posttoday

การจารกรรมทางไซเบอร์

07 พฤศจิกายน 2562

ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

*********************************

เมื่อเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอ.ที. มีความก้าวหน้ามากขึ้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป การดำเนินชีวิตของคนก็เปลี่ยนไป แม้แต่งานข่าวกรองและงานจารกรรมก็เปลี่ยนไป มีการใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีข่าวสารมาช่วยมากขึ้น

ในยุคสงครามเย็น การจารกรรมมุ่งไปที่การใช้ “สายลับ” หรือ “จารชน” เป็นสำคัญ ที่สามารถ “เข้าถึง” หรือ “เจาะ” เอกสารลับของฝ่ายตรงข้ามได้ หากสายลับพลาดก็ถูกจับกุมไป ใครมีเอกสิทธิทางการทูตก็ถูกส่งกลับในฐานะ” บุคคลไม่พึงปรารถนา” ดังที่เกิดหลายคดีในประเทศไทย แต่เวลานี้ หลายอย่างเปลี่ยนไปเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร การทำและเก็บเอกสารลับทำได้อย่างรวดเร็วผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ หรือโทรศัพท์มือถือการจารกรรมง่ายขึ้นโดยการเจาะเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของฝ่ายตรงข้ามเจาะเข้าสู่ความลับที่เก็บไว้ ความจำเป็นในการใช้สายลับหรือจารชนก็ลดลง เพราะการจารกรรมสมัยใหม่สามารถทำได้จากที่ห่างไกลหรือจากประเทศของตน

การจารกรรมทางเทคนิคสมัยก่อนสงครามเย็นที่ถือว่าก้าวหน้าที่สุด ก็คือ “การข่าวกรองทางการสื่อสาร” ได้แก่ดักรับการติดต่อสื่อสารทางสัญญาน และการติดต่อสารทางเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เข้ารหัส ต้องหาทางมาถอดรหัสเอาเองเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่อังกฤษสามารถดักรับและถอดรหัสลับของเยอรมนีได้ จนสามารถรักษาเกาะอังกฤษ โดยเฉพาะกรุงลอนดอนจากการโจมตีทางอากาศของฮิตเลอร์ไว้ได้ ในไทยก็เคยมี “ค่ายรายสูร” ของสหรัฐมาตั้งอยู่ที่อุดรธานีในสมัยสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นเครือข่ายโยงใยกับที่อยู่ในฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แต่ค่ายรามสูรมีภารกิจพิเศษอย่างหนึ่งโดยมุ่งไปที่สงครามเวียดนาม

เวลานี้เทคโนโลยีข่าวสาร หรือ ไอที ก้าวหน้ารวดเร็วเกินคาด ใครจะค้นอะไรก็ค้นในคอมพิวเตอร์ ในโทรศัพท์มือถือ เวลาเก็บข้อมูลก็เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะซึ่งเก็บได้มาก หรือเก็บไว้ในไอแพด โน๊ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ หากมีข้อมูลมากก็เก็บไว้ในเครื่องขนาดใหญ่ หากจำเป็นต้องเอาติดตัวไปก็ก็อปปี้ลงในทัมบ์ไดร์ฟที่เอาติดตัวไปไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นข้อมูลลับทางราชการ จะเป็นความลับระดับไหนก็ตามต้องมีมาตรการในการคุ้มครองป้องกันไม่ให้ใครเจาะเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว การข่าวกรองก็ต้องปรับตัวเองเป็น “ข่าวกรองทางไซเบอร์”

ส่วนด้านการรักษาความปลอดภัยแก่ความลับก็ต้องปรับเป็น “การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์” ที่ต้องกำหนดมีรหัสป้องกัน จะเป็นชั้นเดียวหรือสองสามชั้นก็ตาม และต้องเปลี่ยนรหัสบ่อยๆ ไม่ให้คนอื่นรู้ คนที่แยกไปเก็บไว้ในทัมบ์ไดร์ฟก็ต้องมีรหัสกำกับด้วยเพราะแม้สะดวกเอาติดตัวไปเปิดดูที่ไหนได้ แต่ถ้าตกหล่น มีคนเก็บได้ก็เปิดดูความลับไม่ได้เพราะไม่รู้รหัส

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เมื่อใดที่เราใช้คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายบริษัทใดก็ตาม หมายถึงว่า เกิดความเสี่ยงขึ้นแล้วที่ฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะ “แฮกเกอร์” เก่งๆ หลายคนที่สามารถเจาะเอาข้อมูลความลับทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร การข่าวอื่นๆ เอาไปใช้ประโยชน์โดยเจ้าของข้อมูลไม่มีวันรู้ว่าข้อมูลของตนตกไปอยู่ในมือฝ่ายตรงข้ามเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้น หน่วยงานที่มีความลับทางราชการต้องหาทางป้องกันไม่ให้คนภายนอกเจาะเข้าถึงความลับได้

พวกแฮกเกอร์ที่อยู่ตามสถานทูต สถานกงสุล หรือพวกอาชญากรข้ามชาติแต่ละวันพยายาม “เจาะ” เข้ามา โดยนั่งทำงานอยู่ที่สถานทูต สถานกงสุล หรือสถานที่ที่อยู่ห่างจากหน่วยงานนั้นหลายกิโลเมตรนั่นแหละ เขาพยายามทุกอย่างที่จะถอดรหัสเราให้ได้ ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนรหัสบ่อยๆ แต่วันนี้เขาถอดไม่ได้ พรุ่งนี้เขาก็ทำใหม่ วันหนึ่งเขาคงถอดได้ ซ้ำทำในสถานทูต สถานกงสุล ยังได้เอกสิทธิคุ้มครองอีกด้วย จะทำอะไรก็ได้ ทางการไม่สามารถเข้าไปได้แฮกเกอร์มืออาชีพ และสมัครเล่นจะปกปิดตัวเองโดยใช้ชื่อปลอม หรือไม่ใช้ของคนอื่นโดยเจ้าของไม่รู้

นอกจากนั้น ฝ่ายตรงข้ามอาจส่งไวรัสมาก่อกวน ทำลาย เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเครื่องมือในการป้องกันทั้งคนอื่นส่งไวรัสมาก่อกวนที่อาจทำให้ข้อมูลหายหมด หรือลอบขโมยข้อมูลลับของเราไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะข้อมูลลับทางราชการเกี่ยวกับความลับทางนโยบายด้านการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ การต่างประเทศ ระบบด้านสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา สนามบิน รถไฟบนดิน ใต้ดิน ฯลฯ

โทรศัพท์บางยี่ห้อลักลอบฝังไมโครโฟนไว้ บางคนคิดว่าเราไม่ได้พูดอะไร แต่เขาสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของเราได้ว่าเราชอบ เราเกลียดอะไร มูลเหตุจูงใจของเราคืออะไร เวลานี้เราขัดสนเงินทอง หรือมีปัญหาอะไร ที่เขาอาจใช้ประโยชน์ในการรีครุทเราให้เป็นสายลับหรือจารชนได้ หรือเขาอาจกำหนด ประเด็น หรือ “คีย์ เมจเสจ” ที่อยากจะรู้ไว้ หากมีการพูดถึงเรื่องนี้เครื่องมือของเขาก็บันทึกไว้ทันที

ฝ่ายต่อต้านข่าวกรองต้องหาทางระบุ “ผู้โจมตี” และ “เจตนา” ของเขาให้ได้สำคัญที่สุดคือ คนเหล่านี้ปฏิบัติการมาจากที่ใด ต้องค่อยๆ ตามไปเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้การจารกรรมทางไซเบอร์ดูเป็นเรื่องปกติกันไปแล้ว ช่วยรัฐบาลและหน่วยข่าวกรอง สถานทูต ประชาชน รวบรวมข่าวได้ง่าย เวลานี้แทบแยกไม่ออกว่าใครคือจารชน ใครคือนักการทูต ผู้ช่วยทูตทหาร อาชญากร ประชาชนธรรมดา และแทบแยกไม่ออกระหว่างงานจารกรรมกับการสงครามในบริบทของเสถียรภาพระหว่างประเทศ เพราะวิธีรวบรวมข่าวเปลี่ยนไปหมดแล้ว เป้าหมายก็เปลี่ยนไป โดยเน้นเป้าหมายพลเรือนมากขึ้น เช่น ระบบการประปา ไฟฟ้า โทรคมนาคม การเงิน ตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหลายอย่างเป็นของเอกชน หากเกิดอะไรขึ้นจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ

เวลานี้การหาข่าวทางไซเบอร์มีความเสี่ยงน้อยมากเมื่อเทียบกับผลที่จะได้รับ ใครก็สามารถดูแผนที่โลกทางดาวเทียมของกูเกิลเอิร์ธ ดูบ้านเรือนแต่ละหลังทั้งมองจากทางอากาศและพื้นดินได้ มีอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ติดซ่อนไว้กับรถ สามารถติดตามคนบนรถยนต์คันนั้นว่าไปที่ไหนบ้าง หรือใช้ตรวจสอบรถบรรทุกส่งของไม่ให้ออกนอกเส้นทางได้ ผู้หาข่าวสามารถนั่งอยู่ในประเทศของตน ในสถานทูต สถานกงสุล และหาข่าวของประเทศเป้าหมายได้ โดยลดความเสี่ยงในการที่จะถูกจับกุม

มีข่าวว่า รายงานที่หน่วยข่าวอเมริกาเสนอต่อประธานาธิบดีทุกเช้านั้น ร้อยละ 70 มาจากข่าวทางไซเบอร์ที่ผ่านกรรมวิธีตรวจสอบจนเชื่อถือพอที่จะสรุปรายงานต่อประธานาธิบดีได้ อีกร้อยละ 30 ได้มาจากการปฏิบัติการลับโดยตรง คงไม่ต่างจากประเทศอื่นที่รายงานของหน่วยข่าวส่วนใหญ่เอามาจากไซเบอร์ แต่ต้องมาดำเนินกรรมวิธีก่อนเพราะเวลานี้มีข่าวเท็จ หรือ เฟคนิวส์ มาก

การจารกรรมทางไซเบอร์ปัจจุบันไม่ได้แตกต่างจากการทำสงคราม แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าอย่างแรกไม่ต้องใช้อาวุธ แต่ใช้สมองแทน ส่วนกิจกรรมหลังใช้อาวุธห้ำหั่นกัน

นอกจากแต่ละประเทศทำจารกรรมไซเบอร์ซึ่งกันและกันแล้ว เวลานี้ โลกมีคนเก่งเรื่องไซเบอร์มากมายที่ต้องการทดลองความรู้ความสามารถของตน เช่น ทดลองเจาะระบบการรักษาความปลอดภัยของกระทรวงทบวงกรมที่สำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ อาทิ กระทรวงกลาโหม เหล่าทัพต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ ปรากฎว่าหน่วยงานหลายแห่งของสหรัฐถูกคนอเมริกันด้วยกันเองที่ร้อนวิชาเจาะรหัสลับได้

กรณีของนายจูเลียน แอสซางจ์ ที่เปิดโปงข้อมูลรายงานลับที่สุดของสถานทูตอเมริกันทั่วโลกที่รายงานเข้ากระทรวงต่างประเทศในวอชิงตัสที่ยังไม่ได้ยกเลิกความลับ ผ่านทางวีกิลิคส์ที่ตัวเองตั้งขึ้นมาให้โลกได้รับรู้จนสหรัฐไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน แต่ก็ทำให้คนจำนวนมากในโลกชอบใจเพราะได้รู้ได้เห็นการกระทำของสถานทูตอเมริกันทั่วโลกที่เที่ยวไปแทรกแซง บ่อนทำลาย หรือยุยงให้คนพื้นเมืองก่อการจลาจล หรือล้มรัฐบาลที่ตัวเองไม่พอใจ

เรื่องแบบนี้ ไม่มีใครรู้เบื้องหลังว่า นายจูเลียน แอซซางจ์ ผู้ตั้ง “วีกีลีคส์” และนาย โรเบิร์ต สโนว์เดน มาเพื่อเปิดโปงความลับของทางการอเมริกันและอังกฤษ เพราะความอีโก้ หรือมีประเทศอื่น เช่น รัสเซียอยู่เบื้องหลัง พอทางการอเมริกันรู้ความลับจำนวนมากก็ถูกเปิดเผยไปทั่วโลกเสียแล้ว เท่ากับคนทั้งสองตบหน้าอเมริกันอย่างรุนแรง เวลานี้ ไม่มีใครรู้ว่าคนแบบนายสโนว์เดน และนายแอซซางจ์ จะมีอีกกี่คน ซ่อนตัวอยู่ ณ ที่ใดบ้าง

การจารกรรมสมัยสงครามเย็น สหรัฐกับสหภาพโซเวียตเป็นคู่แข่งกัน มีอังกฤษคอยแทรก แต่งานข่าวกรองทางไซเบอร์ปัจจุบันนี้ นอกจากมหาอำนาจที่กล่าวแล้ว จีนและเกาหลีเหนือผงาดขึ้นมาจนสหรัฐและพันธมิตรต้องหันมาจับตาดูเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อจีนจะเริ่มระบบ 5จี แซงหน้าอเมริกัน และมีข่าวว่า หัวเหว่ย จะติดตั้งอุปกรณ์พิเศษซ่อนในเครื่องของตัว ที่ไอโฟนของอเมริกันก็ติดตั้งอุปกรณ์นี้ตามคำร้องขอของหน่วยงานข่าวกรองและความมั่นคง เพราะฉะนั้น สหรัฐจะไปว่าหรือห้ามจีนก็ทำไม่ได้เต็มปาก