posttoday

เลือกตั้งล่วงหน้าวุ่นสัญญาณเตือนโมฆะ

19 มีนาคม 2562

การเลือกตั้งล่วงหน้าที่เกิดขึ้น ได้ก่อให้เกิดเสียงท้วงติงมายัง "กกต." เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาการจัดการเลือกตั้งหลายประการ

การเลือกตั้งล่วงหน้าที่เกิดขึ้น ได้ก่อให้เกิดเสียงท้วงติงมายัง "กกต." เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาการจัดการเลือกตั้งหลายประการ

********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ผ่านไปแล้วสำหรับยกแรกของการเลือกตั้ง ภายหลังเสร็จสิ้น การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในแง่ของตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง น่าจะทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ป้ายแดงทุกคนยิ้มหน้าบานได้พอสมควร

ยกตัวอย่างแค่ใน กทม. เมืองหลวงของประเทศไทย ปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิถึง 810,306 คน คิดเป็น 87.22% จากคนที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิล่วงหน้าไว้ทั้งสิ้น 929,061 คน

จากตัวเลขที่เกิดขึ้น จึงไม่แปลกที่จะเกิดภาพที่มีคนไปเข้ารอใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมากนานนับชั่วโมงในบางพื้นที่ ซึ่งอาจแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าคนไทยตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างมากพอสมควร หลังจากประเทศเว้นว่างการเลือกตั้งมานานกว่า 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ที่การเลือกตั้งครั้งนั้นต้องตกเป็นโมฆะ ทำให้ถ้าจะนับกันจริงๆ ประเทศไทยก็ว่างจากการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2554 เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งล่วงหน้าที่เกิดขึ้น ได้นำมาซึ่งเสียงท้วงติงที่พุ่งตรงไปยัง กกต.ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัญหาการจัดการเลือกตั้งที่มีความบกพร่องหลายประการ

1.การติดชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองไม่ตรงกับเขตเลือกตั้ง

2.แจกบัตรเลือกตั้งผิดเขต ซึ่งในกรณีนี้เป็นปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งหลายคนพบเจอปัญหาเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อได้รับบัตรเลือกตั้งมาจากเจ้าหน้าที่และเห็นว่าบัตรเลือกตั้งที่ตัวเองได้ไม่ตรงกับเขตเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ทางเจ้าหน้าที่ก็ยังยืนยันให้ประชาชนลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งดังกล่าว

3.ไม่มีอุปกรณ์พิมพ์ลายนิ้วมือ ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งจะต้อง เตรียมไว้ให้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสวมสิทธิเลือกตั้ง

4.บางเขตเลือกตั้งไม่มีรายชื่อผู้สมัคร สส.ให้ประชาชนได้ตรวจสอบ นับเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เนื่องจากการเลือกตั้งใช้วิธีการลงคะแนนแบบใหม่ ประกอบกับไม่ได้เป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียวเหมือนที่ผ่านมา เมื่อไม่มีรายชื่อผู้สมัคร สส.ให้ประชาชนตรวจสอบก่อน แน่นอนว่ามีความเป็นไปได้ที่การลงคะแนนของประชาชนอาจไม่ตรงเจตนารมณ์

5.การใช้ลังกระดาษแทนคูหาเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรก่อนหน้านี้ ภายหลัง กกต.จัดเตรียมคูหาเลือกตั้งไม่เพียงพอต่อประชาชนที่จะมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ปัญหาที่เกิดขึ้น แม้แต่ กกต.เองก็ออกมายอมรับข้อผิดพลาด เช่นเดียวกับรัฐบาลที่แสดงท่าทีว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข

"เมื่อผิดพลาดก็ต้องแก้ไขกันไป เพราะใหม่ด้วยกันทั้งนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเราว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน เจ้าหน้าที่ก็อาจจะงงๆ ประชาชนก็ยังงงอยู่ด้วยเหมือนกัน" วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอาจจะไม่ได้จบลงตรงที่การยอมรับผิด หรือการรับปากว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไข เนื่องจากปลายทางของปัญหานี้อาจนำไปสู่การแก้ของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือที่เรียกว่า "เลือกตั้งโมฆะ"ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะมาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 เวลานั้นผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ การจัดคูหาแบบใหม่ของ กกต.ในเวลานั้น มีผลให้การลงคะแนนของประชาชนไม่เป็นไปโดยลับหรือไม่

จากประเด็นนี้เองศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดวางคูหาลักษณะดังกล่าวของ กกต.ไม่ถูกต้อง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ อันมีผลให้เป็นการจัดการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในที่สุด

"รูปแบบการจัดคูหาเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549...อยู่ในวิสัยที่สามารถมองเห็นการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ การจัดคูหารูปแบบใหม่นี้ จึงมีผลทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว ไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ" เหตุผลส่วนหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญ

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 2557 ประเด็นที่มีผลให้การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ การไม่จัดการเลือกตั้งให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นเหตุผลที่แตกต่างออกไปจากปี 2549

สำหรับการเลือกตั้งปี 2562 จากภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเริ่มทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะนำไปสู่การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่

โดยเฉพาะในประเด็นการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งที่ตัวเองไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งดังกล่าว

รัฐธรรมนูญวางหลักการให้การเลือกตั้งที่ชอบด้วยกฎหมายต้องประกอบด้วย 1.ต้องเป็นการเลือกตั้งโดยตรง และ 2.ต้องเป็นการเลือกตั้งโดยลับ

แต่คำถามปลายเปิดตัวใหญ่กำลังเกิดขึ้นว่าการบริหารจัดการของ กกต.ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรจนมาถึงการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งล่าสุด เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญหรือไม่

อีกไม่นานคงมีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็น "นักร้อง" ทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่ทำงาน และการเมืองอาจต้องไปตัดสินกันที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง