posttoday

2475 ในเรื่องเล่าของอาจารย์สุลักษณ์ฯ

26 มิถุนายน 2563

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์ อ.คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

****************************

ช่อง YouTube มีรายการ “ผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ พิเคราะห์สังคมไทย” สัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดยคุณประชา หุตานุวัตร ออกมาได้หลายตอนแล้วเหมือนกัน รายการชวนอาจารย์สุลักษณ์ฯ “พิเคราะห์สังคมไทย 101” โดยขอให้อาจารย์ถ่ายทอดเรื่องราวจากความทรงจำ จากเอกสารหายากรุ่นก่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากประวัติศาสตร์บอกเล่าที่อาจารย์รับรู้มาเกี่ยวกับบุคคลต่าง ๆ ทั้งที่เป็นคนสำคัญ และคนไม่สำคัญ ซึ่งมีบทบาทอยู่บนเวทีประวัติศาสตร์ของสยาม/ ไทย

รายการตอนแรก คุณประชาขอให้ อาจารย์สุลักษณ์ เล่าถึงเหตุที่มาของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถ้าจะอนุญาตให้ผมสรุปแบบภาษาวิชาการ อาจารย์เสนอการพิเคราะห์เหตุที่มา ทั้งส่วนที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในระบอบเดิม และปัญหาในระดับตัวบุคคลที่เป็นผู้กระทำการ แน่นอนว่า ความน่าติดตามหรือจะเรียกว่าเป็นเสน่ห์ในเรื่องเล่าที่อาจารย์สุลักษณ์ถ่ายทอด ผมคิดว่าอยู่ที่การพิเคราะห์ตัวบุคคล

คนเคยฟังอาจารย์สุลักษณ์เล่าเรื่องบุคคลมาบ้างจะรู้ว่าอาจารย์มีมติวินิจฉัยอันชัดเจนเป็นของอาจารย์เองเกี่ยวกับบุคคลเหล่านั้น ทั้งที่อาจารย์ได้รู้จักมาโดยตรง หรือจากการสดับตรับฟัง แล้วมาประมวลว่าใคร “กะล่อน” หรือ “ไม่กะล่อน” คนไหนมีข้อดีหรือมีจุดอ่อนตรงไหน คนไหนแหย หรือใครมีความกล้าหาญทางจริยธรรม เมื่อฟังอาจารย์เล่าถึงบวกลบคูณหารในชีวิตคน เรารู้จักบุคคลเหล่านั้นดีขึ้น และรู้จักกับคติของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ไปพร้อมกัน

ในเรื่องเล่าของอาจารย์สุลักษณ์ อาจารย์ทำให้เราเห็นคนในเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่เขามี และที่ทำให้เขาเป็น หรือมีอันเป็นไปและการที่เป็นไป หรือมีอันเป็นไปอย่างนั้น บางทีก็ส่งผลถึงกับเปลี่ยนเส้นทางประวัติศาสตร์ได้ก็มี อาจารย์ปรีดี ที่ปรากฏในเรื่องเล่าของอาจารย์สุลักษณ์จึงมิใช่ปรีดีแบบมาคนเดียวทำคนเดียวคิดคนเดียว แต่เป็นปรีดีที่มีความสัมพันธ์กับ ดิเรก กับควง กับทวี ทั้ง 2 ทวี หรือกับเดือน และส.ส.สายอีสานในพรรคสหชีพ หรืออาจารย์จะเล่าให้เข้าใจว่าที่ 2475 สำเร็จได้อย่างที่เกิดขึ้นมานั้น ทำไมเราควรรู้ภูมิหลังของ คุณประยูร ภมรมนตรี ประกอบด้วย

วิธีเล่าของอาจารย์แบบนี้จะว่าไปก็คล้ายกับวิธีพิจารณาทำความเข้าใจสายสนกลในทางการเมืองของนักการเมืองโรมันในยุคโบราณอยู่มาก ที่จะต้องรู้ว่าใครสัมพันธ์กับใครแบบไหน มีภูมิหลังความเป็นมาอย่างไร จึงจะเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผลที่ตามมาได้ วิธีนี้ผู้ศึกษาการเมืองโรมันโบราณเรียกว่า prosopography พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงอธิบายคำว่า “prosopon” ว่าคือบุคคลหรือตัวละคร และ proso – profile คือการจัดทำคำบรรยายเกี่ยวกับคน ๆ หนึ่ง โดยดึงลักษณะสำคัญๆ มาบันทึกไว้อย่างสั้น ๆ เพื่อแสดงภูมิหลัง ฐานะในสังคม แวดวงความสัมพันธ์ พฤติกรรมในทางจิตวิทยาของบุคคลนั้น

ในรายการตอนที่ 2 อาจารย์สุลักษณ์ให้ข้อมูลเป็นตัวอย่างการจัดทำ proso-profile ดังว่านี้ได้อยู่เหมือนกัน อาจารย์เล่าถึงเหตุการณ์ตอนคณะผู้ก่อการวางแผนยึดอำนาจ แต่เกิดเหตุหมางใจกันขึ้นมาระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงคราม

อาจารย์ใช้เหตุการณ์นี้สรุปให้เห็นพฤติกรรมทางจิตวิทยาของบุคคลแรกและบุคคลหลังว่าเป็นแบบไหน การสังเกตบุคลิก นิสัยใจคอบุคคลต่างๆ อย่างที่อาจารย์สุลักษณ์ทำนี้ คนอ่านสามก๊กมา หรืออ่านมาคิอาเวลลีมา จะเห็นเรื่องนี้สำคัญ เพราะคนคิดการใหญ่ระดับเปลี่ยนโครงสร้างขนาดที่เรียกว่าพลิกแผ่นดินนั้น ปัจจัยกำหนดว่าที่กระทำไปจะได้ผลแบบไหน ไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างเดิมอันผุกร่อน เท่ากับในคุณลักษณะของตัวบุคคลผู้ก่อการ ที่จะปรากฏออกมาและส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะทำอะไร และทำอย่างไร ในยามที่เขาเข้าประจันกับคนร่วมขบวนการเดียวกัน และต้องประจัญกับฝ่ายตรงข้ามต่อหน้าเทพีแห่งโชคชะตา ที่จับจ้องดูอยู่ในช่วงเวลาที่รอยเลื่อนเปิดขึ้นมาให้แก่ฝ่ายที่ต้องการก่อการเปลี่ยนแปลง

อาจารย์สุลักษณ์ เคยเล่าในบริบทอื่นว่าอาจารย์ประทับใจคนชื่อแปลกอยู่ 2 คน แต่เป็นความประทับใจในทางที่ต่างกันมาก แปลกคนแรก คือ ป้าแปลก หญิงชาวบ้านที่รักษาการพึ่งตนเอง ความเป็นตัวของตัวเอง และความมีน้ำใจกว้างขวางแบบใจถึงไว้ได้อย่างน่าชม ใครอยากเข้าใจอาจารย์สุลักษณ์ว่าเห็นอุดมคติในตัวชาวบ้านจากการครองคุณธรรมแบบไหน ก็ลองหาเรื่องป้าแปลกของอาจารย์มาอ่านดู ในเรื่องเล่าเกี่ยวกับบุคคลของอาจารย์ เรืองนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่เด่นชัดในการฉายให้เห็นทัศนะของอาจารย์สุลักษณ์ในเรื่องความเป็นไทยที่พึงปรารถนา

ต่างจากแปลกอีกคนหนึ่ง มติของอาจารย์เกี่ยวกับแปลกผู้นี้จะถูกวินิจฉัยในทางลบเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมือง ในทางค่านิยมอุดมการณ์ และในทางวัฒนธรรม ยิ่งถ้าอาจารย์ได้พิจารณาแปลกคนหลังเชื่อมโยงกับกับหลวงวิจิตรวาทการ หรือกับพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ หรือกับคณะรัฐประหาร 2490 อาจารย์ยิ่งจะวินิจฉัยอย่างเห็นว่าเป็นความเลวร้ายเอาเลย เพราะต้องเข้าใจว่าอาจารย์สุลักษณ์ไม่เคยให้ราคาบรรดาแกนนำในพรรคประชาธิปัตย์รุ่นก่อตั้งอยู่แล้ว

แต่การที่ประชาธิปไตยหลังรัฐธรรมนูญ 2489 ต้องวอดวายไป หรือการที่ปรีดีไม่อาจกู้ประชาธิปไตยคืนกลับมาได้สำเร็จในความพยายามต่อสู้ครั้งสุดท้ายและเสียหายอย่างย่อยยับในคราวกบฏวังหลวง อาจารย์สุลักษณ์ได้ชวนให้เราประเมินสถานะทางประวัติศาสตร์ของคนชื่อแปลก และบริษัทบริวารที่รับใช้เขา ว่าเป็นบวกเป็นลบ เป็นมิตรหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการจรรโลงประชาธิปไตยในประเทศไทย เมื่อเทียบกับผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนคือปรีดี และสานุศิษย์ของอาจารย์

บทวิเคราะห์การเมืองไทยของศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เป็นงานแรก ๆ ที่ผมพบ ที่มาชี้ให้เห็นว่า การที่คณะผู้ก่อการ 2475 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปไม่สุดทางนั้นเป็นข้อจำกัด อาจารย์แอนเดอร์สันเขียนคล้ายว่าพวกเขากลับยั้งตัวเองไว้ไม่ล้มสถาบันกษัตริย์เพื่อเปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐในขณะที่โอกาสเปิดให้ทำได้ ในบรรดาคณะผู้ก่อการระดับนำ คนที่ปรากฏความคิดชัดเจนว่าเตรียมจะไปไกลจนสุดทางตามที่ศาสตราจารย์แอนเดอร์สันว่า คือ หลวงพิบูลสงคราม

เรื่องที่อาจารย์สุลักษณ์เล่าในรายการตอนแรก เป็นเรื่องที่อาจารย์รับฟังมาจาก อาจารย์ปรีดี เมื่อเหตุการณ์และเวลาล่วงเลยมากว่า 40 ปีแล้ว แต่ อาจารย์ปรีดี ก็เล่าอย่างจดจำได้เป็นอย่างดี ว่า คุณแปลก เสนอให้เลือกทางเปลี่ยนแปลงแบบไปให้สุดทาง มิใช่ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับอำนาจการปกครองของประชาชน หรือว่าประชาธิปไตยจะไปได้ดีกว่าในการปกครองแบบสาธารณรัฐอะไรแบบนั้น คุณแปลก ในตอนนั้นไม่ได้เสนอเหตุผลในเชิงอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่เป็นเหตุผลที่มาจากวิธีคิดตามภาษิตแบบไทยๆ นี่เองว่า ตีงูให้หลังหักนั้นอันตรายแก่คนทำ จะตีงูแล้ว ต้องตีให้ตาย

แน่นอนว่าเพื่อนผู้ก่อการทั้ง 2 พูดเรื่องนี้กันในวงปิดรู้เฉพาะกัน 2 คนก่อนหน้า 2475 หลายปี อาจารย์ปรีดี ยังจำเรื่องนี้ฝังใจจนเก็บมาเล่าให้อาจารย์สุลักษณ์ฟัง คงมิใช่เพราะจากการพูดและได้ยินในตอนแรกนั้นเท่านั้น แต่ยังน่าจะมาจากการกระทำและเหตุการณ์ในเวลาต่อมาที่พิสูจน์ให้อาจารย์ปรีดีต้องหวนคิดยิ่งกว่าใครๆ ถึงภาษิตที่เตือนเรื่องการตีงูว่าต้องเล่นให้ถึงตาย

อาจารย์ปรีดีเกือบตาย แต่ก็ยังรอดตายจากการพ่ายแพ้กบฏวังหลวง แต่หลายคนที่ช่วยงานอาจารย์มาไม่รอด อย่างการตายของอดีตสส./ รัฐมนตรีพรรคสหชีพ และคุณทวี ตะเวทิกุล ในขณะที่อาจารย์เองกำลังหลบหนีการไล่ล่าอยู่ในพระนคร นอกจากสร้างความหวาดหวั่นได้มากแล้ว คงสะเทือนใจอาจารย์มากด้วย เพราะอาจารย์คงอดโทษตัวเองไม่ได้ว่าเป็นเหตุให้พวกเขาต้องมาตายแบบนี้

ในเวลาต่อมา เป็นที่ทราบกันว่า ท่านจอมพลได้ขออโหสิกรรมต่อ อาจารย์ปรีดี แต่ผมไม่รู้ว่า ตอนอาจารย์ปรีดีรับคำขออโหสิกรรมจากท่านจอมพล อาจารย์ระลึกถึงผู้ที่ต้องตายไปในระหว่างการช่วงชิงอำนาจเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอย่างไร