posttoday

ศึกชิงดำเก้าอี้นายกฯ "เจ๊หน่อย"ปะทะ"ลุงตู่"

22 มีนาคม 2562

เหลืออีกเพียงสองวันเท่านั้นจะถึง วันเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ตามกำหนดการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองในช่วง 100 เมตรสุดท้าย

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เหลืออีกเพียงสองวันเท่านั้นจะถึง วันเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ตามกำหนดการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองในช่วง 100 เมตรสุดท้ายจะเห็นได้ว่าอัดแน่นกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ 4 พรรคการเมืองกระแสแรงตอนนี้

พรรคเพื่อไทย เตรียมเปิดเวทีปราศรัยปิดการหาเสียงในวันที่ 22 มี.ค.ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ "เลือกเพื่อไทยให้ถล่มทลาย เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล" เรียกได้ว่าจัดหนักจัดเต็มเพื่อช่วงชิงคะแนนจากประชาชน

พรรคประชาธิปัตย์ จัดหนักไม่แพ้กัน โดยใช้พื้นที่ลานคนเมืองเป็นพื้นที่ปราศรัย เพื่อประกาศความเป็นผู้นำในการเป็นพรรคดวงใจของคนเมืองหลวง และขอโอกาสจากคนพื้นที่เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้มีเสียงข้างมากพอสำหรับการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

พรรคพลังประชารัฐ ใช้สนามเทพหัสดิน เป็นพื้นที่สุดท้ายของพรรค ที่สำคัญจะมีการโชว์ความเหนือด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณไปยังเวทีปราศรัยในต่างจังหวัดด้วย นอกจากนี้ พรรคยังเตรียมเซอร์ไพรส์ชุดใหญ่ด้วย นอกเหนือไปจากการเปิดคลิปการอ้อนขอคะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ส่วนพรรคการเมืองน้องใหม่กระแสไม่ตกอย่าง "พรรคอนาคตใหม่" ก็ไม่พลาดการตั้งเวทีปราศรัยเช่นกัน โดยใช้อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เป็นพื้นที่ประกาศชัยชนะ

เรียกได้ว่าวันที่ 22 มี.ค.เป็นวันศุกร์แห่งชาติก็คงไม่ผิดนัก

ตลอดเวลากว่า 2 เดือนของการหาเสียงเลือกตั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองมากมาย โดยเฉพาะช่วงเวลาของการเปิดให้ส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคกาwรเมือง ที่นำมาซึ่งการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

แคนดิเดตนายกฯ รอบนี้แม้จะมากหน้าหลายตา แต่ต้องยอมรับว่าที่สุดแล้วในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ เหลือม้าแข่งที่กำลังวัดฝีเท้ากันแค่ 2 ตัวเท่านั้น คือ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" จากพรรคเพื่อไทย และ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" จากพรรคพลังประชารัฐ

จุดแข็งของคุณหญิงสุดารัตน์ในการเลือกตั้ง คือ การปรับเปลี่ยน ตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ และนโยบายพรรคที่ปล่อยออกมาในช่วงโค้งสุดท้าย

ภาพลักษณ์ของคุณหญิงสุดารัตน์ในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่ จะเป็นไปในลักษณะของนักการเมืองหญิงผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง และเคยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาก่อน ถ้าจะบอกว่าคุณหญิงสุดารัตน์เป็นหนึ่งในนักการเมืองรุ่นเก่าก็คงไม่ผิดนัก

แต่เมื่อกระแสเรียกร้องเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่กลายเป็นกระแสหลักของการเมืองในเวลานี้ ทว่าคุณหญิง สุดารัตน์ สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นนักการเมืองขวัญใจวัยรุ่นไปได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการไปร่วมเวทีด้วยตัวเองของหลายสถาบันการศึกษา รวมทั้งกระแสความนิยมของสังคมที่ต่อลูกสาวของคุณหญิงสุดารัตน์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสความชื่นชอบในตัว ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อีกหนึ่งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ยิ่งชัชชาติกระแสดีเท่าไร คุณหญิงสุดารัตน์ก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย

จึงอย่าได้แปลกใจว่าทำไมคะแนนความนิยมของคุณหญิงสุดารัตน์ ยังคงติดกลุ่มผู้นำอยู่แบบแรงไม่ตก

มากันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งครองความเป็นเต็งหนึ่งอย่างยาวนาน ความได้เปรียบหลักของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ การยังอยู่ในตำแหน่งนายกฯ โดยมีอำนาจครบสมบูรณ์ 100% ยิ่งกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

พรรคพลังประชารัฐเองก็พยายามนำจุดเด่นตรงนี้มาต่อยอดเป็นแนวทางในการหาเสียง ดังจะเห็นได้จากการเริ่มปล่อย วาทกรรม "เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่"

ทั้งนี้ เป็นการพยายามเล่นกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่กำลังผวาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ บ้านเมืองสงบหรือไม่ จึงทำให้พรรคพลังประชารัฐปล่อยของด้วยการยืนยันว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ อีกครั้ง บ้านเมืองสงบไร้ม็อบการเมืองแน่นอน

แต่อีกมุมหนึ่งพรรคก็มีข้อเสียเปรียบอยู่ไม่น้อย เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ยอมขึ้นเวทีดีเบต ซึ่งอาจเป็นข้อด้อยเล็กๆ ที่สำคัญ เพราะคนที่เข้ามาอาสาเป็นนายกฯ แต่กลับไม่ยอมขึ้นเวทีดีเบต อาจจะไม่ได้ใจประชาชนเต็มที่เท่าใดนัก

ขณะที่โอกาสเข้ามาเป็นตัวสอดแทรกของทั้ง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อาจจะมีอยู่บ้างแต่ยังมีความเป็นไปได้น้อยพอสมควร

ในกรณีของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อย่างที่ทราบกันดีกว่าฐานหลักอยู่ที่ กทม.และภาคใต้ แต่สำหรับภาคเหนือและอีสาน ซึ่งมี สส.รวมกันเกือบ 200 คน พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่สามารถสร้างโอกาสให้กับตัวเองได้มากเท่าใดนัก

ส่วนหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แม้จะได้กระแสตอบรับจากวัยรุ่นและคนมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่เป็นกลุ่มฐานเสียงขนาดใหญ่ แต่ยังมีคำถามว่ากระแสที่แรงอยู่นั้น จะสามารถแปรออกเป็นคะแนนเลือกตั้งในวันเลือกตั้งจริงได้หรือไม่

ด้วยเหตุนี้ 24 มี.ค.จึงเป็นการวัดกันระหว่าง "เจ๊" กับ "ลุง" ใครจะเข้าเส้นชัยก่อนกัน