posttoday

อยู่ไม่ได้ก็ตายไปพร้อมกัน

30 พฤศจิกายน 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*********************************

กระแสข่าวปรับ ครม.แรงมากทั้งที่เป็นไปไม่ได้

ข้อจำกัดของรัฐบาลชุดนี้ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็คือ”ไปไม่เป็น เพราะจะเป็นอะไรก็ไม่ได้”

ประการแรก รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำและไม่มีขั้วอื่นมาเสริมหรือให้เปลี่ยน สภาพสภามีความแตกแยกกันจนอยากที่จะ “ผสมพันธุ์” กันได้ง่ายๆ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจต่อรองน้อย แม้แต่จะคิดยุบสภาก็ทำไม่ได้ เพราะจะไม่มีใครคบ นักการเมืองก็ไม่อยากจะเลือกตั้งใหม่ แม้แต่พรรคฝ่ายค้านก็ยังไม่มั่นใจในฐานเสียงของตน เพราะเที่ยวที่ผ่านมาอาจจะได้มาเพราะกระแสบางอย่าง รวมถึง “ลาภลอย” จากกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ ทุกๆ ฝ่ายจึงต้อง “จำใจ” อยู่ต่อไป เพราะไม่อยากให้มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ประการต่อมา การตั้งรัฐบาลต้องเริ่มจากการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งจะต้องเป็นคนที่คุมสมาชิกวุฒิสภาได้ด้วย และตอนนี้ก็หาคนแบบนั้นไม่ได้ แม้แต่ในหมู่ทหารก็ต้องได้คนที่มีบารมีมากๆ เว้นแต่ต้องมีการโหวตเพื่อระงับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่จะมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควร (และรัฐบาลก็ไม่อยากแก้) หรืออาจจะต้องมี “ใคร” กำหนดมาให้มาเป็น แบบ “คุณสั่งมา” ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีในแนวที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนี้รัฐบาลก็คงต้องอยู่ต่อไป ด้วย “ไม่มีทางเลือก-ตัวเลือก”

อีกประการหนึ่ง รัฐบาลน่าจะมี “ความจำเป็นบางประการ” ที่จะต้องรักษารัฐบาลนี้ให้อยู่รอด จึงต้องออกแบบรัฐธรรมนูญให้ “มัดตราสัง” ภาคส่วนต่างๆ ไว้ในการกำกับของกลุ่มผู้ปกครองอย่างแน่นหนา ซึ่งก็เป็นไปได้อย่างมากว่า กลุ่มผู้ปกครองเองก็ทราบดีว่า ด้วยโครงสร้างทางการเมืองที่ถูกมัดอย่างแน่นหนานี้ ทำให้สังคมไทยไปไหนไม่รอด ต้องอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มผู้ปกครองนี้ไปอีกยาวนาน และรัฐบาลก็พร้อมจะ “เปิดเผย” เหตุผลที่เราจำจะต้องอยู่ในสภาพนี้เมื่อถึงเวลาที่จำเป็น ซึ่งสังคมไทยจำเป็นต้อง “ก้มหน้า” ยอมรับ

และประการสุดท้าย สังคมไทยจำนวนหนึ่งยังขอที่จะ “พึ่งพิงทหาร” และพร้อมที่จะสนับสนุนทหารให้ปกครองประเทศไทยไปอีกสักระยะ ยิ่งไปกว่านั้น หากทหารคิดที่จะทำอะไรกับระบบรัฐสภา เช่น ก่อการรัฐประหารอีก คนไทยพวกนี้ก็ยอมรับได้ เพราะคนไทยพวกนี้เห็นว่าก็ยังดีกว่า “สภาที่วุ่นวาย นักการเมืองที่เละเทะ” ซึ่งก็ทำให้เรามองไม่เห็นอนาคตของระบอบประชาธิปไตย เพราะคนไทยจำนวนหนึ่งยังไม่เห็นความสำคัญในอำนาจของตน และรักสุขสบายที่จะมีชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆ ภายใต้การกำกับดูแลของทหาร

เวลานี้สังคมการเมืองไทยเป็นไปในแบบ “ดราม่า โพลิติคส์” หรือ “การเมืองเรื่องการแสดง” คือทุกคนพยายามที่จะแสดงบทบาทให้ตัวเอง “ดูดี – ดูเด่น” พร้อมกับการรักษาตัวรอด เพื่อที่จะได้ “มีกินมีใช้” หรือได้ร่วมแสดงไปโดยตลอด ซึ่งก็หมายถึง “การมีอำนาจ” อยู่บนเวทีการเมืองนี้ต่อไป

กรณีผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อกลางสัปดาห์นี้ ทำให้เราได้เห็นดราม่าทางการเมืองของนักการเมืองหลายๆ คน อย่างกับว่ามีการ “เขียนบท” มาเล่นให้คนดูตื่นเต้น เริ่มการแสดงก็ดูเหมือนว่าจะ “สร้างเรื่อง” ให้มีความขัดแย้งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการแสดงบทบาทของพรรคภูมิใจไทยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(และยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกด้วย)คนหนึ่ง กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรที่ดูแลหน่วยงานราชการที่ควบคุมการทำรายงานเรื่องสารพิษนั้นอีกคนหนึ่ง ร่วมกัน "เล่นละคร" ว่าจะแบนสารเคมีทั้งสามอย่างแน่นอน ในขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่อยู่ในกำกับของพรรคประชาธิปัตย์ก็เล่นบท “ขงเบ้งนั่งดีดพิณ” คือตัวรัฐมนตรีนั่งดูข้าราชการในกระทรวงของตน “แกล้ง” ขัดแข้งขัดขากับนักการเมืองของอีกพรรคหนึ่ง ก็พอดีในวันที่มีการลงมติก็มี “ตาอยู่” คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นนักการเมืองของอีกพรรคหนึ่ง ทำหน้าเรียบๆ แถลงข่าวว่า

“เรายังไม่มีมาตรการอะไรที่ดีไปกว่านี้” เรื่องก็จบแบบ “หักมุม” คือทุกคนแม้จะขัดแย้งกัน แต่ก็ขออยู่ร่วมกันเป็นรัฐบาลต่อไป

กรณีอย่างนี้ถ้าเป็นในต่างประเทศ ที่นักการเมืองเขามี “สปิริตของนักประชาธิปไตย” นักการเมืองที่ประกาศว่าจะดำเนินนโยบายอะไรแล้วแต่ทำไม่ได้ เขาจะต้องแสดงสปิริตความรับผิดชอบด้วยการลาออกไปแล้ว แต่เป็นเพราะความไม่อับไม่อายของนักการเมืองไทยจำพวกนี้ ทำให้มีความสามารถอย่างเป็นพิเศษในการแสดงละครให้ผู้คนเห็นอกเห็นใจ ว่า “ผมทำอะไรไม่ได้ มันไม่อยู่ในอำนาจของผม” และพูดประชดข้าราชการที่จัดทำเรื่องนี้ว่า “ให้เอา(สารพิษ)ไปกินเอง” แทนที่จะแสดงบทบาทว่าตนเองมีอำนาจเหนือ เพราะนักการเมืองคือผู้ควบคุมนโยบายที่ข้าราชการจะต้องนำไปปฏิบัติ

นี่ก็ยิ่งแสดงว่ารัฐบาลมีไว้ก็ไม่มีประโยชน์ ทำอะไรข้าราชการไม่ได้ (จนอาจทำให้สังคมแคลงใจว่ามีการร่วมกัน “เล่นละคร” หรือไม่) พร้อมกับทิ้งท้ายอย่างไม่แคร์สังคมว่า “ผมทำได้แค่กลับบ้านไปนอนแล้วร้องไห้” นี่คือคำพูดของนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน และที่สำคัญเป็นผู้ที่มีหน้าที่สำคัญในการดูแลสุขภาพของคนทั้งประเทศ และก็ไม่น่าเป็นที่ไว้ใจว่าหากรัฐบาลชุดนี้ยังอยู่และรัฐมนตรีที่ดูแลยังเป็นคนจำพวกนี้ นโยบายนี้จะมีใครที่จะ “รักษาคำพูด” หรือไม่ เพราะทุกอย่างดูเหมือนจะเล่นตามบท “ใครตายไม่ว่า ขอข้าอยู่รอด”

การเมืองไทยคงจะต้องอยู่ในสภาพแบบนี้ไปอีกนาน เพราะสันดานนักการเมืองไม่ได้เปลี่ยนแปลงง่ายๆ อีกทั้งรัฐบาลก็ต้องเลี้ยงดูนักการเมืองพวกนี้ให้คอยสนับสนุนรัฐบาลให้อยู่รอดต่อไปด้วยกัน รัฐบาลจึงมีทางเลือกไม่มาก หรือบางทีรัฐบาลอาจจะเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้สถานการณ์สุกงอม(จนกระทั่งเละเทะ) หรือคลี่คลายไปเอง หรือสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องพึ่ง “ข้าราชการติดกำลังอาวุธ” ให้เข้ามา “แก้ไขสถานการณ์”
นั่นก็คือ “อยู่ไม่ได้ก็ตายไปพร้อมกัน”

 

*******************************