posttoday

เทคนิคการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (1)

23 พฤษภาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************************

นายกรัฐมนตรียุคใหม่จะมีวิบากกรรมที่ต่างไปจากยุคเก่า ผู้เขียนมีความเชื่อว่าการเมืองไทย(และในหลายๆ ประเทศทั่วโลก)ในอนาคตจะมีการปกครองในรูปแบบ “หนึ่งตัว หลายหัว หลายมือ หลายเท้า แต่หัวใจเดียวกัน” คือมีแค่ “ผู้นำในฝ่ายบริหาร” ที่อาจจะเรียกว่าประธานาธิบดีบ้าง นายกรัฐมนตรีบ้าง เป็นตัว “หนึ่งตัว” นั้น ทำหน้าที่ตามที่ผู้คนได้ร่วมกันคิด คือใช้คนเก่งๆ หลายๆ คน “หลายหัว” มาร่วมวางแผนและควบคุมดูแลประเทศ

ซึ่งผู้เขียนไม่ขอเรียกว่าคนเหล่านี้คือรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี เพราะในอนาคตคนพวกนี้จะไม่ได้มาจากนักการเมือง และอาจไม่มีความจำเป็นที่จะมี “กลุ่มกินเมือง” แบบนั้นต่อไปอีก แต่จะมาจากมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่างๆ ที่ถูก “ขอร้อง” ให้เสียสละเข้ามาทำงานเพื่อชาติ ที่อาจจะมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นต่อไป โดยมี “หลายมือ” และ “หลายเท้า” คือกลไกของรัฐและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมร่วมมือกัน อย่างยินยอมพร้อมใจและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

อย่างที่เรียกว่า “หัวใจเดียวกัน” นั้น (ซึ่งผู้เขียนได้ข้อสังเกตนี้จากการติดตามการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาโควิด 19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีกลายเป็นแค่ “ปุ่มรีโมท” คือใช้อำนาจพิเศษคอยสั่งการให้กับกลไกต่างๆ ตามแต่จะมีผู้แจ้งให้ทำเท่านั้น เพราะความสำเร็จในการแก้ไขวิกฤติครั้งนี้เกิดจากการการระดมสมองของมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกัน ภายใต้ความร่วมมือและความยินยอมพร้อมใจของประชาชนทุกภาคส่วน)

นายกรัฐมนตรีของไทยมีสภาพเป็นแค่ “รีโมท” มานานแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนกดรีโมทนั้นเองหรือมีคนอื่นกดให้เท่านั้น นั่นก็คือถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบเผด็จการ นายกรัฐมนตรีก็อาจจะใช้อำนาจนั้นด้วยตนเอง เพราะเป็นผู้เกาะกุมอำนาจต่างๆ ไว้ทั้งหมด เช่น เป็นผู้บัญชาการทหารบกที่ควบคุมกองทัพและระบบราชการต่างๆ ได้ทั้งหมด แต่ในเผด็จการบางยุคนายกรัฐมนตรีอาจจะเป็นแค่ “หุ่นเชิด” เช่น ทหารแต่งตั้งให้เป็น ก็อาจจะถูกควบคุมไว้ด้วยกองทัพนั้นอีกที การทำงานต่างๆ ก็จะมีทหารมากดปุ่มรีโมทให้

แต่เมื่อใดที่รีโมทนั้นขัดข้องไม่ทำตามคำสั่งของทหาร ทหารก็อาจจะเปลี่ยนรีโมทเป็นอันอื่นก็ได้ แต่ถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตย ในประเทศไทยนั้นรีโมทหรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่มาก บ่อยครั้งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกคนอื่นกดปุ่มอยู่ข้างๆ เช่น ต้องเอาใจ ส.ส.และพรรคร่วมรัฐบาลจนไม่เป็นตัวของตัวเอง

แม้ว่าในบางสมัยรัฐธรรมนูญอาจจะมอบอำนาจให้เบ็ดเสร็จ อย่างในยุคนายกรัฐมนตรีมหาเศรษฐีหนีคดี ก็พยายามจะกดรีโมทนี้ตามอำเภอใจตนเอง ในที่สุดก็ไป “เหยียบตาปลา” คือกระทบผลประโยชน์ของบรรดา “ขาใหญ่” ในสังคมไทย ที่เรียกว่า “อำมาตย์” รวมถึงทำในสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจของคนไทย ผู้คนจึงรุม “ตึ้บ” รีโมทนั้นจนย่อยยับหมดสิ้น

อย่างไรก็ตามประชาธิปไตยของไทยก็ยังเป็นระบบรีโมทนี้เรื่อยมา แม้ในยุคนี้ที่นายกรัฐมนตรีก็มาจากการเสนอชื่อของนักเลือกตั้ง แต่ก็เป็นไปภายใต้กระบวนการที่ “เถ้าแก่โรงงานรีโมท” เป็นผู้กำหนดขึ้น (คือกลุ่มคนที่เขียนรัฐธรรมนูญและทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ) นายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้กดรีโมทด้วยตนเอง และยิ่งเห็นได้ชัดเจนภายใต้วิกฤติโควิด 19 ที่เถ้าแก่โรงงานยอมให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำแนะนำ แล้วให้ยืมอำนาจพิเศษคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระงับวิกฤตินี้

โดยนายกรัฐมนตรีก็ยอมเป็นรีโมท คือยอมตัดสินใจตามข้อเรียกร้องต่างๆ ในสังคมมาแล้วหลายเรื่อง ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่าภายหลังที่มีการปลดล็อคในระยะต่อไป รวมทั้งที่จะต้องเจอวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ตามมาอีกหลายระลอก จะมีใครไปกดปุ่มรีโมทคือควบคุมนายกรัฐมนตรีได้บ้าง หรือ “เถ้าแก่” อาจจะยึดรีโมทนี้คืน แล้วเอาอันใหม่มาเปลี่ยน (น่าลุ้นระหว่างการกระชับอำนาจของกองทัพอีกครั้ง หรือการเปลี่ยนถ่ายอำนาจผ่านระบบเลือกตั้งครั้งใหม่)

อารัมภบทเรื่องสถานภาพของนายกรัฐมนตรีในยุคใหม่มาพอสมควร ด้วยความอาลัยอาวรณ์ว่าการเมืองไทยอาจจะกำลัง “พลิกโฉม” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Disruption” ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจตามแบบเก่าๆ ได้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้นในยุคหน้าของการเมืองไทยนั้น เราก็ควรจะมองย้อนอดีตให้รำลึกถึง “นายกรัฐมนตรียุคอนาล็อก” ที่ท่านได้ฝ่าฟันนำประเทศไทยมาได้จนถึงวันนี้

ผู้เขียนอาจจะนำเสนอบทความชุดนี้ในแนวที่เป็น “วิชาการนี้ดนึง” ก็เพราะว่าตอนนี้รัฐบาลขอความร่วมมือในการ “ทำงานจากบ้าน” จึงมีเวลานั่งค้นคว้าตำรับตำราต่างๆ ออกมา “เคาะสนิม” คือขัดเกลาความคิดความเข้าใจของตนเองให้ดูแจ่มแจ๋วขึ้น อย่างเช่นความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็พบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงการเมืองในอดีตเข้ากับปัจจุบัน

โดยเฉพาะในเรื่องของ “การปรับเปลี่ยนโครงสร้างและพฤติกรรมทางการเมือง” อันเป็นผลจาการพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมและเทคโนโลยีในระยะเวลาที่ผ่านมา จนเมื่อมาถึงวิกฤติโควิด 19 ที่ได้พลิกโฉมกระบวนการบริหารในทางการเมืองไปทั่วโลก

ถ้ากำหนดว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือการพลิกโฉมทางการเมืองของประเทศไทยครั้งยิ่งใหญ่ โดยพลิกเอาระบบเจ้าไปอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แล้วนำเอาระบบรัฐสภาขึ้นมาเชิดชู แต่เราก็พบว่า 88 ปีของการพลิกโฉมที่ผ่านมาก็ยังพลิกไม่ขึ้น เพราะรัฐสภายังคงอยู่ใต้อำนาจของ “กลุ่มผู้ปกครอง” กลุ่มเดิมนั่นเอง โดยเฉพาะกองทัพที่อ้างสิทธิในการปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

และเราก็ยังได้พบว่าภายใต้ระบอบทหารที่เป็นมาเกือบศตวรรษ การบริหารประเทศก็ยังวนเวียนอยู่เพียงไม่กี่เรื่อง เช่น เรื่องความมั่นคงและความร่ำรวย เช่นเดียวกันกับตัวนายกรัฐมนตรีที่จะอยู่รอดได้ก็ต้องด้วยการ “อุปถัมภ์” ของกองทัพเช่นกัน จึงน่าสนใจว่าในอนาคตนายกรัฐมนตรีถ้าไม่มีทหารอุ้มจะอยู่รอดได้อย่างไร

*******************************