posttoday

เช็กคะแนนโหวต'บิ๊กตู่'ลิ่วนั่งนายกฯเลือกตั้ง

01 มิถุนายน 2562

เสียงโหวตหนุน"บิ๊กตู่"นั่งนายกฯถึงนาทีนี้สูงลิ่วชนะแบเบอร์ แต่ต้องลุ้นเสียงส.ส.เกินครึ่งหรือไม่ เพราะเป็นปัจจัยชี้อายุรัฐบาลอยู่สั้นหรือยาว

ถึงนาทีนี้เสียงโหวตหนุน"บิ๊กตู่"นั่งนายกฯสูงลิ่วชนะแบเบอร์ แต่ต้องลุ้นเสียงส.ส.เกินครึ่งหรือไม่เพราะเป็นปัจจัยชี้อายุรัฐบาลอยู่สั้นหรือยาว

การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 5 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ หากไม่มีเหตุการณ์อัศจรรย์พันลึก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงลอยลำเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 เหมือนเดิม อย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะคะแนนเสียงที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในเบื้องต้นขณะนี้ มีถึง 397 เสียง จากทั้งหมด 750(ส.ส.500+ส.ว.250) เสียง โดยประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)116 เสียง ชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) 10 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5(รปช.) พลังท้องถิ่นไท 3 (พทท.) รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2(รป.) พรรคเล็ก11 เสียง และ ส.ว.250 เสียง ทั้งที่ต้องการเพียง 376 เสียง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว

ทว่าประเด็นสำคัญในเวลานี้ จึงต้องจับตาไปที่การโหวตของบรรดาส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆที่เหลือว่า จะโหวตให้กับบิ๊กตู่เพิ่มอีกหรือไม่ ซึ่งจำนวนเสียงดังกล่าวนั้น สำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นปัจจัยชี้ถึงอนาคตของรัฐบาลว่าจะอยู่ได้ยืดยาวแค่ไหน และถ้ามี251 เสียงขึ้นไป จะทำให้บิ๊กตู่มีความชอบธรรม ในการเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยไม่ต้องถูกข้อครหา ปล้นอำนาจประชาชน โดยใช้ เสียงของส.ว.ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งมากับมือโหวตให้ตัวเองเพื่อสืบทอดอำนาจ

อีกประการสำคัญคือหากมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าพรรคฝ่ายค้านคือการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แม้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่จะบริหารประเทศไม่ได้ เพราะรัฐบาลจะออกกฎหมายหรืองบประมาณ คงไม่ผ่านสภา และจะถูกตวจสอบอย่างหนัก ทั้งการตั้งญัตติ กระทู้ถามสดถล่มในสภาทุกสัปดาห์ รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งยากที่รัฐบาล จะอยู่ได้

อย่างไรก็ตามขณะนี้พรรคพลังประชารัฐ รวบรวมเสียงส.ส.ได้แล้ว 147 เสียง จาก 500 ที่นั่ง ซึ่งประกอบด้วย พปชร.116 + ชทพ.10 +รปช.5 +พทท.3 +รป.2 +พรรคเล็ก 11 ซึ่งยังขาดอยู่อีก 104 เสียง ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างการต่อรองเรื่องโควต้าเก้าอี้กันอยู่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 53 เสียง และภูมิใจไทย 51 เสียง รวมถึงพรรคชาติพัฒนา(ชพน.)3 เสียง ที่ยังไม่มีมติชัดเจนว่าไปอยู่ขั้วไหนรวมเป็น 107 เสียง ซึ่งจากนี้ก็ต้องจับตาดูว่า ทางพรรคพลังประชารัฐ จะจัดการอย่างไร ท่ามกลางการต่อรองเรื่องโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีที่ยังไม่ลงตัว และแม้เจรจาตกลงกันได้เสียงก็ยังปริ่มน้ำอยู่ดี โดยมี 254 เสียงถึงอยู่ได้ก็ทุลักทุเล ซึ่งอาจต้องเลี้ยงงูเห่าทุกรอบที่มีการลงมติที่สำคัญๆ

ทั้งนี้หากพปชร.ต้องการให้ได้เสียงในสภา 251เสียงขึ้นไป จะต้องได้เสียงโหวต จากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ทั้งหมด เพราะถ้าได้จากพรรคประชาธิปัตย์มาบางส่วนไม่ครบทั้ง53 เสียง หรือได้มาครึ่งเดียวแบบมีงูเห่า จำนวนเสียงในสภาก็ไม่ถึง 251 อยู่ดี ประกอบกับ พรรคภูมิใจไทยได้ผูกเงื่อนเป็นสัญญาประคมไว้อีกว่าหากเสียงส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรรวมกันไม่ถึงครึ่งก็จะไม่เข้าร่วมรัฐบาล

ฉะนั้นนาทีนี้ต้องวัดใจ"พลังประชารัฐ"ว่า จะตั้งรัฐบาลเสียงข้องน้อยเพื่อไปตายเอาดาบหน้า หรือยอมยกเก้าอี้รมว.เกษตรและสหกรณ์ให้พรรคประชาธิปัตย์ไปเพื่อตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เพื่อลดข้อครหาความไม่ชอบธรรม และอาจจะอยู่ยืดยาวกว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อย

ขณะที่ฝ่าย 7 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ที่รวมกันอย่างเหนียวแน่นมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง โดยมีทั้งหมด 246 เสียง นัดหารือกันในวันที่ 4 มิ.ย.ว่า จะส่งใครมาสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์  ขณะนี้มีตัวเลือกเพียง 3 คน คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

อย่างไรก็ตามเหตุที่ทั้ง 7 พรรคยังไม่รีบตัดสินใจ เพราะรอดูท่าที จากพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ และถ้าประชาธิปัตย์ ไม่ร่วมและส่งคนลงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มีคนเดียวคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทาง 7 พรรคก็พร้อมจะเทเสียงไปสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯทันที เพราะมีลุ้นเล็กๆหวังมีส.ว.แปรพักตร์ สัก 20-30 เสียง การเมืองจะได้พลิกโฉม และแม้ไม่ชนะแต่ได้เสียงส.ส.มากกว่าบิ๊กตู่ ก็จะได้สร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายประชาธิปไตยเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลบิ๊กตู่ในโอกาสต่อไปได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะชัดเจนในวันที่ 5 มิ.ย.ที่จะถึงนี้