posttoday

“ไพร่” ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560

10 สิงหาคม 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

***************************************************

ทุกวันนี้คนไทยยังไม่พ้นความเป็น “ไพร่”

ความเป็นไพร่ก็คือ “สำนึกของการพึ่งพิง” แปลว่า คนไทย(จำนวนไม่น้อย)ยังต้องการที่จะพึ่งพิงผู้มีอำนาจ ผู้ที่จะมาดูแลทุกข์สุข โดยรู้สึกว่านี่แหละคือระบอบการปกครองที่ถูกต้องหรือถูกใจ เพราะตัวเราไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องการบ้านการเมือง เนื่องจากมีคนใหญ่คนโตที่เขามีอำนาจวาสนามาช่วยปกครองดูแลและจัดการเรื่องต่างๆ ให้ พวกเราก็มีความเป็นสุขสบายดีภายใต้กฎหมายที่เขานำมาควบคุมเรา เพียงแค่เราเชื่อฟังไม่กระด้างกระเดื่องหรือโต้แย้งขัดขวางผู้มีอำนาจเหล่านั้น

เราคงจะยังไม่ลืมสโลแกนในการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐที่ว่า “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” นั่นก็สะท้อนถึงสำนึกของการพึ่งพิงที่ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เพราะลุงตู่หรือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระยะเวลาที่ยึดอำนาจและปกครองมาได้ถึง 5 ปีนั้นว่า พวกเราล้วนแต่ได้รับความอยู่รอดปลอดภัยมากกว่ารัฐบาลใดๆ ดังนั้นถ้าเราให้ลุงตู่อยู่ในอำนาจต่อไปบ้านเมืองก็น่าจะสงบสุขปลอดภัยไปอีกโดยตลอดเช่นกัน

แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะไม่มีอะไรปลอดภัยภายใต้การพึ่งพิงคนอื่น ตราบใดที่ทหารไม่ใช่ทหารของประชาชน แต่เป็นทหารของผู้นำทหารด้วยกัน เช่นเดียวกันกับตำรวจที่ไม่ใช่ตำรวจของประชาชน แต่เป็นตำรวจของนักการเมืองและผู้มีอำนาจ รวมถึงข้าราชการที่ไม่ได้รับใช้ประชาชน แต่ทำราชการเพื่อความอยู่รอดและความก้าวหน้าของตน คนเหล่านั้นจึงไม่สามารถพึ่งพิงได้อย่างแท้จริง

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้มีอำนาจนั่นเองที่ “กลัว” การหมดสิ้นอำนาจมากที่สุด และผู้ที่จะแย่งชิงอำนาจจากพวกเขาไปก็คือประชาชน โดยประชาชนที่ “รู้เท่าทัน” ดังนั้นพวกเขาจึงหันมาสร้าง “กลไก” ในการรักษาอำนาจ และพยายาม “ครอบงำ” ประชาชนไม่ให้มีทางสู้ ง่ายที่สุดคือทำให้ประชาชนที่ยังไม่รู้ทัน “มัวเมาลุ่มหลง” อยู่ในมายาคติที่ผู้มีอำนาจพยายามโปรยปราย เช่น นโยบายประชานิยม การเอาอกเอาใจในรูปแบบต่างๆ และสร้างความหวาดกลัวว่าถ้าไม่มีผู้มีอำนาจอย่างพวกเขา(คือทหารนี่แหละ) ชะตาของบ้านเมืองที่รวมถึงชะตาชีวิตของประชาชนนี้ด้วย จะไม่อยู่รอดปลอดภัย

หลายครั้งที่ทหารใช้กลไกง่ายๆ ในการรักษาอำนาจ ก็คือการใช้อำนาจพิเศษของคณะปฏิวัติรัฐประหาร “กดหัว” ศัตรูและประชาชนไม่ให้กล้าหือ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผ่านการรัฐประหารหลายๆ ครั้ง ทหารกลับพบว่าอำนาจจากการกดหัวนั้นไม่ได้ยั่งยืนคงทน เช่น กรณีการลุกฮือขึ้นขับไล่เผด็จการทหารของนักศึกษาประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516  หรือแม้จะพยายาม “รอมชอมประสานประโยชน์” ให้มีการใช้อำนาจร่วมกันระกว่างกลุ่มทหารกับนักการเมือง เช่น การเขียนรัฐธรรมนูญ 2521 ที่ให้ทหารในวุฒิสภามีอำนาจเหมือนกันกับนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร แต่ตัวนายกรัฐมนตรีคนแรกในระบบนี้คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ก็พังไป เพราะความร้าวฉานในวุฒิสภานั่นเอง ถึงแม้นายกรัฐมนตรีคนต่อมาคือพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์จะอยู่ในตำแหน่งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมาได้อย่างยาวนาน แต่ก็ไม่ใช่เพราะความราบรื่นในการประสานประโยชน์กันระหว่าง ส.ว.กับ ส.ส.แต่อย่างใด แต่ก็เป็นด้วย “บารมี” ของพล.อ.เปรมโดยแท้

ในการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด คือ 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 ทหารก็หันไปงัดกลไกเดิมมาใช้ คือมุ่งใช้อำนาจพิเศษกำจัดศัตรูเป็นสำคัญ นั่นก็คือพยายามที่จะขุดรากถอนโคน “ระบอบทักษิณ” แต่เมื่อความพยายามนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ก็หันมาใช้การดูดกลืนเอาเข้ามาเป็นพวก อย่างกรณีการตั้งพรรคพลังประชารัฐที่ได้ “ดูด” คนในระบอบทักษิณเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ “สุดยอด” ของกลอุบายที่ใช้ในการรักษาอำนาจ เพราะที่ทำไว้อย่างสุดยอดนั้นก็คือ การวางกลไกต่างๆ ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560  นั่นเอง

ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึงในรายละเอียด แต่ขอพูดในภาพรวมและกลไกหลักๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือการที่ให้มีวุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกของทหาร(หมายถึง คสช.ที่ทำหน้าที่นี้) ซึ่งมีข้อสังเกตว่าจะเน้นแต่เฉพาะ “ผู้ซื่อสัตย์” ต่อ คสช.นั้นเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันที่ถือว่าเป็นสุดยอด “อุบายอุบาทว์” เช่นกันก็คือ ทำให้สภาผู้แทนราษฎรอ่อนแอ ควบคุมพรรคการเมืองไม่ให้กร่าง และการจัดระบบเลือกตั้งที่ยอกย้อนซ่อนเงื่อน ที่ร้ายที่สุดก็คือหากมีปัญหาใดๆ ในระบบรัฐสภา รัฐบาล(ที่หมายถึงผู้มีอำนาจ)ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงของ ส.ส. แต่สามารถใช้ ส.ว.เข้ามาแก้ปัญหาให้ได้ อย่างเช่นที่ได้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าเศร้านี้ในการเสนอเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ที่บรรดา ส.ส.แทบจะ “ไร้ความหมาย”

รัฐธรรมนูญ 2560 จึงอาจจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของ “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” โดยการสถาปนาชนชั้นผู้มีอำนาจให้สามารถอยู่ไปได้อย่างคงทน รวมถึงการหล่อเลี้ยงแบ่งสรรอำนาจกันอยู่แต่ในหมู่ชนชั้นผู้มีอำนาจเหล่านั้น ไม่ให้เข้ามาแทรกแซงแบ่งแย่งไปได้ ดังเช่นที่ไม่ได้ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยคือประชาชนนั้นเช่นดั่งเคย แต่ที่ “ร้ายเหลือ” คือกลุ่มคนที่มีอำนาจได้แยกคนไทยไปเป็น “ไพร่” เสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.ที่รับใช้ผู้มีอำนาจ ส.ส.ที่ต้องก้มหัวยอมตามผู้มีอำนาจ และประชาชนที่ทั้งจำยอมและหลงเชื่อ จนกระทั่งยอมฝากชีวิตไว้กับผู้มีอำนาจเหล่านั้น

ดังนี้ การแก้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ก็คือล้มเลิกระบบไพร่