posttoday

เทคนิคการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (5)

20 มิถุนายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*****************************

เทคนิคแรกคือ “ต้องรู้เถือกเถาเหล่ากอของนักการเมืองทุกคน”

ตอนที่ผู้เขียนไปทำงานอยู่กับ “ซือแป๋แห่งซอยสวนพลู” ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในตอนต้นปี 2520 เป็นช่วงที่การเมืองไทยอยู่ภายใต้การปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คือเป็นเผด็จการทหารที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ที่ได้ให้ท่านอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เรียกว่า “รัฐบาลหอย” เพราะท่านอาจารย์ธานินทร์ประกาศเองว่ารัฐบาลนี้เป็นเหมือนกับ “เนื้อหอย” ที่ต้องมีทหารเป็น “เปลือกหอย” คอยปกป้องคุ้มครองรัฐบาล

ส่วนท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็เป็นอดีตรัฐมนตรีและกลับมาเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เหมือนเดิม โดยเขียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐของท่าน ใช้ชื่อคอลัมน์ในตอนแรกว่า “ข้าวไกลนา” ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น “ข้าวนอกนา” ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกันว่า ตัวเองนี้หมดอำนาจวาสนาแล้ว ต้องระเห็จออกมาอยู่ข้างนอก เหมือนต้นข้าวที่ต้องออกมางอกอยู่ข้างนอกผืนนากระนั้น (หลังการเลือกตั้งในปี 2522 ท่านเปลี่ยนชื่อคอลัมน์เป็น “ซอยสวนพลู” นัยว่าซอยที่เป็นที่พำนักของท่านนี้เป็นที่ที่ผู้คนทั้งหลายต้องเข้ามาหา ทั้งเพื่อพึ่งพิงขอความช่วยเหลือและมาสรวลเสเฮฮา แบบว่าเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนนั่นแล)

ผู้เขียนทำงานกับท่านได้หลายเดือน วันหนึ่งจึงกล้าถามท่านว่า ท่านเขียนวิพากษ์วิจารณ์ใครต่อใครแรงๆ ท่านไม่กลัวเขาแค้นหรือทำร้ายท่านหรือ ท่านบอกว่าก็กลัวเหมือนกัน(ฮา) แต่ในการปกครองบ้านเมืองเราจะปล่อยให้ใครทำตามอำเภอใจไม่ได้ แม้จะในยุคที่ทหารปกครอง เพราะบ้านเมืองนี้ก็ของเรา อย่างน้อยเราก็ต้องแสดงความไม่พออกพอใจอะไรออกไปบ้าง เพื่อบอกให้เขารู้ว่าเราก็มีปากมีเสียงและเป็นเจ้าของประเทศอยู่ด้วยเหมือนกัน บางทีถ้าเขาฟังเรา เราก็เสนอแนะให้เขารู้ ก็เป็นการช่วยกันอีกทางหนึ่ง

อีกหลายวันต่อมาก็กล้าพอที่จะถามท่านอีกว่า ตอนที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนตั้งฉายาท่านว่า หม่อมป้าบ้าง เฒ่าสารพัดพิษบ้าง ท่านไม่โกรธสื่อมวลชนหรือ ซึ่งท่านก็ตอบว่าท่านก็เอ็นดูสื่อมวลชนนั้นเหมือนลูกเหมือนหลาน ที่สำคัญทุกคนก็เป็นเพื่อนร่วมอาชีพ อาชีพสื่อมวลชนก็ต้องหาข่าว วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น จะผิดจะถูกคนอ่านคนดูหรือผู้ฟังเขาก็ใช้วิจารณญาณเอาเอง แล้วเขาก็คงเคารพนับถือเรา เรียกเราเป็นหม่อมป้า ก็คงจะเป็นพี่ของพ่อของแม่เขา(ฮา) เราก็เมตตาเขาไป ให้ข่าว ให้สัมภาษณ์ไป

ส่วนคำว่าเฒ่าสารพิษ อันนี้ต้องอธิบายยืดยาวหน่อย เพราะคนไทย(ยุคนั้น)บ้าหนังจีน ติดนิยายพวกจอมยุทธจักรต่างๆ โดยเฉพาะสื่อมวลชนนั้นก็มองการเมืองไทยเหมือนเรื่อง “สามก๊ก” มีการใช้เล่ห์เพทุบายลึกซึ้งมาต่อสู้กัน แล้วก็ชอบตั้งฉายาให้คนโน้นเป็นเป็นนี้ ให้เราเป็น “ผู้เฒ่า” เราก็กลายเป็นผู้อาวุโส มองด้านดีเขาก็ยกย่องเราว่าเป็นผู้วิเศษ มีฤทธิ์เดชยิ่งใหญ่ มองด้านร้ายก็เป็นคนที่น่ากลัวอันตราย นี่ก็แล้วแต่ใครจะมอง ขนาดยิ่งใหญ่น่ากลัวแบบนี้ยังมีตำรวจมาบุกพังบ้านเลย (ฮา) ดีว่ามีลูกศิษย์ลูกหามาช่วยไว้ จึงเอาตัวรอดมาได้

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า ตอนที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นช่วงที่บ้านเมืองวุ่นวายมาก เพราะท่านเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีอำนาจพิเศษมากมายเหมือนยุคเผด็จการ กลุ่มประชาชนก็สนุกสนานในการใช้เสรีภาพ มีการเดินขวน การประท้วง เรียกร้องต่างๆ ทุกวัน ในรัฐสภาก็ไม่ค่อยมีใครไว้วางใจใคร ต่างก็จะคอยล้มรัฐบาล

ส่วนหนึ่งก็ไปร่วมมือกับทหารที่กำลังจะฟื้นฟูอำนาจ ในพรรคร่วมรัฐบาลก็ปริร้าว แก่งแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกัน ได้ชื่อว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” เพราะมีพรรคเล็กพรรคน้อยมาร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมี “ไทยการ์ด” (กลุ่มอดีตคนงานค่ายทหารอเมริกันในยุคสงครามเวียตนามที่มาเรียกร้องเรื่องนายทหารบางคน “อม” หรือโกงเงินค่าแรงของพวกเขาไป)นับพันคนมาสร้างหมู่บ้านล้อมทำเนียบ ทำให้ต้องทำงานในทำเนียบท่ามกลางเสียงปราศัยตลอดวันอยู่เป็นเดือน

มีคนบอกว่าท่านเอาตัวรอดมาได้เพราะท่าน “มีบารมี” ซึ่งท่านก็มาพิจารณาตัวเองก็น่าจะจริง เพราะความที่ท่านรู้จักคนมาก รวมทั้งคนที่รู้จักตัวท่านก็มีมาก เพราะท่านเป็นทั้งครูอาจารย์ซึ่งก็มีลูกศิษย์ให้ความรักและเคารพอยู่จำนวนหนึ่ง พอท่านมาทำหนังสือพิมพ์ก็มีคนนิยมในงานเขียนต่างๆ ของท่านเป็นจำนวนมาก รวมถึงที่ท่านทำงานการเมืองมาตั้งแต่หนุ่มๆ (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็น ส.ส.ครั้งแรกใน พ.ศ.2489 ขณะมีอายุ 35 ปี)

ก่อนหน้านั้นก็ทำงานราชการและงานธนาคาร ทำให้มีเพื่อนฝูงอยู่ในวงการเหล่านั้นพอสมควร (ถ้าเป็นสมัยนี้ก็น่าจะเรียกท่านว่า “ไฮโซคึกฤทธิ์” ได้เหมือนกัน) ซึ่งผู้คนที่ท่านได้รู้จักถ้าสนิทสนมกันก็จะรู้จักกันอย่างลึกซึ้ง แบบว่า “ถึงก้นครัว” คือหลายคนได้มีโอกาสไปกินข้าวสังสรรค์และเยี่ยมเยียนกันถึงบ้าน จึงได้รู้จักทั้งพ่อแม่และญาติพี่น้องของคนเหล่านั้น (เวลาที่ท่านไปหาเสียงท่านก็ใช้วิธีหาเสียงแบบ “เข้าถึงก้นครัว” เช่นกัน)

อนึ่งสำหรับคนที่เคยได้สนทนากับท่าน อาจจะพอสังเกตได้ว่าท่านมักจะถามเกี่ยวกับครอบครัวและการทำมาหากินของเราอยู่ตลอดเวลา นั่นก็คือการหาความรู้ที่ “ลึกซึ้ง” เกี่ยวกับผู้คนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ทำอยู่เป็นปกติ ซึ่งช่วยให้ท่านรู้จักคนทั้งหลายจนถึง “เทือกเถาเหล่ากอ”

ข้อมูลเกี่ยวกับ “เทือกเถาเหล่ากอ” นี้เป็นอาวุธอันวิเศษ เพราะคนไทยนับถือว่าพ่อแม่หรือเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องที่ไม่มีใครควรเอาไปล้อเล่น ดังนั้นใครก็ตามที่มาทะเลาะกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เสี่ยงที่จะถูกแฉเรื่องส่วนครอบครัวเหล่านั้น ดังที่จะเห็นการต่อสู้ในแนวนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ท่านเขียนคอลัมน์อยู่เป็นประจำ ซึ่งท่านอาจารนย์คึกฤทธิ์ก็มีไว้เพียงแค่ขู่ แต่ไม่เคยทำให้ใครเสียหาย เช่นเดียวกันในตอนที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี นักการเมืองทั้งหลายก็กลัวท่าน “ลำเลิก” ถึงเทือกเถาเหล่ากอจนไม่กล้าตอแย

ผิดกับยุคนี้ที่คนไทยชอบถามกันว่า “รู้ไหมพ่อข้าคือใคร”

*******************************