posttoday

สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมุมมองของสังคมไทย

10 ธันวาคม 2562

โดย ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

โดย ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้วยสหประชาชาติ ได้มีมติรับรองปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) และประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Day) เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ตระหนักและเล็งเห็นถึงสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ร่วมกัน

ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย (Thai Civic Education Foundation – TCE Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเพื่อบ่มเพาะวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้หนึ่งที่พยายามผลักดันให้มีการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นพลเมือง ตั้งแต่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา

ในโอกาสนี้ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์  ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า “สำหรับสังคมไทย เวลาพูดถึงสิทธิมนุษยชน คนส่วนใหญ่จะรู้สึกกลัวเนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องของการเรียกร้อง และการประท้วงของคนบางกลุ่มซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายและความขัดแย้งในสังคม แต่จริงๆแล้ว สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่คนเราจะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร อย่างเช่นเด็กคนหนึ่งเกิดมา ถ้าเข้าไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดหรือได้รับสัญชาติ เขาก็จะขาดสิทธิโอกาสในด้านอื่นๆ เช่นในเรื่องการเข้าเรียน การได้รับการรักษาพยาบาล หรือการเข้าทำงาน ซึ่งสิทธิของเด็กที่จะได้รับสัญชาติก็เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ก็มีหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่ยังมีเด็กและผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากที่เป็นคนไร้สัญชาติ หรือสิทธิในการนับถือศาสนาก็เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ในหลายๆ ประเทศก็มีการเลือกปฎิบัติกับกลุ่มผู้นับถือศาสนาที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ”

เราจะปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร

เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นชุดคุณค่าซึ่งมองว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันถึงแม้ว่าแต่ละคนจะเกิดมาในครอบครัวหรือประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกัน นับถือศาสนา มีภาษาหรือสีผิวต่างกัน มีความเชื่อหรืออัตลักษณ์อื่นๆที่ไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนควรได้รับการปฎิบัติอย่างเสมอภาคและอย่างเคารพซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เช่นผู้พิการก็มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาหรือทำงาน โดยรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องออกนโยบายและการมาตรการต่างๆที่จะทำให้ผู้พิการได้เข้าถึงสิทธิเหล่านี้

ดังนั้นเราต้องปลูกฝังคุณค่าเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และความเข้าใจเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆกัน โดยในส่วนของคุณค่าก็คงต้องปรับวิธีคิดและการปฎิบัติของคนในสังคมเช่นในเรื่องการมองคนไม่เท่ากันในสังคมไทย ก็จะต้องระวังมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสถานะที่เหนือกว่าหรือมีอำนาจมากกว่า อย่างครูกับนักเรียน ซึ่งเรายังได้ยินข่าวเรื่องการลงโทษหรือทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนโดยครูหรือ ผ.อ. อยู่เป็นระยะๆ หรือเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศก็เป็นประเด็นที่มีรากเหง้าของปัญหาที่ฝังอยู่ในวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่และความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วย ซึ่งในเรื่องการปรับวิธีคิดและการปฎิบัตินี้ก็ต้องทำในทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัวไปถึงสถาบันการศึกษา โดยเราต้องสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน ในส่วนความเข้าใจเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน เราก็คงต้องทำให้ความรู้เรื่องนี้เข้าไปอยู่ในสังคมมากขึ้น ซึ่งสถาบันการศึกษาก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาทางสถาบันสิทธิและสันติฯ ก็ได้ทำงานเรื่องนี้มาตลอด ทั้งในส่วนของการเรียนการสอนที่เป็นหลักสูตรในระดับ ป.ตรีถึง ป.เอก นอกจากนั้นเรายังร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆทั้งของรัฐและภาคประชาสังคมในการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา โดยมีการพัฒนาหลักสูตร อบรมครูและอาจารย์ทั้งไทยและต่างประเทศ และทำงานกับกลุ่มเยาวชน

ข้อท้าทาย

ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ กล่าวต่ออีกว่า “ยังมีมุมมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของตะวันตกทั้งๆ ที่คณะที่ร่างปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็มีผู้แทนจากประเทศในเอเซียร่วมอยู่ด้วย จริงอยู่ว่าในประวัติศาสตร์อาจจะมีการตื่นตัวในเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมตะวันตกมากกว่าในบ้านเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าและหลักการสิทธิมนุษยชนจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย เพียงแต่แนวคิดและการให้คุณค่าเรื่องนี้อาจจะท้าทายระบบคิดและวิถีปฎิบัติบางอย่างในสังคม จึงทำให้มีการไม่ยอมรับ

นอกจากนั้นเรามักจะได้ยินคำพูดว่าคนเอาแต่เรียกร้องสิทธิ โดยไม่ทำหน้าที่ ซึ่งจริงๆแล้วเวลาที่เราพูดถึงสิทธิมนุษยชนอยากจะย้ำว่ามันเป็นเรื่องคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ว่าในฐานะมนุษย์คนนึง เราควรจะสามารถใช้ชีวิตอย่างไร เช่น เราควรจะรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ไม่ถูกเลือกปฎิบัติ ไม่ถูกกระทำทารุณ มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ได้รับการศึกษา การรักษาพยาบาล มีงานทำและได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญพื้นฐานของชีวิต ซึ่งถ้าผู้ที่มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิสามารถทำหน้าที่เคารพ คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้ ทุกคนก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามที่ควรจะเป็น ก็ไม่ต้องมีการออกมาเรียกร้อง”

ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรจะทำความเข้าใจ เพราะเป็นคุณค่าสากลที่เป็นหลักที่จะทำให้เกิดสันติภาพและความเป็นธรรมในสังคมไทยและสังคมโลกได้” ทั้งนี้สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คุณค่ากับการสร้างองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ดังนั้นการเรียนการสอนจึงมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความเข้าใจในปรัชญาแนวคิดทางสิทธิมนุษยชนที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยใช้วิธีวิจัยที่หลากหลายในการเข้าถึงองค์ความรู้โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรงจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายจริง

ติดตามข่าวสารและบทความที่น่าสนใจด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ได้ที่ www.ihrp.mahidol.ac.th และ facebook: สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล