posttoday

รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ – รัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

02 สิงหาคม 2562

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐบุรุษอาวุโส ท่านปรีดีเป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี พ.ศ. 2484 คงต้องเล่าความเป็นมาเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดังกล่าวนี้ ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลยังทรงพระเยาว์ ไม่สามารถทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้ด้วยพระองค์เอง 

สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นในปี พ.ศ. 2478 ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เจ้าพระยาพิชเยนทร (อุ่ม จันทรโยธิน) ต่อมาวันที่ 12 สิงหาคม 2478 ประมาณห้าเดือนหลังจากที่ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศได้ทรงปลงพระชนม์พระองค์เอง และมีการแต่งตั้งเจ้าพระยาพิชเยนทรเป็นผู้สำเร็จราชการแทนในวันที่ 21 สิงหาคม 2478

ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2481 เจ้าพระยายมราชถึงแก่อสัญกรรม และได้มีการ “ตั้งซ่อม” คณะผู้สำเร็จราชการโดยแต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการในวันที่ 16 ธันวาคม 2484 ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2485 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 และไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเพิ่ม จึงมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว ต่อมาจึงได้มีการแต่งตั้งท่านปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการมาจากการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 สิงหาคม 2487 ในฐานะที่เป็นผู้สำเร็จราชการคนเดียว ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้สำเร็จราชการอีกต่อไป การแต่งตั้งครั้งหลังนี้เป็นการลงมติโดยสภาผู้แทนราษฎร

ท่านปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการจนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2488 ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จกลับเมืองไทยในวันที่ 5 นั้นโดยมีพระชนมายุ 20 พรรษากับอีกสามเดือน ซึ่งทำให้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้หลังจากนั้น อีกสามวัน ท่านปรีดี ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐบุรุษอาวุโส โดยในราชกิจจานุเบกษามีใจความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมีพระราชดำริแต่งตั้งให้ท่านปรีดีเป็นรัฐบุรุษอาวุโส เพราะท่านได้ทำคุณประโยชน์มากมาย และสภาผู้แทนราษฎรก็ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งให้ท่านปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

จากข้อความข้างต้น สังเกตได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แต่งตั้งท่านปรีดีให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ น่าสนใจว่า เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในช่วงนั้นเป็นฝ่ายใคร ? และแม้ว่า การแต่งตั้งท่านปรีดีเป็นรัฐบุรุษอาวุโสจะเป็นพระราชดำริ แต่ก็น่าศึกษาค้นคว้าลงลึกถึงที่มาของความคิดริเริ่มในการแต่งตั้งให้ท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโส

หลังจากท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโสในเดือนธันวาคม 2488 อีกสามเดือนต่อมา ท่านได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง นั่นคือ ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 มีนาคม 2489 ตามมติของสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 4 จนถึงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามประเพณีการปกครองของระบบรัฐสภา เพราะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 แต่ท่านก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกในวันเดียวกันนั้นตามมติของสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 4 แต่เกิดกรณีสวรรคตฯ วันที่ 9 มิถุนายน 2489 ท่านจึงได้ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 11 มิถุนายน 2489 และในช่วงเหตุการณ์สวรรคต มีคนไปตะโกนในโรงหนังเฉลิมกรุงว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”

คำอธิบายในเรื่องนี้มีแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นที่มาของการแต่งตั้งซ่อมให้ท่านปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการในคณะผู้สำเร็จฯ และการแต่งตั้งให้ท่านเป็นโดยลำพัง รวมทั้งที่มาของการแต่งตั้งให้ท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโส และการมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงสองครั้ง

ถ้าคิดในบริบทปัจจุบัน ถ้าผู้ใดได้เป็นถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นรัฐบุรุษอาวุโสแล้วมาเป็นนายกรัฐมนตรี ดูจะยิ่งใหญ่มากบารมีอย่างยากที่จะหาใครเทียบได้ อีกทั้งต้องดำรงตำแหน่งที่ย้อนแย้งกันอย่างยากยิ่ง นั่นคือ จากนักปฏิวัติผู้โค่นล้มระบอบพระมหากษัตริย์อำนาจอันสมบูรณ์มาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่จะต้องวางตัวเป็นกลางและอยู่เหนือการเมือง และกลับมาเป็นนักการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีฝักฝ่ายและคู่ขัดแย้งทางการเมือง

ในขณะที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วหลังจากลงจากตำแหน่งและยุติบทบาททางการเมือง พลเอกเปรมได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐบุรุษและต่อมาเป็นองคมนตรีและประธานองคมนตรีและสุดท้ายคือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างช่วงการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าพลเอกเปรมจะดำรงตำแหน่งสองตำแหน่งที่ไม่ต่างจากท่านปรีดี นั่นคือ นายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนองคมนตรีและประธานองคมนตรีนั้น ท่านปรีดีไม่ได้เป็น เพราะไม่มีตำแหน่งดังกล่าวในช่วงนั้น แต่ลำดับการดำรงตำแหน่งต่างๆนี้แตกต่างกัน ท่านหนึ่งย้อนแย้ง อีกท่านหนึ่งจากการเมืองไปสู่การไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

คำถามคือ ถ้าพลเอกเปรมไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐบุรุษ และไม่ได้เป็นองคมนตรี ท่านจะมีบทบาทอย่างไรต่อมา ? ยังจะคงวนเวียนในทางการเมืองอยู่หรือไม่ ?

อีกคำถามคือ หลังจากที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการและรัฐบุรุษอาวุโส ถ้าท่านปรีดีไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านจะมีบทบาทอย่างไรต่อมา ? และจะยังมีคนไปตะโกนในโรงหนังว่าท่านฆ่าในหลวงหรือไม่ ? และทำไมผู้คนถึงเชื่อ ? หรือจะเป็นเพราะ “ถ้าผู้ใดได้เป็นถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นรัฐบุรุษอาวุโสแล้วมาเป็นนายกรัฐมนตรี ดูจะยิ่งใหญ่มากบารมีอย่างยากที่จะหาใครเทียบได้”

ถ้าท่านปรีดีไม่ได้ลงมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะมีคนเชื่อคำตะโกนนั้นมากน้อยแค่ไหน ?

หากจะถามว่า แล้วทำไมไม่ตั้งให้ท่านปรีดีเป็นองคมนตรีอย่างในกรณีของพลเอกเปรม ?

คำตอบคือ “เมื่อมีการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ในระยะแรกคณะราษฎรได้มีประกาศยกเลิกอภิรัฐมนตรีสภา และพระราชบัญญัติองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 และว่างเว้นมาเป็นเวลา 15 ปี จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 จึงมีบทบัญญัติคล้ายคลึงกันโดยกำหนดให้มี "คณะอภิรัฐมนตรี" ทำหน้าที่นี้ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะองคมนตรี" ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 และใช้มาตราบจนถึงปัจจุบัน” นั่นคือ คณะราษฎรเป็นผู้ยกเลิกองคมนตรีไป และในช่วงก่อนการสวรรคตรัชกาลที่แปด ก็ยังไม่มีองคมนตรี กว่าจะมีก็อีกปีผ่านไป

ถามต่ออีกว่า ถ้ายังมีคณะองคมนตรีอยู่ และมีการทาบทามเพื่อจะแต่งตั้งให้ท่านปรีดีไปเป็นองคมนตรี ท่านจะรับหรือไม่ ? ถ้ารับ ท่านจะต้องยุติบทบาททางการเมืองแต่เมื่อไม่มีองคมนตรีในขณะนั้น จึงไม่มีตำแหน่งอะไรอื่นอีก

ท่านเป็นถึงผู้สำเร็จราชการฯมาแล้ว เป็นถึงรัฐบุรุษอาวุโสก็แล้ว ก็คงเหลือเพียงตำแหน่งเดียวและน่าจะเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของนักปฏิวัติ นั่นคือ นายกรัฐมนตรีพร้อมกับมีรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 อยู่ในมือ !

เดาเอาเองว่า ตอนที่พลเอกเปรมได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐบุรุษ ท่านก็น่าจะนึกย้อนไปถึงรัฐบุรุษคนล่าสุดก่อนท่าน และเรื่องราวจุดจบทางการเมืองของท่านปรีดีในการเมืองไทยคงจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับรัฐบุรุษคนล่าสุดอย่างท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์