posttoday

ปัญหาสิ่งแวดล้อม: มนุษย์กับธรรมชาติ

27 มกราคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

**********************************

ในการศึกษาสาเหตุของวิกฤตสิ่งแวดล้อมในทางทฤษฎีการเมือง เราจะเริ่มต้นจากแนวคิดหรือปรัชญาสมัยใหม่ที่ว่าด้วย “มนุษย์กับธรรมชาติ” ซึ่งจะแตกต่างจากแนวคิดหรือปรัชญาเกี่ยวกับ “มนุษย์และธรรมชาติ” ของยุคโบราณ ตัวอย่างของแนวคิดปรัชญาสมัยใหม่ที่ว่าด้วย “มนุษย์กับธรรมชาติ” หรือมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมปรากฏในข้อเขียน Mechthild Oechsle เรื่อง ธรรมชาตินิยมเชิงนิเวศน์ (Der ökologische Naturalismus)

ปัญหาสิ่งแวดล้อม: มนุษย์กับธรรมชาติ Mechthild Oechsle

Oeshsle ได้กล่าวถึงปรัชญามนุษย์กับธรรมชาติในแนวสมัยใหม่ไว้ว่า มนุษย์นั้นเป็นทั้งส่วนหนึ่งของธรรมชาติและอยู่เหนือธรรมชาติ (Ubernatur) และนอกจากจะเป็น “ส่วนหนึ่ง” และ “เหนือ” ธรรมชาติแล้ว ยังมีความหมายว่า “อยู่นอก” (outside) ธรรมชาติด้วย นั่นคือ มนุษย์ไม่ได้มี “ที่เฉพาะแน่นอนตายตัว” (fixed place) ในการดำรงชีวิต อาจจะกล่าวได้ว่า มนุษย์สามารถจะไปอยู่ได้ในทุกหนทุกแห่งบนโลกใบนี้ และจากเงื่อนไขดังกล่าวนี้เองที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆเกือบทั้งหมด และรวมทั้งพืชด้วย เพราะสัตว์และพืชจะอยู่รอดภายใต้เขตทางชีวะ ภูมิประเทศและบรรยากาศที่จำกัด  เพราะถ้าสัตว์และพืชต้องไปอยู่ในที่ๆมีสภาพแตกต่างไปก็ถือว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มั่นคงปลอดภัย (insecure environment) ก็อาจจะตายหรือไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ แล้วมนุษย์หละ ? สามารถอยู่รอดภายใต้สภาพที่แปลกแยกจากถิ่นฐานที่เคยอยู่ได้อย่างไร ?

คำตอบคือ มนุษย์สร้างสิ่งแวดล้อมที่แปลกแยกให้กลายเป็น“ธรรมชาติที่สอง” (a second nature) ของตัวเองขึ้นมา ขณะเดียวกัน ถ้าจะเปรียบเทียบกับสัตว์ จะพบว่า ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต สัตว์จะเข้าสู่กระบวนการวิวัฒนาการเพื่อจะเอาชีวิตรอด ส่วนมนุษย์จะสร้าง “ธรรมชาติที่สอง” ซึงเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของความต้องการจำเป็นของมนุษย์ในการต่อสู้กับสภาพธรรมชาติที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต ซึ่งการแปลงสร้าง “ธรรมชาติที่สอง” นี้คือ การแก้ปัญหาของมนุษย์ที่ดูจะย้อนแย้ง ที่ว่าย้อนแย้งก็คือ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ต่อต้านหรือพยายามจะ “เอาชนะหรืออยู่เหนือ” ธรรมชาติด้วย แต่ก็ยัง “อยู่ในและเป็นส่วนหนึ่ง” ของธรรมชาติ

การแก้ไขหรือพยายามจัดการกับปัญหาที่มีความย้อนแย้งนี้ ทำให้เกิดมิติที่แปลกใหม่โดยรวม อันทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์อย่างยิ่ง จากการที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์สร้างและใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยี และจากการประดิษฐ์สร้างและใช้เทคโนโลยีของมนุษย์ทำให้เกิดผลพวงตามมา นั่นคือ จากการที่มนุษย์บริหารจัดการชีวิตของตนโดยสร้าง “ธรรมชาติที่สอง” ผ่านการประดิษฐ์สร้างเครื่องมือและเทคโนโลยี ทำให้กล่าวได้ว่า มนุษย์ไม่มี “ศัตรูโดยธรรมชาติ” จริงๆ อย่างที่สัตว์เกือบทุกชนิดมี แม้ว่า ในบางครั้ง มนุษย์จะมีบางส่วนของธรรมชาติที่เป็นปฏิปักษ์ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการดำรงชีวิตของตนก็ตาม แต่ในที่สุด การพยายามเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์ก็ดูจะลงเอยด้วยการทำให้ตัวมนุษย์เอง “อยู่นอก” ธรรมชาติอย่างสมบูรณ์

จากมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์กับธรรมชาติ” ที่กล่าวมานี้ ที่ว่า “มนุษย์แม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ก็อยู่เหนือและอยู่นอกธรรมชาติ นั่นคือ อาศัยอยู่ในธรรมชาติ แต่ก็กระทำต่อธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดจนเกิดการ “สร้างธรรมชาติที่สอง” ขึ้นผ่านการประดิษฐ์สร้างและใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีจนนำไปสู่การอยู่เหนือธรรมชาติ (Ubernatur)” ถือเป็นโลกทัศน์ในแบบ “anthropocentric” อันสรุปได้สั้นๆว่า หมายถึงการเห็น “มนุษย์เป็นใหญ่เหนือสรรพสิ่งทั้งหลาย” ซึ่งจัดเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่

เมื่อกล่าวถึงการ “อยู่เหนือธรรมชาติ” (Ubernatur) ซึ่งเกิดจากการที่มนุษย์กระทำต่อธรรมชาติจนเกิดธรรมชาติที่สอง ขณะเดียวกัน มนุษย์ไม่ได้กระทำต่อธรรมชาติเท่านั้น เพราะในกระบวนการที่มนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ มนุษย์ก็กระทำต่อตัวเองและธรรมชาติของตัวเองด้วย อันทำให้มนุษย์สร้าง “ธรรมชาติที่สอง” หรืออาจจะที่สาม ที่สี่...จนอนันตะ ! (นั่นคือมนุษย์ได้สร้างธรรมชาติประดิษฐ์ขึ้นมา และเมื่อธรรมชาติที่สองเป็นธรรมชาติประดิษฐ์ จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องนับต่อไปอีกว่าจะมีอีกกี่ธรรมชาติ/ผู้เขียน)อันส่งผลให้มนุษย์อยู่ในสภาวะที่ “อยู่เหนือมนุษย์หรือธรรมชาติของมนุษย์” เองด้วย

ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ อาจจะทำให้หลายคนที่เคยอ่านงานของ Nietzsche นึกถึงแนวความคิดอันโด่งดังของเขาเรื่อง Übermensch  หรือ “Overman  หรือ Superman” ที่พบได้ในหนังสือชื่อ Thus Spoke Zarathustra (1883) โดย Übermensch คือการเป็นมนุษย์ที่อยู่เหนือมนุษย์ อันเป็นเป้าหมายหนึ่งของมนุษย์ ที่มนุษย์ได้กำหนดให้ตัวเอง (และก็จะกำหนดเป้าหมายใหม่ๆไปเรื่อยๆๆๆ จนไม่รู้ว่าตกลงแล้ว มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไรกันแน่ ?/ผู้เขียน) ที่แต่เดิมเป้าหมายของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพระผู้เป็นเจ้าหรือถูกกำหนดโดยธรรมชาติหรืออะไรก็ตามที่อยู่เหนือมนุษย์ และมันมีเป้าหมายสูงสุดที่แท้จริงที่เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องค้นหามากกว่าที่จะกำหนดหรือสร้างมันขึ้นมาเอาเองเรื่อยๆไป

ปัญหาสิ่งแวดล้อม: มนุษย์กับธรรมชาติ Francis Fukuyama

ขณะเดียวกัน จากที่กล่าวไปข้างต้น หลายคนก็อาจนึกเทียบเคียงกับแนวความคิดของนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้โด่งดังจากข้อเขียนเรื่อง The End of History and The Last Man (1992) นั่นคือ Francis Fukuyama  ด้วยเขาได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ Our Posthuman Future: Consequences of the Biotechnology Revolution (2002) ซึ่งหนังสือเล่มนี้ของ Fukuyama ได้กล่าวถึงภัยคุกคามที่มีต่อเสรีประชาธิปไตยจากการใช้ชีวเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงความเป็นมนุษย์ อันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่หลุดออกจากการควบคุมของมนุษย์ ซึ่ง Fukuyama เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางที่วางรากฐานกฎกติการะหว่างประเทศในการจัดระเบียบควบคุมชีวเทคโนโลยีให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ว่า หนังสือเล่มนี้ดูเผินๆ อาจจะถูกตีความไปได้ว่า Fukuyaman มีทรรศนะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ “anthropocentrism” แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่า ก็ยังเป็น “anthropocentrism” อยู่ดีนั่นเอง แต่เป็น “anthropocentrism” ที่กลับไปหาการให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่อยู่สูงกว่าและแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ความเป็นมนุษย์อันสมบูรณ์นี้คือ เป้าหมายของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ที่ตระหนักรู้ถึงขีดจำกัดของตัวเอง โดยไม่ได้มีเป้าหมายที่จะต้องพิชิตและอยู่เหนือธรรมชาติ แต่อยู่กับธรรมชาติ เป็นการกลับไปหาตัวตนของความเป็นมนุษย์ในแบบเพลโตและอริสโตเติลที่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมและจริยธรรมในฐานะที่เป็นเป้าหมายสูงสุดและธรรมชาติอันสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ เป็นแนวคิดหรือปรัชญาเกี่ยวกับ “มนุษย์และธรรมชาติ” ในแบบกรีกโบราณ