posttoday

แผนสกัดร่างรธน.ใหม่ ต่อท่อ “บิ๊กตู่” อยู่ยาวๆ

13 กุมภาพันธ์ 2564

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

*****************

รัฐบาลอาจประเมินสถานการณ์ผิดที่เดินหน้ายื่นเรื่องส่งศาลรธน.ตีความ สกัดการแก้ไขรธน.ไม่ให้ตั้งสสร. เพราะคิดว่า ม็อบนอกสภาเริ่มแผ่ว ไม่มีแรงต้านการแก้ไขรธน. ผลการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ที่ผ่านมา คณะก้าวหน้าของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่มาของมติรัฐสภาส่งศาลรธน.ตีความด้วยคะแนน 366 ต่อ 166 เสียง โดยได้เสียงจากพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับพรรคเล็ก และ สว.

ที่คิดอาจผิด การแก้ไขรธน.ไม่ได้เป็นเป้าหมาย หรือ ข้อเรียกร้องของม็อบราษฎรฝ่ายเดียว แต่วันนี้กลุ่มคนกลางๆที่ไม่ได้ยืนข้างม็อบหรือเชียร์บิ๊กตู่ แม้แต่ภาคธุรกิจเอง ก็ไม่เอาด้วยกับรธน.ฉบับนี้เพราะยิ่งมีการใช้อำนาจ ก็ยิ่งเห็นถึงกติกาที่ไม่เป็นธรรม เอาเปรียบให้มี สว.แต่งตั้ง 250 คน เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ประเทศเกิดความขัดแย้ง

พรรคพลังประชารัฐ ควรทบทวนท่าทีใหม่ หากจะทำให้วิกฤตการเมืองคลายตัวลงต้องเดินหน้ากระบวนการยกร่างรธน.ฉบับใหม่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ควรใช้ช้เสียงข้างมากคอยยื่นตีความสกัดกั้น เช่นนี้

แม้สถานการณ์ความขัดแย้งนอกสภาอาจสงบในช่วงนี้จากที่ม็อบราษฎรเคยถึงจุดพีค ชุมนุมคับคั่งหลายหมื่นคนเมื่อเดือน ต.ค. ปีก่อน แต่นั่นไม่ได้หมายความ ม็อบชุมนุมน้อยลงแล้วทุกอย่างสงบลง ความจริงปัจจัยที่มวลชนดูอ่อนแรงก็มาจากหลายเหตุ

หลักๆ ก็จากสถานการณ์โควิดที่กลับมาระบาดอีกครั้ง ประชาชนอาจกังวลที่จะต้องกลับมารวมตัว แน่ละแม้ปัจจัยในตัวม็อบก็มีผลทั้งข้อเรียกร้องทะลุเพดาน และหลังๆก็พบเห็นการใช้ความรุนแรง แต่รัฐบาลก็ไม่ควรดูเบากลุ่มคัดค้าน หรือประชาชนที่อยากเห็นการแก้ไขรธน. อีกทั้ง ประเด็นที่ยังเป็นเงื่อนไขนำมาสู่การชุมนุม ยังเป็นคำถามถึงระบบการเมืองการปกครองที่พึงประสงค์ ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า รวมถึงข้อเรียกร้องเรื่องแก้รธน. โดยเฉพาะหากผู้มีอำนาจ เล่นละครตบตาประชาชน ตระบัดสัตย์ผิดสัญญาประชาคม ก็จะกลับมาเป็นวิกฤตอีกระลอก

สิ่งสำคัญ ขณะนี้กระบวนการแก้ไขรธน.ได้เดินตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ด้วยดี จากที่รัฐสภารับหลักการเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 จนถึงขณะนี้ผ่านมา 3 เดือน คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรธน.มาตรา 256 ที่มี วิรัช รัตนเศรษฐ์ คนของพรรคตพลังประชารัฐเป็นประธาน ก็ได้สรุป โครงสร้าง ที่มา สสร.เสร็จเรียบร้อย เตรียมเสนอรายงานต่อรัฐสภาวาระ 2 วันที่ 24-25 กพ.นี้ และวางกรอบเตรียมลงมติวาระ 3 วันที่ 16-17 มี.ค.

เนื้อหาที่สรุปก็น่าสนใจ เพราะยอมเปลี่ยนที่มา สสร. จากร่างของรัฐบาลที่ถูกวิจารณ์เปิดช่องให้รัฐสภาแทรกแเซงการตั้ง สสร. เพราะมาด้วยวิธีผสมหลากหลาย ทั้งแต่งตั้งและเลือกตั้ง เปลี่ยนเป็น ให้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทางเดียว จำนวน 200 คน

ทุกฝ่ายกำลังมีความหวัง เห็นโรดแมฟการแก้ไขรธน. เห็นการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีขึ้น ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมเป็นกลาง ลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ซึ่งไทม์ไลน์ที่ถูกกำหนดไว้ หลังกระบวนการร่างรธน.ใหม่เสร็จพร้อมกับประชามติ และกว่าจะได้รธน.ฉบับใหม่ ก็ใกล้ช่วงสภาหมดวาระอีก 2 ปีคือ สิ้นสุดวันที่ 24 มี.ค. 2566 (ครบ 4 ปีของสภา)

แต่การเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐและ สว.สะท้อนว่า ไม่ว่า จะแก้ไขรธน.จะอยู่ขั้นตอนไหน เดินตามกรอบของรัฐสภา ผ่านการรับหลักการ แปรญัตติแล้วหรือไม่ พวกเขาจะไม่ยอมสูญเสีย รธน. ฉบับ 2560 อันเป็นที่รัก เป็นแน่แท้ ดังที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม บอกว่า “รธน.นี้ดีไซน์เพื่อพวกเรา” เพราะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐเป็นที่สุด ให้ สว.แต่งตั้ง 250 คนสามารถเลือกนายกฯในที่ประชุมรัฐสภาได้ภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากมีรัฐสภา ดังนั้น อะไรก็ตามที่จะเป็นห้องแห่งความหวัง ก็จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งกระบวนการร่างรธน.ฉบับใหม่ไม่ให้ถึงเป้าหมาย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ “บิ๊กตู่ฎ ละพรรคพลังประชารัฐพยายามดีเลย์กระบวนการแก้ไขรธน. อย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เขียนไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ข้อที่ 12 ระบุว่า “สนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ “ ทั้งยังได้แถลงเป็นคำมั่นต่อรัฐสภาอย่างเป็นทางการ

การยื่นศาลรธน.ครั้งนี้ เป็นความพยายามซื้อเวลาครั้งที่สาม ครั้งแรกเล่นเกมดึงด้วยการ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรธน.โดยให้พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษา นายกฯ เป็นประธาน ใช้เวลานานถึง 6 เดือนกว่าจะสรุปผล ครั้งที่สอง ระหว่างการพิจารณาญัตติแก้ไขรธน.มาตรา 256 ของรัฐสภา พปชร. ก็ใช้แผนเตะถ่วงการลงมติวาระแรกเป็นสมัยประชุมถัดไป และใช้เสียงข้างมากตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาซ้ำอีก ดึงเวลาการพิจารณาไปได้อีกเกือบ 2 เดือน ครั้งที่สาม มารอบนี้ที่ส่งศาลรธน.ตีความ

ยังไม่นับ ท่าทีที่ขัดแย้งกับการสนับสนุน ตั้งคณะกรรมการสร้างความสมานฉันท์ที่ประธานรัฐสภาเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลเองก็ส่งผู้แทนเข้าร่วม และประกาศสนับสนุนการสร้างความปรองดองเพื่อแก้วิกฤตชาติ

น่าสนใจหาก คำวินิจฉัย ศาลรธน. าตีความว่า รัฐสภาไม่สามารถแก้ไขร่างรธน.ฉบับนี้ได้ ตามญัตติที่ สว. สมชาย แสวงการ และ ไพบูลย์ นิติตะวัน สส.พปชร. ยื่น ระบุเหตุผลงว่า รัฐสภาไม่สามารถแก้ไขรธน.เพื่อปูทางไปการร่างรธน.ฉบับใหม่ทั้งฉบับได้ เว้นเสียแต่ต้องผ่านการทำประชามติก่อนเพราะศาลรธน.เคยวินิจฉัยไว้แล้วเมื่อปี 2555 ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์

ถ้าผลสรุปออกมาเป็นไปตามที่พรรคพลังประชารัฐต้องการ ก็จะขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ที่สภาเองก็เคยตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมายกร่างรธน.ฉบับใหม่ถึง 2 ครั้งในปี 2492 และ ปี 2540

ที่สุดแล้ว หากรัฐสภาชุดนี้ที่มาจากเลือกตั้งโดยประชาชน ไม่สามารถยกร่างรธน.ฉบับใหม่ได้ ก็ปิดโอกาสที่จะใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหาวิกฤตการเมือง สร้างความชอบธรรมให้ประชาชนออกมาชุมนุม เรียกร้อง ขับไล่ นอกสภา อีกทั้งจะเกิดคำถามว่า รัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชน ถ้าไม่สามารถแก้รธน. ได้แล้ว จะให้ใครเป็นคนแก้ หรือจะต้องให้ทหารมายึดอำนาจ แล้วรอให้มาฉีก ร่างรธน.กันใหม่เพี่อสืบทอดอำนาจเป็นวงจรอุบาทว์อย่างนั้นหรือ

การเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ อาจชี้ให้เห็นอย่างที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ไว้ว่า พยายามยื้อการแก้ไขรธน.ทุกประตู ทุกช่องทางให้นานที่สุด ถ้าศาลรธน.ไฟเขียววินิจฉัยยกคำร้อง ยกต่อไปก็อาจสกัดกั้นในขั้นตอนการทำประชามติอีก พรรคพลังประชารัฐ และ สว. อาจหาข้ออ้างยื่นคัดค้าน ส่งศาลรธน. ร้องเรียนอีกครั้งว่า การทำประชามติขัดต่อรธน. ผิดกฎหมายประชามติ

หรือที่สุดเป็นแผนให้การกระบวนการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ เกิดไม่ทันในอีก 2 ปี 1 เดือน ที่สภาผู้แทนราษฎรจะหมดวาระ 4 ปี เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งหน้ายังได้ใช้รธน.ฉบับนี้เป็นสิทธิพิเศษแต่เพียงฝ่ายเดียว ปูทางให้ “บิ๊กตู่” อยู่ยาวๆ อีกรอบ