posttoday

ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ : กระบวนการสำคัญกว่าสาระ

16 พฤศจิกายน 2562

จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดความเชื่อว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นได้สร้าง “คุณค่า” บางอย่างแก่สังคมไทยได้อย่างดียิ่ง นั่นก็คือการตระหนักถึง “ความสำคัญของการมีส่วนร่วม” จนทำให้ร

ทวี สุรฤทธิกุล

************************

สาระแค่ “เข้าใจ” แต่กระบวนการนั้น “เข้าถึงจิตวิญญาณ”

จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.  2540 มาอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดความเชื่อว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นได้สร้าง “คุณค่า” บางอย่างแก่สังคมไทยได้อย่างดียิ่ง นั่นก็คือการตระหนักถึง “ความสำคัญของการมีส่วนร่วม” จนทำให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

กว่าจะมาเป็นรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ต้องผ่านกระบวนการ “หล่อหลอม” มาก่อนหน้านั้นหลายปี แรงผลักดันที่สำคัญก็คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ใน พ.ศ. 2535 ที่ส่งผลให้เกิดกระแสของการปฏิรูปการเมือง อันเนื่องมาจากประชาชนได้มองเห็น “ความเลวร้ายของการเมือง 2 ขั้ว” ระหว่างขั้วของทหาร กับขั้วของนักการเมือง โดยเปรียบเทียบว่าทั้งสองขั้วนั้นก็มีความเลวร้ายพอๆ กัน และอยากให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ พร้อมกับที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการ นำโดยนายอมร จันทรสมบูรณ์ ร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ร่วมทำการศึกษาแนวทางของการปฏิรูปการเมือง ในรูปแบบของงานวิจัยที่มีข้อเสนอที่น่าสนใจมากมาย

โดยเฉพาะการจัดระบบการตรวจสอบถ่วงดุลและการมีส่วนร่วมของประชาชน จนกระทั่งภายหลังการเลือกตั้งในเดือนกันยายน ๒๕๓๕ ได้รัฐบาลที่นำโดยนายชวน หลีกภัย และมีนายมารุต บุนนาค เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนได้เรียกร้องผ่าน ส.ส. เสนอให้ทำการปฏิรูปการเมือง แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจ กระทั่งร้อยตรีฉลาด วรฉัตร ได้ออกมาอดข้าวประท้วง ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ที่สุดนายมารุตจึงได้ให้จัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาการเมือง” ขึ้นทำการศึกษา แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรได้มากนัก รัฐบาลก็ได้ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่

หลังการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 13 กันยายน 2538 และได้นายกรัฐมนตรีใหม่คือนายบรรหาร ศิลปอาชา กระแสการเรียกร้องของประชาชนก็ยิ่งกระหึ่มก้อง รัฐบาลจึงให้จัดตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง” ซึ่งก็ได้ทำการศึกษาแนวทางต่างๆ เพื่อการปฏิรูปการเมืองนั้นอย่างเร่งด่วน ร่วมกับการจัดทำโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยเพื่อการปฏิรูปการเมืองนั้นขึ้นทั่วประเทศ สุดท้ายผลสรุปของของคณะกรรมการก็เป็นไปตามความต้องการของประชาชน

โดยได้เสนอให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไขมาตรา 219 ที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐธรรมนูญ  2534 (ฉบับปรับปรุงแก้ไข) ที่ใช้อยู่ขณะนั้น เพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเสียก่อน จนกระทั่งสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกจำนวน 99 คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 23 คน ร่วมกับสมาชิกที่มาจากการเลือกกันเองของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละจังหวัดอีก 76 คน

ผู้เขียนได้อยู่ในบรรยากาศและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ทางการเมืองในช่วงนั้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากที่ได้ไปร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ตั้งแต่วันแรกที่เรือตรีฉลาด วรฉัตร ได้ออกมาอดอาหารประท้วงที่หน้ารัฐสภา แล้ว พลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมก็ออกมาร่วมอดอาหารประท้วงด้วย จนถึงวันที่พลตรีจำลองถูกทหารเข้าจับกุมกลางถนนราชดำเนินในวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 อันนำมาซึ่งการก่อจลาจลต่อมาอีก 3 วัน ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯได้เรียกให้พลเอกสุจินดากับพลตรีจำลองมาเข้าเฝ้าฯ เพื่อให้ยุติความขัดแย้งในครั้งนั้น

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ผู้เขียนที่ทำงานอยู่ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็ได้ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการเสนอความคิดเห็นแนวทางต่างๆ ในการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะกลไกในการตรวจสอบนักการเมืองและการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง จนเมื่อรัฐบาลของนายบรรหารได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ในปี 2538 และต่อมาในปี 2539 ก็ได้มีโครงการให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศร่วมเผยแพร่ประชาธิปไตย โดยได้ให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นศูนย์ประสานงานในการเผยแพร่ประจำจังหวัดนนทบุรี ซึ่งผู้เขียนก็เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้

กระทั่งเมื่อมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นในปี 2540 โดยให้มีอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนไปในทุกจังหวัด ซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของจังหวัดนนทบุรี คือนายบุญเลิศ คชายุทธเดช ก็ได้เชิญผู้เขียนไปช่วยงานในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการชุดนั้นด้วย จึงได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในครั้งนั้นอย่างเข้มข้น จนกระทั่งสำเร็จเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540  ก็ได้ร่วมเผยแพร่และบรรยายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาอย่างสม่ำเสมอ

ประสบการณ์ในช่วง 5 ปีของการปฏิรูปการเมืองที่ผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้ผู้เขียนพบว่าคนไทยมีความสนใจทางการเมือง “ค่อนข้างมาก” แม้ว่าดูผิวเผินเหมือนจะไม่ค่อยจะสนใจหรือแสดงออกทางการเมืองอะไรมากนัก แต่เมื่อได้ร่วมสนทนาพูดคุยและ “เข้าหา” ประชาชนหลายๆ กลุ่ม ก็ทำให้ทราบว่าประชาชนเหล่านั้นมีความรู้ทางการเมืองค่อนข้างดี โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นต่อการไร้เสถียรภาพของการเมืองไทย และปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของกลไกต่างๆ ในทางการเมือง เช่น ระบบราชการ และรัฐสภา

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถ้าจะมีขึ้น ผู้เขียนขอเสนอให้เน้น “กระบวนการ” โดยต้องตั้งเป้าหมายว่าต้องการที่จะให้เกิด “คุณค่า” อะไรขึ้นบ้าง อย่างเช่นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ได้สร้างให้เกิดคุณค่าของ “การมีส่วนร่วม” และ “ความตระหนักรู้” ในปัญหาของการเมืองไทย ซึ่งได้ก่อให้เกิดความผูกพันกับรัฐธรรมนูญที่พวกเขาได้ร่วมกันสร้างขึ้น แม้ว่าต่อมารัฐธรรมนูญนี้จะถูก “บิดเบือน”โดยนักการเมืองที่คลั่งอำนาจ แต่ก็ทำให้คนไทยจำนวนมหาศาลทราบถึงข้อบกพร่อง

และเกิดแนวคิดที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ดีขึ้น (แต่โชคร้ายที่รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับหลังคือ 2550 และ 2560 ไม่ได้ใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่เข้มข้นเหมือนในปี 2540 แม้ว่าจะมีกระบวนการทำประชามติ แต่ก็เป็นเพียง “พิธีกรรม” เพื่อการรับรองให้รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้ได้ประกาศใช้เท่านั้น) ถ้าเป็นไปได้ส่วนตัวของผู้เขียนอยากให้เกิดคุณค่าในเรื่องที่เกี่ยวกับ “การลดความขัดแย้งในสังคมไทย” คือควรสร้างกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญที่จะก่อให้เกิดความรักความสามัคคี จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญที่ได้เนื้อหาไปในแนวทางดังกล่าว ซึ่งคงจะไม่เกินปัญญาของคนไทยที่จะคิดในเรื่องนี้ร่วมกัน

กระบวนการนี้บางทีอาจจะต้องเริ่มจากความ “ใจกว้าง” ของรัฐบาล ที่ควรจะเป็นผู้นำในการดำเนินการทั้งหลายนี้