posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาอู่ฮั่น (21)

07 กรกฎาคม 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

******************

ขั้นตอนที่สอง การทดลองในมนุษย์ นี้แบ่งเป็น 3 ระยะ (Phase) ดังนี้

ระยะที่หนึ่ง เป็นการนำวัคซีนทดลองเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ครั้งแรก เพื่อพิจารณา “เบื้องต้น” เรื่องความปลอดภัย (Safety) และ “ผลทางชีวภาพ” (Biological effects) และความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน คือ ดูว่าวัคซีนจะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ให้สร้างสารภูมิคุ้มกันขึ้นได้หรือไม่. ระยะที่ 1 นี้อาจมีการศึกษาขนาดของวัคซีน (Dose) จำนวนครั้งของวัคซีนและช่องทางการ “บริหาร” วัคซีน (Administration) เช่น ให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ผิวหนัง หรือฉีดเข้าในผิวหนัง มักใช้ “อาสาสมัคร” น้อยกว่า 100 คน

ระยะที่สอง เป็นการทดสอบเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบ “ประสิทธิศักย์” (Efficacy) ในอาสาสมัครจำนวนจำกัด มักใช้อาสาสมัครระหว่าง 200-500 คน เป้าหมายหลักของการศึกษาระยะนี้ คือ การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ระยะที่สาม เป็นการทดสอบเพื่อประเมินทั้งความปลอดภัย และประสิทธิศักย์ของวัคซีนว่า “ป้องกันโรค” ได้จริงหรือไม่ มักต้องดำเนินการใน “หลายศูนย์” (Multi Center) เพราะต้องดำเนินการกับอาสาสมัคร จำนวนมาก โดยคำนวณจาก “อุบัติการณ์” (incidence) ของการเกิดโรค เพื่อให้สามารถคำนวณได้ทางสถิติว่าวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้จริงหรือไม่

ที่ต้องทำเป็น 3 ระยะ เพราะต้องพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าวัคซีนมี “ประสิทธิศักย์” ในการป้องกันโรคได้จริง เนื่องจากแม้ว่าวัคซีนจะผ่านการทดสอบในระยะที่ 2 ว่าสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดี แต่ก็ไม่แน่ว่าภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นนั้นจะป้องกันโรคได้หรือไม่ ดังกรณีวัคซีนเอดส์ พบว่าในการศึกษาระยะ ที่ 2 วัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี แต่เมื่อเข้าสู่การทดสอบระยะที่ 3 กลับพบว่าภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นนั้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคเอดส์ได้ เหมือนสร้างยามหมู่บ้านขึ้นได้อย่างดี แต่ไม่ป้องกันขโมย ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นได้ดี จึงเป็น “ภูมิคุ้มกันที่ไม่ป้องกันโรค” (non-protective immunity)

วัคซีนโรคเอดส์มีหลายชนิด และได้ทำการทดสอบขั้นตอนที่ 1 และ 2 หลายโครงการ แต่เข้าสู่ระยะที่ 3 เพียง 2 โครงการ โครงการแรกดำเนินการในยุโรปและสหรัฐ ใช้อาสาสมัครราว 5 พันคน และอีกหนึ่งโครงการของวัคซีนทดลองตัวเดียวกัน ทดสอบระยะที่ 3 ในประเทศไทย ใช้อาสาสมัครกลุ่มผู้เสพยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อเอดส์สูงกว่ากลุ่มในยุโรปและสหรัฐ จึงใช้อาสาสมัครเพียง 2,500 คน ทั้งโครงการในยุโรป-สหรัฐ และในไทย ล้มเหลวทั้งคู่

วัคซีนทดลอง (candidate vaccine) เพื่อป้องกันโรคเอดส์ชนิดแรก ที่เข้าสู่การทดสอบในคนระยะที่ 3 นี้ เป็นวัคซีนที่กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในส่วนของสารน้ำในกระแสโลหิตเป็นหลัก (Humoral Immunity) เมื่อล้มเหลวนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ละความพยายาม ได้พัฒนาวัคซีนที่มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในส่วนของเซลล์ เรียกว่าภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ (Cell-mediated Immunity) เพิ่มเติมจากภูมิคุ้มกันในส่วนสารน้ำ ด้วยความหวังว่าภูมิคุ้มกันทั้งสองส่วนนี้ จะทำให้ร่างกายมนุษย์สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันโรคเอดส์ได้ และได้ทำการวิจัยและพัฒนาตามลำดับขั้นจากห้องทดลอง สู่สัตว์ทดลอง และสู่คนซึ่งผ่านตามลำดับจากระยะที่ 1 และ 2 ในที่สุดก็เข้าสู่ระยะที่ 3 โดยเลือกทำการทดสอบในประเทศไทย

ดังได้กล่าวแล้วว่าการทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 จะต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมาก ตามการคำนวณทางสถิติ โดยต้องทดสอบในกลุ่มประชากร (Cohort) ที่มีข้อมูลว่ามีอัตราการติดเชื้ออยู่แล้วเท่าใด เพื่อให้สามารถคำนวณขนาดตัวอย่างตามหลักสถิติได้

วัคซีนเอดส์ชนิดแรกที่ทำการทดสอบในคนระยะที่ 3 ในประเทศไทย ทดสอบในกลุ่มประชากรที่มีอัตราการติดเชื้อสูง คือกลุ่มที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ใช้กลุ่มตัวอย่างรวม 2,500 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน คือ กลุ่มยาที่ได้รับวัคซีนจริง และวัคซีนหลอก (Placebo) กลุ่มละประมาณครึ่งต่อครึ่ง เมื่อพบว่าวัคซีนดังกล่าวไม่ได้ผล คือไม่สามารถป้องกันโรคได้ ก็ไม่สามารถใช้ประชากรกลุ่มนี้สำหรับการทดสอบได้อีก

วัคซีนเอดส์ชนิดที่สองที่ทดสอบในคน ระยะที่ 3 ในประเทศไทยจำเป็นต้องหากลุ่มประชากร (Cohort) กลุ่มใหม่ที่มีอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรทั่วไป ซึ่งมีการเลือกกลุ่มผู้ใช้แรงงานในจังหวัด อุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยที่อัตราการติดเชื้อในประชากรกลุ่มนี้ต่ำกว่ากลุ่มที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ขนาดตัวอย่างจึงมากกว่ากลุ่มแรกกว่า 2 เท่า ทำให้เป็นการทดสอบในคนในประชากรกลุ่มที่ใหญ่ค่อนข้างมาก รวมกว่าหมื่นคน จะต้องมีการตรวจเลือดติดตามเป็นระยะหลายครั้ง มีข้อมูลที่ต้องวิเคราะห์รวมนับล้านรายการ

โดยการทดสอบวัคซีนเอดส์เป็นเรื่องที่ทั่วโลกเฝ้าจับตา วัคซีนเอดส์ชนิดที่สองที่ทำการทดสอบในประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจติดตามจำนวนมาก แม้จะมี “ความหวัง” เพิ่มขึ้นจากวัคซีนที่ทดสอบระยะที่ 3 ชนิดแรกและล้มเหลว เพราะมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งในส่วนซีรัม (humoral immunity) และชนิดพึ่งเซลล์ (cell-mediated immunity)

แต่นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่าจะไม่ได้ผล เมื่อมีการเตรียมการจะทำการทดสอบระยะที่ 3 ในประเทศไทย มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันลงนามในหนังสือคัดค้านการทดสอบครั้งนั้น แต่ผู้เกี่ยวข้องทั้งกลุ่มนักวิจัย (researcher) และผู้สนับสนุน (sponsor) และนักวิชาการรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในไทยในฐานะประเทศเจ้าบ้าน (host country) ก็ตัดสินใจเดินหน้า เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่วงวิชาการในประเทศไทยที่จะมีประสบการณ์

ในโครงการทดสอบวัคซีนขนาดใหญ่ระดับโลกนี้ และไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ก็จะเป็นประโยชน์แก่ ชาวโลก นั่นคือถ้าพิสูจน์ว่าวัคซีนนั้นได้ผล โลกก็จะได้เครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรคร้ายนี้อีกชิ้นหนึ่ง เพราะแม้เวลานั้นโลกจะมียาที่สามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิผลพอสมควร แต่ก็ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาด (Cure) ได้ ผู้ป่วยยังต้องกินยาจนตลอดชีวิต โดยผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่สามารถทนต่อยา (tolerance) และส่วนหนึ่งก็เกิดอาการดื้อยาทำให้ต้องใช้ยาราคาแพงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าทดสอบแล้วว่าวัคซีนไม่สามารถป้องกันโรคได้ ก็จะหมดข้อเคลือบแคลงสงสัย ไม่ค้างค้าใจว่าวัคซีนจะได้ผลหรือไม่ ถ้าไม่มีการทดสอบเพื่อพิสูจน์

ในที่สุด หลังจากทดสอบอยู่เป็นเวลาแรมปี ก็ได้ข้อสรุปว่าวัคซีนนั้นไม่ได้ผล

กรณีการคัดค้านของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลนี้ เมื่อครั้งที่จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่บราซิล ก็มีการคัดค้านจากนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกกลุ่มนี้ เพราะเวลานั้นมีข่าวเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา (Zika virus) ซึ่งทำให้ทารกในครรภ์พิการศีรษะเล็ก (microcephaly) และบราซิลมีอัตราอุบัติการณ์ (incidence) ของโรคนี้ค่อนข้างสูง แต่ทั้งสหพันธ์ฟุตบอลโลกและรัฐบาลบราซิลก็ตัดสินใจเดินหน้าจัดการแข่งขันต่อไปจนจบ

หลังจากนั้นไม่มีข่าวว่ามีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนของไวรัสซิก้าจากการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนั้นหรือไม่ แต่มีข่าวว่าเศรษฐกิจของบราซิลถูกกระทบอย่างมากจากการ “ลงทุน” เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งนั้น

*****************************