posttoday

“เศรษฐพงค์” เปิดใจ-เปิดอนาคต 5Gไทย นำไทยเป็น Hub เศรษฐกิจ-ดิจิทัล

05 พฤศจิกายน 2562

ไทยเราจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางด้านดิจิทัล หรือ Digital Hub ด้านดิจิทัลการสื่อสารที่สามารถเชื่อโยงไปทั่วโลกได้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาโครงการอีอีซี สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม แลดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.) หรือกมธ.ดีอีเอส รวมทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เคยดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “โพสต์ทูเดย์” ถึงอนาคต 5G ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร คนไทยจะได้ใช้เมื่อไหร่ คุณภาพจะทัดเทียมนานาประเทศได้หรือไม่ และจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างไร รวมถึงอนาคตทางการเมืองจะเป็นอย่างไร วันนี้ “เดอะมาร์ช” จะไขทุกข้อสงสัย

Q : อนาคต 5G ของไทยจะเป็นอย่างไร การประมูลคลื่น จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่อย่างไร

A : เทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย ต้องเรียกว่าอยู่ในช่วงเข้าเส้นสตาร์ท รอเพียงเสียงนกหวีดให้มีการเริ่มต้นออกวิ่งเท่านั้น นั่นก็คือการเปิดประมูลคลื่น 5G ที่ล่าสุด กสทช. ออกมาระบุชัดเจนว่า จะมีการประมูลได้ในช่วงต้นปี 2563 และภายในกลางปี 2563 คนไทยจะได้ใช้ 5G แน่นอน ตรงนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี หากสามารถทำได้ตามเวลาที่ประกาศไว้ เพราะผมเองก็พูดเรื่องนี้มาเสมอ กระตุ้นมาตลอด เพราะไม่อยากให้คนไทย ธุรกิจไทย และประเทศไทยต้องเสียโอกาส ในการศักยภาพของ 5G เพื่อเติมเต็มไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตความเป็นอยู่ ด้านธุรกิจ อุตสาหกรรมที่จะได้ใช้ประโยชน์จาก 5G อย่างมาก เพราะ 5G หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ทำให้การส่งผ่านข้อมูลทำได้รวดเร็วมากกว่าเดิมหลายเท่า จะพลิกโฉมให้อุสาหกรรมการผลิตด้วยการนำเทคโลยี IoT และ AI มาใช้ จะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการสูญเสีย ลดความผิดพลาดจากการผลิต ลดเวลาการผลิต ที่สำคัญคือช่วยลดต้นทุน ตรงนี้จะช่วยภาคธุรกิจได้มาก ซึ่งเทคโนโลยี 5G ยังส่งเสริม เรื่องของรถยนต์อัตโนมัติ ระบบอัตโนมัติในโรงงาน และช่วยให้ผู้ใช้ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ จากระยะไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ความเร็วสูง 5G จะช่วยให้ผู้บริโภคดาวน์โหลดหนังทั้งเรื่องในเวลาแค่ไม่กี่วินาที หรือใช้แอปแบบเสมือนจริง (virtual reality) ได้อย่างน่าตื่นเต้นที่วงการเกมและบันเทิงจะพลิกโฉม ส่วนประชาชนคนทั่วไป จะได้ใช้ประโยชน์จาก 5G แบบเต็มประสิทธิภาพหลังมีการประมูลเลยหรือไม่ ในช่วงเริ่มต้นคลื่น 4G ยังจะเป็นพื้นฐานที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้กับอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ เนื่องจากผู้ให้บริการค่ายต่างๆ จะต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมก่อน คาดว่า ในช่วงหลังจาก 3-5 ปี ไปแล้ว ประชาชนคนทั่วไปจะได้ใช้ 5G ได้เกิน 50% ของประชากรทั้งประเทศ

Q : ความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับ 5G เป็นอย่างไร

A : หากพูดแง่อุปกรณ์ Device ต่างๆ หลายยี่ห้อได้มีการพัฒนาให้สามารถรองรับเทคโนโบยี 5G ไว้แล้ว แต่ในแง่ของการให้บริหาร ยังมีอีกหลายขั้นตอน ตั้งแต่การประมูลเพื่อหาผู้ให้บริการ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ที่ขณะนี้ถือว่ายังมีน้อยมาก จึงเป็นภาระของผู้ให้บริการที่จะต้องลงทุน ซึ่งตรงนี้จะต้องมีคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาดูแลขับเคลื่อน เรียกว่าคณะกรรมการ 5G แห่งชาติ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) เป็นเจ้าภาพร่วมกับ กสทช. ในการจัดตั้ง ซึ่งการตั้งคณะกรรมการ 5G ถือว่า มีความสำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะในเรื่อง 5G แต่รวมถึงการขับเคลื่อนระบบนิเวศน์ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านต่างๆด้วย

Q : คณะกรรมการ 5G แห่งชาติ มีความสำคัญอย่างไร

A : ที่ผ่านมาการดูแลขับเคลื่อนด้านดิจิทัล จะเป็นบทบาทของกระทรวง ดีอีเอส และ กสทช. เสียเป็นส่วนใหญ่ หน่วยงานเหล่านี้ สามารถขับเคลื่อนในภาพรวมได้ แต่การมีคณะกรรมการ 5G ถือเป็นการมอบหมายงานที่เฉพาะเจาะจงคือสามารถขับเคลื่อน ดูแล ติดตามงานด้านเทคโนโลยี 5G ได้โดยตรง ซึ่งหาก 5G สามารถเกิดได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากและเร็วเท่านั้น คณะกรรมการ 5G มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะจะมีบทบาทวางมาตรการส่งเสริมที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นำเอา 5G ไปประยุกต์ใช้เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มประสิทธิภาพตามนโยบายรัฐบาล สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งผมเห็นด้วยที่จะตั้งคณะกรรมการ 5G โดยเร็ว เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียโอกาส ไม่ให้คนไทยต้องเสียโอกาสในการได้เทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม ให้เท่าทันนานาอารยะประเทศ
5G มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินการนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ที่จะต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นส่วนในสำคัญในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา 5G ยังช่วยด้านการศึกษา เช่น โครงการเรียนออนไลน์ฟรีตลอดชีวิต หากมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ตรงไหน ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงก็สามารถเรียนได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพราะ 5G จะเข้าไปแฝงตัวอยู่ในทุกส่วนของธุรกิจ ทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัวจากรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ เช่น location based services มีความชาญฉลาดมากขึ้นในการตัดสินใจ ภาคการผลิตมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยลดต้นทุน ลดความผิดพลาด และเพิ่มปริมาณการผลิตได้

Q : เมื่อพูดถึง 5G หากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ถือว่าประเทศไทยเท่าเทียมหรือล้าหลังกว่าต่างประเทศ

A : ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มี 5G ใช้ ผลชี้ว่าปัจจุบันนี้มีประเทศฟิลิปปินส์ประเทศเดียวที่เพิ่งมี 5G ใช้แล้วเชิงพาณิชย์ ส่วนประเทศอื่นๆ ก็มีแผนที่จะดำเนินให้มี 5G ใช้ภายในปี 2023 แต่สำหรับประเทศไทย ถ้าช้าก็จะกลายเป็นประเทศเกือบสุดท้ายที่อาจจะได้ใช้ 5G ซึ่งก็เป็นหลังปี 2023 แต่สำหรับที่ประเทศจีน มีรายงานล่าสุดว่า บริษัทสื่อสารใหญ่ 3 แห่งของจีนพร้อมใจเปิดตัวเทคโนโลยีไร้สาย 5G ไปแล้วเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และมีการแข่งขันกันในด้านราคาให้บริการอยู่พอสมควร เพราะมีการวิเคราะห์จากไชน่า เทเลคอม ว่าจีนได้ถูกคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการ 5G ด้วยยอดสมาชิกกว่า 170 ล้านคนในปีหน้า จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังไม่ได้ล้าหลังเสียทีเดียว เพียงแต่ผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติของเรื่อง 5G จะต้องมีความจริงใจ ช่วยกันผลักดันให้5G เกิดขึ้นโดยเร็ว และทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านได้

Q : แล้วการที่จะทำให้ 5G ของไทยมีมาตรฐานทัดเทียมกับ 5G ของประเทศต่างๆ ต้องทำอย่างไร

A : มาตรฐาน 5G มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้คนไทยได้ใช้ 5G ที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพเท่าเทียมนานาประเทศ ไม่ใช่เป็น5G เทียม ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจาก 4G เข้าสู่ 5G เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการมาถึงของ 5G ไม่ใช่ทำให้ 4G จะหายไป โดยในการคาดหมายอย่างน้อยอีก 5 ปีข้างหน้าโครงข่าย 4G จะยังคงเป็นโครงข่ายหลักในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับผู้บริโภคอยู่ และจะมีการอัพเกรดทางเทคโนโลยีไปสู่ 5G มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนความจำเป็นที่ต้องมี 5G ในวันนี้ คือการรองรับงานต่างๆ ในส่วนที่ 4G ยังไม่สามารถทำได้ คือการเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ พูดให้เข้าใจง่ายคือ 4G จะยังเป็นโครงข่ายหลักสำหรับผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่อไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปี แต่อาจมีผู้บริโภคบางส่วนประมาณ 20% เปลี่ยนมาใช้ 5G ส่วน 5G จะถูกนำมาทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้โครงสร้างดิจิทัลใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนา 5G ของเรายังมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง ในเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ 3.5GHz ที่ต้องนำมาใช้กับคลื่น 5G ซึ่งจะสอดคล้องกับทั่วโลก ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งนำคลื่นความถี่ย่าน 3.5GHz มาใช้ให้ได้ แม้ว่าจะว่าจะสามารถนำคลื่นความถี่ 2600MHz มาใช้ทำ 5G ได้แต่การทำงานจะไม่เต็มประสิทธิภาพแน่นอน ดังนั้น ประเทศไทยไม่ควรให้ความหวัง 5G บนคลื่น 2600MHz แต่เพียงอย่างเดียว ควรเร่งนำคลื่น 3.5GHz มาใช้ทำ 5G เพื่อให้ 5G ไทยเทียบเท่ามาตรฐานโลก รัฐต้องเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง เพราะการทำ 5G บนคลื่นความถี่ 2600 MHz ย่อมมีความเสี่ยง เพราะถ้าผู้ประกอบการรายที่ได้ความถี่ไปเพียง 60MHz ก็จะมีความเสี่ยงว่า 5G อาจมีคุณภาพด้อยกว่า 4G ได้ เพราะผู้ประกอบการดังกล่าวจะมีความถี่ไม่เพียงพอที่จะทำ 5G อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย ที่ผู้ให้บริการบางรายที่ได้ความถี่ไม่พอ ดังนั้น เมื่อเปิดให้บริการ 5G จึงมีคุณภาพด้อยกว่า 4G ประเด็นสำคัญในการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงไม่น่าจะอยู่ที่เรื่องราคา แต่ควรจะดูแลว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะได้ความถี่ไปในจำนวนที่เพียงพอที่จะทำ 5G ให้มีคุณภาพ และจะต้องพิจารณารีบจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดประโยชน์จะตกอยู่ที่พี่น้องคนไทยจะได้ใช้ 5G อย่างมีคุณภาพ

Q : เทคโนโลยี 5G สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างไร เช่น โครงการ อีอีซี

A : เรื่องนี้ผมเองในฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส ได้มีโอกาสลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี ในภาคตะวันออก เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งพื้นที่จังหวัดชลบุรี ถือเป็นจังหวัดที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลเพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เป็นแหล่งรวมนิคมอุสาหกรรม มีท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งยังได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อรองรับ 5G เป็นการรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่จะต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มี Data center เรียกว่าระบบโครงข่ายการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และการประมวลผลแบบ Cloud ซึ่งเป็น Data center ที่ได้มาตรฐานระดับโลก มีสถานีระบบสื่อสารผ่านเคเบิลใต้น้ำ มีสถานีระบบสื่อสารผ่านโครงข่ายดาวเทียม จะเห็นได้ว่าพื้นที่ภาคตะวันออก ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลจริง เพราะเป็นแหล่งเชื่อมโครงข่ายทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อย่างครบวงจรที่สามารถเชื่อมออกไปยังต่างประเทศทั่วโลกได้
ทำให้เห็นภาพการเชื่อมโยงทั้งหมด ที่ไทยเราจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางด้านดิจิทัล หรือ Digital Hub ด้านดิจิทัลการสื่อสารที่สามารถเชื่อโยงไปทั่วโลกได้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาโครงการ อีอีซี และจะนำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

การจะพัฒนาไปสู่การเป็น Hub ได้จะต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่สมบูรณ์แบบ มีความพร้อมรองรับเทคโนโลยี 5G โดยให้ทุกพื้นที่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องติดตามผู้ให้บริการว่าจะสามารถว่างโครงสร้างพื้นฐาน 5G ได้ครอบคลุมพื่นที่ยุทธศาสตร์ได้แค่ไหน หากทำได้ครอบคลุมก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก และจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในไทยมากขึ้น
“ความสำคัญของดิจิทัลแพลตฟอร์ม นอกจากจะช่วยในเรื่องการสื่อสาร การส่งผ่านข้อมูลการวิเคราะห์ที่รวดรวด ถูกต้อง แม่นยำแล้ว ยังจะช่วยลดต้นทุนให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้อีกด้วย เช่น ในส่วน Data center ที่มีการให้บริการอยู่ในนิคมอุสาหกรรมทางภาคตะวันออก ด้วยมาตรฐานระดับโลก ทั้งความรวดเร็วในการดึงข้อมูลมาใช้ การรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด ทำให้เป็นปัจจัยหนึ่งนักธุรกิจตัดสินใจมาลงทุนในพื้นที่ เพราะไม่ต้องเสียงบประมาณลงทุนทำศูนย์ข้อมูลของตัวเอง จึงเป็นการลดต้นทุนให้กับธุรกิจได้ ทั้งหมดความสำคัญของพื้นที่ภาคตะวันออก ที่จะช่วยให้ไทยก้าวขึ้นเป็น Hub ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ด้านการสื่อสาร ด้านอุตสาหกรรม ของภูมิภาคนี้ได้”

Q : แน่นอนว่าการมาถึงของ 5G มีข้อดีมากมาย แต่ในทางกลับกัน ก็มีบุคคลบางกลุ่มที่จ้องจะใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกกฎหมาย ไทยเรามีการรับมืออย่างไร

A : เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ แต่ไม่ถึงขั้นที่ต้องกังวลมาก เนื่องจากเราได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ไปแล้ว โดยผลจากพรบ.ฉบับนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการ คือ 1. คณะกรรมการการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เรียกย่อๆ ว่า กมช. หรือ National Cyber Security Committee (NCSC) มีหน้าที่ กําหนด เสนอ จัดทําแผนปฏิบัติกําหนด มาตรการและแนวทางต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. 2.คณะกรรมการกํากับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เรียกย่อๆ ว่า กกม. มีหน้าที่กํากับดูแลการดําเนินงานของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และการเผชิญเหตุและนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ รวมถึงกําหนดระดับของภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมทั้งรายละเอียดของมาตรการหรือการดําเนินการที่กําหนดขึ้น เพื่อป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคาม ทางไซเบอร์ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางทหาร และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

ผมเข้าใจว่ากระทรวง ดีอีเอส ได้มีการเสนอรายชื่อคณะกรรมการ กมช. ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อต้นเดือนตุลาคม ก็คงต้องรอว่าครม. จะมีอนุมัติรายชื่อออกมาเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่ารายชื่อของคณะกรรมการ กมช. น่าจะเป็นคนในวงการเทคโนโลยีดิจิทัล มีมีความรู้ความสามารถ เข้ามาช่วยในการระวังป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ได้

Q : สุดท้ายในเรื่องอนาคตการเมืองวางแผนไว้อย่างไรบ้าง

A : ที่จริงแล้วเรื่องแผนทางการเมือง ผมไม่ได้วางหรือมีอยู่ในหัวเลยว่าผมเองจะต้องไปเป็นส.ส. หรือรับตำแหน่งอื่นๆ การเข้ามาทำงานการเมืองครั้งนี้ ต้องให้เครดิต และาขอคุณอย่างมากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรวม.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ท่านคงจะเห็นความสามารถอะไรบางอย่างของผม จึงได้ชักชวนให้เข้ามาทำงานกับพรรคภูมิใจไทย ครั้งแรกที่เข้ามาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะเข้ามาทำงานอะไร อยู่ตำแหน่งไหน ผมยังบอกท่านเลยว่าผมไม่เป็นส.ส.นะ เพราะคิดว่ามันต้องมีประสบการณ์การเมืองมาก่อน แต่ท่านบอกว่า “พี่มาร์ชๆ ต้องเป็นส.ส. เชื่อผม” ซึ่งผมในฐานะลูกพรรค หัวหน้าบอกว่าอย่างนี้ก็คงบอกเป็นอย่างอื่นไม่ได้ บอกไปเพียงว่า “แล้วแต่พี่หนูเลยครับ เห็นควรให้ผมอยู่ตรงไหนได้เลย ผมทำงานได้ ไม่มีปัญหา” สุดท้ายเขาก็ให้ผมมานั่งเป็นโฆษกพรรคภูมิใจไทย แล้วเลือกตั้งเสร็จสักพักก็ได้เลื่อนขึ้นมาเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ

“ไม่คิดไม่ฝันมาก่อน เลยว่าวันหนึ่งจะมาเป็นนักการเมือง ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาวนเวียนอยู่กับแวดวงทหาร แวดวงเทคโนโลยีดิจิทัลการสื่อการ โทรคมนาคม แต่เมื่อเข้าสู่การเมืองจริงๆ แล้วก็ทำให้เราได้เห็น ได้รู้เข้าใจการเมือง เข้าใจชีวิตส.ส.มากขึ้น ซึ่งการเป็นส.ส. ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ง่ายเลยจริงๆ โดยเฉพาะส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง หากเขาไม่มีต้นทุนนามสกุลดังมาก่อน ต้องทุ่มเทพลังมากสุดๆ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ รวมถึงกำลังทรัพย์ด้วย เพราะการทำกิจกรรมทุกอย่างมีต้นทุนหมด แม้กระทั่งการเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ไม่ง่ายเช่นกัน หากคนอยากเป็นจริงๆ ต้องลุ้นตั้งแต่อยู่ลำดับที่เท่าไหร่ในบัญชีรายชื่อ แล้วเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ต้องมาลุ้นอีกว่า คะแนนที่พรรคได้ จะมาถึงลำดับตัวเองมั้ย แต่สำหรับผมไม่ได้เรียกร้องอะไร อยู่ลำดับไหน อยู่ตรงไหน หรือไม่ในบัญชีรายชื่อเลยก็ได้ แต่ก็เป็นความเมตตาของหัวหน้าพรรค ทำให้ผมอยู่ในลำดับที่โอเค แล้วก็ได้เป็นส.ส. สำหรับมาอยู่ตรงจุดนี้ก็โอเคแล้ว”

Q : การเข้ามาเป็นนักการเมืองไม่ต้องการเป็นรัฐมนตรี หรือไม่ได้ต้องการเป็นส.ส.ตั้งแต่แรกเลยด้วยซ้ำ แล้วเป้าหมายของการเป็นนักการเมืองคืออะไร

A : ตอนแรกไม่ได้คิดถึงเป้าหมายกับการเป็นนักการเมือง แต่เมื่อได้เข้ามาแล้ว ได้เป็นส.ส. ได้ทำงานในฐานะรองประธานกมธ.ดีอีเอส รู้สึกสนุกขึ้นมา มันเป็นงานที่ต่างออกไปจากที่เคยทำ การเป็นส.ส. เป็นกรรมาธิการฯ ในด้านที่เราเชี่ยวชาญ มีความถนัด ทำให้เราสามารถทำงานผลักดันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ ดังนั้นเป้าหมายของการเป็นนักการเมืองของผม คงเป็นการได้ทำงานในด้านที่เชี่ยวชาญ สร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ให้กับประเทศในด้านดิจิทัล เพื่อให้คนไทยได้ใช้เทคโนโลยีที่ดี มีคุณภาพในราคาที่ยุติธรรม ส่วนตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ไม่คิดจริงๆ หากจะได้เป็นอะไร ก็ขอให้ได้เป็นด้วยการกระทำผลงาน เพราะคงไม่มีอะไรอย่างอื่นไปแลกเพื่อให้ได้มาแน่นอน