posttoday

5ปัจจัยยุบสภาการันตีลุงตู่รีเทิร์นเก้าอี้นายกฯสมัย3

19 มิถุนายน 2564

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

********************

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่า จะฮึดกลับมาสร้างกระแสความนิยมอีกครั้งหลัง ประกาศพาประเทศไทยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เอาชนะสงครามโควิดได้สำเร็จ ด้วยการฉีดวัคซีน 70% หรือ 50 ล้านคน ในอีก 120 วันจากนี้

หากเป็นไปตามแผน การยุบสภาก็อาจเกิดขึ้นได้ไม่เกินกลางปี 2565 แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาดับกระแสว่า จะอยู่ครบเทอม แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะสัญญาณต่างๆ ทั้งการแก้ไขรธน. การจัดทัพใหม่ในพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ใครคิดว่าจะวางมือเพราะเป็นนายกฯมา 7 ปีกว่า ก็ขอให้เลิกคิด ไพบูลย์ นิติตะวัน คนใกล้ชิดพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ประกาศแล้วว่า พรรคจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ชิงนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ความจริง อายุรัฐบาลนับถอยหลังเพราะเหลือเวลาบริหารประเทศ 1ปี 9 เดือน จะครบ 4 ปี นับจากการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 กระแสการยุบสภาที่พูดกันเป็นเรื่องที่รับฟังได้ ที่นักการเมืองต้องเตรียมตัวกัน

ประเมิน ณ วันนี้ ปัจจัยสำคัญที่บิ๊กตู่คิดว่าได้เปรียบ นำไปสู่การยุบสภาก่อนครบวาระ ประกอบด้วย

1.การฉีดวัคซีน ที่คาดว่าจะเป็นไปตามเป้า

นายกฯแถลงผ่านทีวีพูลเมื่อวันพุธ ประกาศเป้าหมายเปิดประเทศ ในเดือน ต.ค. เพื่อสร้างความชัดเจน และมั่นใจในศักยภาพการฉีดปูพรม รวมถึง วัคซีน จะไม่ขาด ปัจจุบัน ( 19 มิ.ย.) เราฉีดวัคซีนไปแล้ว 7.5% หรือ จำนวน 7 ล้านโดส .

แต่สิ่งที่หลายคนกังวล คือ แผนการฉีดอาจไม่เป็นไปตามเป้า สัปดาห์ที่ผ่านมามีสะดุดให้เห็น หลังจากวัคซีน แอสตราเซเนก้า วัคซีนตัวหลักที่ผลิตในโรงงานในไทยไม่มาตามนัด หลายโรงพยาบาลประกาศเลื่อนฉีด ความสับสน โกลาหลเกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขกับกทม.ที่เปิดให้จองวัคซีน โยนกลอง ปัดความรับผิดชอบ

เดือนมิ.ย. เป็นเดือนที่รัฐบาลคิกออฟการฉีดวัคซีนทั้งประเทศ เป็นเดือนแรกที่วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าจะส่งมอบล็อตใหญ่ 6 ล้านโดส แต่จนถึงขณะนี้ แม้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังต้องติดตามว่า จะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า จะส่งมอบได้ตามแผน อาจล่าช้าไปบ้างก็ไม่เกินต้นเดือนก.ค. และเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ได้ 10 ล้านโดสในปลายเดือนมิ.ย.ยังเป็นเหมือนเดิม

อนาคตของประเทศฝากความหวังไว้ที่ วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เพราะรัฐบาลลงนามจัดซื้อถึง 61 ล้านโดส หากไม่มีการเลื่อนส่ง แผนเปิดเมือง ภูเก็ต กรุงเทพ เมืองท่องเที่ยว พัทยา สมุย เชียงใหม่ คงเดินหน้าได้

2.ร่างพรบ.งบประมาณประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท จะผ่านสภาบังคับใช้เดือนต.ค ประกอบกับ รัฐบาลมีเงินจาก พรก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มาใช้ฟื้นเศรษฐกิจจากพิษโควิด เช่นเดียวกับ การแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กข้าราชการฝ่ายความมั่นคง มหาดไทย วาระเกษียณในเดือนตุลาคมช่วงเดียวกัน

3.กลไกการเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบทุกพรรค เพราะมี สว.250 คน ในมือ และคาดว่า ยังใช้กติกานี้ที่ให้ สว. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอีก พล.อ.ประยุทธ์ และ บิ๊กคสช. เป็นผู้เสนอแต่งตั้ง สว.ชุดนี้ การพูดในที่ประชุมวุฒิสภาของบิ๊กตู่ วาระพิจารณา พรก.เงินกู้ ล่าสุด สว. ก็เคารพ เกรงใจพล.อ.ประยุทธ์ เป็นอย่างยิ่ง นายกฯถาม สว.ช่วงหนึ่งว่า “มีใครไม่เชื่อมั่นผม ขอยกมือขึ้น” มีแต่เงียบกริบ ไม่มี สว. คนใดกล้าหือกล้าอือ

และแม้ว่า การแก้ไขรธน.ของรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน กลับมาเริ่มต้นคึกคักอีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยรัฐสภาจะพิจารณาวาระแรกในวันที่ 22-23 มิ.ย. หลังจากพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรวม 14 ฉบับ พุ่งไปที่การแก้ระบบเลือกตั้ง และ การปิดสวิทช์ สว. แต่พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ยื่นแก้ประเด็น สว. ที่สุดก็เชื่อว่า การแก้ไขรธน.ประเด็นนี้สุดท้ายถูกตีตก เพราะ สว. ที่ต้องร่วมโหวตด้วยว่าจะเห็นชอบกับการแก้ไขรธน. ประกาศแล้วว่า จะไม่ยอมให้ใครมาลดอำนาจตัวเอง

4.แม้มีเสียงเบื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มากมาย แต่จนถึงวันนี้ ชนชั้นนำจำนวนไม่น้อย ยังคงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำต่อไป เพราะเห็นว่า บิ๊กตู่ เหมาะกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองนี้ ในประเด็นการต่อสู้วาทกรรม “เผด็จการ-ประชาธิปไตย” ขณะที่ หัวข้อเรื่องปฏิรูปสถาบัน และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นำโดย ม็อบราษฎร และพรรคก้าวไกล ยังเป็นข้อเรียกร้องอยู่

5. ยังไม่มีตัวเลือกใดจากพรรคพลังประชารัฐที่จะมาแทนพล.อ.ประยุทธ์ และในพรรคเองที่มี บิ๊กป้อม พี่ใหญ่คุมบังเหียนหัวหน้าพรรค ขยายอำนาจให้มือขวา ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตร ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคตัวจริงแทนอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ จากกลุ่มสามมิตร

ร.อ.ธรรมนัส เอง มีบทบาทสำคัญกับพรรคพลังประชารัฐ อยู่เบื้องหลังดีลการเมืองสำคัญตั้งแต่การดึงพรรคเล็กจำนวนมากให้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล หลังจากศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียว ร.อ.ธรรมมนัส พ้นข้อกล่าวหาคุณสมบัติการเป็นรมต. จากคดียาเสพติดที่ถูกศาลออสเตรเลียตัดสินจำคุก บทบาทของเจ้าตัวมาแรง ถูก “บิ๊กป้อม” เรียกใช้เสมือนเป็นเลขาธิการพรรคตัวจริง ทั้งงานขยายฐานของพรรค การเลือกตั้งซ่อม งานมวลชน เจรจากับชาวบ้านที่มาประท้วงคัดค้านโครงการของรัฐ

กระนั้น สัญญาณที่ชี้ชัดว่า จะมีการยุบสภาเร็วหรือไม่ ขึ้นอยู่การคือ การแก้ไขรธน. ของพรรคพลังประชารัฐ โดยได้ยื่นแก้ประเด็น ไม่ให้มีการทำไพรมารี่โหวตก่อนการเลือกตั้ง ปลดล็อคก่อนยุบสภา รับเลือกตั้ง

ประเด็น เรื่อง ไพรมารี่โหวต ถูกกำหนดไว้ในรธน.2560 ในมาตรา 45 ระบุว่า

“การบริหารพรรคการเมืองต้องกําหนด ให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกําหนดนโยบาย และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกําหนดมาตรการให้สามารถดําเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงําหรือชี้นํา โดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกํากับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมือง กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง”

การกำหนดให้มีไพรมารี่โหวต ถือเป็นครั้งแรกที่จะเกิดขึ้นในกติกาเลือกตั้งของไทย ผู้ร่างรธน.หวังจะเห็นพรรคการเมืองมาจากประชาชนอย่างแท้จริง ปราศจากการครอบงำของนายทุน จึงกำหนดว่า ใครที่จะเป็น ผู้สมัคร สส. ของแต่ละพรรค จะต้องผ่านการรับรองจากสมาชิกพรรค และสาขาพรรค ไม่ใช่ให้นายทุน หัวหน้าพรรคมาจับวางเอง

พรรคพลังประชารัฐ เสียเปรียบพรรคอื่น เพราะมีสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ที่ขึ้นทะเบียนแล้วยังไม่มากเมื่อเทียบกับพรรคใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์พรรคเพื่อไทย หรือกับพรรคภูมิใจไทย หากมีการเลือกตั้งจริง โดยที่ยังไม่มีการทำพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ทำไพรมารี่โหวตในเขตนั้น ก็จะส่งผู้สมัครไม่ได้ ดังนั้น หากพรรคพลังประชารัฐจะเลือกตั้งก็ต้องเร่งแก้ตัดประเด็นไพรมารี่ออก รวมถึง แก้กฎหมายลูกที่รองรับเรื่องนี้

สัญญาณอีกตัว ที่พรรคพลังประชารัฐ เตรียมแผนรับการเลือกตั้ง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากจัดสรรปันส่วนผสม ปัจจุบันที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว มาเป็น บัตรเลือกตั้งสองใบเหมือนการเลือกตั้งสมัยรธน. 2540 ที่เอื้อให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ การแก้ไขรธน.ประเด็นนี้น่าจะสำเร็จเพราะพรรคเพื่อไทยเองก็เห็นชอบให้แก้ด้วยตามไทม์ไลน์ การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา หากรับหลักการวันที่ 23 มิ.ย. จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาศึกษา 30 - 45 วันก่อนที่จะเข้าสู่วาระที่ 2 พิจารณารายมาตราในช่วงเดือนต้น ส.ค.

แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ประเมินว่า หากที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบวาระ 3 ก็จะมีขึ้นในช่วงปลาย ส.ค. หรือต้น ก.ย.นี้ จากนั้นเป็นการแก้ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลายปีไม่ก็ไตรมาสแรกในปี 2565

ถึงแม้ พรรคเพื่อไทย จะดูกลับมาคึกคักในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ามาสร้างกระแสชิงพื้นที่ แต่การที่บิ๊กตู่มี สว.ในมือที่จะลงมติเลือกนายกฯ ทำให้พรรคพลังประชารัฐและ “บิ๊กตู่” ยังได้เปรียบยังวันค่ำ เว้นแต่ช่วงก่อนเลือกตั้งที่เชื่อว่า ฝ่ายค้านและม็อบราษฎรจะสร้างกระแสวาทกรรม “สืบทอดอำนาจ” เช่น ถล่ม พรรคพลังประชารัฐ และ สว.ที่ไม่ยอมแก้ประเด็นปิดสวิทช์ สว. เอาเปรียบพรรคอื่น ไม่เคารพเสียงประชาชนในการเลือกตั้ง ฝ่ายค้านจะขยายผลประเด็นเหล่านี้ รวมถึง ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดได้มากน้อยแค่ไหน 

******************************