posttoday

ผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรม (ตอนที่ห้า): เยียวยา 3,000 บาทถ้วนหน้า

18 พฤษภาคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร        

********************

ความเดิมจากสามตอนที่แล้ว: มีการตั้งคำถามขึ้นในหมู่บ้านของผู้ใหญ่ลีถึง เกณฑ์การจัดสรรทรัพยากรหรืองบประมาณแบบไหนถึงจะเป็นที่พอใจแก่ทุคนในหมู่บ้าน ? ให้ทุกคนแสดงความต้องการของแต่ละคนออกมา ก็อาจจะไม่ลงตัว เพราะคนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานะ ความถนัด ความสามารถ ฯลฯ ครั้นจะใช้เสียงข้างมากตัดสิน เสียงข้างน้อยก็อาจจะรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ฯลฯ 

มีอาจารย์ฝรั่งชาวอเมริกันท่านหนึ่งชื่อ จอห์น รอลส์ เสนอทางออกที่เขาคิดว่าเป็นคำตอบที่ทุกคนจะยอมรับได้และทุกคนจะเห็นว่าเป็นเกณฑ์ที่ยุติธรรม โดยเขาเสนอให้แต่ละคนลองสมมุติตัวเองไปอยู่ใน “จุดเริ่มต้น” ที่ยังไม่มีสังคม ยังไม่มีกฎหมาย กติกาใดๆ เพื่อจะได้มาตั้งต้นกันใหม่ว่า หาก “สามารถ” กำหนดกติกากันใหม่ได้ เราจะกำหนดมันอย่างไร  และนอกจากจะสมมุติว่ามาอยู่ที่ “จุดเริ่มต้น” และอาจารย์รอลส์ยังให้เราแต่ละคนสมมุติว่า เราไม่รู้ว่าเราจะเกิดมาในครอบครัวรวยหรือจน จะฉลาดหรือโง่ ฯลฯ นั่นคือ ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเราเลย

ซึ่งอาจารย์รอลส์ตั้งชื่อไว้แสนจะโรแมนติกว่า “ม่านแห่งความไม่รู้" อาจารย์รอลส์ยังให้เรายังมีความสามารถในการใช้เหตุผล และให้คิดอยู่ภายใต้กรอบที่ว่า ทรัพยากรในสังคมมีพอประมาณ ไม่มากไปไม่น้อยไป และอาจารย์รอลส์เชื่อว่า เมื่อแต่ละคนในสถานการณ์สมมุติที่ว่านี้คิดหากฎกติกาที่ยุติธรรมสำหรับตัวเองออกมาได้แล้ว ผลลัพธ์มันจะเหมือนกัน และนั่นก็จะเป็นกฎกติกาที่ยอมรับกันได้และยุติธรรมด้วย

สองตอนที่แล้ว ได้มีผู้อ่านสองท่านได้สมมุติเป็นลูกบ้านของผู้ใหญ่ลีและได้ลองตอบมาแล้วว่ากติกาที่ตนคิดได้มีหน้าตาอย่างไร แต่ทั้งสองท่านนั้นคิดในเชิงสมมุติว่าตนจะเกิดมาซวย คือ โง่ จน เจ็บอะไรแบบนั้น และทั้งสองท่านเห็นว่า หากบังเอิญ ตนไปอยู่ในสังคมจริงๆแล้ว เกิดตกทุกข์ได้ยากขึ้นมา กติกาที่เป็นธรรมก็คือ รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือตน หากตนไม่ซวย ก็ยินดีจะให้เก็บภาษีตนไปช่วยคนที่ลำบากที่รอลส์เรียกว่า “the least advantage” ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะตัวเองใจบุญสุนทรทาน แต่คิดในแง่ว่า หากตนเกิดซวย ก็จะได้รับการเยียวยาเช่นกัน ไม่ได้คิดเผื่อคนอื่น แต่คิดเผื่อตัวเองยามซวยเท่านั้น

ผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรม (ตอนที่ห้า): เยียวยา 3,000 บาทถ้วนหน้า

มาคราวนี้ ผู้เขียนโชคดี มีท่านผู้อ่านท่านที่สองที่เคยส่งคำตอบมาแล้ว ได้ลองจินตนาการใช้ทฤษฎีของอาจารย์รอลส์กับการเยียวยาผู้ตกทุกข์ได้ยากจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย โดยท่านผู้อ่านท่านนี้ได้ตั้งชื่อบทความของท่านว่า “Rawls กับการเยียวยาผู้ตกทุกข์ได้ยาก”

“Rawls กับการเยียวยาผู้ตกทุกข์ได้ยาก

อาจารย์ไชยันต์ได้ตั้งคำถามว่า หากอิงกับแนวคิดของ Rawls ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ที่เสียเปรียบ/ผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม/ผู้ตกทุกข์ได้ยาก (the least advantage) ในสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นรัฐบาลควรจะต้องเยียวยาประชาชนคนทุกคนด้วยจำนวนเงิน 3000 บาทหรือไม่ ? โจทย์นี้มีความน่าสนใจอยู่สองประเด็นคือ

1. ในสถานการณ์โรคระบาดทุกคนคือผู้ตกทุกข์ได้ยากจริงหรือไม่ ?

2. อะไรคือสาเหตุอันชอบธรรมในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ?

ผมขอเริ่มพิจารณาจากประเด็นแรกก่อน สิ่งหนึ่งที่ Rawls ให้ความสำคัญก็คือในโลกของความเป็นจริงนั้นทุกคนมีจุดตั้งต้นที่ไม่เท่ากัน  หมายความว่าบางคนเกิดมาในครอบครัวที่มีความพร้อมในทุกด้านส่วนบางคนก็เกิดมาในครอบครัวที่ขาดแคลนในทุกด้าน ปัญหาก็คือเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ ดังนั้นหากปล่อยให้ดำเนินการไปตามนี้ 100% คนที่เสียเปรียบก็จะเสียเปรียบตลอดเวลา คือ Rawls กำลังจะสื่อว่ารัฐควรมีบทบาทช่วยเหลือผู้เสียเปรียบอะไรสักอย่าง ดังนั้นต่อให้สถานการณ์โรคระบาดทำให้ทุกคนเป็นผู้ตกทุกข์ได้ยากจริง แต่ความทุกข์ยากของคนที่มีความพร้อมในทุกด้านกับความทุกข์ยากของคนที่ขาดแคลนเป็นความทุกข์ยากที่ไม่เท่ากัน ผมจึงมองว่า Rawls ไม่น่าจะเห็นด้วยกับการแจกเงินประชาชนทุกคนคนละ 3,000 บาท แน่นอนว่าหากทรัพยากรมีจำนวนไม่จำกัดคงไม่ผิดอะไรที่จะแจกเงินทุกคน แต่ความจริงคือมันมีจำกัด ดังนั้นเงินช่วยเหลือควรจะต้องไปถึงมือผู้ตกทุกข์ได้ยากเบอร์  1 ก่อน ไม่ใช่คนทุกคน

ประเด็นที่สองว่าด้วยสาเหตุอันชอบธรรมในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จากที่ได้อธิบายไปแล้วว่า Rawls ไม่น่าจะเห็นด้วยกับการช่วยเหลือคนทุกๆคนโดยไม่แบ่งแยกความลำบาก ต่อไปจะขอพิจารณาว่าอะไรคือเหตุผลที่ชอบธรรมและฟังขึ้นกับการที่ Rawls จะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคนบางคนก่อน

ซึ่งผมได้ตอบไปบ้างแล้วจากประเด็นแรกว่าคนเรามีจุดตั้งต้นที่ไม่เท่ากัน คนรวยที่ลำบากในสถานการณ์โรคระบาดกับคนจนที่ลำบากในสถานการณ์โรคระบาดมีความลำบากไม่เท่ากัน  ผมจะขอกล่าวถึงสาเหตุอื่นต่อไป กล่าวคือนอกจาก Rawls จะเห็นประเด็นเรื่องจุดตั้งต้นที่ไม่เท่ากันแล้ว เขายังเห็นว่าต่อให้นำทุกคนมาตั้งต้นในตำแหน่งเดียวกันแล้วก็ยังมีบางคนที่มีความสามารถเหนือกว่าอีกคนอยู่ดี พูดง่ายๆก็คือบางคนโชคดีโดยธรรมชาติ เช่นเกิดมาก็ IQ สูงกว่าคนอื่นจึงมีความสามารถเหนือคนอื่นทั้งๆที่เสียเวลาศึกษาเท่าๆกับคนอื่น แต่คน IQ สูงก็ยังเก่งกว่าคนอื่นอยู่ดีและความเก่งแบบนี้เป็นความโชคดีที่ธรรมชาติจัดมาให้ หากปล่อยได้ดำเนินการไปตามนี้ 100% ก็ต้องมีผู้เสียเปรียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อพิจารณาถึงกรณีโรคระบาดก็จะพบว่าความสามารถของคนในการใช้ชีวิตจากสถานการณ์โรคระบาดมีไม่เท่ากัน บางคนอาจจะพิการมาตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดมาก็สมองพิการแล้ว คนพวกนี้คือผู้ตกทุกข์ได้ยากอันดับต้นๆที่สมควรได้รับความช่วยเหลือมากกว่าผู้อื่น เพราะมันไม่ใช่ความผิดของเขาที่เขาเกิดมาพิการ

อ่านมาถึงตรงนี้จะรู้สึกว่า Rawls ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคเสียเหลือเกิน คำตอบคือทั้งใช่และไม่ใช่

ไม่ใช่ในแง่ที่ว่า Rawls เสนอว่าความไม่เท่าเทียมไม่ใช่สิ่งผิด หากมันมีไปเพื่อประโยชน์ของผู้ที่เสียเปรียบ/ผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม/ผู้ตกทุกข์ได้ยาก หากพูดให้ตรงกับสถานการณ์ก็คงวิเคราะห์ได้ว่าเงินภาษีที่ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะคนรวยกับชนชั้นกลางนั้นหากจะนำไปช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากที่สุดในสถานการณ์โรคระบาดก็คงไม่ผิดอะไร มันไม่ผิดที่สังคมจะมีคนรวย แต่มันจะถูกหากส่วนหนึ่งของรายได้คนรวยจะนำไปเพื่อช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจริงๆ”

จากการวิเคราะห์ของท่านผู้อ่านท่านนี้ สรุปได้ชัดเจนว่า ตามทฤษฎีความยุติธรรมของ Rawls จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายการให้เงิน 3,000 บาทแก่ประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพราะถ้าให้แบบเหมาเข่ง ก็ไม่รู้จะหาเหตุผลความชอบธรรมอะไรมาสนับสนุนให้คนที่ไม่เดือดร้อนได้อานิสงส์ 3,000 บาทไปด้วย สู้เอาเงินที่จะโปรยแบบเหมาเข่ง ไปเสริมเติมให้กับคนที่เดือดร้อนให้ได้มากขึ้นจะดีกว่า

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า นโยบายของรัฐบาลสามารถเข้าถึงคนที่เข้าข่าย “the least advantage” ได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริงโดย “ไม่ทิ้งคนทุกคนที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ”

แต่สมมุติว่า ถ้าจะให้ประชาชนทุกคน 3,000 บาทจริงๆ จะให้อย่างไร ? เช่น ให้ตามบัตรประชาชน ถ้าใช้เกณฑ์นี้ ก็จะพบว่า คนที่ไม่มีบัตรประชาชนก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาท ซึ่งไม่รู้ว่าคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชนมีจำนวนเท่าไร หรือไม่มีประชาชนคนไทยคนไหนเลยที่ไม่มีบัตรประชาชน  แต่สมมุติว่า มีประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่งไม่มีบัตรประชาชน คนเหล่านี้แม้ว่าจะเป็นจำนวนน้อย แต่เชื่อว่า คนที่ไม่มีบัตรประชาชนน่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ควรจะได้รับการช่วยแหลือเยียวยาเป็นอันดับแรกๆด้วยซ้ำ และน่าจะเข้าข่าย “the least advantage” ตามทฤษฎีความยุติธรรมของ Rawls มากที่สุดด้วย ! หรือไม่สนคนไม่มีบัตรประชาชน เพราะลงคะแนนเลือกตั้งไม่ได้ ?!

ผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรม (ตอนที่ห้า): เยียวยา 3,000 บาทถ้วนหน้า