posttoday

อยากรู้จักพระยาพหลฯ

31 มกราคม 2563

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

***************

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง แต่ก็เช่นเดียวกับที่ผ่านมา ข่าวของท่านเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร แต่ผมเห็นว่า เรายังขาดทั้งงานศึกษาประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรที่เป็นกลุ่มก้อนขบวนการ และขาดทั้งงานศึกษาชีวประวัติของพระยาพหลฯ ในฐานะตัวบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่พลิกโฉมไปโดยคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากบุคคลหลายฝ่าย หลายความคิด หลายภูมิหลัง และมีการแบ่งกลุ่มจัดความสัมพันธ์ ทั้งร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน ต่อสู้กัน แตกแยกหรือสมานเข้าหากันใหม่ จนตายจากกัน

และทั้งหมดนี้ส่งผลทั้งบวกและลบต่อสภาวะการเมืองไทยหลัง 2475 และต่อคุณภาพประชาธิปไตยของไทย อันเป็นจุดมุ่งหมายของการก่อกำเนิดคณะราษฎร

การศึกษาคณะราษฎรในทางการเมืองหลัง 2475 ไม่อาจเน้นแต่สมาชิกระดับนำเพียงไม่กี่คน แต่ถ้าจะตั้งต้นที่สมาชิกระดับนำอย่างพระยาพหลฯ ปรีดี หรือหลวงพิบูลฯ ก็ควรต้องตามไปดูเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่คนทั้งสามมีกับสมาชิกคนอื่นๆ และฐานที่มั่นที่แต่ละคนใช้ประคองตัวเอง การขึ้นสู่อำนาจ และรักษาการอยู่ในอำนาจในการเมืองหลัง 2475 ซึ่งถ้าไร้สมัครพรรคพวกและการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดจากการอ่านเกมการเมืองได้แม่นยำแล้ว ก็ยากที่จะเอาตัวรอดอย่างปลอดภัยโดยตลอดจากสมาชิกคณะราษฎรด้วยกันได้

ในสี่ทหารเสือที่เป็นแกนนำวันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายนนั้น ในที่สุดจะมีแต่พระยาพหลฯ เท่านั้น ที่อยู่รอดพ้นภัยจากการเมืองจนถึงแก่กรรมในฐานะเชษฐบุรุษ

เรื่องหนึ่งที่ผมสนใจและพยายามติดตามหาคือ ทัศนะอันแท้จริงของพระยาพหลฯ ต่อหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งขึ้นมาเป็นผู้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากท่าน เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นเบาะแสสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจพลวัตภายในคณะราษฏร ผมค้นเจอแต่เฉพาะทัศนะของปรีดีต่อจอมพล ป. ดังเคยนำมาเขียนบทความไปก่อนหน้านี้แล้ว

เมื่อคิดถึงพระยาพหลฯ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือผู้เป็นแกนนำวันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นมาในบริบทนี้ ก็ทำให้ผมนึกถึงเอกสารสำคัญฉบับหนึ่ง นั่นคือ “คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ” ซึ่งบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงสมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ หากใครไม่เคยอ่านก็น่าหามาอ่านอยู่นะครับ เพราะกรมโฆษณาการสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลฯ ซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์ขึ้นในเดือนธันวาคม 2482 อุตส่าห์ให้คำรับรองอย่างแข็งขันว่า

“คำพิพากษานี้ได้เรียบเรียงขึ้นอย่างละเอียด แสดงบรรยายถึงเหตุการณ์ทางการเมืองภายใน ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นต้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ คำพิพากษานี้จึ่งเป็นเอกสารที่มีหลักฐานยิ่ง ข้อเท็จจริงที่สำคัญต่างๆ ในทางการเมืองของประเทศไทยในระยะ 7 ปีเศษมานี้ ได้มีกล่าวไว้ในคำพิพากษาคดีกบฏนี้ด้วยความยุตติธรรม สมควรที่ประชาชาวไทยในระบอบรัฐธรรมนูญจักพึงทราบไว้”

ข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับสี่ทหารเสือที่เป็นแกนนำการก่อการในวันที่ 24 มิถุนายน ในคำพิพากษาศาลพิเศษ “ด้วยความยุตติธรรม” นี้ เล่าถึงบทบาทของพระยาฤทธิอัคเนย์ด้วยข้อเท็จจริงที่แปลกออกไป นั่นคือลดบทบาทความสำคัญของพระยาฤทธิอัคเนย์ว่า “เป็นผู้ที่ใจคอไม่หนักแน่นได้เข้าประชุมด้วยครั้งเดียวภายหลังหลีกเลี่ยงไม่ไปประชุม” และคำพิพากษามาเขียนขับเน้นบทบาทของหลวงพิบูลสงครามกับพระยาทรงสุรเดช ที่มีแนวทางในการยึดอำนาจแตกต่างกัน และความขัดแย้งระหว่างคนทั้งสองที่ตามมา โดยคำพิพากษาชี้ว่าเกิดจากพระยาทรงสุรเดช “จะคิดแย่งอำนาจจากพระยาพหลพลพยุหเสนา” และต้องการ “จะคุมอำนาจทหารไว้ฝ่ายเดียว บั่นทอนอำนาจการปกครองของทหาร ซึ่งหลวงพิบูลสงครามและพวกที่ได้ควบคุมอยู่นั้นให้หมดสิ้นไป”

ถ้ามีการศึกษาประวัติศาสตร์คณะราษฎร หรือชีวประวัติของพระยาพหลฯ ผมคิดว่าก็น่ารู้เหมือนกันว่าพระยาพหลฯ อยู่ตรงไหนในท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสมาชิกคณะราษฎรที่ปะทุขึ้นมาตามที่คำพิพากษานำมาเล่าไว้เป็นฉากๆ นี้

และเมื่อพระยาพหลฯ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนฯ แล้ว พระพหลฯ คิดอย่างไรกับพระยาทรงสุรเดชผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนการทหารจากเยอรมันที่เก่งวิชาการทหารมากที่สุด เรารู้อย่างผู้ทราบผลในภายหลังว่า การตัดสินใจทางการเมือง หรือพูดให้ถูกคือการตัดสินใจที่จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองของพระยาทรงสุรเดชหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีในทางการเมือง และก่อให้เกิดผลร้ายแก่ท่านตามมาอีกมาก

แต่ข้อที่ผมอยากรู้ก็คือ การตัดสินใจปลีกตัวออกไปเช่นนั้นของพระยาทรงสุรเดชเป็นเพราะเห็นแก่พระยาพหลฯ เป็นปัจจัยสำคัญอยู่ด้วยหรือไม่

ท่านที่รู้ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ละเอียดหน่อย จะทราบว่าแม้พระยาทรงสุรเดชจะปลีกตัวออกไป แต่ความนิยมและยำเกรงในตัวท่านในหมู่สมาชิกคณะราษฎรและคนอื่นๆ ในวงการเมืองยังมีอยู่สูง ดังการโหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2480 หลังจากพระยาพหลฯ ลาออกเพราะรัฐบาลถูกสมาชิกสภาซักฟอกความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการนำที่ดินของพระคลังข้างที่มาขายให้กันในราคาถูก การโหวตหาตัวนายกฯ คราวนั้น พระยาทรงสุรเดชได้รับคะแนนมากกว่าใครทั้งหมดรวมทั้งชนะพระยาพหลฯ ด้วย แต่ความที่คนที่มีอำนาจคุมสภาจริงๆ คือมีอิทธิพลเหนือสมาชิกประเภทที่ 2 ไม่ใช่พระยาทรงสุรเดช ในที่สุด ผลการโหวตก็เลยกลายเป็นเพียงทดลองโหวต ไม่ใช่โหวตจริง เมื่อโหวต “จริง” พระยาพหลฯ ก็ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง และเป็นครั้งสุดท้าย

ถ้า “ประชาชาวไทย” เชื่อตามคำพิพากษาศาลพิเศษ ดังที่มีนักประวัติศาสตร์ที่ไม่วิพากษ์เอกสารก่อนจะนำเอกสารมาใช้ อ้างข้อมูลจากคำพิพากษาฉบับนี้กัน บทบาทของพระยาฤทธิอัคเนย์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คงจะแก้คืนมาไม่ได้ เพราะไม่มีใครใส่ใจแก้ต่างให้ และตัวท่านก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ปีนังในขณะที่คำพิพากษาฉบับนี้เผยแพร่ออกมา อย่างไรก็ดี ท่านได้ผู้แก้ต่างให้เป็นสมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญ ซึ่งบุคคลนี้อาจตัดสินใจทางการเมืองผิดพลาดขาดเฉลียวมาหลายอย่าง แต่ตัดสินใจถูกต้องที่สุดอย่างหนึ่ง คือเป็น “ผู้ประศาสน์การ” มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ในคำไว้อาลัยหลวงสังวรยุทธกิจ สมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ ผู้ต้องภัยการเมืองจากจอมพลป. ในเวลาต่อมา ปรีดี พนมยงค์เขียนให้ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งจากฝั่งของท่านที่เป็นผู้นำสายพลเรือนเกี่ยวกับการวางแผนยึดอำนาจและบทบาทของพระยาฤทธิอัคเนย์ในเรื่องนี้ แตกต่างจากที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลพิเศษ

ปรีดีเล่าว่าพระยาทรงสุรเดชต้องการวางแผนยึดอำนาจในขณะที่รัชกาลที่ 7 ประทับในกรุงเทพฯ แต่พระยาฤทธิอัคเนย์เป็นผู้คัดค้านแผนการนี้ และเสนอในทางตรงข้ามว่าควรลงมือขณะที่รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่นอกพระนครจะดีกว่า ปรีดีเห็นคล้อยตามมาทางข้อเสนอของพระยาฤทธิอัคเนย์ และเมื่อแกนนำฝ่ายทหารความเห็นไม่ลงรอยกัน ปรีดีเสนอออกมาอีกแผนหนึ่งคือให้จับเสนาบดีทั้งคณะขณะที่เดินทางโดยรถไฟไปประชุมเสนาบดีที่หัวหิน

ระหว่างคำพิพากษาของศาลพิเศษ กับความทรงจำที่ถูกบันทึกอยู่ในคำไว้อาลัย อย่างไหนจะมีน้ำหนักมากกว่ากันสำหรับตัดสินบทบาทของพระยาฤทธิอัคเนย์ แต่คนไทยนิยมฟังตัวบุคคลมากกว่าคำพิพากษากระมัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เคารพนับถือเป็นครูบาอาจารย์ แต่ไม่แน่ ถ้ามีครูบาอาจารย์ทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับเคารพนับถือ ศึกษาชีวประวัติของพระยาพหลฯ ออกมาได้โดยละเอียด เราก็อาจได้ภาพความจริงที่ต่างออกไป

จนกว่าจะมีงานชีวประวัติของพระยาพหลฯ และประวัติศาสตร์คณะราษฎรอย่างเป็นคณะออกมา ผมขอใช้มติของคนทำช้อง ในบทละครหน้าพระที่นั่งเรื่อง ราโชมอน ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สรุปไปพลางก่อน

“แล้วตาของแกมันวิเศษกว่าตาของคนอื่นเขาอีกตั้งสามคนอย่างไร ข้าบอกแล้วจำไม่ได้รึ ว่าคนน่ะเขาเห็นในสิ่งที่เขาอยากเห็น และพูดสิ่งที่เขาอยากได้ยิน …แต่อย่าเป็นทุกข์เป็นร้อนไปเลยแกเอ๋ย ข้าเชื่อเรื่องที่แกเล่ามากกว่าเรื่องของคนอื่น ไม่ใช่เพราะแกวิเศษกว่าคนอื่นหรอก แต่เรื่องที่แกเล่านั้นมันมีกลิ่นทะแม่งๆ เหมือนกับความจริงมากที่สุด เฮ้อ ! คิดดูมันก็น่าทุเรศเหมือนกันนะ คนเรานี่ชอบเห็นว่าตัวเองและคนอื่นเป็นใหญ่เป็นโต เป็นวีรบุรุษบ้างละ เป็นขวัญใจของชาติบ้างละ เป็นขุนโจรบ้างละ เป็นมหาโจรบ้างละ เป็นอะไรก็ได้ขอให้มันเป็นใหญ่เข้าไว้ก็แล้วกัน แต่เอาจริงเข้าก็เปล่า คนจริงๆ มันไม่ใหญ่ตรงไหนสักนิดนึง เพราะคนจริงมันเป็นคนตัวเล็กๆ เป็นคนอ่อนแอ เป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นคนขี้ขลาด แล้วก็ไม่เอาจริงกับใคร คบไม่ได้…”