posttoday

ประเมินทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่เจ็ด)

01 มิถุนายน 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร          

*******************

ทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ (John Rawls) ศาสตราจารย์ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตั้งอยู่บนฐานคิดที่ให้คนแต่ละคนสมมุติให้ตัวเองไปอยู่ที่จุดตั้งต้น (original position) อันเป็นสภาวะที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์กติกาใดๆ ไม่มีประเพณีวัฒนธรรมใดๆทั้งสิ้น พูดง่ายๆคือย้อนกลับไปที่สภาวะแรกเริ่มของมนุษย์ก่อนจะมีสังคม ขณะเดียวกันก็ให้คนแต่ละคนสมมุติต่อว่าในจุดตั้งต้นนั้น แต่ละคนยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นอย่างไร ที่ว่า “เป็นอย่างไร” นั้นหมายความว่า เรายังไม่รู้ว่าเราจะเกิดมาตัวโต ตัวเล็ก เป็นหญิงหรือชาย ฉลาดหรือโง่ ถนัดหรือไม่ถนัดอะไร อยากทำอาชีพอะไร ฯลฯ  นั่นคือ ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเราเลย ซึ่งสภาวะไม่รู้อะไรนี้ อาจารย์รอลส์บอกว่า เหมือนกับเราอยู่ใน “ม่านแห่งความไม่รู้” (veil of ignorance)  นั่นคือ เขาอยากให้เราลองสมมุติว่าเรากลับไปที่จุดเริ่มต้นและถูกม่านบังไว้ไม่ให้รู้ว่าเรามีตัวตนอย่างไร

นอกจากนี้ แม้ว่าเขาจะไม่ให้เรารู้เกี่ยวกับตัวตนของเรา แต่เขาก็ยังให้เรามีความสามารถในการใช้เหตุผล ความสามารถในการใช้เหตุผลนี่ก็ไม่ใช่อะไรที่สลับซับซ้อน การมีเหตุผลที่ว่านี้คือ การคิดว่าจะทำอย่างไรที่เราจะได้ประโยชน์สูงสุดโดยเสี่ยงหรือลงทุนน้อยที่สุด และหากจะต้องเสียประโยชน์ก็จะต้องหาทางให้เสียประโยชน์หรือเจ็บตัวน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจาก “จุดเริ่มต้น ม่านแห่งความไม่รู้และความมีเหตุมีผล” นี้ อาจารย์รอลส์ให้เราลองออกแบบกติกาสังคมหรือกฎหมายในสังคมที่คิดว่าเป็นกฎหมายหรือกติกาที่ยุติธรรมที่สุด

อ้อ ลืมไป เขากำหนดเงื่อนไขไว้อีกอย่างหนึ่งคือ สังคมที่เราจะกำลังจะออกแบบกติกาแห่งความเป็นธรรมนี้เป็นสังคมที่มีทรัพยากรปานกลาง นั่นคือไม่ได้มีมากมายแบบไม่จำกัดหรือมีน้อยมากหรือขาดแคลน ที่เขาต้องกำหนดให้มีทรัพยากรปานกลางก็เพราะว่า หากมีมากหรือไม่จำกัด  ก็คงไม่ต้องมานั่งคิดหากฎเกณฑ์เพื่อความเป็นธรรมอะไร เพราะถ้าทรัพยากรไม่จำกัด ใครจะตักตวงไปมากเท่าไรก็ไม่กระทบคนอื่น ขณะเดียวกัน ถ้ามีทรัพยากรน้อยเกินไปจนถึงขาดแคลน ความมีเหตุมีผลก็คงไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้แล้ว คงตัวใครตัวมัน อยู่ร่วมกันเป็นสังคมไม่ได้

ประเมินทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่เจ็ด)

การคิดแบบนี้ของอาจารย์รอลส์ก็สมเหตุสมผลอยู่ เพราะมนุษย์จะอยู่รวมกันเป็นสังคมได้ อย่างน้อยทรัพยากรต้องไม่ขาดแคลนเกินไป เพราะไม่เคยเห็นสังคมไหนที่ทรัพยากรขาดแคลนมาก แล้วผู้คนจะอยู่กันเป็นสังคมได้ เพราะถ้าไม่มีอะไรจะกินจริงๆ คนอาจจะกินกันเองก็ได้!

ทีนี้ พอผมเล่าเรื่องทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์มาถึงตรงนี้ หลายคนฟังแล้วก็งง ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าจะสมมุติให้ไปอยู่ที่จุดเริ่มต้นได้ยังไง ? และสมมุติว่าเราไม่รู้ว่าตัวตนของเราเป็นอย่างไรได้ยังไง? ผมก็พยายามอธิบายไปว่า อาจารย์รอลส์เขาบอกว่ามันเป็นการทดลองทางความคิด (thought experiment) คล้ายๆกับเวลาเราเข้าไปในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เรากำหนดเงื่อนไขต่างๆไว้แล้วก็เริ่ม ทำการทดลองโน่นนี่  แต่หลายคนก็ตอบผมกลับมาว่า สมมุติยังไงก็สมมุติไม่ได้ เพราะจะให้ลืมตัวตนเราไปได้ยังไง ??!!

การที่มีคนบางคนไม่สามารถสมมุติตัวเองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นได้ และไม่สามารถจะสมมุติว่าตัวเองไม่รู้ว่าตัวตนของตัวเองจะเป็นอย่างไร  ถือเป็นข้อบกพร่องของทฤษฎีของอาจารย์รอลส์หรือเป็นข้อบกพร่องของคนที่คิดสมมุติแบบนั้นไม่ได้ ?(ให้ผู้อ่านลองคิดตอบเอาเอง !)

ประเมินทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่เจ็ด)

มีบางคนบอกว่า สมมุติหน่ะสมมุติได้ แต่มันเป็นอุดมคติไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง

อาจารย์รอลส์ก็จะตอบว่า ไม่ใช่ตัวเขาไม่รู้ว่ามันเป็นสภาพอุดมคติ แต่เขาเชื่อว่า การสมมุติแบบนี้จะทำให้คนสามารถหากฎเกณฑ์กติกาที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผลได้ และเมื่อมาอยู่ในสังคมและรู้ตัวตนของตัวเองแล้ว ก็จะยอมรับกฎกติกาที่แต่ละคนออกแบบไว้ เพราะคนในจุดเริ่มต้นไม่รู้ว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว หรือเกิดอุบติเหตุ ดังนั้น จึงออกแบบกกติกาแบบเซฟๆไว้ นั่นคือ หากในชีวิตเกิดตกระกำลำบาก ก็ต้องการให้รัฐบาลมาช่วย และแน่นอนว่าการช่วยเหลือเยียวยาต้องมีงบประมาณ และงบประมาณก็มาจากการเก็บภาษี ดังนั้น ผู้คนจึงออกแบบกติกาให้รัฐบาลเก็บภาษีได้ ใครไม่ซวย ก็ไม่ต้องมารับการช่วยเหลือเยียวยา แต่ถ้าซวยก็จะได้รับการเยียวยา กฎที่ออกแบบมานี้ ไม่ใช่เพื่อคนอื่น แต่เพื่อตัวเราเองในคราวเคราะห์

แต่ก็มีคนแย้งอีกว่า แม้ว่าตอนอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่ละคนจะออกแบบกติกาดังกล่าว แต่พออยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าเกิดร่ำรวย ก็ไม่อยากจะให้รัฐบาลมาเก็บภาษีไปมากๆเพื่อไปช่วยคนจน แม้ว่าจะเป็นไปได้ว่า สักวันหนึ่งอาจจะมีความซวยมาเยือน แต่คนรวยๆก็มักจะคิดว่า ถ้ากอบโกยหรือเก็บออกไว้เต็มที่ ยังไงๆก็ยากที่จะยากจนข้นแค้น  ซึ่งก็มีความจริงอยู่เหมือนกันที่คนอย่างบิล เกตส์เจ้าของไมโครซอฟยากที่จะกลายเป็นขอทาน

แต่กระนั้น อย่างกรณีต้มยำกุ้งปี 2540 ก็ทำให้หลายคนรวยหลายคนกลายเป็น “คนเคยรวย” ไปในชั่วข้ามคืน บางคนตื่นมาเป็นหนี้หลายร้อยล้าน และยิ่งวิกฤตโควิด-19 ขณะนี้ด้วยแล้ว จะพบว่า กิจการใหญ่โตหลายรายต้องเลิกกิจการ และยังจะมีประกาศขายหรือล้มละลายตามมาอีกมากมาย

ประเมินทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่เจ็ด)

ประเมินทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่เจ็ด)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ข้อโต้แย้งต่อทฤษฎีของอาจารย์รอลส์ที่ว่า คนรวยในโลกแห่งความเป็นจริงจะไม่เห็นด้วยกับกฎกติกาความยุติธรรมที่ออกแบบโดยการสมมุติให้คนไปอยู่ที่จุดเริ่มต้นและอยู่ในม่านแห่งความไม่รู้ และที่ไม่เห็นด้วยก็เพราะตัวเองคิดว่า ไม่มีวันจะจนหรือตกยาก ความคิดแบบนี้คงไม่ปลอดภัยเสียแล้ว เพราะวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้คนรวยจำนวนไม่น้อยต้องล้มละลาย มิพักต้องพูดถึงคนระดับล่างๆลงมk

ด้วยเหตุนี้เองที่มีนักวิชาการทางทฤษฎีการเมืองออกมาบอกว่า  หลังวิกฤตโควิด-19  การเมืองจะเปลี่ยนไป เพราะผู้คนเริ่มตระหนักแล้วว่า ไม่มีอะไรแน่นอน และเพื่อความปลอดภัย อาจจะต้องยอมให้มีการเก็บภาษีมากๆ เพื่อว่า ยามวิกฤต รัฐบาลจะสามารถเยียวยาคนได้ถ้วนหน้าและทุกระดับ

หลายคนที่เคยทำมาหากินนอกระบบ และเมื่อเกิดวิกฤตไม่สามารถรับการเยียวยาได้ เพราะไม่อยู่ในระบบ หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่เงื่อนไขที่รัฐบาลวางไว้ เพราะที่ผ่านมา ตัวเองไม่เคยให้ข้อมูลความจริงเกี่ยวกับอาชีพการทำมาหากินของตนกับทางรัฐบาล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ต้องการเลี่ยงภาษีหรือเหตุผลของการที่ตนประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย  คนเหล่านี้อาจจะเริ่มเปลี่ยนความคิด !

ประเมินทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่เจ็ด)

แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์จะไม่มีข้อบกพร่องเอาเสียเลย เพราะสามปีหลังจากที่หนังสือทฤษฎีความยุติธรรม (A Theory of Justice) ของอาจารย์รอลส์เผยแพร่สู่สาธารณะ  ในปี ค.ศ. 1974 ก็มีหนังสือชื่อ Anarchy, State, and Utopia ออกมา ซึ่งเขียนโดยศาสตราจารย์ทางปรัชญา ผู้เป็นเพื่อนร่วมงานในภาควิชาเดียวกันและมหาวิทยาลัยเดียวกันกับอาจารย์รอลส์ ศาสตราจารย์ท่านนี้คือ อาจารย์โรเบิร์ต โนซิค (Robert Nozick) คู่ปรับอาจารย์รอลส์ ผู้เขียนหนังสือออกมาเพื่อโจมตีทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์โดยเฉพาะ ข้อโต้แย้งของอาจารย์โนซิคจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามสัปดาห์หน้าครับ

ประเมินทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่เจ็ด)