posttoday

เช็กขุมข่ายประชาธิปัตย์ เสียงก้ำกึ่งหนุนไม่หนุนบิ๊กตู่

16 เมษายน 2562

ถึงนาทีนี้เสียงของทั้งสองฝ่ายยังก้ำกึ่ง จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ จึงยังเป็นไปได้ทุกทางทั้งเข้าร่วม ไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับบิ๊กตู่ รวมถึงการเป็นงูเห่า

ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์

พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)ช่วงเวลานี้กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตก ถูกกระหน่ำรอบทิศทาง อันเนื่องมาจากจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ชัดเจนว่า จะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตร อีกครั้ง หรือจะวางบทบาทเป็นฝ่ายค้านอิสระ

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ตกอยู่ท่ามกลางการจับตามองของหลายฝ่ายเกี่ยวกับจุดยืนดังกล่าว เนื่องจากเป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งเพิ่งจัดงานครบรอบ 73 ปีของการก่อตั้งพรรคไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา รวมถึงจุดยืนระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ขณะนั้น ได้ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจ ขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อ นายอภิสิทธิ์ ลาออก จากหัวหน้าพรรคแล้ว คำมั่นสัญญาดังกล่าวจะหมดไปกับนายอภิสิทธิ์ หรือจะยังผูกพัน เป็นอุดมการณ์คู่กับพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่อย่างไร

เรื่องนี้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกนำโดย นายถาวร เสนเนียม ว่าที่ส.ส.สงขลา ซึ่งแนบแน่นกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขา กปปส.และผู้สนับสนุนพรรครวมพลังประชาชาติไทย เปิดตัวเคลื่อนไหวรวบรวมสมาชิกสาย กปปส.หนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า เพราะต้องการยืนตรงกันข้ามกับระบอบทักษิณ

ขณะที่อีกฝ่าย คือกลุ่ม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคและนายอภิสิทธิ์ รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรค “นิวเด็ม” (New Dem) ต่างต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้านอิสระ เนื่องจากประเมินว่า ในสภาวะการเมืองในปัจจุบัน หากประชาธิปัตย์ต้องการความนิยมกลับคืนมา พรรคต้องแสดงบทบาทในการตรวจสอบมากกว่าไปเป็นฝ่ายบริหาร

ความเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าว ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งบอบช้ำมาจากการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ต้องระส่ำหนักเข้าไปอีก และมีแนวโน้มที่เกิดงูเห่าขึ้นในพรรคสูง ทางแกนนำพรรคบางส่วนพยายามหาทางออกเพื่อดับวิกฤติ เช่นตั้งเงื่อนไขกับพรรคพลังประชารัฐ ขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียงตำแหน่งเดียวให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค แลกกับการไม่รับเก้าอี้รัฐมนตรี เพื่อให้เสียงโหวตของพรรคเป็นเอกภาพ ซึ่ง นายบัญญัติ ได้ออกมาปฏิเสธว่าเป็นข่าวปล่อย

ล่าสุด ข้อเสนอเรื่องการตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" ที่กลายเป็นหมัน เมื่อพรรคการเมืองที่เป็นแกนของแต่ละขั้วออกมาคัดค้านโดยเฉพาะฝ่ายสนับสนุนบิ๊กตู่เป็นนายกฯถึงกับออกมาบอกว่าข้อเสนอนี้เป็นเกมขจัดบิ๊กตู่ออกจากเส้นทางนายกฯ จน นายเทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ส.ส.นครศรีธรรมราช ผู้เสนอแนวคิดดังกล่าว รีบออกมาชี้แจงว่า เป็นเพียงข้อเสนอส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตามในทางการเมือง แม้เวลานี้ พรรคประชาธิปัตย์ ถูกจัดรวมอยู่ในฝ่ายหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไปล่วงหน้าแล้ว ทว่า กลุ่มนายชวน นายอภิสิทธิ์ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยังสงวนท่าที เพราะไม่ต้องการร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมในพรรคมาก จึงพยายามใช้เวลาใช้กลไกของพรรคในการแก้ปัญหา คือให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ชี้ขาด ก่อนให้ที่ประชุมส.ส.ให้ความเห็นชอบอีกที ตามข้อบังคับพรรค

ประเด็นที่ต้องจับตา คือการเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่(กก.บห.) แทนชุดเดิมที่ต้องพ้นสภาพเพราะนายอภิสิทธิ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค ซึ่งจะมีขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)รับรองผลการเลือกตั้งส.ส.วันที่ 9 พ.ค.ก่อน ซึ่งแน่นอนว่า เวลานี้ ต่างฝ่ายต่างเคลื่อนไหวเพื่อช่วงชิงที่นั่งในกรรมการบริหารพรรคถึง 41 ที่นั่ง โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กับ นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นคู่ชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค

เมื่อสำรวจตรวจสอบขุมข่ายกำลังในพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้ "จุรินทร์"เหนือกว่า"กรณ์" โดยเบื้องต้นองค์ประชุม ประกอบด้วย กก.บห.ชุดปัจจุบัน อดีต กก.บห. อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี ส.ส.ปัจจุบัน อดีต ส.ส. อดีตประธานสาขาพรรครวมถึงสมาชิกพรรคที่เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมโหวตเตอร์ กว่า 300 คน ซึ่งตามข้อบังคับ กก.บห.ชุดรักษาการณ์ จะต้องมากำหนดน้ำหนักในการโหวตเป็นเปอร์เซ็นในแต่ละส่วนของโหวตเตอร์อีก

ทั้งนี้โหวตเตอร์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นชุดเดิมที่เคยเลือก นายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค รวมถึงกก.บห. เมื่อวันที่ 11พ.ย.2561 ซึ่งครั้งนั้นปรากฎว่า สาย กปปส.ที่นำโดยนายถาวร และน.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ถูกล้างบาง ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ นายถาวร พยายามจับขั้ว หนุนนายกรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค จึงถูกมองว่า เป็นฝ่ายหนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯไปโดยปริยาย ทำให้ฝ่ายขั้วอำนาจเดิมในพรรค ตัดสินใจหนุน นายจุรินทร์ อย่างเต็มที่

ขณะที่ทางกลุ่มนายถาวร ยังมีช่องทางให้สู้ได้อีก หากพ่ายแพ้ในเวทีกรรมการบริหารพรรค นั้นคือเวที ที่ประชุมส.ส.ของพรรค ซึ่งเบื้องต้นมี 53 เสียง ซึ่งส่วนใหญ่ในเวลานี้ อยากเข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตามขั้นตอนตามข้อบังคับพรรค ในการมีมติเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค 41 คน จะต้องลงมีมติก่อนว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล จากนั้นนำเข้าที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคและส.ส.ให้ความเห็นชอบ ซึ่งต้องใช้เสียงส่วนใหญ่

ถึงนาทีนี้เสียงของทั้งสองฝ่ายยังก้ำกึ่ง จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ จึงยังเป็นไปได้ทุกทางทั้งเข้าร่วม ไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับบิ๊กตู่ รวมถึงการเป็นงูเห่า

สำหรับรายชื่อว่าที่ ส.ส.ปชป.เบื้องต้น 52 คน แบ่งเป็นส.ส.เขต33คนประกอบด้วย 1. นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ จ.ตาก 2. นายวุฒิพงษ์ นามบุตร จ.อุบลราชธานี 3.น.ส.แนน บุณย์ธิตา สมชัย จ.อุบลราชธานี 4.นายสาธิต ปิตุเตชะ จ.ระยอง 5.นายบัญญัติ เจตนจันทร์ จ.ระยอง 6.นายธารา ปิตุเตชะ จ.ระยอง 7.น.ส.รังสิมา รอดรัศมี จ.สมุทรสงคราม 8.นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ จ.ราชบุรี 9. พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร จ.นครปฐม 10.นายอันวาร์ สาและ จ.ปัตตานี 11.นายมนตรี ปาน้อยนนท์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 12. นายประมวล พงศ์ถาวรา จ.ประจวบคีรีขันธ์ 13. นายเทพไท เสนพงศ์ จ.นครศรีธรรมราช 14.นายประกอบ รัตนพันธ์ จ.นครศรีธรรมราช 15.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ จ.นครศรีธรรมราช 16. นายชัยชนะ เดชเดโช จ.นครศรีธรรมราช 17.น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล จ.นครศรีธรรมราช

18. นายนริศขา นุรักษ์ จ.พัทลุง 19.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย จ.ตรัง 20.น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ จ.ตรัง 21.นายชุมพล จุลใส จ.ชุมพร 22.นายสราวุธ อ่อนละมัย จ.ชุมพร 23.นางกันตวรรณ ตันเถียร จ.พังงา 24.นายสาคร เกี่ยวข้อง จ.กระบี่ 25.นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ จ.สุราษฎร์ธานี 26.นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี จ.สุราษฎร์ธานี 27.น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ จ.สุราษฎร์ธานี 28.นายสมชาติ ประดิษฐพร จ.สุราษฎร์ธานี 29.นายสินิตย์ เลิศไกร จ.สุราษฎร์ธานี 30.นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ จ.สุราษฎร์ธานี 31.นายเดชอิศม์ ขาวทอง จ.สงขลา 32 นายถาวร เสนเนียม จ.สงขลา 33. พ.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ จ.สงขลา

ขณะที่ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 19 คน ประกอบด้วย 1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2. นายชวน หลีกภัย 3. นายบัญญัติ บรรทัดฐาน 4. นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ 5. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 6. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ 7. นายกรณ์ จาติกวณิช 8. นายจุติ ไกรฤกษ์ 9. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ 10.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู11. นายอิสสระ สมชัย 12. นายอัศวิน วิภูศิริ 13. นายเกียรติ สิทธีอมร 14. นายกนก วงษ์ตระหง่าน 15. นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ 16. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 17.นายพนิต วิกิตเศรษฐ์18. นายอภิชัย เตชะอุบล 19. นายวีระชัย วีระเมธากุล