posttoday

เกมคว่ำแก้รธน.ระวังเติมเชื้อม็อบ

10 กุมภาพันธ์ 2564

โดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

************

กรณีรัฐสภามีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 366 ต่อ 316 เสียง และ งดออกเสียง 15 เห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการมาในวาระแรก ประเด็นการตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั้น ย่อมทำให้พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)และสมาชิกวุฒิสภา รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตก ทันที เพราะถูกมองเป็นแผนการสมคบคิดกันเพื่อสืบทอดอำนาจด้วยการเตะถ่วงเวลาเพื่อนำไปสู่การล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้เนื่องจาก "ไพบูลย์ นิติตะวัน" ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพปชร.และ "สมชาย แสวงการ" ส.ว.ร่วมกันเสนอญัตติให้รัฐสภามีมติดังกล่าวโดยมีส.ว.47คนและส.ส.พปชร.25คน ลงชื่อสนับสนุน ยิ่งเมื่อเจาะลึกลงไปดูผลการโหวตลงมติ กลับพบว่า มีส.ว. ลงมติ เห็นด้วยให้ส่งยื่นตีความถึง 230 เสียง โดยงดออกเสียง 7 เสียง ส่วน พรรคพปชร.โหวตเห็นด้วย 113 เสียง

เกมคว่ำแก้รธน.ระวังเติมเชื้อม็อบ

คะแนนโหวตของ"พปชร.-ส.ว."ยังได้สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการจัดเตรียมแผนการมาเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้มีการแตกแถว ทั้งที่ในวาระแรก พปชร.และส.ว. ต่างก็ยกมือโหวตให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวมาแล้ว โดยร่างพรรคร่วมรัฐบาล มีการ รับหลักการ 647 เสียง ไม่รับหลักการ 17เสียงและ งดออกเสียง 55 ส่วนร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีการรับหลักการ 576 ไม่รับหลักการ 21 งดออกเสียง 123 เสียง ซึ่งเรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากถึงบทบาทการทำหน้าที่ของ"ส.ว.และพรรคพปชร."ที่มีเหตุผลย้อนแย้งกันอยู่ คือมีการยกโหวตรับหลักการมาแล้ว แต่ยังมาโหวตส่งศาลให้ศาลรธน.ชี้ขาดเองอีกทำไม

แม้ "บิ๊กตู่"จะออกมาดับกระแสทันทีว่า ไม่เกี่ยวกับการยื้อแก้รธน. พร้อมให้เหตุผลว่า ถ้าย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่ารัฐบาลสนับสนุนการแก้ไขรัฐรธน.อยู่แล้ว เป็นนโยบายอยู่แล้ว หน้าที่ของรัฐบาลคือการเสนอเข้าไปที่สภา จากนั้นเป็นขั้นตอนของรัฐสภาที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นจะมาบอกว่ารัฐบาลไปเกี่ยวข้องตรงนี้ ไม่จริงใจอะไรนั้นไม่ใช่ อย่าเอาไปพันกันแบบนี้

"บิ๊กตู่"บอกอีกว่า รัฐบาลจริงใจในการแก้รธน. แต่จะแก้อย่างไรก็ไปว่ากันมา ในส่วนของรัฐสภา จุดยืนของรัฐบาลให้แก้ไขอยู่แล้ว แต่จะแก้อย่างไรไปว่ามา จะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แก้ได้แก้ไม่ได้ ทุกคนมีสติปัญญา และทุกคนก็มีความคิดเห็นส่วนตัวเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ สว.ก็ตาม ต้องหาข้อยุติกันให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องผ่านกระบวนการศาล ว่ากันไป ตนเองไม่มีสิทธิ์ที่จะไปสั่งการอะไรตรงนี้ เพราะนำเสนอเข้าไปแล้ว

ทว่า ถ้อยแถลงของ"บิ๊กตู่"ดังกล่าว คงยากที่จะทำให้ผู้คนในสังคมเชื่อได้ เพราะเป็นที่่รับรู้กันอยู่ หากบิ๊กตู่กดปุ่มให้"ส.ว.และส.ส.พปชร."โหวตไปในทิศทางไหนก็ย่อมได้เนื่องจากแต่งตั้งส.ว.มากับมือ

ทั้งนี้ผลจากการลงมติส่งให้ศาลรธน.ตีความดังกล่าว ย่อมอาจทำให้การพิจารณาร่างแก้ไขรธน. ในวาระ2 ชั้นการแปรญัตติเป็นรายมาตรา ที่กำหนดกันไว้ ในช่วง 24-25 กุมภาพันธ์ สะดุดลงได้ หากมีผู้เสนอให้เลื่อนออกไปก่อนเพื่อรอให้ศาลรธน.ตีความให้เสร็จสิ้นก่อน

แม้ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรค พปชร. แถลงยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการประวิงเวลา โดย การพิจารณาร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา ในวาระ2 ก็ยังคงดำเนินต่อไปในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ แต่หลายฝ่ายก็ยังไม่วางใจ เพราะอาจมีการกลับลำกันได้ตลอดเวลา

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องเดินเกมล้มการแก้ไขรธน.ครั้งนี้ คือ มีการประเมินกันว่า หากรธน.ฉบับปี 2560 ถูกแก้ไขสำเร็จโดยเร็ว จะทำให้องคาพยพ ของผู้มีอำนาจ อาทิ "บิ๊กตู่-พปชร.-ส.ว.-องค์กรอิสระ "ต้องถูกลดทอนอำนาจลงโดยพลัน คือ 1.ทำให้"บิ๊กตู่"อาจต้องพ้นตำแหน่งทันที เพราะมีกระแสเร่งเร้าเรียกร้องให้ยุบสภาทันทีหากมีการแก้ไขรธน.สำเร็จ

2.ส.ว.ชุดปัจจุบันซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคสช.(บิ๊กตู่) อาจถูกปิดสวิตซ์นั่นคือ จะหมดสมาชิกภาพ หรืออย่างน้อยอาจถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีก

3.องค์กรอิสระ อาทิ ศาลรธน.-กกต.- ป.ป.ช. อาจจะหมดวาระลงซึ่งต้องมีการเปลี่ยนใหม่ยกชุดหรือเปลี่ยนโครงสร้างที่มากันใหม่

4.พปชร.อาจกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจ เพราะหากไม่มีเสียงของส.ว.มาร่วมโหวตเก้าอี้นายกฯได้ ก็คงไม่สามารถรักษาสถานะความเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลเอาไว้ได้ เพราะหากไปไล่ดูแกนนำพรรคแต่ละคนเวลานี้ต่างคนต่างอยู่ไม่มีใครคุมใครกันได้ และ สมาชิกคงคิดย้ายไปหาบ้านใหม่ในสุด

5.หากมีการแก้ไขรธน.สำเร็จ จะเพิ่มคะแนนนิยม ให้ พรรคฝ่ายค้านรวมถึงพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ โดยที่ พปชร.และส.ว.ไม่ได้อานิสงส์ใดๆเพราะถูกมองว่าเหตุยอมแก้ไขรธน.เพราะแรงกดดันทางการเมืองจากม็อบ

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลในการสกัดกั้นการแก้ไขรธน.ครั้งนี้ โดยดาบแรกส่งให้ศาลรธน.ล้มหรือตัดไฟเสียแต่ต้นลม เนื่องจากมองว่า ในช่วงที่บรรยากาศของม็อบราษฎรอ่อนแรงในช่วงนี้ คงไม่มีแรงพอที่จะลุกขึ้นมาต้านเพราะเป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด สังคมประชาชนสนใจแต่เรื่องปากท้องของตนเอง จังหวะนี้จึงเหมาะสมที่สุด เพราะหากขืนปล่อยไปตามครรลอง คือต้องนำเข้าสู่วาระ 2 แปรญัตติเป็นรายมาตรา ในช่วง 24-25 กุมภาพันธ์ หลังจบวาระ 2 จะต้องทิ้งไว้ 15 วัน โดยรัฐสภาจะเปิดการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อถกเรื่องแก้รธน. ในวันที่ 15-16 หรือเป็นวันที่ 24 มีนาคม เพื่อโหวตวาระ 3 จากนั้นต้องทำประชามติ ถึงเวลานั้นสถานการณ์อาจเปลี่ยนคุมเกมไม่ได้ จึงต้องปิดเกมก่อนเพราะยิ่งปล่อยนานยิ่งมีปัญหา

หมากเกมนี้ แม้แรงต้านจะไม่รุนแรงและหนักหน่วง แต่ประเด็นการแก้ไขรธน.นั้นประมาทกันไม่ได้ โควิดคลายเมื่อใด อาจเป็นระเบิดเวลากลายเป็นเชื้อไฟในการขับไล่"บิ๊กตู่"ก็เป็นได้

**********************