posttoday

สงครามตัวแทนก่อการร้าย

23 มกราคม 2563

ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

**********************************

หลังจากสหรัฐโจมตีสังหาร พลตรีสุไลมานี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอิหร่าน ขณะอยู่ในอิรัก คำถามที่เกิดขึ้นในไทยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะกระทบไทยหรือไม่อย่างไร รัฐบาลไทยต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์อย่างไรบ้าง หากถูกกดดัน รัฐบาลไทยจะมีนโยบายอย่างไร เพราะไทยมีผลประโยชน์กับทั้งสหรัฐและอิหร่าน

สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงต้องเตรียมรับมือคือ การก่อการร้ายโดยตัวแทน หรือโดยสายลับของฝ่ายอิหร่านที่จะกระทำต่อผลประโชน์ของสหรัฐในไทย ซึ่งเป็นสงครามตัวแทนที่เขาเล่นกันอยู่ทั่วโลกขณะนี้ เพราะสามารถปฏิเสธได้ว่าอิหร่านไม่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องขององค์กรหรือกลุ่มคนที่ไม่พอใจสหรัฐเป็นผู้กระทำ

ผลประโยชน์ของสหรัฐในไทยมีอยู่กว้างขวาง เช่นเดียวกับในประเทศอื่น ตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐ มีทั้งภาครัฐ เช่น สถานทูต สถานกงสุล สำนักข่าวสารอเมริกันหรือยูซิส สำนักงานจัสแม็ก สำนักงานการค้าฯลฯ และภาคเอกชนอเมริกัน เช่น ธนาคาร บริษัท สายการบิน โรงแรม ฯลฯ รวมทั้งผลประโยชน์ของอิสราเอลและซาอุดิอาราเบีย ในไทยด้วย

สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นห่วงก็คือ การใช้ "กลุ่มก่อการร้าย" เป็น "ตัวแทน" มาปฏิบัติการโจมตีผลประโยชน์ของอเมริกันและพันธมิตรใกล้ชิดในไทย ไทยมีประสบการณ์จากการก่อการร้ายต่างชาติหลายครั้ง อาทิ

ครั้งที่ 1 เมื่อ 1 ธันวาคม 2515 ขบวนการก่อการร้ายปาเลสไตน์ กลุ่ม "แบล็ค เช็พเทมเบอร์" เข้ายึดสถานทูตอิสราเอล จับนักการทูตยิวเป็นตัวประกัน ทางการไทยได้เข้าเจรจาจนจบลงด้วยดี ที่น่าสนใจคือ กลุ่มก่อการร้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวเชลยศึกอาหรับ 36 คนและสมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่น 1 คน ที่ตำรวจญี่ปุ่นจับไว้ นี่แสดงให้เห็นว่า เรื่องทั้งหมดไม่เกี่ยวกับประเทศไทย แต่มาใช้เมืองไทยเป็นสถานที่ปฏิบัติการ ยึดและจับกุมทูตอิสราเอล ใช้ไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศไปเจรจาต่อรองกับรัฐบาลอิสราเอล และญี่ปุ่นให้ปล่อยตัวผู้ก่อการร้ายอาหรับ

โชคดีที่พวกผู้ก่อการร้ายไม่รอบคอบ มาทำในวันที่เป็นวันสำคัญของคนไทยทั่วประเทศ การที่รัฐบาลไทยสามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้ได้รับการยกย่องจากประเทศต่างๆ แต่มีข่าวในเวลาต่อมาว่าผู้ก่อการร้ายเคยพูดระหว่างกันว่ามาก่อการในไทยดีกว่า หากผิดพลาดก็ไม่ถูกฆ่าตาย รัฐบาลไทยส่งตัวกลับตะวันออกกลางได้

ครั้งที่ 2 วันที่ 4 มกราคม 2532 นักการทูตชาอุดิอาราเบียประจำไทย คนหนึ่งถูกลอบสังหารโดยผู้ก่อการร้ายขบวนการ"นักรบแห่งความยุติธรรม" ที่อิหร่านสนับสนุนอยู่ เพื่อแก้แค้นจากการที่ผู้แสวงบุญชาวอิหร่านหลายคนเสียชีวิตระหว่างการแสวงบุญที่เมกกะ อันเกิดจากการจลาจล แทนที่จะไปแก้แค้นกันที่อื่น กลับมาเลือกปฏิบัติการแก้แค้นในไทย

ครั้งที่ 3 วันที่ 11 มีนาคม 2537 ผู้ก่อการร้ายฮิซบอลเลาะห์ พยายามวางระเบิดทรัคบอมบ์ โดยใช้วัตถุระเบิดอัดใส่แท็งค์น้ำขนาดใหญ่วางไว้บนรถบรรทุก ขับมุ่งหน้าไปยังสถานทูตอิสราเอลเพื่อจุดระเบิด แต่บังเอิญไปชนกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเสียก่อน ผู้ก่อการรายหนีไปได้ ทำให้สถานทูตรอดพ้นจากการถูกระเบิดไปได้ มิฉะนั้น ความรุนแรงของระเบิดอาจทำให้อาคารสถานที่แถวราชประสงค์บางส่วนราบไป เพราะรัศมีทำลายของระเบิดจะคลุมพื้นที่ในรัศมี 100 เมตร อีก 7 ปีต่อมา ผู้ก่อการร้ายถูกจับในฟิลิปปินส์โดยยอมรับสารภาพว่าเป็นคนทำเอง

ครั้งที่ 4 ปลายเดือนธันวาคม 2554-มกราคม 2555 เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ก่อการร้ายชาวเลบานอน คนหนึ่งพร้อมพวกที่เช่าตึกแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นแหล่งสะสมแอมโมเนียมไนเตรท จำนวน 2 ตัน สารนี้ใช้เป็นส่วนปะกอบในการทำระเบิด นายคนนี้เดินทางเข้าออกประทศไทยรวม 11 ครั้งภายใน 2 ปี หากสารจำนวนนี้ถูกนำไปก่อการร้ายต่อเป้าหมายในไทย จะก่อให้เกิดความเสียหายมาก มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ทำไมผู้ต้องหาสะสมสารดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เป็นไปได้หรือไม่ว่า จะมีการส่งสารเคมีบางส่วนทางเรือไปให้ผู้ก่อการร้ายที่ซ่อนตัวอยู่ในประทศเพื่อนบ้านเพื่อดำเนินการ เนื่องจากประเทศเหล่านั้นอาจเข้มงวดในการซื้อขายสารเคมีดังกล่าว

ครั้งที่ 5 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้ก่อการร้ายชาวหร่าน 4-5 คนจาก "กุดส์ ฟอร์ช"(ซึ่งพลตรี สุไลมานี่ ผบ.สูงสุดอิหร่าน ที่เพิ่งถูกสหรัฐสังหารที่อิรัก เป็นผู้บัญชาการกองกำลังนี้ซึ่งมีภารกิจในการปฏิบัติการก่อการร้ายในต่างประเทศ) จำนวน5คนมาเช่าบ้านที่สุขุมวิทย์ ชอย 71เป็น "เซฟเฮาส์" วางแผนสังหารทูตอิสราเอล โดยเป็นระเบิดแบบใหม่ที่จะใช้แปะติดกับรถยนต์ของทูต แต่ไม่สำเร็จ ในที่สุด คนกลุ่มนี้ถูตำรวจจับกุมโดยผู้ก่อการร้ายบางคนได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิดที่ตนทำเอง บางส่วนถูกจับขณะหลบหนี

ครั้งที่ 6 ผู้ก่อการร้ายอาหรับเดินทางมายังประทศไทย โดยมีแผนวางกระเป๋าผู้โดยสารบนสายพานลำเลียง เพื่อให้ไประเบิดบนเครื่องบินอิสราเอล หลังจากบินออกจากสนามบินดอนเมืองไปแล้ว แต่การปฏิบัติการครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเกิดอุปสรรคบางประการทำให้ไม่สามารถวางกระเป๋าระเบิดได้ ผู้โดยสารโดยสายการบินนั้นจึงรอดตัวไป

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีระเบิดที่ศาลพระพรหมซึ่งไม่เกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายจากตะวันออกกลาง

กรณีตัวอย่างที่ยกมาเขียนนั้น ทั้งหมดเป็นการกระทำโดย "ตัวแทน" คือ โดยสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายที่มุ่งกระทำต่อผลประโยชน์ของประเทศคู่ขัดแย้งในประเทศ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากประเทศคู่กรณีแล้ว ก็คือประเทศไทยนั่นเอง ทั้งที่ไทยไม่ใช่คู่กรณีด้วย

การที่ผู้ก่อการร้ายนิยมใช้ดินแดนไทยเป็นพื้นที่ปฏิบัติการกระทำต่อศัตรูของตน เพราะไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว การเดินทางเข้าออกประเทศมีความสะดวกสบาย กทม.เป็นเมืองที่มีพลเมืองหนาแน่น มีคนต่างชาติมากหน้าหลายตาเข้ามาเที่ยวและทำมาหากิน ไม่มีใครสนใจใคร มีการผ่อนปรนในการบังคับใช้กฏหมาย หากผิดก็ใช้เงินแก้ปัญหาได้ ดังนั้น พวกนี้จึงนิยมมาใช้ไทยเป็นพื้นที่ปฏิบัติการแห่งหนึ่งของโลก

ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้เป็นตัวแทนได้รับการสนับสนุนจากประเทศคู่ขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่ประเทศคู่กรณีปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ปัจจุบัน ประเทศคู่ขัดแย้งจึงนิยมใช้ "สงครามตัวแทน"

กรณีตัวอย่างทั้งหมดข้างต้น ต้องการสรุปว่า แม้ไทยไม่ได้เป็นคู่กรณีของคู่ขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่คู่ขัดแย้งอาจใช้ "ตัวแทน" มาทำลายผลประโยชน์ของฝ่ายตรงข้ามในไทยได้ดังที่เคยปราฏมาแล้ว ฝ่ายความมั่นคงต้องระวังการก่อการร้ายซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศนั้นมาทำการแทนในประเทศไทย