posttoday

รัฐสภาอายุสั้น รัฐบาลอายุยาว

26 พฤศจิกายน 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

***********************************
คนบางกลุ่มกำลังหัวเราะให้กับความเละเทะในสภา

ไม่น่าแปลกใจที่กระแส “รักลุงตู่” ยังคงเหนียวแน่น เพราะคนเหล่านั้นยังเชื่อว่า “บ้านเมืองสงบ จบที่ลุงตู่” ดังที่พรรคพลังประชารัฐได้ใช้เป็นสโลแกนในการหาเสียง จนได้รับชัยชนะเป็นพรรคเสียงข้างมาก ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ยิ่งพวกผู้แทนราษฎรที่เข้ามาแล้วกลับมา “แว้งกัด” กัน ให้เป็นที่สนุกสนานในการเสนอข่าวของสื่อต่างๆ ก็ยิ่งทำให้คนที่เคยคิดว่ามีเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองคงจะดีขึ้น ต้องกลับความคิดไปเป็นว่า ถ้าเลือกตั้งแล้วเป็นอย่างนี้ อย่ามีเลือกตั้งเลยเสียดีกว่า

กระแสความคิดอย่างนี้คงเป็นที่ถูกใจของคนที่อยากอยู่ในอำนาจนานๆ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า กระบวนการทำให้ “สภาเละเทะ” เป็นแผนการของผู้มีอำนาจดังกล่าวหรือไม่ หรือว่านี่คือ “สันดาน” ของนักเลือกตั้ง ที่กี่ยุคกี่สมัยที่เลือกตั้งเข้ามาก็เป็นอย่างนี้

ผู้เขียนเติบโตมาในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน โดยได้ร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้น ม.ศ. 2 ด้วยการร่วมประท้วงต่อต้านการซื้อสินค้าญี่ปุ่น ที่นำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และในปีต่อมาก็ได้เข้าร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่เผด็จการทหาร จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค14 ตุลาคม 2516 จนถึงปี 2519ก็เข้าศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเมืองไทยก็เข้าสู่วังวนเดิมของเผด็จการทหาร ภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม2519

ผู้คนในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 มีความคาดหวังสูงมากต่อการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง โดยเฉพาะการลดบทบาทของทหารให้ออกไปเสียจากวงจรทางการเมืองไทย แต่ด้วยความสับสนในบทบาทของตนเองของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น(รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย) ที่คิดว่าการขับไล่ผู้นำทหารออกนอกประเทศไปได้ พร้อมกับความอัปยศอดสูของผู้มีอาชีพทหารรวมถึงครอบครัวของทหาร ในการที่ได้เข่นฆ่าประชาชนในครั้งนั้น จะทำให้ทหาร “เปลี่ยนสภาพ” ไปสู่ความเจียมเนื้อเจียมตัว คนหนุ่มสาวในยุคนั้นจึงรู้สึกเหมือนว่าพวกตนนี้คือ “เจ้าของประเทศไทย” ที่บางส่วนก็ได้นำแนวคิดสังคมนิยมมานำเสนอเพื่อจะมาเปลี่ยนแปลงประเทศ พร้อมกับการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต มีการประท้วงโน่นนี่วุ่นวายอยู่ทุกวัน ที่สุดประชาชนที่เคยนิยมชมชื่นนิสิตนักศึกษา ก็รู้สึกเอือมระอา นำมาสู่การคืนสู่อำนาจของทหาร ในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ดังกล่าว

ผู้เขียนลองมาเปรียบเทียบกับการเมืองไทยในปัจจุบัน ตั้งแต่หลังเหตุการณพฤษภาทมิฬ 2535 ที่ประชาชนในฝ่ายที่โค่นล้มทหารก็มีความรู้สึกเหมือนว่า “ข้าคือผู้ชนะ” โดยเฉพาะในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ถึงกับให้ฉายารัฐธรรมนูญฉบับนั้นว่า “ฉบับประชาชน” รวมถึงนักการเมืองที่ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ “เหิมเกริม” ถึงขั้นอ้างอำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กระทำการทุจริตคอร์รัปขั่นอย่างไม่เกรงกลัวใคร ที่สุดประชาชนก็ออกมาขับไล่และทหารก็เข้ามายึดอำนาจในปี 2549 พร้อมกับความแตกแยกของประเทศ อันเกิดจากประชาชนที่ถือหางผู้นำในแต่ละฝ่าย กลายเป็น “กีฬาสี” ระบาดต่อเนื่องมาจนทหารต้องออกมาทำการรัฐประหารอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2557นั้น

มองมาที่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ก็เหมือนกับว่าพวกเขากำลังคิดว่า การได้มาซึ่ง ส.ส.จำนวนมากของพรรคการเมืองในฟากฝ่ายของรุ่นใหม่ คือสัญญาณที่แสดงถึง “ความเบื่อหน่ายระบบเก่า” โดยเฉพาะ “กระแสไม่เอาทหาร” จึงพยายามที่จะกระหน่ำโจมตีทหารอย่างหน้ามืดตามัว เพียงหวังแค่ว่าถ้าโค่นล้มทหารได้แล้ว ก็จะเป็นโอกาสของรุ่นใหม่ที่จะได้เข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศบ้าง ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ระมัดระวังที่จะรักษาภาพลักษณ์หรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ผู้นำของคนรุ่นใหม่ ในขณะที่นักการเมืองแบบเก่าๆ ก็ยังเป็นตัวปัญหา ทะเลาะเบาะแว้ง “กัดกัน” อยู่ในสภา ที่สุดหากคนรุ่นใหม่ไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดี ก่อกระแสประท้วงหรือจัดให้มีม็อบขึ้นต่อต้านให้วุ่นวาย ก็อาจจะ“เข้าล็อค” ของผู้มีอำนาจกลุ่มเดิม ซึ่งก็คือทหารนี่แหละที่จะออกมาจัดการกับความวุ่นวายเหล่านั้นได้ง่ายๆ ดังที่เคยทำมา

มีกระแสในโซเชียลมีเดียที่ค่อนข้างรุนแรงภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำพิพากษา ให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นสภาพ ส.ส. ตามคำร้องของ กกต. เมื่อวันที่ 20ที่ผ่านมานี้ คือกระแสเรียกร้องให้นายธนาธรสู้ต่อไป โดยนายธนาธรเองก็ได้ไปประกาศในการณรงค์ต่อต้านการเกณฑ์ทหารที่สยามสแควร์วันในเย็นวันเดียวกันนั้นว่า จะขอทำงานการเมืองต่อไปอย่างมุ่งมั่น รวมถึงยังความคิดที่ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั้นก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้กระแสของกลุ่มคนที่หนุนนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวทั้งหลายนั้น เกิดความคึกคักขึ้นมาอย่างน่าจับตา

ผู้เขียนเองซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองอันเกิดจากคนหนุ่มสาวนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2515 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงใคร่อยากจะให้คำแนะนำแก่คนหนุ่มสาวในยุคนี้ว่า ขอให้ใช้แนวทางการต่อสู้ในสภาให้มากและให้ดีที่สุด ดีกว่าที่จะไปใช้แนวทางการต่อสู้ในท้องถนนหรือในโซเชียลมีเดีย เพราะนั่นจะยิ่งสร้างความแตกแยกให้ร้าวลึกลงไปในแผ่นดินไทยและในหัวใจคนไทยให้มีมากขึ้น โดยการทำงานสภานั้น เพียงแค่ช่วยกันทำงานตามบทบาทหน้าที่ ทั้งที่กฎหมายได้กำหนดให้และกับที่สังคมได้มอบหมายให้ ให้กว้างขวางและเข้มแข็ง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนรุ่นใหม่ในการทำงานการเมือง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายในสภาจากพวกนักการเมืองน้ำเน่าทั้งหลาย พร้อมกับร่วมประณามหรือหาทางแก้ไขปัญหา ที่สุดคนรุ่นใหม่ก็จะได้เป็นผู้นำที่ดีของระบอบรัฐสภา และเป็นความหวังของคนไทยในยุคใหม่ต่อไป

ถ้าเละเทะกันอยู่อย่างนี้สภาอายุสั้นแน่นอน แล้ว “เขา” ก็จะปกครองเราๆ ไปอีกนานแสนนาน

*******************************