posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาหวู่ฮั่น (4)

03 มีนาคม 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

********************

กรณีการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส จีนเสียชื่อมากว่าปกปิดการแพร่ระบาด เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เชื้อโรคมีการปรับตัวจนสามารถแพร่จากคนสู่คนได้โดยง่าย และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็แพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆ อย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก

อันที่จริง ในระยะแรกที่โรคนี้ “อุบัติ” (emerge) ขึ้น โดยเชื้อไวรัสมีการปรับตัวข้ามสายพันธุ์จาก สัตว์สู่มนุษย์ในระยะแรก น่าจะเป็น “ความเขลา” มากกว่าเจตนาปกปิด ทั้งนี้เพราะการสาธารณสุขของจีนโดยเฉพาะระบบ “เฝ้าระวังโรค” ของจีนในขณะนั้นยังไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะ “ตรวจจับ” (detect) การระบาดของโรคอุบัติใหม่ (Emerging Disease) ได้ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แม้แต่ฮ่องกง ซึ่งแม้เป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ได้พัฒนามายาวนานกว่า และเข้มแข็งกว่ามาก ก็ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะสามารถพบการระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่างโรคไข้หวัดนก (Bird Flu) สายพันธุ์ เอช 5 เอน 1 (H5N1) ได้เมื่อปี 2540

ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรค (Surveillance System) มากว่า 4 ทศวรรษ เริ่มตั้งแต่เมื่อมีการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2517 ในสมัยรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งมีศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีการตั้งกองระบาดวิทยาและระบบเฝ้าระวังโรคตามแบบของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US CDC : US Centers for Disease Control and Prevention) ซึ่งเป็นกรมใหญ่กรมหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐ

ระบบเฝ้าระวังของซีดีซีสหรัฐมีเอกลักษณ์เฉพาะที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและยกย่องทั่วโลก เมื่อเกิดโรคระบาดใหม่ในโลกขึ้น ซีดีซีจะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการระบาดทั้งในสหรัฐและในหลายประเทศทั่วโลก ตัวอย่างเช่น เมื่อหลายปีก่อนมีโรคระบาดในหมู ทำให้หมูตายไปเป็นจำนวนมากในมาเลเซีย ต่อมาโรคนั้นติดต่อมาสู่คนทำให้คนเลี้ยงหมูและผู้สัมผัสโรคเสียชีวิตไปมาก ทางการมาเลเซียเข้าใจว่าเป็นโรคไข้สมองอักเสบ (Japanese Encephalitis) เรียกย่อๆ ว่า เจอี (JE) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากหมูสู่คนโดยมียุงเป็นพาหะ

มาตรการสำคัญอย่างหนึ่งในการควบคุมโรคคือการฉีดวัคซีนในหมูเพื่อตัดวงจรโรคให้เชื้อในหมูลดลง จะได้แพร่มาสู่คนน้อยลง ปรากฏว่ายิ่งควบคุมยิ่งทำให้โรคแพร่ระบาดมากขึ้น ไม่ลดลง จึงมีการติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังซีดีซี ซึ่งได้ส่งผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นสัตวแพทย์เข้ามาไม่นานก็พบข้อสังเกตว่า โรคนี้น่าจะไม่ใช่โรคเจอี เพราะปกติเจอีจะเป็นในเด็กเป็นส่วนใหญ่

แต่โรคที่แพร่ระบาดครั้งนั้นเป็นในคนเลี้ยงหมูซึ่งเป็นคนวัยฉกรรจ์แทบทั้งสิ้น จึงมีการสืบค้นอย่างเป็นระบบมีการนำเลือดผู้ป่วยไปตรวจที่ศูนย์ซีดีซีในสหรัฐ ในที่สุดก็พบว่าเป็น “โรคอุบัติใหม่” เกิดจากเชื้อไวรัสที่ตั้งชื่อต่อมาว่าไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) ไม่ใช่เชื้อเจอี ชื่อนิปาห์มาจากชื่อหมู่บ้านของคนไข้รายที่นำเลือดไปตรวจที่ซีดีซีในสหรัฐ

เชื้อไวรัสนี้เชื่อว่ามาจากค้างคาวแม่ไก่ ซึ่งพบเชื้อนี้ด้วย การฉีดวัคซีนเจอีเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด นอกจากควบคุมโรคไม่ได้แล้ว ยังทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายมากขึ้นเพราะวิธีการฉีดวัคซีนในหมูสมัยนั้น ใช้หลอดและเข็มฉีดยาเดียวฉีดให้หมูติดต่อกัน 20 ตัว เพื่อความรวดเร็วและประหยัด ทำให้เชื้อปนเปื้อนจาก หัวเข็มติดต่อไปยังหมูตัวอื่นๆ ต่อไป

ในกรณีที่เป็นโรค “อุบัติใหม่” ที่มีความ “ร้ายแรง” (Serious) ทำให้ถึงตาย วิธีการในควบคุม คือต้องทำลาย “แหล่งรังโรค” (Reservoir) ให้หมดโดยเร็วที่สุด ในกรณีนี้คือการฆ่าหมูไปนับล้านตัว ซึ่งทำให้โรคสงบลงโดยรวดเร็ว

ระบบเฝ้าระวังโรคของซีดีซี ประกอบด้วย “ระบบย่อย” (Subsystems) รวม 10 ระบบย่อย ได้แก่ การเฝ้าระวังโรค (Disease surveillance) , การเฝ้าระวังเชื้อโรค , การเฝ้าระวังพาหะนำโรค , การสอบสวนโรค , การสอบสวนการระบาด , การเฝ้าระวังเชื้อโรคดื้อยา , การสอบสวนการตาย เป็นต้น ประเทศไทยได้มีการจัดระบบเฝ้าระวัง และมีการจัดทำ “รายงานโรคและการตายประจำสัปดาห์” (Morbidity and Mortality Weekly Report : MMWR) เช่นเดียวกับในสหรัฐ

กระทรวงสาธารณสุขไทย มีเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรก เพื่อช่วยประมวลผล (processing) และตีพิมพ์รายงานนี้ที่กองระบาดวิทยาเป็นเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ เมื่อป้อนข้อมูลและสั่งงานราว 5 โมงเย็นวันนี้ เครื่องจะประมวลผลและพิมพ์รายงานออกมาราวเที่ยงวันรุ่งขึ้น

นอกจากระบบเฝ้าระวังแล้ว สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ การฝึกอบรม “นักระบาดวิทยา” โดยใช้ระบบเดียวกับของซีดีซี คือ “โครงการฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม” (Field Epidemiology Training Program : FETP) ซึ่งเน้นการฝึกปฏิบัติมากกว่าการเรียนแต่ทางทฤษฎี โครงการนี้มีการพัฒนาเป็นหลักสูตร 2 ปี และให้ไปศึกษาในระดับปริญญาโทในสาขาต่างๆ อีก 1 ปี เช่น หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต, หลักสูตรเวชศาสตร์เขตร้อน, หลักสูตรการบริหารโรงพยาบาล เป็นต้น รวมเวลาเป็น 3 ปี

เมื่อผ่านการสอบ แล้วจะได้วุฒิบัตรเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงระบาดวิทยาของแพทยสภา ประเทศไทยมีการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มากว่า 30 ปี โดยเข้าร่วมเป็นเครือข่ายนักระบาดวิทยาภาคสนามในประเทศต่างๆ มีซีดีซีของสหรัฐเป็นแกนกลาง มีการประชุมทางวิชาการร่วมกันเป็นประจำ ทำให้งานเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาตลอดจนระบบการควบคุมป้องกันโรคในประเทศไทยมีความเข้มแข็งเป็นที่ยอมรับและยกย่องในระดับสากล

สำหรับการระบาดของไวรัสโคโรนาครั้งนี้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการแล้วว่า “โควิด 19” (COVID 19) โดย CO ย่อมาจาก Corona, VI ย่อมาจาก Virus และ D คือ Disease เลข 19 คือปี 2019 ที่โรคนี้อุบัติขึ้น เมื่อ “เหลียวหลัง” กลับไปดูการอุบัติของโรคนี้ในจีน พบว่า ผู้ป่วยรายแรกพบเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2019 ทางการจีนใช้เวลาในการติดตามการแพร่ระบาดของโรค ตรวจหาเชื้อจนชัดเจนว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ตอนปลายเดือน มีการแจ้งอย่างเป็นทางการไปยังองค์การอนามัยโลก

และประกาศเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2019 นับว่าจีนทำได้รวดเร็วพอสมควร ไม่ล่าช้า และไม่ปรากฏว่ามีความพยายามในการปกปิด เพราะเมื่อเกิดโรครายแรกๆ ขึ้น โรคมิได้มีการประกาศตัวว่าเป็น “โรคอุบัติใหม่” แต่ต้องมีการติดตาม แกะรอย ศึกษาลักษณะโรค เชื้อก่อโรค ลักษณะการระบาด ก่อนจะมี “หลักฐาน” พอสมควรจึงจะแจ้งและประกาศอย่างเป็นทางการได้

หากเปรียบเทียบกรณีที่แตกต่างกัน “สุดขั้ว” อย่างโรคเอดส์ เมื่อมีรายงาน “โรคประหลาด” ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา คือ ผู้ป่วย 4 รายที่ปอดบวมจาก “เชื้อโรคฉวยโอกาส” คือ เชื้อโพลีซิสติกคารินิไอ (Polycistic carinii) และผู้ป่วย 4 รายที่เป็นมะเร็งคาโปซี (Kaposi Sarcoma) ซึ่งเป็นมะเร็งหลอดเลือด และกว่าจะพบว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งพบเชื้อก่อโรคก็ใช้เวลาแรมปี และต่อมาเมื่อพบน้ำยาตรวจเชื้อ และมีการนำไปตรวจกับเลือดที่เก็บไว้จากการวิจัยเก่าๆ ก็พบเชื้อนี้จากเลือดผู้ป่วยในแอฟริกาย้อนไปถึง 72 ปี !

สำหรับประเทศไทยต้องชื่นชมกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขที่มีระบบเฝ้าระวังที่ดี มีความ “ฉับไว” และมี “ประสบการณ์สูง” ในการ “รับมือ” กับโรคนี้ เพราะเมื่อจีนรายงานไปยังองค์การอนามัยโลกและประกาศการแพร่ระบาดเมื่อ 31 ธันวาคม 2019 ก็มีการปรึกษาหารือและวางแผนรับมือในช่วงวันหยุด ปีใหม่ และสามารถส่งทีมไป “คัดกรอง” ผู้ป่วยได้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2020

แผนการรับมือก็ทำอย่างฉลาดและรัดกุม กล่าวคือประเทศไทยมีสนามบินจำนวนมาก แต่บุคลากรที่ทำงานด้านการควบคุมป้องกันโรคมีจำกัด ตามนโยบาย “จำกัดกำลังคนภาครัฐ” ที่ดำเนินการมาอย่างยาวนาน การเฝ้าระวังครั้งนี้จึง “มุ่งเป้า” ไปตรวจเฉพาะที่สนามบิน 4 แห่ง ที่มีคนจีนเข้าออกเป็นหลัก คือ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต และมีการประสานงานกับการท่าอากาศยานอย่างถูกต้องให้ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากหวู่ฮั่นเข้ามาช่องทางเดียว เพื่อไม่ให้ต้องกระจายคนออกไป

ในที่สุดก็สามารถ พบ “ผู้ต้องสงสัย” (Suspected case) รายแรก เมื่อวันที่ 8 มกราคม มีการตรวจหาเชื้อและศึกษาสายพันธุกรรมของเชื้อ และประสานขอการ “ยืนยัน” “อย่างไม่เป็นทางการ” กับนักวิชาการจีน ได้ผลเมื่อ 11 มกราคม และประกาศเมื่อ 12 มกราคม นับว่ารวดเร็ว ทันการณ์น่าชื่นชม

*****************************