posttoday

ผ่าแผนกระชับอำนาจ'บิ๊กตู่'ลดบทบาท'บิ๊กป้อม'

31 กรกฎาคม 2562

"บิ๊กตู่"เดินเกมคุม"กองทัพ-ตำรวจ-ดีเอสไอ"เสริมแกร่งอำนาจแทนมาตรา44พร้อมลดบทบาท"บิ๊กป้อม"หลบกระแสโจมตี

"บิ๊กตู่"เดินเกมคุม"กองทัพ-ตำรวจ-ดีเอสไอ"เสริมแกร่งอำนาจทดแทนมาตรา44พร้อมลดบทบาท"บิ๊กป้อม"หลบกระแสโจมตี

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เข้ามากับกับดูแลงานของกองทัพ ตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยตรงนั้น คงไม่ใช่เข้ามาแบ่งเบาภาระ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับหน่วยงานดังกล่าวมาในช่วงรัฐบาลคสช. แต่เพื่อต้องการกระชับอำนาจให้เบ็ดเสร็จ แข็งแกร่งไม่ด้อยไปกว่าเมื่อครั้งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช. หลังจากต้องสูญเสียอำนาจ อย่างมาตรา 44 ที่มาจากการยึดอำนาจไป เพื่อแลกกับการเข้าสู่รัฐบาลเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลจะมีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่หากไม่ได้กำกับดูแลหน่วยงานราชการโดยตรง ก็แทบจะไร้อำนาจ บรรดาข้าราชการ อาจไม่ยำเกรง เนื่องจากไม่สามารถให้คุณให้โทษ เกี่ยวกับการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งได้โดยตรง

ยิ่งเป็นรัฐบาลผสม 19 พรรค ที่มีเสียงปริ่มน้ำ 154 ต่อ146 เสียง ซึ่งมากกว่าฝ่ายค้านเพียง 8 เสียง ทำให้รัฐบาลไร้เสถียรภาพสุดๆ โอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาล กลุ่มการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ สามารถคิดล้มรัฐบาลได้ทุกเวลา หากความคิดและผลประโยชน์ขัดกัน แม้จะมีส.ว. 250 เสียง อยู่ในมือในการโหวตนายกรัฐมนตรีถึง 5ปี ที่จะสร้างความมั่นคงทางการเมืองให้บิ๊กตู่ได้ในระดับหนึ่ง แต่ใช่ว่าเสียงเหล่านี้จะไม่มีโอกาสผันแปรในอนาคต

งานนี้"บิ๊กตู่"ไม่มีทางเลือก จึงต้องเอาหน่วยงานที่มีผลต่อการใช้อำนาจโดยตรงมาไว้ในมือโดยเฉพาะกองทัพ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการค้ำให้รัฐบาลอยู่รอดปลอดภัย มีเสถียรภาพ เพราะประเทศไทยยังอ่อนไหวกับอำนาจทางทหาร ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา หากผู้นำรัฐบาลขัดแย้งกับผู้นำทางทหาร ผลที่ปรากฎชัดเจนคือไม่รัฐบาลล้ม ก็มีการยึดอำนาจ รัฐประหาร

ในขณะที่ตำรวจก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะเสริมความมั่นคงให้กับรัฐบาลในการจัดการกับฝ่ายตรงกันข้าม รวมถึงป้องกันสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายตรงกันข้ามเคลื่อนไหวเล่นงานรัฐบาลได้ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาตำรวจกลายเครื่องมือของผู้มีอำนาจตลอดมา เช่นเดียว กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่นับวันเริ่มมีอิทธิฤทธิ์มากมาย ในการใช้อำนาจในบริบทต่างๆ

อำนาจอันทรงพลังเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของหน่วยงานเหล่านี้ หาก"บิ๊กตู่" ปล่อยให้"บิ๊กป้อม"ไปคุมเหมือน 5 ปีที่ผ่านมา ย่อมทำให้บารมีของ"บิ๊กตู่"หดหายไม่โดดเด่น กลายเป็นนายกฯตีนลอย ต้องคอยพึ่งพิง"บิ๊กป้อม"ตลอดเวลา ซึ่งอาจล่มไปก่อนเวลาอันควร

ในขณะเดียวกันภาพลักษณ์ของ"บิ๊กป้อม"ในช่วงที่ผ่านมา อยู่ในช่วงขาลง กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตก ตั้งแต่ปมเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ การจัดซื้อเรือดำน้ำ การให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกไปรับเหมาขุดคลอง การโยกย้ายแต่งตั้งตำรวจ ที่มีชื่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือบิ๊กโจ๊ก รวมถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.น้องชาย เข้าไปเกี่ยวข้อง ขืนให้ไปคุมหน่วยงานเหล่านี้อีก จะทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลเสื่อมลงไปอีก และเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม"บิ๊กตู่"จึงต้องลดบทบาท"บิ๊กป้อม"ลง ด้วยการดึงหน่วยงานเหล่านี้มาบริหารจัดการเอง

แม้"บิ๊กตู่"จะมีการอธิบายว่า การเข้ามาคุมกองทัพ ตำรวจ เพื่อแบ่งเบาภาระ"บิ๊กป้อม"อันเนื่องจากจากสุขภาพไม่ค่อยจะเอื้ออำนวย แต่หากพินิจพิจารณางานใหม่ที่"บิ๊กป้อม"ได้รับมอบหมาย ก็มีภารกิจหนักอึ้งเช่นกัน ทั้ง 4 กระทรวง คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ซึ่งลำพังคนสุขภาพไม่ดี คงบริหารจัดการไม่ได้ ข้ออธิบายเรื่องของสุขภาพจึงไม่น่าจะฟังขึ้น

หมากเกมนี้คนรอบข้างของ"บิ๊กป้อม"ย่อมมองออก นี่คือเป็นแผนการลดอำนาจ"บิ๊กป้อม"อย่างชัดเจน และแม้"บิ๊กป้อม"จะแก้เกมด้วยการลงไปเลี้ยงดูปูเสื่อส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เพื่อหวังผูกมัดใจ แต่หากไม่ได้คุมกลไกหลักอย่างทหาร ตำรวจ จะอย่างไรเสียบารมีก็ต้องหดลงในไม่ช้า ส่วนจะทำให้เกิดเกาเหลาระหว่าง"บิ๊กตู่"กับ"บิ๊กป้อม"หรือไม่นั้น ในระยะสั้นคงไม่เด่นชัด เพราะต่างต้องเก็บข่มความรู้สึกกันเอาไว้

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์รวบอำนาจของ"บิ๊กตู่"ดังกล่าวจะสำเร็จตามแผนหรือไม่ รัฐบาลเรือเหล็กลอยอยู่ท่ามกลางเสียงปริ่มน้ำได้นานแค่ไหน กาลเวลาเท่านั้นจะบทพิสูจน์