posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาหวู่ฮั่น (8)

07 เมษายน 2563

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*********************

ไม่น่าเชื่อว่า ในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็แซงหน้าทุกประเทศทั่วโลกไปแล้วเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 โดยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีผู้ติดเชื่อโรคนี้เกินหลักแสน แซงอิตาลีซึ่งทำสถิตินำหน้ามาก่อนหลายสัปดาห์

อันที่จริงถ้าเทียบสัดส่วนจำนวนประชากร อัตราติดเชื้อในสหรัฐยังต่ำกว่าอิตาลีมาก เพราะสหรัฐมีประชากร 328.2 ล้านคน ขณะที่อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อหลายหมื่น มีประชากรเพียง 60.3 , 66.9 , และ 46.7 ล้าน ตามลำดับ สหรัฐมีประชากรมากกว่าประเทศเหล่านี้ 5-6 เท่า เมื่อมีผู้ติดเชื้อมากกว่าไม่ถึงเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐยังต่ำกว่าอิตาลี ฝรั่งเศส และสเปนมาก อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับจีนซึ่งมีประชากรมากกว่าสหรัฐกว่า 4 เท่า เมื่อสหรัฐมีผู้ติดเชื้อแซงจีนไปมากแล้วเช่นนี้ อัตราการติดเชื้อในสหรัฐจึงสูงกว่าจีนซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางหรือจุดตั้งต้นของการแพร่ระบาด (Epicenter) ถึง 6-7 เท่าแล้ว

ไม่น่าเชื่อว่าสหรัฐจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะสหรัฐไม่เพียงเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วย ข้อสำคัญสหรัฐมีองค์กรและระบบการป้องกันและควบคุมโรคที่เข้มแข็งและอยู่ในขั้นแนวหน้าของโลกมายาวนาน ในหลายกรณี แม้แต่องค์การอนามัยโลก สหรัฐก็ไม่ยอมให้เป็นผู้นำในด้านการสาธารณสุขของโลก แต่จะพยายามช่วงชิงการนำอยู่เสมอ

สหรัฐมีองค์กรการวิจัยทางสุขภาพที่ใหญ่โตมโหฬารและมีงบประมาณมากที่สุดในโลก คือ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ชื่อย่อคือ เอ็นไอเอช (NIH) ซึ่งประกอบด้วยสถาบัน (Institutes) ที่เชี่ยวชาญในเรื่องสุขภาพหลากหลายสาขา มีข้อสังเกตคือคำว่า “สถาบัน” คือ “Institutes” ของหน่วยงานนี้ เป็นพหูพจน์ แตกต่างอย่างมากกับสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยซึ่งเป็นเอกพจน์ เพราะไทยมีปรัชญาแนวคิดเน้นความเป็นเอก เป็นหนึ่งเดียว เป็นศูนย์กลางแห่งเดียว ตามแนวคิดการรวมศูนย์อำนาจในการปกครองประเทศ ตรงข้ามกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นที่รวมของสถาบันหลายสถาบันซึ่งต่างมีความเชี่ยวชาญเป็นยอดในสาขาของตน โดยปัจจุบันมีสถาบันในสังกัดรวม 27 สถาบัน

เอนไอเอชมีสถานะเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐซึ่งมีชื่อว่ากระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ (Department of Health and Human Service) ชื่อย่อคือ ดีเอชเอชเอส (DHHS) ในปี 2562 เอนไอเอช มีงบประมาณสูงถึง 39,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.17 ล้านล้านบาท เท่ากับราวร้อยละ 27 ของงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยในปี 2562 ทั้งประเทศ

หลักการทำงานของเอ็นไอเอช มีข้อแตกต่างสำคัญจากหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยของไทย ประการแรก คือ เอ็นไอเอช ทั้งทำวิจัยเองและสนับสนุนการวิจัย ไม่เหมือนไทยที่ “เคร่งเกินไป” ในเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (Conflicts of Interest) คือ ของเราหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยให้ทำหน้าที่ “สนับสนุนการวิจัย” เท่านั้น ไม่ให้ทำวิจัยเอง ผลคือเราเอาคนที่เก่งวิจัยมาทำงานที่ไม่เก่ง คือ สนับสนุนงานวิจัย สุดท้ายก็ทำให้นักวิจัยเก่งๆ ไม่มีผลงานวิจัย และผลงานวิจัยที่ออกมาก็อย่างที่ปรากฏ ในขณะที่เอ็นไอเอชของสหรัฐ ผู้อำนวยการสถาบันแต่ละสถาบันจะเป็นเอตทัคคะในแขนงของตน เพราะทำวิจัยเองด้วย และผลงานวิจัยที่โดดเด่นระดับโลกก็ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อ (Institute of Allergy and Infectious Diseases) คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งในสังกัด เอนไอเอช คือ นายแพทย์แอนโธนี เฟาซี (Athony Fauci) ดำรงตำแหน่งนี้มายาวนานตั้งแต่ครั้งทำงานวิจัย ต่อสู้กับโรคเอดส์ จนมีชื่อเสียงโด่งดังมาก และเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลจากผลงานร่วมในการรักษาโรคเอดส์ซึ่งแม้ยังรักษาไม่หายขาด

แต่ก็ได้ผลชะงัดจนโรคเอดส์อยู่ในภาวะที่ “ควบคุมได้” แล้ว ผลงานที่สำคัญของท่านผู้นี้ในเรื่องเอดส์คือการค้นพบว่ายาค็อคเทลไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้เพราะเชื้อเอดส์เข้าไปซ่อนตัวอยู่ในเซลส์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ที่อยู่ในสภาพซึมเซา ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเซลล์เม็ดเลือดขาวส่วนมาก ยาต้านไวรัสจึงเข้าไปทำงานกำจัดเชื้อเอดส์ในเซลล์เหล่านี้ไม่ได้ เมื่อหยุดยาเชื้อเอดส์ที่ซ่อนตัวอยู่ก็จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนจนสามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อีก ทำให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องกินยาต่อเนื่องตลอดชีวิต

ผลงานวิจัยของนายแพทย์แอนโธนี เฟาซี เรื่องนี้เมื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ ปรากฏว่ามีคนอ้างอิงไปใช้ประโยชน์นับแสนครั้งในเวลาอันรวดเร็ว

ระบบของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐแตกต่างจากระบบงานวิจัยในประเทศไทยในประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการ “รักษาความเชี่ยวชาญ” ของคนทำงานวิจัย นายแพทย์แอนโธนี เฟาซี มีความสามารถโดดเด่นเช่นนี้ จึงสามารถเป็น “ดาวค้างฟ้า” ที่ยังคงเป็น “ดาวจรัสแสง” โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อตั้งแต่ พ.ศ. 2527 มาจนปัจจุบัน และสามารถใช้ความเชี่ยวชาญมาต่อสู้กับโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อและเกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานของร่างกายมนุษย์ โดยดำรงตำแหน่งอันทรงภูมิและทรงเกียรตินี้ได้อย่างยาวนานข้ามหลายทศวรรษ ผิดกับระบบของไทยที่ “เคร่งเกิน” ในเรื่อง “ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง” ตามแนวคิดอันล้าสมัยในแทบทุกองค์กรของรัฐ คือ ห้ามการดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระ

สังคมสหรัฐเป็นสังคมเปิด เราจึงเห็นภาพของนายแพทย์แอนโธนี เฟาซี ออกมาแถลงเรื่องนี้เป็นระยะๆ และกล้าที่จะพูดความจริงที่บางครั้งแตกต่างจากจอมเผด็จการอย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เช่น ทรัมป์บอกว่าสหรัฐกำลังประสบความสำเร็จเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่แอนโธนี เฟาซี พูดชัดเจนว่า ต้องใช้เวลาอีกปีครึ่งหรือสองปีจึงจะมีวัคซีนที่ปลอดภัย (safe) และมีประสิทธิผล (efficacious) ในการควบคุมป้องกันโรคนี้

ในวงวิชาการแพทย์และประสบการณ์ทั่วโลก เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่าต้องรอบคอบเพื่อให้ได้ “ของจริง” อย่างแท้จริง มาลาเรียเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกมายาวนาน มีความพยายามจะค้นคว้าหาวัคซีนมาป้องกันมาลาเรียมาแล้วร่วมร้อยปี แต่ก็ไม่เคยประสบผลสำเร็จ โรคเอดส์เมื่อแพร่ระบาด ก็มีความพยายามค้นคว้าเรื่องวัคซีนมาตั้งแต่ต้น ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่มีโครงการทดสอบวัคซีนของบริษัทญี่ปุ่นจะเข้ามาทดสอบในคนไทยโดย “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องเอดส์ในประเทศไทยในเวลานั้นมีการ “กระพือข่าว” และมีแรงกดดันอย่างมากที่จะทำการทดสอบให้ได้

แต่คณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาด้านจริยธรรมการวิจัยในคน “ไม่อนุมัติ” ทำให้โครงการวิจัยนั้นไม่สามารถทำการทดสอบในคนไทยได้ จนเกือบจะเกิดการ “หมางใจ” กันในหมู่คนที่เกี่ยวข้อง เพราะต่างก็รู้จักคุ้นเคยกันดี แต่ต่อมาเรื่องก็ “โอละพ่อ” เพราะเรื่อง “แดง” ออกมาภายหลังว่า “วัคซีน” ตัวนั้น ซึ่ง “อ้างว่า” ค้นคว้าวิจัยโดยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น แท้จริงเป็นความพยายามจะ “ปั่นหุ้น” ของบริษัทคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งที่ออกข่าวว่า “ค้นพบ” วัคซีนโรคเอดส์แล้ว

นิทานเรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า แม้ผู้ที่คิดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ และสังคมก็ยอมรับอย่างกว้างขวาง ก็เป็น “ปราชญ์รู้พลั้ง” ได้ และเรื่องวัคซีนต้องฟังผู้รู้จริงๆ เท่านั้น ไม่ใช่ “ปราชญ์กำมะลอ” หรือผู้ที่พยายาม “สถาปนา” ตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ ดีที่สุดคือยึด “กาลามสูตร” ไว้ให้มั่นคง

ต่อมามีโครงการวิจัยวัคซีนเอดส์ขนาดใหญ่เข้ามาทดสอบในประเทศไทยอีก 2 โครงการ ซึ่งผลสรุปก็ชัดเจนว่า “ล้มเหลว” โดยโครงการหลังนั้น เมื่อจะเริ่มทดสอบก็มีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลจำนวนมากคัดค้าน แต่โครงการนั้นก็เดินหน้าต่อมา และที่สุดก็ล้มเหลวอีกครั้ง

วัคซีนจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ทั้งความปลอดภัย และข้อสำคัญต้องพิสูจน์ว่าได้ผลในการป้องกันควบคุมโรคได้จริงจึงจะนำมาใช้ได้ เพราะต้องใช้กับประชาชนทั่วไปทั่วโลก จะบุ่มบ่ามหรือโฆษณาชวนเชื่อไม่ได้ แม้คนพูดจะเป็นคนระดับประธานาธิบดีที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกอย่างประธานาธิบดีทรัมป์ก็ตาม

วุฒิภาวะการนำประเทศสู้กับโรคโควิด-19 อย่างประธานาธิบดีทรัมป์นี้เอง ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ประเทศที่ก้าวหน้าทางวิทยาการที่สุดอย่างสหรัฐ ต้องตกอยู่ในภาวะเช่นนี้

***********************