posttoday

ส่องมุมมอง"กรณ์ จาติกวณิช" พรรคประชาธิปัตย์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง

13 พฤษภาคม 2562

ถ้าได้รับโอกาส ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนสมาชิกจะช่วยพรรคได้ มั่นใจในความตั้งใจ มั่นใจประสบการณ์ที่สะสมมา ทั้งหมดนี้ กล้ายืนยันมั่นใจร้อยเปอร์เซนต์ ส่วนชนะหรือไม่ชนะ วันที่ 15 พ.ค.ก็รู้

ถ้าได้รับโอกาส ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนสมาชิกจะช่วยพรรคได้ มั่นใจในความตั้งใจ มั่นใจประสบการณ์ที่สะสมมา ทั้งหมดนี้ กล้ายืนยันมั่นใจร้อยเปอร์เซนต์ ส่วนชนะหรือไม่ชนะ วันที่ 15 พ.ค.ก็รู้

***************

โดย ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กคลูซีฟ


"กรณ์ จาติกวณิช " รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คือหนึ่งในสี่ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคปชป.ซึ่งพรรคจะมีการประชุมพิจารณาคัดเลือกในวันที่ 15 พ.ค.นี้ นอกจากการจะทราบผลใครได้หัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่

บทบาทของหัวหน้าพรรคยังเป็นที่จับตาถึงการกำหนดเส้นทางแยกการเมืองนับจากนี้ ว่าเขาจะนำพาพรรคเลือกเดินไปในทิศทางใด ระหว่างร่วมพรรคการเมืองอื่นจัดตั้งรัฐบาลหรือจะเป็นฝ่ายค้าน

วันนี้"ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กคลูซีฟ" ได้มีโอกาสสนทนากับ กรณ์  จาติกวณิช  ที่ห้องกาแฟชั้นล่างของที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์  พูดคุยกันอย่างไปตรงไปตรงมาถึงเหตุผลการลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่

นักการเมืองผู้มีความโดดเด่นด้านความสูงและยังมีคุณวุฒิสูงจากต่างประเทศ เคยเป็นถึงอดีตรมว.คลัง  บอกว่า การตัดสินใจชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคิดไว้นาน

"ผมเคยคิดไว้ตั้งแต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรคเมื่อใด ก็จะขอลงชิงตำแหน่ง กระทั่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุด(24 มี.ค.62 ) ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งส.ส.ไม่ถึงร้อยคน ซึ่งเราก็ยอมรับเป็นความพ่ายแพ้  ผมก็อยากจะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง"  

"ทันทีที่คุณอภิสิทธิ์ลาออก ผมใช้เวลาไม่นานนักในการตัดสินใจเสนอตัวลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ผมต้องประเมินก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ ผมอยู่พรรคปชป. มาเป็นเวลา 15-16 ปี แม้ไม่นานเท่าผู้สมัครคนอื่นแต่ถือว่าอยู่มานานพอสมควร เมื่อถึงยุคนี้ ยุคของการเปลี่ยนแปลง

ประชาชนอยากเห็นปชป.ในการเปลี่ยนแปลง ก็คิดว่าน่าจะเข้ามาช่วยพรรคได้

"อีกความรู้สึก เป็นหน้าที่ หลังจากได้อุทิศการทำงานที่เหลือของผมให้กับส่วนรวมในฐานะส.ส. ครั้งนี้พรรคให้โอกาสผมมาเยอะ ที่พูดกันว่าพรรคเรามีความเป็นอาวุโสเข้ายาก ถ้าดูจากตัวผมนั้นไม่จริง พรรคให้โอกาสผมตั้งแต่เข้ามาสมาชิกสมัยแรกก็ให้ลงสมัครส.ส.ในเขตที่บ้านผมเลย เวลาผ่านมาแค่สี่ปี ผมมีโอกาสได้เป็นรมว.คลัง ถามว่า มีผู้อื่นอาวุโสกว่าผมตอนนั้นไหมก็มี แต่พรรคประเมินให้ผมทำงาน"

-จุดแข็งของตนเองต่อการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

กรณ์ บอกว่า เพื่อนสมาชิกต่างรู้จักมักคุ้นผู้สมัครทั้งสี่คนเป็นอย่างดี ต่างก็ทราบถึงข้อดีข้อด้อย ฉะนั้นผมไม่ได้มีความตั้งใจโฆษณาตนขนาดนั้น แต่ผมมีความแตกต่างตรงที่ประวัติการทำงาน ทื่มาที่ไปจากผู้นำปชป.หลายท่าน ไม่ได้เป็นนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักการเมืองทั้งชีวิต

"ทุกวันนี้ผมเป็นนักธุรกิจมายาวนานกว่า ซึ่งหล่อหลอมวิธีการทำงาน ทัศนคติที่มีพอสมควร จะเห็นว่าวิธีการทำงานหลายๆอย่างในโลกการเมืองยังไม่ตรงต่อสิ่งที่ผมคิดว่าโลกภายนอกต้องการมากนัก สัญชาติญาณตรงนี้อาจมีความต่างระดับหนึ่ง อาจเป็นตัวเลือกต่างจากท่านอื่น ที่มีจุดแข็งจุดอ่อนต่างกันไป"

สำคัญที่สุด วิธีคิดวิธีการทำงานของผม มีผลลัพธ์เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน หลังจากนั้นค่อยกำหนดแนวทางที่ดีที่สุดไปสู่เป้าหมายนั้นเราทำอย่างไรสื่อสารให้ชัดกันภายในพรรคว่า เราเห็นตรงกันนะ ว่านี่คือเป้าหมายของพรรคนะ เมื่อการสื่อสารเข้าใจชัดเจน อดีตอาจทำไม่มากพอ ซึ่งข้อดีประชาชนจะสัมผัสได้ว่า ประชาธิปัตย์ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาความยากจน สื่อได้ว่าวันนี้เวลานี้ทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แก้ปัญหาประชาชน เมื่อทำแล้ว จะเกิดความเชื่อมั่น อย่างน้อยเขาก็จะรู้ว่า เลือกปชป.ได้อะไร

"พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับให้เป็นไปตามความต้องการที่ปรากฎในสังคม ยุคสมัยนี้คือ ประชาชนต้องการจากพรรคคือเรื่องของการแก้ปัญหาการดำเนินชีวิต การยกระดับคุณภาพชีวิต ด้านสังคม เศรษฐกิจ เรื่องอื่นๆ" 

ส่องมุมมอง"กรณ์ จาติกวณิช" พรรคประชาธิปัตย์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง

อุดมการณ์ หลักการ มีความสำคัญที่หล่อหลอมพวกเราให้พรรคมีความเข้มแข็ง แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ เราช่วยอะไรได้บ้าง และในส่วนของผม ผมทำได้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กระบวนการบริหารในยุคดิจิทัล ในการสื่อสาร นำเสนออย่างไร ผมคิดว่าในส่วนนั้น ผมจะนำประสบการณ์มาใช้กับพรรค เป็นทึ่พึ่งของประชาชนได้

-ประเมินเสียงสนับสนุนอย่างไรบ้าง

"เท่าที่ผมสัมผัส สมมติฐานว่ามีกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ แต่สุดท้ายไม่แน่ใจว่ากลุ่มนั้นเหนียวแน่นขนาดนั้น แต่ผมศรัทธากลุ่มโหวตเตอร์ของพรรค ทุกคนจะเลือกสิ่งดีที่สุดของพรรคในระยะยาว ข้อสำคัญในการพิจารณา ไม่ใช่แค่หมกมุ่นกังวลใจประเด็นปัญหาในพรรค แต่สุดท้ายเราต้องเลือกตัดสินใจ มั่นใจว่าประชาชนต้องการประชาธิปัตย์ ถ้ามัวแต่แก้ปัญหาภายในของเรา เลือกคนที่ตอบโจทย์เงื่อนไขภายในพรรคได้ แต่ไม่ให้ความสำคัญเพียงพอกว่าโหวตเตอร์ของประชาชน ถ้าอย่างนั้นจะทำให้เราเสียโอกาส ที่พูดคุยกับเพื่อนๆทุกคน ตระหนักในเรื่องนี้"

"เราอยู่พรรคมาสิบๆปี มีความเป็นเพื่อนกันหมด แต่การเลือกหัวหน้าพรรคไม่ได้เลือกจากความเป็นเพื่อน ฉนั้นเลือกจากความเป็นเพื่อนไม่ได้เลย "

-มั่นใจขนาดไหน?

"ผมมั่นใจว่า ถ้าเราได้รับโอกาส ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนสมาชิกจะช่วยพรรคได้ มั่นใจในความตั้งใจ มั่นใจประสบการณ์ที่สะสมมา มั่นใจในความเข้าใจต่อความท้าทายที่รอคอยพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งหมดนี้ ผมกล้ายืนยันมั่นใจร้อยเปอร์เซนต์ ส่วนชนะหรือไม่ชนะ วันที่ 15 พ.ค.ก็รู้ ไม่ต้องรีบตอบ

ส่องมุมมอง"กรณ์ จาติกวณิช" พรรคประชาธิปัตย์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง

-สรุปบทเรียนความพ่ายแพ้ เพื่อแก้ไขวันข้างหน้า

กรณ์  สรุปบทเรียนความพ่ายแพ้เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเรามุ่งมั่นตอบโจทย์ปัญหาปากท้องประชาชน เราคาดหวังการเลือกตั้งครั้งนี้ (24 มี.ค. 62 ) จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เศรษฐกิจระดับฐานรากไม่ดีเลย แล้วกลุ่มประชาชน ประสบปัญหาหนักมาก คือ กลุ่มเกษตรกร ราคาพืชผลตกต่ำทั่วประเทศ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เราจึงมองว่าถ้าเป็นพรรคมีความชัดเจนในการหาทางออกเรื่องนี้ จะทำให้พรรคเราได้เปรียบ

"ทว่าเกิดปรากฎการณ์ ฉุดให้คนหันไปดูเรื่องความขัดแย้งเดิม ซึ่งทางยุทธศาสตร์พรรคปชป.เสียเปรียบทันที เราจึงทบทวนในประเด็นนั้น กลับมาตั้งคำถามกันเอง คะแนนที่เคยเลือกเราไปเลือกพรรคอื่นจะมีการกำหนดท่าทียุทธศาสตร์อย่างไร ทุกครั้งเราจะเรียนรู้อุปสรรค และคู่แข่งของเราในหลายเรื่อง"

กรณ์มองถึงจุดที่ทำให้พรรคเพลี่ยงพล้ำ คือ เรื่องการสื่อสาร แม้ที่ผ่านมาพรรคมีการพัฒนาไปได้ดีระดับหนึ่ง แต่โครงสร้างพรรคไม่สอดคล้องกับยุคการสื่อสารยุคดิจิทัล โซเชียลบประเภทไหนเหมาะแก่การเข้าถึงกลุ่มคนกลุ่มไหน รวมทั้งการบริการวิเคราะห์ บิ๊กดาต้าทำให้เราสามารถกำหนดท่าทีกระแสประชาชนได้ดีกว่าอดีตทั้งหมดทำได้ ไม่ได้เป็นความลับแต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องรีบจัดการ


-การตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค "เพื่อไทย"หรือ "พลังประชารัฐ"

กรณ์รอให้ถามตรงๆสักที เขาบอกว่า คำตอบของผมวันนี้ เป็นคำตอบที่พวกเราในพรรคให้กับทุกคนว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง วันที่ 15 พ.ค. เมื่อได้กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และส.ส.ที่ได้รับรองเข้าสภา ก็มาพูคุคุยตัดสินใจร่วมกัน พูดในกรณีที่มีพรรครัฐบาลให้ร่วม ซึ่งตอนนี้เป็นสิ่ทธิของพรรคใหญ่

อย่างไรก็ตาม อันดับแรกของผม เราพูดชัดเจนมาโดยตลอดการร่วมกับ"เพื่อไทย"เราไม่ร่วมเป็นไปไม่ได้  ส่วนที่เหลืออยู่อย่าง"พรรคพลังประชารัฐ"จะเชิญชวนเราหรือไม่ ซึ่งยังไม่เคยมีการพูดคุยกัน ไม่บังอาจเสนอตัว

สุดท้ายเราจะตัดสินใจอย่างไรก็แล้วแต่ สำคัญสุด เราต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ ยอมรับว่าการตัดสินใของเราเอาประโยชน์ของเขาเป็นที่ตั้้ง

เราตั้งคำถามโลกเปลี่ยน เงื่อนไขเปลี่ยนตลอดเวลาจากปีที่แล้วกับปีนี้เปลี่ยน เราตั้งคำถามว่าการร่วมหรือไม่ร่วมเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติมากกว่ากัน ไปทางไหนสร้างความมั่นคงทางสังคมมากกว่ากัน ทุกการตัดสินใจตั้องตั้งคำถามสองสามคำถามนี้ เวลาตัดสินใจเพื่อที่ตอบตัวเอง ตอบประชาชนได้ว่า มาทางนี้ ไปทั้งนั้นเพราะอะไร ถึงเวลาก็มีเวลาชี้แจง"

-เมื่อถามกรณีร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ จะไม่ขัดแย้งต่ออุดมการณ์ของพรรคที่ยึดมั่นประชาธิปไตย

กรณ์ตอบทันที "ไม่"

ส่องมุมมอง"กรณ์ จาติกวณิช" พรรคประชาธิปัตย์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง

เขาอธิบายความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างแหลมคม " ผมคิดว่า ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการประชาธิปไตย เราเพิ่งผ่านการเลือกตั้งกันมานะ ทุกคะแนนหรือ ส.ส.ทุกท่านที่กำลังเข้าสภาก็มาจากการเลือกตั้ง  ในส่วนตรงนั้นจะบอกไม่เป็นประชาธิปไตยก็สุดแล้วแต่ จะยุติธรรมไม่ยุติธรรมก็ร้องเรียนกันไป  ต่อคำถาม การตัดสินใจร่วมไม่ร่วมอยู่ในความเป็นประชาธิปไตยทางใดทางหนึ่ง เพียงแต่ว่าทางใหนเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบ้านเมืองต่อประชาชนเท่านั้นเอง  ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยนกว่ากัน"

-ทันทีที่พรรคลงมติใครได้เป็นหัวหน้าพรรคก็จะรู้ทิศทางเหมือนกันว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่

กรณ์ อธิบายว่า หัวหน้าพรรคก็มีเสียงเดียว เสียงเท่าทุกคน แม้หัวหน้าพรรคพูดโน้มน้าวเพื่อนสมาชิกได้ระดับหนึ่งซึ่งตามข้อเท็จจริงโครงสร้าง ส่วนหนึ่งของพรรคก็มาจากหัวหน้าพรรคอาจเป็นไปได้แต่งตั้งคนที่คิดคล้ายหัวหน้าพรรค แต่อย่าลืมว่ามีอีกหลายเรื่องที่เราต้องคิดไม่ใช่เรื่องร่วมหรือไม่ร่วมเรื่องเดียว ยังมีเรื่องที่ต้องฟื้นฟูพรรคอีก

 

ด้วยความมั่นใจเต็มร้อย พร้อมที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพรรคประชาธิปัตย์ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน  

"กรณ์ จาติกวณิช" จะได้เป็นหัวหน้าพรรคปชป.ตามที่ตั้งใจหรือไม่

15 พ.ค. มีคำตอบ