posttoday

เทคนิคการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (จบ)

11 กรกฎาคม 2563

เทคนิคที่สุดท้าย ไม่รุกไล่ให้ตายคามมุม แต่จงให้โอกาส

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.ปราโมช เคยเล่าให้ฟังว่าท่านชอบสำนวนฝรั่งอยู่สำนวนหนึ่ง ในประโยคที่ว่า “อย่าชกคู่ต่อสู้ให้ตายคามุม” เพราะท่านเคยอ่านบทความในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ที่ท่านเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เปรียบเทียบว่าการต่อสู้กันในระบอบประชาธิปไตยก็เหมือนกับ “การต่อยมวยสากล” เริ่มต้น ต้องชกตามกติกา ที่กำหนดเป็นยก ยกละกี่นาที เหมือนกันกับระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีกำหนดระยะเวลา เช่น สภามีอายุคราวละ ๔ ปี แล้วก็ต้องเลือกตั้งใหม่ จากนั้นก็มีข้อกำหนดในการชกต่างๆ เช่น ไม่ชกใต้เข็มขัด ไม่กัดหู ไม่กดหัว ฯลฯ เมื่อกรรมการบอกให้แยก ก็ต้องแยกออกจากกัน และเมื่อคู่ต่อสู้จนมุมหรือล้มลง ก็ต้องถอยออกมาให้คู่ต่อสู้ได้ออกมาจากมุมหรือลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องเป็นกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับและรับรู้ร่วมกัน

ประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน ประชาธิปไตยเกิดจากการกำหนดกติการ่วมกันของผู้คนในสังคม โดยมีผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนในการกำนดและควบคุมดูแลกติกาเหล่านั้น ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายต่างๆ จนถึงการควบคุมดูแลรัฐบาลและการบริหารราชการแผ่นดินทั้งหลาย ยิ่งไปกว่านั้นประชาธิปไตยยังเป็นระบอบที่เน้น “จริยธรรมทางการเมือง” คือกติกามารยาททั้งหลาย ซึ่งผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในระบอบนี้จำเป็นจะต้องยึดมั่น เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปอย่าง “เรียบร้อยและสวยงาม” ที่สำคัญคือไม่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายรำคาญ จากการกระทำที่ละเมิดกติกาหรือไร้มารยาทต่างๆ

ตอนที่ท่านอจารย์คึกฤทธิ์ตั้งพรรคก้าวหน้าขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านก็หวังจะให้คนไทย “ดูมวยให้สนุก” เพราะพอกลุ่มที่สนับสนุนอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ตั้งพรรคแนวรัฐธรรมนูญขึ้นมา ด้วยการรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ ให้มารวมกันเพื่อให้เป็นพรรคใหญ่เพื่อค้ำจุนรัฐบาลที่มีอาจารย์ปรีดีเป็นผู้นำ ท่านก็ยอมยุบพรรคก้าวหน้ามารวมกับพรรคการเมืองอีกฟากหนึ่งตั้งเป็น “พรรคประชาธิปัตย์” เพื่อถ่วงดุลกับพรรคแนวรัฐธรรมนูญในฐานะฝ่ายค้านในรัฐสภา อย่างไรหลังการรัฐประหารใน พ.ศ. ๒๔๙๐ พรรคการเมืองทั้งหลายก็ “แพแตก” พร้อมๆ กันกับที่อาจารย์ปรีดีต้องหลบไปอยู่ในต่างประเทศ แต่หลังการเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๔๙๒ แม้ว่าจะได้พรรคการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ แต่ก็ยังถูกควบคุมด้วยทหาร ที่สุดท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ลาออกจากการเป็น ส.ส. จนออกมาตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐในปีถัดมา แล้วก็ตั้งป้อม “กระแซะ” จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแสบๆ คันๆ เหมือนกับว่าท่านคิดจะจองล้างจองผลาญทหาร แต่ความจริงนั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ท่านเพียงแต่ทำหน้าที่ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ที่รักษาสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้ว่าสิทธิเสรีภาพทางการเมืองจะถูกจำกัดด้วยระบอบเผด็จการนั้นก็ตาม ซึ่งวิธีที่ท่านใช้ก็คือ “การใช้อารมณ์ขัน” และในตอนที่จอมพล ป.ถูกบีบให้ไปอยู่นอกประเทศหลังการรัฐประหารใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านก็ไม่ตอแยกับท่านจอมพลอีกเลย โดยท่านบอกว่า “เมื่อท่านพ้นตำแหน่งทางการเมืองแล้วก็ถือว่าเลิกแล้วต่อกัน”

ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ตอนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านต้องสู้ศึกกับทหารทั้งต่อหน้าและลับหลัง ดังที่ได้เล่ามาแล้วว่าที่สุดท่านก็ประกาศยุบสภา ทั้งที่ท่านสามารถสั่งปลดแม่ทัพนายกองที่วางแผนจะล้มรัฐบาลของท่านนั้นได้ แต่ท่านก็เลือกวิธีที่จะลงโทษกับนักการเมืองนั้นมากกว่า เพราะความวุ่นวายทางการเมืองส่วนหนึ่งในตอนนั้นก็เป็นด้วยนักการเมืองเองนั่นแหละที่ขัดแข้งขัดขากัน รวมทั้งที่นักการเมืองเหล่านั้นได้ไปดึงทหารให้เข้ามายุ่งเกี่ยว ยิ่งไปกว่านั้นท่านก็ไม่เคย “ฝังใจแค้น” หรือโกรธเกลียดทหารไม่เลิก ท่านบอกว่าคนเราต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตน เมื่อเป็นนักการเมืองก็ต้องสู้กันตามกติกาทางการเมืองในเวลานั้นๆ เมื่อออกมาอยู่ข้างนอกก็ทำหน้าที่อื่นๆ ต่อไป อย่างตัวท่านนั้นภายหลังการรัฐประหารใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านก็มาเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ตามเดิม โดยใช้ชื่อคอลัมน์ ข้าวไกลนา ข้าวนอกนา และข้างสังเวียน ตามลำดับ คล้ายๆ จะบอกว่าท่านขอเป็นผู้ชมอยู่ข้างนอก เพื่อติชมตามใจชอบนั้นจะดีเสียกว่า แต่ในช่วงก่อนการเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๒๒ ท่านก็เปลี่ยนชื่อคอลัมน์เป็น “ซอยสวนพลู” เพราะช่วงนั้นทั้งทหารและนักการเมืองต่างก็หลั่งไหลมาขอการสนับสนุนจากท่าน เหมือนว่าที่บ้านพักในซอยสวนพลูของท่านนั้นเป็นศูนย์รวมทางอำนาจจากทุกสารทิศในยุคนั้น

ในปี ๒๕๓๐ ท่านได้ไปบรรยายพาดพิงผู้นำทหารว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” จนเกิดเหตุกาณ์ที่ทหารพรานมาล้อมบ้านสวนพลู ต่อมาก็มีนายทหารขอเข้าพบท่านเพื่อขอให้ท่านขอโทษต่อนายของพวกตน ซึ่งท่านก็ยอมขอโทษด้วยดี วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้ลงภาพที่กลุ่มนายทหารนั้นเข้าพบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งเป็นภาพที่ “ได้อารมณ์มากๆ” ในภาพนั้นเป็นภาพขาวดำที่โทนออกทึมทึบ (ถ้าเป็นภาพยนตร์เขาจะเรียกภาพยนตร์ในโทนนี้ว่า “ฟิล์มนัวร์” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ออกจะโหดๆ หรือแสดงถึงความรันทดอดสูต่างๆ) ถ่ายย้อนแสงจากใต้ถุนบ้านออกไปยังสระบัววิคตอเรีย ซึ่งเป็นโต๊ะทำงานของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ มีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั่งอยู่หัวโต๊ะทางขวามือ อีก ๓ คนที่นั่งรายลอบอยู่ในเครื่องแบบทหาร แม้จะมองไม่เห็นหน้าค่าตาคนทั้งสี่อย่างชัดเจน แต่ก็พอจะคาดเดาได้ว่าทุกคนกำลังเคร่งเครียด ที่บนพื้นข้างขาเก้าอี้ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั่งอยู่มีสุนัขไทยหลังอานสีดำหมอบอยู่ คือสุนัขข้างกายของท่านที่มีชื่อว่า “เสือใบ” หลายวันต่อมามีลูกศิษย์ของท่านคนหนึ่งถามท่านว่า ทำไมท่านจึงยอมขอโทษทหารง่ายๆ อย่างนั้น ซึ่งท่านก็ตอบว่าทหารเองเขาก็ยอมก่อน เขาขอโทษแทนทหารพรานที่ทหารเหล่านั้นมาข่มขู่คักคามกระทืบรั้วบ้านของท่าน และท่านก็ขอบคุณทหารที่ไม่บุกรุกเข้ามาในบ้าน ดีกว่าตำรวจในปี ๒๕๑๘ มากมาย ที่ตอนนั้นพังข้าวของในบ้านท่านเสียหายยับเยิน รวมทั้งฆ่าปลากัดและนกที่ท่านเลี้ยงไว้หลายตัวนั้นด้วย“ฉันเสียอะไรเสียได้ แต่จะไม่ยอมเสียหมาจากตีนทหารพวกนี้หรอก”