posttoday

อินเดีย 2562

24 กันยายน 2562

น.พ.วิชัย  โชควิวัฒน

โดย...น.พ.วิชัย  โชควิวัฒน

****************************************

ผู้เขียนได้รับเชิญไปร่วมประชุมขององค์การอนามัยโลกที่อินเดีย เรื่องการวิจัยการแพทย์ดั้งเดิม (Traditional Medicine Research) ระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2562 ต้องเดินทางตั้งแต่วันเสาร์ที่ 7 กันยายน ค้างที่กรุงนิวเดลี 1 คืน แล้วเดินทางต่อไปสนามบินเมืองราชโกฐรัฐคุชราต ในวันอาทิตย์ นั่งรถต่อไปประชุมที่เมืองจัมนาคาร์ รัฐคุชราต เสร็จประชุมแล้วออกเดินทางกลับย้อนเส้นทางเดิมตั้งแต่เช้ามืดวันพฤหัสบดีที่12 มาต่อเครื่องบินที่นิวเดลี ถึงสนามบินสุวรรณภูมิหัวค่ำในวันเดียวกัน

เป็นการเดินทางเพื่อไปประชุมเท่านั้น ตลอดระยะเวลาแทบไม่มีโอกาสเข้าไปในเมืองเลย การค้างคืนที่นิวเดลีก็เป็นการพักค้างระหว่างทางที่โรงแรมใกล้สนามบิน มีเพียงช่วงเช้าวันพุธ ซึ่งเป็นการประชุมวันสุดท้าย ได้ไปเยี่ยมชมสถาบันวิจัยอายุรเวท ในมหาวิทยาลัยอายุรเวทที่เมืองจัมนาคาร์เป็นเวลาครึ่งวัน อย่างไรก็ดีก็มีโอกาสได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของอินเดียได้พอสมควร

ผู้เขียนมีโอกาสไปประชุมที่อินเดียครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2536 ครั้งนั้นเป็นการประชุมขององค์การอนามัยโลกเช่นกัน ประชุมเรื่องการควบคุมโรคติดต่อในภูมิภาค จัดที่สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงนิวเดลี ครั้งนั้นมีเวลาเดินทางไปชมทัชมาฮาลที่เมืองอัครา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงนิวเดลีเพียง 206 กม. แต่ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์เก๋งยี่ห้อดีราว 5 ชั่วโมง เพราะถนนมีเพียง  2 ช่องทางจราจรสวนกัน ผิวถนนก็ขรุขระเพราะคุณภาพการก่อสร้างและการบำรุงรักษาไม่ดี ยางมะตอยที่ลาดลอกหลุดเป็นช่วงๆ ทำให้ถนนบางตอนเป็นหลุม เป็นบ่อ และนอกจากยวดยานทั้งรถยนต์ 4 ล้อ ขนาดต่างๆ แล้ว ยังมียวดยานที่ลากโดยสัตว์ เช่น วัว อูฐ อยู่บนท้องถนนด้วย ในเขตเมืองหรือชานเมืองจะพบวัว อูฐ แพะ ทั้งนอนและเดินบนถนนระเกะระกะ ทั้งบนถนนและริมทาง มีมูลสัตว์ และสิ่งสกปรกอื่นๆ รวมทั้งอุจจาระคน

ต่อมาผู้เขียนมีโอกาสไป “แสวงบุญ” ตามสังเวชนียสถาน และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติอีกหลายแห่งเมื่อเกือบ 20 ปี มาแล้ว สภาพถนนหนทางส่วนใหญ่ในเวลานั้นก็ยังเหมือนเดิม เพราะสังเวชนียสถานส่วนใหญ่อยู่ในรัฐพิหาร และอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่ค่อนข้างยากจน จากพุทธคยาไปสารนาถระยะทางราว 270 กม. บ้านเราเวลานั้นใช้เวลาเดินทางราว 3 ชม. แต่ที่อินเดียต้องใช้เวลาเดินทางราว 7-9 ชั่วโมง ระหว่างทางไม่มีห้องน้ำ ถ้าจะ “ถ่ายทุกข์” ต้องใช้วิธีแยกกัน “หญิงซ้าย-ชายขวา”  คือแยกไปคนละฟากถนน ผู้หญิงจะต้องถือร่มไปกางบังแล้วนั่งยองๆ ทำกิจธุระส่วนตัว ส่วนผู้ชายถ้าถ่ายเบาก็เพียงยืนหันหลังให้รถ

สภาพถนนหนทางวันนี้ แตกต่างจากแต่ก่อนมาก ถนนจากสนามบินราชโกฐไปเมืองจัมนาคาร์เป็นถนน 4 ช่องทางจราจร ระยะทางราว 100 กม. ผิวถนนเรียบ เพราะคุณภาพการก่อสร้างได้มาตรฐาน มีการ  บดอัดดี ลาดด้วยแอสฟัลติกคอนกรีต ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยช่วงเช้ามืดที่เดินทางจากเมือง จัมนาคาร์ไปสนามบินราชโกฐ  ช่วงออกจากตัวเมืองการจราจรติดขัดบ้างจากที่มีฝูงวัวใช้ถนนเป็นที่หลับนอน วัวบางตัวนอนนิ่งไม่ยอมลุกหลบแม้รถจะบีบแตรไล่

สนามบินอินทิราคานธีที่กรุงนิวเดลี ปัจจุบันเป็นสนามบินทันสมัย ผิดจากแต่ก่อนที่ยังเป็นสนามบินขนาดย่อม เก่า ทรุดโทรมมาก ปัจจุบันห้องน้ำสะอาด มีพนักงานคอยตรวจตราทำความสะอาดให้เห็นเป็นประจำ พบอ่างล้างหน้าชุดหนึ่งน้ำไม่ไหลเพราะเครื่องเซนเซอร์เสีย ก็มีช่างสะพายเป้เครื่องมือไปซ่อมจนใช้การได้ ที่น่าสังเกตมากคือ พนักงานรักษาความสะอาดทุกคนติดป้ายไว้ที่หน้าอก มีข้อความว่า “กรุณาอย่าจ่ายทิป” (No Tip Please) ผิดจากแต่ก่อนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะแต่ก่อนพนักงานที่คอยทำหน้าที่ตามจุดต่างๆ จะคอยแบมือหรือออกปากขออยู่เป็นระยะๆ

แนวคิดไม่ขอรับทิปนี้ นับว่าก้าวหน้ามาก เพราะเป็นการยก “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของพนักงานชั้นผู้น้อยให้อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเศษเงินจากผู้ไปใช้บริการ ซึ่งปรัชญาแนวคิดนี้เป็น “วัฒนธรรม” ของญี่ปุ่นมานานแล้ว ตรงข้ามกับ “วัฒนธรรม” ตะวันตกที่ถือการจ่ายทิปเป็น “ธรรมเนียม” ที่พึงปฏิบัติมาช้านาน ตราบจนปัจจุบัน

การยกเลิกธรรมเนียมทิปของอินเดียน่าจะถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และจะเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนอินเดียมากขึ้น เพราะย่อมลดพฤติกรรมที่ก่อความรำคาญ และอึดอัดให้แก่ผู้ไปเยือน ข้อสำคัญคือ เพิ่มความเคารพนับถือแก่คนอินเดียมากขึ้น

ภาพหนึ่งที่ยังไม่หมดไปจากเดิม คือ ยังมีทหารถือปืนกลมือรักษาความปลอดภัยอยู่ทั้งที่สนามบินนิวเดลี และสนามบินเมืองราชโกฐ แสดงถึงภาวะความ “ไม่สงบ” ของประเทศ มูลเหตุน่าจะเป็นเพราะความขัดแย้งกับประเทศปากีสถาน ที่ยังคุกรุ่น และเมืองราชโกฐก็เป็นถิ่นของชาวทมิฬ ที่รัฐบาลเคยมีปัญหาขัดแย้งรุนแรงกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในศรีลังกา จนเกิดกรณีลอบสังหารนายกรัฐมนตรีราชีพ คานธี ในรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน คือ บริการแลกเปลี่ยนเงินตราที่สนามบิน แต่ก่อนบริการนี้ที่สนามบินอินเดียค่อนข้างยุ่งยาก อัตราแลกเปลี่ยน “ไม่ดี” และมักคิดค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง แต่เวลานี้สถานการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม เมื่อเปรียบเทียบกับบริการที่สนามบินบ้านเรา กล่าวคือ ที่สนามบินสุวรรณภูมิอัตราแลกเปลี่ยนวันนั้น 1 รูปี แลกได้ 0.6 บาท แต่ที่สนามบินอินทิราคานธี 1 บาท แลกได้ถึง 2.18060 รูปี แตกต่างกันถึงร้อยละ 30.8 ชัดเจนว่าธนาคารของไทยเอาเปรียบลูกค้าในเรื่องนี้มาก

โดยบริการแลกเปลี่ยนที่สนามบินอินทิราคานธีคิดค่าบริการแลกเปลี่ยนและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ ผู้เขียนแลกเงิน 2,000 บาท ได้เป็นเงินรูปี 4,361 รูปี หักค่าบริการแลกเปลี่ยน 6 รูปี ภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาลกลาง 9% เป็นเงิน 22.50 รูปี ภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาลแห่งรัฐ 9% เป็นเงิน 22.50 รูปี รวมหักไป 51 รูปี เหลือเงินสุทธิ 4,310 รูปี มากกว่าแลกที่เมืองไทยราว 977 รูปี หรือราวร้อยละ 29.3

อินเดียยังคงเป็นสวรรค์ของนักอ่านเหมือนเดิม ที่สนามบินอินทิราคานธีมีร้านหนังสือ WH Smith ตั้งอยู่หลายแห่งทั้งขาเข้าและขาออก หนังสือ A Year With Peter Drucker ของสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์ คอลลินส์ ปกแข็ง 494 หน้า ราคาเพียง 599 รูปี หนังสือ The Ministry of Utmost Happiness ของ    อรุณธาตี รอย ของสำนักพิมพ์เพนกวิน ปกแข็ง 445 หน้า ราคาเพียง 599 รูปี หนังสือ The TaTa Group ของสำนักพิมพ์เพนกวิน ปกแข็ง 488 หน้า ราคาเพียง 699 รูปี หนังสืออรรถศาสตร์ของเกาทิลยะ หรือ จาณักยะ (ที่ปรึกษาคนสำคัญของพระเจ้าจันทรคุปต์ ปู่ของพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านผู้นี้คือบุคคลที่ชาวตะวันตกตั้งฉายาว่า “แมคเคียเวลลีแห่งอินเดีย” แต่ความจริงจาณักยะเขียนคัมภีร์นี้ก่อนแมคเคียเวลลีเกือบสองพันปี) ของสำนักพิมพ์เพนกวิน ปกอ่อน 832 หน้า ราคาเพียง 699 รูปี

ราคาหนังสือนี้ ไม่มีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีหนังสือส่วนหนึ่งลดราคาโดยเล่มแรกซื้อราคาเต็ม เล่มที่ 2 ลด 50% ด้วย

**************************************************************