธิบายความหมายว่า เมื่อความว่างหรือศูนยตามาอยู่ในใจของเราแล้ว เมื่อเราอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าศูนยตาวิหารธรรม (เลียนแบบสำนวนพรหมวิหารธรรม) จึงไม่มีรูป และขันธ์อื่น ๆ ฯลฯ

ในพระสูตรเขียนว่า “เพราะพระโพธิสัตว์ธำรงอยู่ในศูนยตาวิหารธรรมเช่นนี้แล จิตจึงปราศจากธรรมอันเป็นเครื่องห่อหุ้ม จึงไม่มีความวิปลาศอันเป็นเหตุให้เกิดความหวั่นไหวหวาดกลัว ถึงแล้วซึ่งนิพพานอันมั่นคง” ซึ่งครูประมวลชวนให้เรานึกถึงคำสอนของหลวงปู่ดุลย์ที่ว่า ยามใกล้จะตาย “ทำจิตให้ว่าง ปล่อยวาง อย่ายึดมั่น” นั่นเอง ความกลัวจึงไม่ปรากฏยามสังขารจะแตกสลาย การไม่มีความกลัวคือการได้ถึงแล้วซึ่งพระนิพพาน

ครูประมวลยังชี้ตัวอย่างของบูรพาจารย์ของวัชรยาน นามว่านาโรปะ ผู้สละความเป็นพระ สละตำแหน่งอธิการบดีของนาลันทามหาวิหาร เพื่อสืบหาคุรุและความรู้แจ้ง เมื่อเขาเร่ร่อนตกระกำลำบาก จนการยึดมั่นในตัวตนได้สึกกร่อนไปมากแล้ว จึงได้พบและฝากตัวเป็นศิษย์กับทีโลปะ ทีโลปะเคี่ยวเข็ญตรากตรำเขาอีก 12 ปี จึงถ่ายทอดคำสอนให้ ในที่สุดนาโรปะได้เป็นธรรมาจารย์คนสำคัญแห่งสายธรรมคากิวของทิเบต ครูประมวลสามารถเข้าถึงยานทั้งสามของพุทธศาสนา ได้แก่หินยานหรือเถรวาท มหายาน และวัชรยานได้อย่างดี ในส่วนของเถรวาทนั้น ครูประมวลได้ปวารณาตนเป็นศิษย์ของหลวงพ่อคำเขียน ที่เป็นศิษย์ของหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนสอนให้ฝึกสติปัฏฐานสี่แบบเคลื่อนไหว คือนั่งทำมือเข้าจังหวะ และเดินจงกรม เพื่อดูกายเคลื่อนไหว ดูใจนึกคิด โดยมีคำสอนให้ “รู้ซื่อ ๆ” และ “จิตรู้กายได้โดยไม่ต้องใช้ความคิด” และ “เห็น (รูป) แต่ไม่เป็น (ผู้เห็น)” ซึ่งตรงกับคำสอนของหลวงปู่มั่นที่กล่าวว่า “จิตทำหน้าที่คิดโดยมีอวิชชาเจือปน เมื่อมีอวิชชาเจือปนจะก่อให้เกิดทุกข์”

นอกจากนี้ ครูประมวลยังเล่าให้ฟังถึงเว่ยหล่าง ผู้เป็นสังฆนายกองค์ที่หกของนิกายฌานในประเทศจีน วันหนึ่งเมื่อเว่ยหล่างไปขายฟืนที่ตลาด ได้ยินการสวดสาธยายปรัชญาปารมิตตา เขาเกิดความรู้สึกถึงความหมายที่ลึกซึ้ง จึงได้เดินทางไปพบสังฆนายกองค์ที่ห้า ผู้บอกให้เว่ยหล่างออกไปจากวัดทั้งที่ยังไม่ได้บวช แต่ก็มอบบาตรและจีวรที่เป็นสัญลักษณ์ของประมุขสงฆ์ให้ ต่อมา เมื่อมีความพร้อม เว่ยหล่างจึงได้บวชและเป็นผู้นำคนสำคัญของนิกายนี้

ผมไม่ได้ทำตามคำแนะนำของครูประมวลที่เขียนไว้ในปกหลังว่า ให้อ่านอย่างช้า ๆ “เพื่อให้จิตหยุดพักขณะจบบรรทัดหนึ่ง แล้วมีจังหวะเริ่มต้นใหม่ในอีกบรรทัดหนึ่ง” คือผมได้อ่านหนังสือของครูประมวลจบไปสองเที่ยวแล้ว พบว่าเป็นขุมทรัพย์ที่ทำให้ผมสนใจอยากรู้ เห็นทีจะต้องอ่านอีกสักเที่ยวหนึ่ง และอ่านช้า ๆ อย่างที่ครูสอน