posttoday

ปลุกพลังประชาชนใช้ “โซเซียลมิเดีย”ตรวจสอบเชิงพฤติกรรมกดดันตำรวจปฏิรูปตัวเอง!

12 พฤษภาคม 2562

ตำรวจ จะต้องทำตัวเองให้ถูกต้อง หากใครทำผิดก็จะไม่ย้ายไปจังหวัดอื่น ตำรวจคนไหนทำผิดขึ้นมาก็ให้ออก ไม่ต้องไปย้ายจังหวัดอื่น ไม่มีอีกแล้วทำผิดร้ายแรงก็ให้ออกเลย

ตำรวจ จะต้องทำตัวเองให้ถูกต้อง หากใครทำผิดก็จะไม่ย้ายไปจังหวัดอื่น ตำรวจคนไหนทำผิดขึ้นมาก็ให้ออก ไม่ต้องไปย้ายจังหวัดอื่น ไม่มีอีกแล้วทำผิดร้ายแรงก็ให้ออกเลย

****************

โดย ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กคลููซีฟ

ต้นทางกระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมอย่างแท้จริง ข้อเสนอเชิงวิจัยและวิชาการ ยืนยันชัดเจน คือ ต้อง “ปฏิรูปตำรวจ” เพราะความไม่เป็นธรรมหรือขัดหลักธรรมาภิบาลต่างๆที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมจุดเริ่มต้นอยู่ที่ตำรวจ

เป็นคำกล่าวของ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)นักวิชาการที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปตำรวจโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สปยธ.)ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์วงการสีกากีอย่างตรงไปตรงมา

ปัญหาใหญ่ในวงการตำรวจ คือ เกิดกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลในการ “แต่งตั้งโยกย้าย”ซึ่งเป็นผลมาจากการ “รวมศูนย์อำนาจ” คือ ปัญหาใหญ่ของวงการตำรวจ

วิธีการปลดล็อก คือ ต้องจัดตั้งเป็น “ตำรวจจังหวัด”ขึ้นมาด้วยการกระจายอำนาจไปยังจังหวัดทั่วประเทศ เบื้องต้นอาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ผู้บังคับการในจังหวัดนั้นๆเป็นผู้บังคับบัญชา หรือ อาจให้ขึ้นตรงกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)

เป้าหมายเพื่อให้ ตำรวจจังหวัด มีอำนาจ และต้อง “ยุบกองบัญชาการภาค”ต่างๆออกให้หมด โดยให้ขึ้นตรงกับตำรวจส่วนกลาง นั้นหมายความว่า “การปฏิรูปตำรวจจะสำเร็จได้ ต้องเกิดการกระจายอำนาจทั้งหมดไปจังหวัด และ ลดอำนาจจากส่วนกลาง”

“ผลดีของการกระจายอำนาจ ที่ต้องยิงตรงไปยังจังหวัด ย่อมจะเกิดประสิทธิภาพ ความคล่องตัว ในการทำงานยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีทันสมัย ไม่เหมือนในอดีตที่มีผู้บัญชาการภาค แล้วเวลาสั่งการทำงานจังหวัดต้องส่งมาที่ภาคก่อน จากนั้นส่งเรื่องต่อมาที่ส่วนกลาง มีหลายขั้นตอนจึงทำให้กระบวนการทำงานล่าช้า” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

อีกปัญหาใหญ่ในวงการตำรวจ ที่สร้างความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม คือ การโยกย้ายข้ามจังหวัด จึงอยากเสนอว่า “ห้ามโยกย้ายข้ามจังหวัด” เหตุผลเพราะต้องให้ “โรงพักเป็นศูนย์กลาง”

หมายความว่า สถานีตำรวจ หรือ สน. เป็นสถานที่รับบริการทั้งหมด แบบ One Stop Service ต้องจบที่ สน. แต่มีปัญหามีอยู่ว่า สน.ต่างจังหวัดเกือบทั่วประเทศ มีแต่ “อัตรา แต่ไม่มีกำลังพล”จริงๆ หมายความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมี “ชื่อ อยู่ใน สน. แต่ ตัวเองไม่ได้อยู่ทำงาน”

ถามว่าคนเหล่านี้ไปอยู่ไหน คำตอบ คือ ตำรวจเหล่านั้นไปอยู่ตามกองบัญชาการ ไปเดินติดตามผู้บังคับบัญชา หรือเดินติดตามรับใช้นักการเมืองบ้าง

ดังนั้น ต้องตัดขบวนการเหล่านี้ออกไป ต้องส่งคนเหล่านี้ไปอยู่ตามโรงพักให้ได้ หยุดการ ยืมตัว และ งานไม่จำเป็นต้องเอาออกไป เพื่อให้ตำรวจไปทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่ เป้าหมายเพื่อทำงานให้ประชาชนได้มากขึ้น ดังนั้นการโยกย้ายข้ามจังหวัด ต้องไม่เกิดขึ้น แต่สามารถโยกย้ายได้ภายในจังหวัด จากอำเภอหนึ่งไปอีกอำเภอหนึ่ง

“หากโยกย้ายข้ามจังหวัดต้องเป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือทำโผในจังหวัดได้เลย ถือเป็นการสร้างหลักประกันในการป้องกันการการซื้อขายตำแหน่งและทำอะไรประชาชนต้องเห็น เพราะอยู่ในจังหวัด ใคร(เจ้าหน้าที่ตำรวจ)ทำอะไรไม่ดี ประชาชนจะร้องเรียนไม่มีทางที่จะถูกย้ายไปที่อื่น ทางเดียว คือ หากทำผิดจะถูกออกไปเลย

ตำรวจ จะต้องทำตัวเองให้ถูกต้อง หากใครทำผิดก็จะไม่ย้ายไปจังหวัดอื่น ตำรวจคนไหนทำผิดขึ้นมาก็ให้ออก ไม่ต้องไปย้ายจังหวัดอื่น ไม่มีอีกแล้วทำผิดร้ายแรงก็ให้ออกเลย” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

อีกอุปสรรคการปฏิรูปตำรวจ แต่ถูกขวางมาโดยตลอดจาก “ผู้มีอำนาจ” คือ “การแยกอำนาจสืบสวนออกจากสอบสวน” เพราะภารกิจสองอย่างนี้แตกต่างกัน ตำรวจส่วนใหญ่เก่ง ปราบปราม ปลอมตัว สืบสวน แต่ตำรวจไม่เก่งด้านสอบสวน เพราะต้องใช้กฎหมายและต้องใช้ทักษะงานเขียน หรือ “ฝ่ายบุ๋น”ต้องเก่งการใช้ข้อมูลและทักษะด้านกฎหมายอย่างมาก

ดังนั้นไม่มีตำรวจคนใดอยากจะเป็นพนักงานสอบสวน เพราะส่วนใหญ่ไม่อยากรับผิดชอบคดี แต่อยากทำงานสืบสวน ปราบปราม หรือ จราจร ดังนั้นการปฏิรูปตำรวจ ควรแยกสืบสวนออกจากงานสอบสวน ฝ่ายสอบสวนในฐานะมีอำนาจสั่งฟ้อง ควรแยกออกมาเป็น “อิสระ”แยกออกมาจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) อาจจะสังกัด อัยการ หรือ เป็นการทำงานร่วมกับอัยการ ในการสั่งฟ้องคดี

“ตำรวจอยากดึงงานสอบสวนไว้ เพราะเป็นแหล่งอำนาจมหาศาล เพราะมีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องใครได้ หมายความว่า ต้องให้ฝ่ายสอบสวนเป็นอิสระก่อน ด้วยการทำให้งานสอบสวนเป็นงานวิชาชีพ เหมือน อาจารย์ หรือ แพทย์ จะมีอำนาจตัดสินใจเอง ผู้บังคับบัญชา หรือ ใครเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ ดังนั้นอำนาจสั่งฟ้องต้องเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนคนนั้นๆ เหมือนผู้พิพากษาที่รับผิดชอบคดีไหนต้องเป็นผู้วินิจฉัยตัดสิน ไม่มีฝ่ายใดมาแทรกแซงได้ นี่คือความเป็นอิสระของวิชาชีพ นั้นคือ ความอิสระในการวินิจฉัย” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

รศ.ดร.พิชาย กล่าวข้อเสนอทั้งหมดที่กล่าวมา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จสักชุด แม้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)จะใช้มาตรา 44 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.ไม่มีเจตจำนงปฏิรูปตำรวจจริงๆ เพราะกระทบผลประโยชน์ตำรวจจำนวนมหาศาลในการแต่งตั้งโยกย้าย อำนาจผลประโยชน์ และ “คนที่อยู่ในรัฐบาล” อำนาจจะลดลง เพราะบรรดานักการเมือง หรือ คนในรัฐบาลล้วนอาศัยตำรวจในการทำงาน จึงกลัวตำรวจจะไม่ร่วมมือ และ กลัวตำรวจจะเกียร์ว่าง จึงไม่กล้าทำอะไร

การปฏิรูปตำรวจอันดับแรก คือ “โยกย้ายต้องเป็นธรรม” หากจัดระบบแต่งตั้งโยกย้ายได้เป็นธรรมย่อมแก้ปัญหาด้านผลประโยชน์ในวงการตำรวจได้ระดับหนึ่ง

“การปฏิรูปตำรวจ จริงๆแล้วตำรวจระดับล่างได้ประโยชน์มากกว่า จึงไม่ได้คัดค้าน เพราะไม่ได้ตำแหน่งระดับสูง อย่างมากเป็นแค่ผู้กำกับ หรือผู้บังคับการ น้อยมากๆที่จะได้เป็นผบ.ตร. ซึ่งแรงต้านหนักมากๆ คือ ตำรวจระดับนายพล” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ แม้ความหวังจะริบหรี่ จึงอยากอยากให้นำร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ กลับมาปัดฝุ่นพิจารณาและขับเคลื่อนการปฏิรูปตำรวจ เพราะมีประเด็นที่มีประโยชน์ เชิงปฏิบัติได้จริง และ เพื่อพิสูจน์ความจริงใจ

ดังนั้นภาคประชาชนต้องกดดันขับเคลื่อน ด้วยการตีแผ่ผลศึกษาข้อเสียของระบบตำรวจที่ต้องมีการปฏิรูปด้วยการช่วยกันใช้โซเซียลมิเดียกดดันรัฐบาลชุดใหม่ เพราะเชื่อว่าภาคประชาชนเข้มข้นในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจมากที่สุด เพราะในปัจจุบันและอนาคต โดยตรวจสอบผ่าน “โซเซียลมิเดีย”มีกลไกแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมจะทำให้เกิดการ “ปฏิรูปเชิงพฤติกรรม”ของตำรวจ พร้อมๆกับการ “ปฏิรูปตำรวจเชิงนโยบาย” ตามมา

ย่อมจะเร่งปฏิกิริยาการปฏิรูปตำรวจมากขึ้น ย่อมทำให้พฤติกรรมเชิงปฏิบัติงานของตำรวจดีขึ้น แต่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นสิ่งที่หวังได้ในตอนนี้ คือ ภาคประชาชน คือ แรงผลักดันสำคัญในการปฏิรูปตำรวจ!