posttoday

จินดามณี (จบ)

17 กันยายน 2562

น.พ.วิชัย   โชควิวัฒน

โดย...น.พ.วิชัย   โชควิวัฒน

ยังมีหนังสือ จินดามณีอีก 2 ฉบับที่ยังไม่ได้กล่าวถึง คือฉบับหมอบรัดเล และ “ฉบับพระเจ้าบรมโกศ” ที่นายขจร สุขพานิชย์ ได้นำสำเนามาจากต้นฉบับสมุดข่อยอันเก็บรักษาไว้ที่ Royal Asiatic Society ณ กรุงลอนดอน นำมามอบให้กรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2504 จินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ จึงมิได้กล่าวถึงไว้ เพราะได้ทำบันทึกเรื่องจินดามณีไว้ก่อน ก่อน 20 ปี  คือ ตั้งแต่ พ.ศ.2485

จินดามณี ฉบับพระเจ้าบรมโกศนี้ สำนักพิมพ์เพชรกะรัตได้นำมารวมพิมพ์ไว้โดยจั่วหัวไว้กันเข้าใจผิดว่า “จินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ” เนื้อหารวม 35 หน้า มีแต่เรื่องการสอนภาษาไทย ไม่มีตัวอย่างโคลงกลอน ย่อหน้าแรก มีข้อความน่าสนใจ ดังนี้

“อันหนึ่งในจดหมายแต่ก่อนว่า ศักก่ราช 655(1)  มแมศก พรญารองเท้าได้เมืองษรีสัชนาไลยแล้ว แต่งหนังสือไทยแลจ่ได้ว่าแต่งรูปก็ดีหมี่ได้ว่าไว้แจ้งอนึ่งแม่หนังสือแต่ กกา กน ฯลฯ ถึงเกอยเมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว เหนว่าพรญารองเจ้าจ่แต่งแต่รูปอักษรไทย”

ศักราช 645 ตรงกับ พ.ศ.1826 ที่ประวัติไทยเคยจารึกว่าเป็นปีที่พระเจ้ารามคำแห่งมหาราช “ประดิษฐอักษรไทย” ชื่อ “พรญารองเท้า” “พรญารองเจ้า” น่าจะหมายถึง “พระร่วงเจ้า” และเนื้อความต่อมาก็มีระบุว่า แม่หนังสือแต่ กกา กน ถึง เกย เมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว เห็นว่าพระร่วงเจ้า “จะแต่งแต่รูปอักษรไทย” ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ อ.ฉันทิชย์ สันนิษฐานไว้

ส่วนฉบับหมอบรัดเล สำนักพิมพ์โฆษิตซึ่งนำมาพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2549 สรุปไว้ว่า หมอบรัดเล ได้พิมพ์ขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2472 โดยคัดสรรมาจากตำราเรียนเก่าหลายเรื่อง และสอดแทรกเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยมาไว้ในเล่มเดียวกัน เช่น (1) ประถม ก กา แจกลูกอักษร ไม่มีหลักฐานว่าผู้ใดแต่ง และแต่งในสมัยใด ว่าด้วยการใช้และสะกดตัวอักษร (2) จินดามุนี คัดมาจากฉบับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระองค์เจ้านอม) เฉพาะการประพันธ์โคลง เช่น โคลงสุภาพ โคลงตรีพิธพรรณ โคลงจัตวาทัณฑ์ และโคลงวิวิชมาลี เป็นต้น

(3) ประถมมาลา โดยพระเทพโมลี (ผึ้ง) วัดราชบูรณะ พระราชาคณะในรัชกาลที่ 3 เป็นคนสำคัญคนหนึ่งในยุคนั้น มีความรู้ดีทั้งไทยและขอม แต่งประถมมาลาเพื่อเป็นตำราสั่งสอนวิชาหนังสือภาษาไทยให้ถูกต้องตามแบบจินดามณี และ (4) ปทานุกรม คัดจากหนังสือของพระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เฉพาะส่วนของราชาศัพท์ และได้เพิ่มศัพท์กัมพูชา ศัพท์ชวา คำที่นักปราชย์ให้ใช้ด้วย จินดามณีฉบับหมอบรัดเล กรมศิลปากรจึงถือเป็น “ฉบับสำรวมใหญ่”

 อ.ฉันทิชย์ ได้สรุปว่า “จินดามณีได้แพร่หลายมากในรัชกาลที่ 4  ... เพิ่งจะเลิกใช้จินดามณีในรัชกาลที่ 5 เมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งมูลบทบรรพกิจโดยพระบรมราชโองการ เมื่อ พุทธศักราช 2414”

 จะเห็นว่า รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้พระยาศรีสุนทรโวหาร แต่งตำราสอนภาษาไทยตั้งแต่แรกทรงครองราชย์ครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2411 พระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษากับ 10 วัน เท่านั้น ตำราชุดมูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหารปัจจุบันก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว แม้จะเป็นตำราที่ทรงคุณค่ายิ่งในอดีต เพราะเป็นตำราที่แต่งขึ้นตาม “แบบโบราณ” ไม่ได้นำวิชาครุศาสตร์ (Pedagogy) มาประยุกต์ใช้ ทำให้ไม่สามารถสู้ได้กับตำราเรียนสมัยใหม่ เช่น “แบบเรียนเร็ว” หรือ “แบบเรียนเร็วใหม่” ที่ผู้เขียนได้ใช้เป็นแบบเรียนเมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว รวมทั้งตำราที่มีพัฒนาต่อๆ มาในรุ่นหลังๆ

มีตำราเรียนภาษาไทยชุดหนึ่งที่ควรกล่าวถึง คือ “ดรุณศึกษา” ของท่านเจษฎาจารย์ หรือภารดา ฟ. อีแลร์ แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ

น่าสนใจว่าท่าน ฟ.อีแลร์ แต่งตำราเรียนชุดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 หลังจากที่ท่านเดินทางจากฝรั่งเศสเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยได้เพียง 9 ปี เท่านั้น

ลองคิดดูว่า เราคนไทยเอง เรียนภาษาไทยจนจบมหาวิทยาลัย จะแต่งแบบเรียนภาษาไทยได้ไหม หรือถ้าเราไปอยู่ต่างประเทศสัก 9 ปี จะแต่งตำราเรียนภาษาของประเทศนั้นได้หรือไม่  แต่แบบเรียนภาษาไทยของท่าน ฟ. อีแลร์ ยังมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ทันสมัย โดย “ยังคงรักษาเนื้อหาสาระเดิม ตามแนวทางของท่านภราดา    ฟ. อีแลร์ ไว้อย่างครบถ้วน” แบบเรียนชุดนี้ แบ่งเป็น 5  เล่ม เล่มแรกสำหรับชั้น “ปฐมวัย” ที่เหลือสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ฉบับสำหรับปฐมวัย พิมพ์ครั้งที่ 65 เมื่อ พ.ศ. 2561 ฉบับประถมปีที่ 1-4 ในปี 2561 พิมพ์ครั้งที่ 58, 55, 52 และ 47 ตามลำดับ

วิธีเขียน เริ่มจากอักษรที่ง่ายที่สุด คือ อักษรกลาง 9 ตัว  ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ ผสมกับสระเสียงยาว 4 ตัว คือ อา อี อือ อู จากนั้นเป็นการผสมคำง่ายๆ  จากพยางค์เดียว เป็น 2, 3, 4, 5 พยางค์

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งในแบบเรียนของท่าน ฟ. อีแลร์  คือ เมื่อนำคำมาเรียงต่อกันเป็นวลี หรือ  ประโยค ตลอดจนเป็นความเรียง จะแยกคำออกจากกันเหมือนในภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาอังกฤษ เช่น

ปู่  แก  ใจ  ดี 

ไก่  อู  ตี  ไก่  ป่า

เจ้า  ดื้อ  ปู่  แก  ตี  เอา

การยกตัวอย่างคำ ก็เริ่มจาก คำโดดๆ เพิ่มเป็น สองคำ สามคำ สี่คำ ... ทำให้เด็กได้ค่อยๆ เรียนรู้ และซึมซับไปทีละน้อยๆ จากนั้นก็เริ่มตัวอย่างประโยคสั้นๆ โดยจะผูกประโยคในลักษณะการสอนด้าน อะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร ไปทีละน้อย เช่น

ผู้  ใด  ดี  ต่อ  เจ้า  ก็  ให้  เจ้า  ดี  ต่อ  เขา

 เข้า  ถ้า  ให้  ดู  ผา  เข้า  ป่า  ให้  ดู  ไผ่

เจ้า  ขี้  ฉ้อ  เขา  เขา  ก็  เอา  ขื่อ  ไม้เจ้า

พ่อ  แม่  ว่า  ก็  ให้  เชื่อถือ

ยุ  ให้  ว่า  ตำ  ให้  รั่ว  ชั่ว  แท้   แท้

จากนั้นประโยคสั้นๆ ก็เริ่มด้วย นิทานสั้นๆ นิทานเรื่องแรกอยู่ในแบบเรียนปฐมวัย บทที่ 11 เรื่องเจ้าจำปี เนื้อหาสั้นๆ ดังนี้

“ตาฉ่ำ  บิดา  เจ้าจำปี  จะ  ไป  เผา  กอไผ่  ป่า

ก็  ให้  เจ้าจำปี  เอา  ไต้  ไป  ให้  แก  เจ้าจำปี  ดีใจ

 ก็  เอา  ไต้  ห่อ  ผ้า  ไป  ให้

 

แต่  เจ้าจำปี  สิ  ไป  กะโอ้  กะเอ้  เฝ้า  แต่  ดู

กระแต  เข้า  กอไผ่  ขา  ก็  เห  ไป  ปะ  เตะ  ตอไผ่  เข้า

ตอไผ่  ก็  ตำ  เอา  เจ้าจำปี ก็  จำสู้  กะเตาะ  กะแตะ

 ไป  หา บิดา

 

ตาฉ่ำ  ดู  เจ้าจำปี  ขา  เปะปะ  เปะปะ  ก็  ขอ

 ดู  ขา  เจ้าจำปี  ดู  ดู  ไป  ก็  เข้าใจ  แก  ก็  เอา  ขี้ไต้

 กะ  ใบสะเดา  เผา  ตำใส่  ขา  ให้  แต่  แก  ดุ  เจ้า

จำปี “อือ! ตอไผ่  ตำ  เอา  ก็  สาแก่ใจ  ต่อไป

ถ้า  เข้า  ถ้ำ ก็  ให้  ดู  ผา  เข้า ป่า  ก็  ให้  ดู ไผ่ สิ  เจ้า”

 

เจ้าจำปี  เขา ดี  บิดา  ดุ  เขา  ก็  จำ  ได้

ต่อไป  ถ้า  เขา  เข้า  ป่า  ก็  เอา  ตา ดู  เอา  หู  ใส่

 

แบบเรียนดรุณศึกษา  ปฐมวัย มีนิทานสั้นๆ  รวม 10 เรื่อง อักขรตัวเขื่อง อ่านง่าย สบายตา ความยาวรวม 64 หน้า มีทั้งหมด 32 บท 

ดรุณศึกษา ชั้น ป. 1 ใช้อักษรตัวเล็กลง แต่ยังอ่านสบายตา มี 59 บท ความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 90 หน้า เรื่องตัวอย่างยังเป็นนิทานสอนใจ ยาวขึ้น คำยากขึ้น ประโยคยาวขึ้น เริ่มมีความรู้คือเรื่องเจ้าฮาบุ เจ้ายิ่ง และสาม   พระยา ในบทที่ 55 แต่ก็เน้นเรื่องคำสอนไม่ให้มีจิตริษยาเป็นหลัก และบทสุดท้ายเขียนเป็นนิทานคำกลอน เริ่มว่า

เรื่อง สุดท้าย  หมาย  ให้  แปลก  กว่า  ทุก  บท

จึง  กำหนด  ไว้  เป็น  กลอน  สอน  พ่อ  หนู

ยัก  อุบาย  หมาย  เผื่อ  เมื่อ  อ่าน  ดู

ฟัง  แปลก  หู  ไป  เสีย  บ้าง  คง  ตั้งใจ ...

ดรุณศึกษา ชั้น  ป. 2 หนาที่สุดถึง 156 หน้า เริ่มแทรกเรื่องคริสต์ศาสนา ในบทที่ 2 และมีบทร้อยกรองมากขึ้น ทั้งนำมาจากของเก่า และแต่งขึ้นใหม่ น่าอัศจรรย์ที่ท่าน ฟ. อีแลร์ นอกจากรู้เรื่องภาษาไทย และเรื่องไทยๆ อย่างลุ่มลึกแล้ว ยังแต่งบทกวีได้ดีมาก  ใช้ภาษาง่ายๆ แต่กระชับ ชัดเจน เนื้อความดี และสัมผัสดี ฉบับสำหรับ ป.3 และ 4 ก็ค่อนข้างหนา คือ 140 และ 154 ตามลำดับ

เป็นแบบเรียนภาษาไทยที่ควรอ่าน เพื่อเป็นแบบอย่างว่า ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเพียง 9 ปี สามารถสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมและยั่งยืนนี้ขึ้นได้