posttoday

เปิดจุดยืน "รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก" ประธานครป. เลือกข้างทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

06 พฤษภาคม 2562

ครป.ลุ๊คใหม่เล่นบทผสานแนวร่วมสร้าง “วิปภาคประชาชน”เปิดศักราชใหม่ชู “ปฏิรูปตำรวจ”วาระเร่งด่วนเสนอรัฐบาลใหม่

ครป.ลุ๊คใหม่เล่นบทผสานแนวร่วมสร้าง “วิปภาคประชาชน”เปิดศักราชใหม่ชู “ปฏิรูปตำรวจ”วาระเร่งด่วนเสนอรัฐบาลใหม่

************************

โดย ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กคลูซีฟ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. นับเป็นองค์กรเชิงสัญลักษณ์ของภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด ทั้งในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร หรือช่วงการเมืองไทยขัดแย้งกันรุนแรงถึงขั้นแบ่งขั้วเลือกข้าง จนเกิดปฏิวัติรัฐประหาร

ครป.อาจต้องหยุดชะงักบทบาทไปบางช่วงเวลา จนวันนี้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง จึงเกิดคำถามว่า ครป. จะเคลื่อนไหวทางการเมืองไปในทิศทางใดท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลพลเรือน

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะประธาน ครป.เปิดใจถึงจุดยืนทางการเมืองของ ครป. ว่า “ครป.เลือกข้างทางการเมือง แต่เลือกข้างเชิงประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ไม่ว่าพรรคหรือใครเป็นรัฐบาล หรือ นายกรัฐมนตรี ทาง ครป.ไม่สนใจ แต่สนใจเพียงว่านโยบายที่ภาคประชาชนเสนอที่มีประโยชน์ต่อประชาชนไม่ว่าพรรคใด ควรนำไปผลักดันให้เป็นนโยบายและกฎหมาย

เปิดจุดยืน "รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก" ประธานครป. เลือกข้างทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

เขาเสนอรูปแบบการทำงาน คือ ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างพรรคการเมือง รัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงสว.กับการเมืองภาคประชาชน หรือ “วิปภาคประชาชน”ขึ้นมา โดยจะมีการติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง พรรคใดเป็นฝ่ายค้านหรือพรรคใดเป็นฝ่ายรัฐบาล จะทำงานร่วมกับการเมืองภาคประชาชนเป็นทำงานร่วมกัน

เป้าหมายเพื่อสลายความเป็นขั้วทางการเมืองและความขัดแย้ง เมื่อไม่มีขั้วการเมืองก็จะไม่สนใจตำแหน่งหรืออำนาจ แต่จะสนใจในประเด็นภาคประชาชนที่ต้องทำงานร่วมกัน

คณะกรรมการร่วมชุดนี้พรรคการเมืองกับภาคประชาชนที่เป็นตัวแทนที่นั่งในสภา ได้มานั่งคุยกับการเมืองภาคประชาชน เช่น ประเด็นการกระจายอำนาจ พรรคการเมืองว่าอย่างไร มาหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อผลักดันเป็นนโยบายและกฎหมาย โดยทุกพรรคสามารถทำร่วมกันได้ เพราะถือว่าเป็นนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์

“ไม่ใช่ว่านโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง การทำงานร่วมกันในการพัฒนานโยบาย สำหรับในระดับสภา เสนอให้มีคณะกรรมร่วมระหว่าง สส. สว. และ ภาคประชาชน เพื่อรับลูกนโยบายและข้อสรุปบางอย่างไปสู่การแก้กฎหมาย หรือ ออกกฎหมาย”รศ.ดร.พิชาย กล่าว

รศ.พิชาย กล่าวว่า ครป.จะประสานไปยังรัฐบาลที่มาเป็นตัวแทน ในคณะกรรมการพัฒนานโยบายพรรคการเมือง ส่วนหนึ่งจะเป็นพรรครัฐบาล จะได้ไปพูดคุยกันว่าจะเห็นด้วยอย่างไร หรือ อาจจะไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย อาจออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยจะมีการติดตามกันต่อไป

ภายหลังมีการจัดตั้งรัฐบาล ทาง ครป.จะไปติดตาม ในการทำหน้าที่เป็น วิปฝ่ายประชาชน จะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนโดยจะมีสองส่วนสำคัญ คือ การเมืองนอกสภา ระหว่างพรรคการเมืองกับภาคประชาชน และ การเมืองในสภากับภาคประชาชน ที่จะไปผลักดันนโยบายและกฎหมายถือเป็นการประสานทางการเมืองกันทุกทาง

เปิดจุดยืน "รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก" ประธานครป. เลือกข้างทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน


"การชุมนุมเคลื่อนไหวยังมีอยู่หากประชาชนหรือพี่น้องบางกลุ่มเดือดร้อนแล้วรัฐบาลเมินเฉย ทาง ครป.พร้อมไปสนับสนุน แต่หากมีกลไกอย่างที่ ครป.เสนอเชื่อว่าจะไม่มีม็อบ หรือ การชุมนุมทางการเมืองเหมือนในอดีต ความแตกแยกระหว่างพรรคการเมืองก็จะลดลง ทุกคนจะยึดเอาประเด็นและผลประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการทำงานการเมืองภาคประชาชนและพรรคการเมือง ภาพลักษณ์พรรคการเมืองที่แย่ๆจะดีขึ้น”รศ.ดร.พิชาย กล่าว

ในการทำงานการเมืองภาคประชาชน ครป.ไม่สนใจว่าเสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร จะเป็นรัฐบาลผสม โดยจะมีเสียงปริ่มน้ำ หรือเสียงล้นน้ำ ขอให้รัฐบาลทำหน้าที่ของรัฐบาลไป แต่ ครป.จะสนใจเพียงว่าประเด็นภาคประชาชนได้รับการผลักดันหรือไม่

จากนี้ไปสังคมจะได้เห็นปรากฎการณ์ทางการเมืองของ ครป.จากการเคลื่อนตัวจากการชุมชนมาสู่การใช้ 2 แนวทาง คือ ประสาน และ สร้างกลไกเชิงสถาบัน เพื่อรับเอาปัญหาและแนวทางแก้ไขของภาคประชาชนไปผ่านการทำงานร่วมกัน

“ใครเป็นรัฐบาลจะบริหารอย่างไรก็ว่ากันไป จะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ ครป.ไม่สนใจ ทุกฝ่ายต้องมีสำนึกร่วมกันไม่ต้องแบ่งขั้วหรือแบ่งพรรค เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง นี่คือทิศทางการทำงานของ ครป.ยุคใหม่ เพื่อทำให้นโยบายและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง”รศ.ดร.พิชาย กล่าว

รศ.ดร. พิชาย กล่าวว่า อีกภารกิจ ครป. คือ การทำงานด้านวิชาการร่วมกับสถาบันการศึกษา ในประเด็นที่ต้องการงานวิจัยรองรับ เช่น การปฏิรูปตำรวจ หรือ กฎหมายอากาศสะอาด ดังนั้นข้อเสนอแนะการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกัน สส.ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล มาคุยกันมาออกกฎหมายด้วยกัน เป็นผลงานร่วมกันทุกพรรค หากเห็นว่าประเด็นไหนเห็นร่วมกันก็ผลักดันร่วมกันไม่ต้องคิดว่าจะเป็นผลงานของใคร ดังนั้นวิปภาคประชาชน คือ ทางออกของการสลายขั้วทางการเมือง เป็นเรื่องสำคัญของสังคมที่ต้องรวมพลังของภาคประชาชนจากทุกภาคส่วนมาร่วมใจกันทำงานการเมืองร่วมกัน เพราะปัญหาประชาชนจะแก้ไขไม่ได้ หากไม่ร่วมมือกันทำงาน

“การเมืองไม่ควรแบ่งแยกแบ่งสีกันอีกแล้ว เราต้องวางปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา ขอให้ข้ามความคิดความเชื่อทางการเมืองหันมามองปัญหาของประเทศกันดีกว่า เพราะปัญหาเหล่านี้จะมานั่งเถียงกันไม่ได้ หรือเถียงกันเพราะว่ามีความคิดทางการเมืองไม่ตรงกันแล้วมองข้ามปัญหาประชาชน เพราะในอนาคตจะมีปัญหามากขึ้นๆ ดังนั้นอะไรที่เป็นจุดร่วมก็ต้องร่วมกันทำ ย่อมจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนดีขึ้น จะช่วยสลายกำแพงทางความคิด หรือ ความเชื่อทางการเมืองให้ต่ำเตี้ยลงและสลายไปในที่สุด”รศ.ดร.พิชาย กล่าว