posttoday

ปรัชญาเศรษฐศาสตร์โบราณ

20 มกราคม 2563

ไชยันต์ ไชยพร

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

**********************************

คำว่า เศรษฐศาสตร์ หรือ economy มีรากศัพท์มาจากคำกรีกโบราณ oeconomicus และนักคิดกรีกโบราณที่ชื่อ เซโนฟอน (Xenophon) ได้อธิบายว่าหมายถึง “ศาสตร์หรือศิลปะแห่งการจัดการครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายในครัวเรือน”

เพราะคำว่า oikos ที่อยู่ในคำว่า oeconomicus หมายถึง “บ้าน” “อสังหาริมทรัพย์” หรือ “ทรัพย์สิน” (house or property) และต่อมาในตอนปลายศตวรรษที่ห้าและศตวรรษที่สี่ก่อนคริสตกาล oikos เริ่มที่จะหมายรวมถึง “คน” ด้วย นั่นคือ หมายถึง “ครอบครัว”

เป้าหมายของการจัดการครัวเรือนก็คือการจัดการทรัพย์สินที่ดี นั่นคือ สามารถจัดการทรัพย์สินครัวเรือนของตนได้ดี แต่ทรัพย์สินที่ว่านี้คืออะไร

เซโนฟอน อธิบายว่า ทรัพย์สินคือ “อะไรก็ตามที่คนๆหนึ่ง มี ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แม้ในเมืองอื่นก็ตาม ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินของเขา” ขณะเดียวกัน เมื่อทรัพย์สินถูกนิยามไว้อย่างกว้างๆ ว่าคือ “อะไรก็ตามที่คนๆหนึ่ง มี” ก็ดูจะก่อให้เกิดข้อสงสัยอย่างหนึ่งตามมาว่า นิยามนี้ถูกต้องเหมาะสมเพียงใด กล่าวคือ จริงหรือที่อะไรก็ตามที่คนๆ หนึ่ง มี ควรถูกถือว่าเป็นทรัพย์สินของคนๆ นั้นทั้งหมด

ปรัชญาเศรษฐศาสตร์โบราณ

จากนั้น เซโนฟอน (Xenophon) ได้ตั้งคำถามที่ดูกวนๆว่า ศัตรูที่เรา ‘มี’ ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินของเราด้วยกระมัง ! ถ้าเราลองยึดนิยามของ ทรัพย์สิน ที่ปรากฏข้างต้นต่อกรณี การมี ศัตรู ของเรา มันย่อมนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ศัตรูที่เรามีอยู่ก็ต้องถือเป็นทรัพย์สินของเราด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้ว ถ้าเชื่อมโยงกับ “ศาสตร์แห่งการจัดการทรัพย์สิน” และ “ผู้รู้ในศาสตร์” ที่สามารถใช้ความรู้ของเขารับจ้างดูแลทรัพย์สินของคนอื่นให้พอกพูนมากขึ้น มันก็จะได้ความว่า “เขาผู้นั้นจะได้รับค่าจ้าง ในการเพิ่มจำนวน ศัตรู ให้กับคนๆ หนึ่งที่จ้างเขามาดูแล oikos ของเขาคนนั้น” ซึ่งฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่น่าประหลาดแกมขบขันอย่างยิ่ง เพราะโดยปรกติ ศัตรูของคนๆ หนึ่งย่อมให้โทษมากกว่าให้คุณแก่เขาคนนั้น

แต่เซโนฟอนกล่าวว่า ปัญหานี้จะหมดไป ถ้าเราเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปเสียหน่อยว่า “ไม่ใช่ว่าอะไรที่คนๆ หนึ่ง มี จะเป็น ทรัพย์ สำหรับเขาเสียทุกอย่างเสมอไป” แต่อะไรจะเป็นทรัพย์ได้ จะต้องให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ครอบครอง ส่วน “อะไรที่ให้ผลร้ายเป็นอันตรายต่อผู้ครอบครอง ย่อมไม่อาจถือว่าเป็น ทรัพย์” เช่น “ชายคนหนึ่งซื้อม้ามาตัวหนึ่ง แต่ขี่ไม่เป็น ตกม้าบาดเจ็บอยู่ตลอดเวลาจากการพยายามที่จะขี่มัน ดังนั้น ม้าย่อมไม่ใช่โภคทรัพย์สำหรับเขา” เพราะอะไรก็ตามที่เป็นโภคทรัพย์จะต้องเป็นสิ่งที่ดีที่ให้ผลประโยชน์แก่ผู้ครอบครอง ไม่ใช่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อนำมาปรับใช้ในกรณีที่ดิน ซึ่งเป็นสิ่งที่โดยปรกติคนทั่วไปทุกหนแห่งย่อมเข้าใจและยืนยันอย่างแน่นอนมั่นใจว่าเป็นทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้าเรามองทรัพย์สินตามนัยความหมายนิยามที่ของเซโนฟอน จนถึงขณะนี้ จะพบว่า “ที่ดินย่อมไม่ใช่โภคทรัพย์ สำหรับคนที่ไม่สามารถทำให้มันเกิดผล ที่ดินย่อมไม่ใช่โภคทรัพย์ ถ้ามันทำให้เราอดอยาก หรือกลับให้ผลเสียแก่เรา แทนที่จะให้ผลดีเรา” เช่นเดียวกัน “ถ้าใครมีแกะ แต่ไม่รู้วิธีเลี้ยงแกะ แกะก็ไม่เป็นโภคทรัพย์ สำหรับคนๆ นั้น”ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า “อะไรที่คนๆ หนึ่งมี และให้ผลให้คุณ คือ โภคทรัพย์ ส่วนอะไรที่คนๆ หนึ่ง มี แต่ให้ผลเสียเป็นอันตราย ไม่ใช่โภคทรัพย์”

เซโนฟอนชี้ว่า คนเรามีความแตกต่างกัน มีความรู้ความสามารถต่างกัน และมีอะไรๆ อีกหลายๆ อย่างที่ต่างกันมากมาย และด้วยเหตุนี้เองที่ “สิ่งหนึ่งๆ จึงสามารถเป็นและไม่เป็นโภคทรัพย์ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถที่จะมีความรู้ความเข้าใจที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้หรือไม่” ตัวอย่างเช่น ในกรณีของเครื่องดนตรี เช่น ฟลูท (flute) “คนที่เป่าเป็น ฟลูทก็ย่อมถือเป็นโภคทรัพย์สำหรับเขา” และแน่นอนว่า คนที่ไม่มีความสามารถในการเป่าฟลูทเลย ฟลูทก็ย่อมไม่เป็นประโยชน์สำหรับเขา และจึงไม่เป็นโภคทรัพย์สำหรับเขา

กระนั้น ปัญหาข้อสงสัยประการหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ในขณะที่คนๆ หนึ่งยังเป่าฟลูท ไม่เป็น แต่ซื้อมันมาเพื่อหัดเป่า ซึ่งในเบื้องต้น ย่อมจะยังไม่ทราบว่า ในที่สุดแล้ว เขาจะสามารถเป่ามันได้หรือเปล่า ในกรณีนี้ ฟลูท จะถือว่าเป็นโภคทรัพย์สำหรับเขาคนนั้นหรือไม่ ถ้าเราถือว่าสิ่งหนึ่งไม่อาจเป็นโภคทรัพย์ได้ ถ้าผู้ครอบครองมันยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ เขาย่อมไม่สมควรมีสิ่งนั้น เพราะมันไม่อาจถือว่าเป็นโภคทรัพย์สำหรับเขาได้

แต่ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ซื้อหามาครอบครองทดลองฝึกหัด เขาก็ไม่มีวันที่จะใช้มันเป็น และ ฟลูท ก็ไม่มีวันที่จะเป็นโภคทรัพย์ได้เลย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ในบางกรณี เราไม่มีทางที่จะรู้ว่า สิ่งๆ หนึ่งจะเป็นโภคทรัพย์หรือไม่ จนกว่าจะซื้อหามันมาครอบครองเสียก่อน เช่นเดียวกับ ความรู้ต่างๆ มันจะเป็นโภคทรัพย์หรือไม่ ก็ต่อเมื่อเรารู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ แต่เราจะรู้ว่าเราสามารถใช้มันได้หรือไม่ ก็จนกว่าเราจะต้องเข้าไปเรียนรู้เสียก่อน

ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ ทางออกจาก ปัญหาที่ว่า เราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งของที่เรามี–ย่อมแก้ไขได้โดย “การขาย” นั่นคือ “สำหรับคนที่ใช้อะไรไม่เป็น อย่างน้อย ถ้ามันเป็นสิ่งที่สามารถนำไปขายได้ ก็น่าจะยังคงเป็นประโยชน์อยู่ดี” นั่นคือ สิ่งของต่างๆ ที่คนๆ หนึ่งมี แม้ว่าจะใช้ประโยชน์จากมันโดยตรงไม่ได้ แต่ถ้าขายได้ สิ่งนั้นก็น่าจะเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการซื้อขาย ด้วยเหตุนี้ “จึงได้ข้อสรุปทว่า หากใช้ไม่เป็น ไม่เป็นไร แต่ถ้าสิ่งนั้นนำไปขายได้ สิ่งนั้นก็ถือว่าเป็นโภคทรัพย์ได้อยู่ดี”

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ของที่แต่ละคน มี อยู่ ย่อมเป็นประโยชน์เสมอ ถ้าสามารถนำมาขายหรือพยายามขายให้ได้ นั่นคือ พยายามทำให้มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือเป็นที่ต้องการในสังคมขึ้นมา หรือถ้ากล่าวในสำนวนสมัยใหม่ก็คือ “แปลงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ (สำหรับผู้ครอบครอง) ให้เป็นสิ่งที่ขายได้–สินทรัพย์–และแปลงสินทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นทุน” นั่นเอง

ขณะเดียวกัน หากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ครอบครอง และไม่เป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นๆ ด้วย สิ่งนั้นย่อมไม่สามารถแลกเปลี่ยนกับใครหรือขายให้ใครได้ ดังนั้น สิ่งนั้นย่อมไม่สามารถถูกแปลงให้เป็นทรัพย์สินหรือโภคทรัพย์สำหรับใครก็ตามได้เลย การครอบครองสิ่งนั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ต่อผู้ครอบครองอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วในประเด็นความแตกต่างของมนุษย์ ปัญหาดังกล่าวนี้อาจจะหมดไป หากของบางอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา แต่เป็นประโยชน์สำหรับคนอื่น เราก็สามารถแลกเปลี่ยนเอาของดังกล่าวกับคนอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา

ในกรณีที่ของบางอย่างไม่ก่อประโยชน์ใดๆ เลย ทั้งต่อเราและคนอื่นๆ หากเราครอบครองมันก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะไม่สามารถนำไปขายได้ ดังนั้น ของดังกล่าวจึงไม่มีค่าอะไร และไร้ประโยชน์ที่จะเก็บครอบครองไว้ เพราะรังแต่จะเป็นภาระที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดๆ แต่สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ จะมีของที่ไม่มีประโยชน์เลยสำหรับคนทุกคนหรือ เพราะอย่างในกรณี ฟลูท นั้น การที่คนๆ หนึ่งซึ่งยังเป่าหรือเล่นไม่เป็น แต่ซื้อหามันมาครอบครอง ก็เพราะเขาย่อมเห็นว่า มันอาจเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คนเล่นเป็น ดังนั้น การที่เขาซื้อหาฟลูทมาครอบครองก็เผื่อว่า หากเขาทดลองหัดเล่นแล้ว และเมื่อเล่นเป็น มันก็จะเป็นประโยชน์แก่เขาในที่สุด หรือถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ก็สามารถนำมันไปขายให้กับคนอื่นที่อยากจะหัดเล่น หรือคนที่เล่นเป็นแล้วได้

หากสมมุติว่า มีของบางอย่างที่คนอื่นครอบครองอยู่ แต่มันไม่เคยปรากฏให้เห็นว่าจะให้ประโยชน์อะไรได้เลย ไม่ว่ากับใครก็ตาม ก็คงไม่มีใครคิดอยากได้หรือซื้อหามันมาครอบครอง นอกจากว่า เขาจะมี ความรู้ความสามารถพิเศษ กว่าคนอื่นๆ ที่เล็งเห็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่คนอื่นไม่เคยหรือไม่รู้จักที่จะหาประโยชน์จากของสิ่งนั้น แต่ถ้าไม่มีใครมีความรู้ความสามารถพิเศษที่ว่า ของสิ่งนั้นก็ย่อมจะเป็นของที่ไร้ค่าและไม่สามารถเป็นทรัพย์สินได้ ยกเว้นเสียแต่ว่าผู้ครอบครองสิ่งที่ไร้ค่านั้น จะสามารถหาทางทำให้คนอื่นเข้าใจและเชื่อว่าสิ่งนั้นน่าปรารถนาหรือจะสามารถเป็นประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งๆ ที่มันไม่เป็นประโยชน์เลย ซึ่งหมายความว่า คุณค่าที่ถูกสร้างหรือเกิดขึ้นนี้ เป็นคุณค่าที่ไม่ได้มาจากประโยชน์ใช้สอยในตัวของสิ่งนั้นเอง แต่เป็นคุณค่าถูกสร้างหรือถูกเพิ่มเข้าไปจากภายนอก ซึ่งคุณค่าดังกล่าวนี้จะเป็นที่ต้องการหรือสามารถเป็นสินค้าได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการให้ค่าของคนในสังคมหรือผันแปรตามค่านิยมทางสังคมนั่นเอง

ขณะเดียวกัน มีข้อน่าสังเกตอย่างยิ่งจากสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้วที่ว่า “สำหรับคนที่ใช้อะไรไม่เป็น อย่างน้อย ถ้ามันเป็นสิ่งที่นำไปขายได้ ก็น่าจะยังคงเป็นประโยชน์อยู่ดี” จากข้อความดังกล่าวนี้ นอกจากจะบ่งชี้ในสิ่งที่กล่าวไปในย่อหน้าก่อนนี้แล้ว ยังบ่งบอกถึงสิ่งที่เป็นที่ปรารถนาร่วมกันสำหรับคนทุกคนในสังคม นั่นคือ เงิน และด้วยอานุภาพของเงินนี่เองที่ทำให้เกิดกระบวนการแปลงสิ่งที่ไม่ได้มีไว้ขาย ให้กลายเป็นสินทรัพย์สำหรับขาย เพื่อให้ได้เงินกลับมา และเงินได้กลายเป็นทรัพย์สินที่เป็นทุนสำคัญ และสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า สรรพสิ่งต่างๆ ที่แต่ละคน มี ถือเป็นทุนได้เสมอ ตราบเท่าที่นำไปขายได้ แม้เขาผู้นั้นจะไม่รู้วิธีที่จะใช้ประโยชน์จากมันเลยก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่ามันมีประโยชน์ต่อการครอบครองไว้เพื่อขาย กระนั้น เซโนฟอนยังชวนให้เราตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า “แต่ก็ใช่ว่า ทุกคนจะรู้วิธีที่จะขายของ ดังนั้น ประเด็นสำคัญอีกประเด็นคือ ความรู้ในการขายของ หรือรู้จักที่จะขาย” นัยความหมายของการรู้ที่จะขาย ก็คือ รู้ว่าจะขายหรือแลกของที่มีอยู่เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง “เพราะถ้าขายของไป หรือแลกของไปกับสิ่งที่เขาไม่รู้ว่าจะใช้มันให้เกิดประโยชน์อะไร การขายนั้นก็หาได้แปรเปลี่ยนสิ่งของนั้นให้กลายเป็นโภคทรัพย์ไม่” คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เงิน คือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ครอบครองหรือไม่ แค่ไหนอย่างไร

คนทั่วไปทั้งในสมัยกรีกโบราณและปัจจุบันที่อยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้เงินตราแลกเปลี่ยนย่อมสงสัยว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะขายของไปแล้ว ไม่ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์กลับมา เพราะอย่างน้อยก็ได้ เงิน อย่างที่เซโนฟอนตั้งคำถามชวนให้ขบขันว่า “ท่านกำลังจะบอกว่า เงิน ไม่ใช่โภคทรัพย์สำหรับคนที่ใช้มันไม่เป็นหรืออย่างไร” เพราะมันคงเป็นเรื่องแปลกมากทีเดียวสำหรับทั้งคนสมัยกรีกโบราณและสมัยนี้ที่จะไม่สามารถได้ประโยชน์จากเงิน เพราะ จะมีหรือคนที่ใช้เงินไม่เป็น นอกเสียจากว่า การใช้เงินเป็นจะแตกต่างจากการใช้เงินซื้อของเป็นและการใช้เงินให้เป็นประโยชน์

เซโนฟอนกล่าวต่อว่า“ที่ผ่านมา ท่านก็เห็นด้วยไม่ใช่หรือว่าโภคทรัพย์ คือ อะไรก็ตามที่เราสามารถจะได้ประโยชน์จากมัน”โดยเขายกตัวอย่างขึ้นมาว่า “ถ้าใครคนหนึ่ง ใช้เงินซื้อบริการจากหญิงงามเมือง ที่ทำให้เขาต้องเสียสุขภาพร่างกาย–จิตใจและทรัพย์–เงินที่ใช้ไปจะถือว่าเป็น สิ่งที่ให้ประโยชน์ (profitable) ได้อย่างไร”

ด้วยเหตุนี้ เซโนฟอนจึงเตือนว่า ในประเด็นเรื่องเงินนี้ “เงินจะต้องถูกเก็บไว้ห่างๆ คนที่ไม่รู้จักใช้มัน และไม่ควรจะถูกจัดว่าเป็นโภคทรัพย์ (wealth)” เนื่องจากในระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา (cash economy) เงินสามารถเป็นตัวกลางที่ใช้แลกซื้อสิ่งต่างๆ ได้เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์แก่ผู้ซื้อ แถมยังให้โทษได้อีกด้วย ดังนั้น เงินและสิ่งต่างๆ จะเป็นโภคทรัพย์ก็ต่อเมื่อมันให้ประโยชน์ต่อเรา เฉกเช่นเดียวกับ “มิตร ถ้าเราสามารถใช้ประโยชน์จากเขาได้ ก็ถือว่าเป็นทรัพย์ และฝูงวัวควายสามารถเป็นทรัพย์มากกว่ามิตร หากฝูงวัวควายมีประโยชน์มากกว่า” ถ้าคนที่เราเข้าใจว่าเป็นมิตร แต่ไม่เป็นคุณต่อเรา การมีมิตรดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์ ศัตรูเสียอีก หากเป็นคุณต่อเรา คนที่เราคิดว่าเป็นศัตรูของเราก็จะเป็นทรัพย์ของเรา” !