posttoday

การเมืองเลือด

19 ธันวาคม 2562

ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์

**************************************

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ 2560 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันมีคนจองกฐินตั้งแต่ยังร่างไม่เสร็จ คนที่พอใจก็ว่าดี คนที่ไม่ชอบก็ว่าไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา บางพรรคประกาศเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรมนูญ ทั้งฉบับตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งพรรค บางพรรคต้องการแก้ไขบางส่วน เมื่อได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภา ก็นำนโยบายที่หาเสียงไว้มาปฏิบัติซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย

บางพรรคต้องการฉีกทิ้งของเก่าทั้งหมด แล้วร่างใหม่ บางพรรคขอแก้ไขเฉพาะส่วนที่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีพรรคไหนเคยบอกประชาชนเลยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอะไร ถ้าปล่อยไว้ต่อไปบ้านเมืองจะเสียหายอย่างไร จะแก้รัฐธรมนูญกันดีไหม จะแก้เมื่อไร จะแก้ไขในเรื่องอะไรบ้าง หรือแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อให้ประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแสดงความคิดเห็น

นักการเมืองที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชน อาจลืมไปแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติ โดยประชาชนเสียงข้างมากร้อยละ 61 เห็นด้วย ที่ผ่านมารัฐธรรมบูญฉบับนี้ ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนที่เห็นด้วยผิดหวัง เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย เวลาจะขอแก้ ถามประชาชนสักนิดก็น่าจะดี

ประชาชนหลายคนบ่นว่า เราเพิ่งมีการเลือกตั้งยังไม่ถึงปีเลย ส.ส.ยังไม่ได้ทำงานเพื่อชาติเป็นชิ้นเป็นอันเลย จะแก้รัฐธรรมนูญกันแล้วหรือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้บ้านเมืองเสียหายจนรอไม่ได้จริงหรือ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของนักการเมืองเอง หรือปัญหาของประชาชน

ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนควรใช้สภาเป็นเวทีศึกษาปัญหาเสียก่อนอย่างที่กำลังจะทำอยู่นี้ เมื่อศึกษาแล้ว ก็ควรถามประชาชนด้วยว่า ถ้ารัฐธรรมนูญมีปัญหาอย่างนี้ ตรงนี้สมควรจะแก้ไหม จะแก้อย่างไร เมื่อไร ประชาชนก็ต้องศึกษาว่าที่พรรคการเมืองบางพรรคต้องการแก้บางส่วนหรือทั้งฉบับ เป็นการแก้เพื่อประเทศชาติจริง ๆ หรือแก้เพื่อกลุ่มก้อนของตัวเอง

แต่ถ้าจะเหมารวมว่า ต้องแก้เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็น "ผลผลิตของเผก็จการคสช." อย่างที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งพยายามสร้างวาทกรรมขึ้นมา นี่ก็เกินไป เรื่องนี้คงเถียงกันได้ไมรู้จบ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ และมีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่จะแก้ประเด็นไหน เมื่อไร อย่างไร อย่ามองข้ามหัวประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยและลงมติเห็นด้วยเสียงข้างมากต่อรัฐธรรมบูญปี 2560

ก่อนคิดจะแก้ ขอให้กลับไปอ่านดูส่วนแรกที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอารัมภบทของรัฐธรมนูญฉบับนี้ ซึ่งพูดถึงเหตุผลและความจำเป็นในการต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขึ้นมาแทนของเก่า

เหตุผลและความจำเป็นในการที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเพราะว่าแม้ไทยจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกปี 2475 มีการแก้ไขเพิ่มเติม ร่างกันใหม่หลายครั้ง

" แต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่นเรียบร้อย เพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤติรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณท์การปกครองบ้านเมืองทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ..... อีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณท์การเมืองการปกครองที่ยังไม่เหมาะสมแก่สภาวการณ์บ้านเมืองและกาลสมัยให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการ ยิ่งกว่า หลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย

จากนั้นก็ไปอ่านและทำความเข้าใจกับมาตรา 1-279 และไปอ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พรป )อีก 10 ฉบับ

รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็น"กฎ กติกา มรรยาท" ที่กำหนดและนำมาใช้กับทุกคนที่เสนอตัวเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง กฎกติกานี้ออกมาล่วงหน้านานพอที่คนจะเข้าสู่การเมืองมีเวลาศึกษาและทำความเข้าใจ ถ้าคนจะเล่นเกมนี้ก็ต้องยอมรับกฎกติกาดังกล่าว ไม่ใช่ว่าอะไรที่ตัวเองได้ประโยชน์ก็ว่ากฎกติกานั้นดี อะไรที่ตนเองเสียประโยชน์ว่าไมดี แน่นอน ไม่มีอะไรที่จะถูกใจทั้งหมด หากเห็นว่ากฎเกณฑ์ส่วนใหญ่รับได้ ก็ลงมาเล่น กฎกณท์บางส่วนที่ตัวเองเห็นว่าไม่ดีก็ค่อยหาทางแก้ไขในภายหลัง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากว่าจะเห็นเป็นอย่างไร

ไม่ใช่ว่า พอไม่ได้ดังใจที่ตนต้องการ ก็บอกว่ากฎกติกาไม่ดี ต้องล้มกฎกติกานี้ ซ้ำยังข่มขู่ในทำนองว่า หากไม่ได้ดีๆ ก็ต้องล้มด้วย "เลือก" การพูดแบบนี้มันเป็นอันธพาล การเมืองแล้ว อย่าเอาเหตุผลส่วนตัวมาปลุกระดม คงไม่มีคนไทยที่รักชาติรักแผ่นดินยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นปี 2553 อีก

มนุษย์เราต้องพูดกันด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ ความรู้สึกโดยมี "ผลประโยชน์ของชาติ" เป็นตัวยึดโยง