posttoday

การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยของไทย: ตั้งไข่ได้ หรือ ล้มเหลว ?

05 เมษายน 2562

สังคมไทยไม่ควรปล่อยให้“มีแรงกดดันจากกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้กลับของกระแสอำนาจนิยมเผด็จการ

ถ้าเอาแต่จะเป็นกองเชียร์กันสุดลิ่มทิ่มประตู เราคงมีทางเลือกแค่สองทางระหว่าง ก้าวไปสู่ความสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ หรือ กลับไปสู่สังคมอำนาจนิยมอีก และก็จะวนเวียนกันอยู่เป็นวงจรอุบาทว์เช่นนี้ ไม่ได้ผุดได้เกิดกับเขาเสียที

********************

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


นักวิชาการตะวันตกที่ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่จะช่วยให้สังคมหนึ่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นได้สรุปประเด็นไว้อย่างน่าสนใจที่เราควรจะนำมาพิจารณาเพื่อประเมินสถานการณ์การเมืองที่กำลังครุกรุ่นขณะนี้

เริ่มจาก Rustow เสนอว่าปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จำเป็นหนึ่งเดียวในการทำให้ประเทศประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย คือ ปัจจัยความเป็นเอกภาพของชาติ (national unity)เท่านั้น

นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากการปกครองภายใต้ระบอบอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยคือ ความเห็นพ้องต้องกันในหมู่ชนชั้นนำ และความเห็นพ้องต้องกันที่ว่านี้ก็คือ การยอมรับกติกาต่างๆ ใหม่ร่วมกัน

คำถามที่ควรถามคือ สังคมไทยมีเอกภาพของความเป็นชาติหรือไม่ ? และชนชั้นนำเห็นพ้องต้องกันกับกติกาที่กำลังใช้ร่วมกันขณะนี้มากน้อยแค่ไหน ?

Terry Karlเห็นว่า “เราไม่สามารถมีประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพได้ หากในช่วงเปลี่ยนผ่าน มวลชนสามารถควบคุมเหนือชนชั้นปกครองเดิมแม้แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม”

ต่อประเด็นนี้ กล่าวได้ว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา สังคมไทยไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าว เหตุผลที่ Karl กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ พลังมวลชนมีความสำคัญต่อการโค่นล้มเปลี่ยนแปลง แต่หากไม่สามารถควบคุมมวลชนให้อยู่ในขอบเขต สังคมก็จะเข้าสู่สภาวะอนาธิปไตย

Myron Weiner เห็นว่า “แรงกดดันจากกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายมักจะทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยล้มเหลว เพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าวมักจะยั่วยุให้เกิดกระแสอำนาจนิยมเผด็จการ”ต่อเงื่อนไขดังกล่าวนี้ พบว่า สถานการณ์ทางการเมืองไทยขณะนี้น่าจะเข้าข่ายอยู่นั่นคือ ปฏิกิริยาระหว่างกองทัพกับนักการเมืองพรรคอนาคตใหม่

Samuel Huntington เห็นว่า “โดยส่วนใหญ่ ระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนไม่ได้เกิดจากการสถาปนาโดยพลังมวลชน”เพราะการสถาปนาจัดตั้งจำเป็นต้องกระทำผ่านคณะบุคคล ข้อสรุปของ Daniel Levine ชี้ว่า บทเรียนที่ประจักษ์ชัดเจนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาคือ “การเปลี่ยนผ่านในลักษณะอนุรักษ์นิยมจะอยู่ยั้งคงทนมากกว่า”


ขณะเดียวกัน แม้ว่า Rueschemeyerจะเชื่อว่า ประชาธิปไตยจะเกิดได้จากการขับเคลื่อนของ พลังชนชั้นแรงงาน แต่เขาก็ยังเห็นว่า กลุ่มพลังมวลชนที่สุดโต่งมีแนวโน้มสูง “ที่จะนำมาซึ่งปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยที่เข้มแข็งทรงพลัง”

Juan Linz และ Larry Diamond กล่าวถึงหลายประเทศในละตินอเมริกาว่า “ถ้าเริ่มต้นโดยชนชั้นนำทางการเมืองเลือกการก้าวไปสู่ประชาธิปไตย....ก็จะเกิดกระแสค่านิยมประชาธิปไตยเกิดขึ้นตามมาในสาธารณะทั่วไป”ซึ่งก็คล้ายๆกับที่ Rustow ได้กล่าวถึงปัจจัยเรื่องชนชั้นนำ

ขณะที่ งานของ Robert Kaufman ที่ชี้ว่า ในการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย “แรงกดดันจากข้างล่าง (ในที่นี้หมายถึงมวลชน) เป็นพลังปัจจัยร่วมที่มีค่าต่ำสุด และขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดการผนึกกำลังรวมตัวกันภายในกลุ่มอำนาจนิยม-ข้าราชการ”ซึ่งทัศนะของ Kaufman และนักวิชาการทั้งหลายที่กล่าวไปข้างต้นบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงนัยสำคัญที่ว่า “หากจะให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จ แรงกดดันจากมวลชนจะต้องมีลักษณะที่ปานกลางไม่รุนแรง (moderation)”

และแน่นอนว่า ปัจจัยเรื่องกระแสมวลชนขาดไม่ได้ แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอีกทั้งยังสามารถเป็นอุปสรรคได้ด้วย แม้ว่าข้อสังเกตดังกล่าวนี้จะฟังไม่เสนาะหูสำหรับนักขับเคลื่อนฝูงชน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็มีเหตุผลอยู่ไม่น้อย

ขณะที่ Nancy Bermeo เห็นต่างจากนักวิชาการข้างต้น เธอยกตัวอย่างกรณีประเทศโปรตุเกสและสเปนมาโต้แย้ง และชี้ว่า ในกรณีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของทั้งสองประเทศนี้หักล้างกรอบคิดข้างต้นเกือบจะทั้งหมด เพราะกระแสมวลชนที่รุนแรง (จนถึงนองเลือด) ต่างหากที่นำไปสู่ประชาธิปไตย ขณะที่กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองเดิมก็ไม่ยอมเสี่ยงที่จะยื้อหรือต้านกระแสมวลชนจนเกินไป

จากที่กล่าวไปข้างต้น ถ้าเชื่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ Nancy Bermeo สังคมไทยไม่ควรปล่อยให้“มีแรงกดดันจากกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้กลับของกระแสอำนาจนิยมเผด็จการ”

คำว่ามากเกินไปนี้ต้องพึงพิจารณาในเชิงสัมพัทธ์ จะไปใช้เกณฑ์ของสังคมตะวันตกหรือสังคมอื่นไม่ได้ เพราะบางที การตอบโต้ของฝ่ายอนาคตใหม่จะดูไม่รุนแรงหรือเกินไปตามมาตรฐานตะวันตก ขณะเดียวกัน เราอาจกล่าวได้ว่า แรงกดดันจากฝ่ายซ้ายที่มากเกินไปนี้อาจจะไปเร่งปฏิกิริยาให้มีการผนึกกำลังรวมตัวกันภายในกลุ่มอำนาจนิยม-ข้าราชการได้อีกด้วย

คำว่า ซ้าย ในที่นี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เพราะคำว่า ซ้าย หรือ ขวา ในแต่ละบริบทการเมืองของแต่ละสังคมในช่วงเวลาต่างๆกันก็มีนัยและจุดยืนที่ต่างกันไป

ที่สำคัญขณะนี้ ปัจจัยที่จะช่วยลดดีกรีความรุนแรงและปฏิกิริยาที่ว่านี้คือ บรรดากลุ่มชนชั้นนำหรือนักการเมืองพรรคต่างๆที่ต้องการจะเห็นสังคมไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นจะต้องช่วยกันเป็นสิ่งแวดล้อมที่ลดทอนความร้อนแรงในขณะนี้ รวมทั้งสื่อมวลชนเองก็จะต้องระมัดระวังที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้วย

และถ้าผู้คนในสังคมไทยเล็งเห็นตามข้อสรุปจากการศึกษาของนักวิชาการที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว จะต้องไม่สนับสนุนทั้งฝ่ายซ้ายหรือกองทัพให้มีปฏิกิริยาต่อกันที่รุนแรงจนเกินไป

แต่ถ้าเอาแต่จะเป็นกองเชียร์กันสุดลิ่มทิ่มประตู เราคงมีทางเลือกแค่สองทางระหว่าง ก้าวไปสู่ความสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ หรือ กลับไปสู่สังคมอำนาจนิยมอีก และก็จะวนเวียนกันอยู่เป็นวงจรอุบาทว์เช่นนี้ ไม่ได้ผุดได้เกิดกับเขาเสียที