posttoday

เดดล็อกหลังเลือกตั้ง "งูเห่า" พรึ่บสภา

18 มีนาคม 2562

จุดยืนและเงื่อนไขการจับมือร่วมตั้งรัฐบาลที่พรรคการเมืองประกาศออกมา ทำให้โอกาสที่จะเกิดสุญญากาศ ไม่มีพรรคไหนรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้จึงเป็นไปได้สูง

จุดยืนและเงื่อนไขการจับมือร่วมตั้งรัฐบาลที่พรรคการเมืองประกาศออกมา ทำให้โอกาสที่จะเกิดสุญญากาศ ไม่มีพรรคไหนรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้จึงเป็นไปได้สูง

***************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประเมินทิศทางจากท่าทีและจุดยืนของแต่ละพรรคการเมืองที่ประกาศกันออกมาก่อนหน้านี้ ตลอดจนเงื่อนไขการจับมือร่วมเป็นพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลในช่วงเวลาที่ผ่านมา โอกาสที่การเมืองจะเดินหน้าไปถึงทางตันไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งสามารถรวมเสียงเพียงพอจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

โดยเฉพาะกับกฎกติกาใหม่ซึ่งมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ 250 สว.เฉพาะกาล อันมีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้ามามีบทบาทร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ว่ากันว่าจะทำให้ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปสู่ทางตันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ยิ่งในสภาพบรรยากาศการเมืองที่แบ่งออกเป็น 3 ขั้วชัดเจน ได้แก่ฝั่งพรรคเพื่อไทยและพันธมิตร อันประกอบไปด้วย พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เตมียเวส และพรรคประชาชาติของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา และพรรคอนาคตใหม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

2.ฝั่งพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทยที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง และพรรคประชาชนปฏิรูปของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เปิดหน้าประกาศตัวชัดเจน

และ 3.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งล่าสุดประกาศจุดยืนชัดเจน ไม่สนับสนุนทั้งฝั่ง “ทุจริต” และ “สืบทอดอำนาจ” ซึ่งด้านหนึ่งกลายเป็นการโดดเดี่ยวตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้สถานะของพรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นขั้วที่ 3 ขึ้นมาอย่างชัดเจน

ต่างจากเดิมที่มองกันว่าประชาธิปัตย์จะเป็นเพียงแค่ตัวแปรทางการเมือง ที่จะไปสนับสนุนเพิ่มโอกาสให้ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเป็นรัฐบาลเท่านั้น ดังจะเห็นว่าที่ผ่านมามีความพยายามบีบให้ประชาธิปัตย์เร่งแสดงความชัดเจนว่าจะเลือกอยู่ฝั่งใดเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจของประชาชนที่จะออกมาใช้สิทธิ

ไม่ว่าจากฝั่งเพื่อไทยเองที่พยายามเรียกร้องให้ประชาธิปัตย์แสดงความชัดเจน อีกด้านหนึ่ง สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ขึ้นเวทีปราศรัยดักคอ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคอาจไปจับมือกับเพื่อไทยตั้งรัฐบาลหากได้เสียงสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี

แม้กระทั่ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ส่งสัญญาณไม่เห็นด้วยกับการประกาศท่าทีของ อภิสิทธิ์ ว่า เป็นการพูดเร็วเกินไปหรือไม่ เพราะอย่างที่รู้ว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันออกแบบมาเพื่อให้มีรัฐบาลผสมและยังเป็นการผสมของพรรคแกนหลัก ซึ่งขณะนี้ก็พอเดาคะแนนได้

“แต่การที่ออกมาบอกว่า ซ้ายก็ไม่เอา ขวาก็ไม่เอา ต้องมีผมคนเดียว ทำให้นักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่ง ญี่ปุ่น จีน และนักลงทุนทั้งหลาย ที่พอบวกเลขเป็นก็จะรู้ว่า แล้วจะตั้งรัฐบาลได้อย่างไร แล้วจะทำให้การเมืองถึงทางตันหรือไม่ พูดทำไม คิดในใจก็พอ ควรไปพูดเรื่องนโยบายดีกว่ามั้ย หรือไม่มีนโยบายอะไรที่จะพูด ไม่มีใครที่อยากเป็นรัฐบาลตลอดชาติหรอก”

จากจุดยืนของประชาธิปัตย์ ที่เสนอตัวเป็นอีกทางเลือกพร้อมเหตุผลสนับสนุนว่าการที่ประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อจะได้สามารถผลักดันนโยบายที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ให้สำเร็จลุล่วงไม่มีปัญหาในภายหลัง จึงถูกมองว่าอาจเป็นการบีบให้ทุกอย่างเดินไปสู่ทางตัน

เมื่อในทางปฏิบัติต่อให้พรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากแต่ไม่มากเพียงพอ เพราะระบบเลือกตั้งใหม่มีแนวโน้มที่พรรคซึ่งได้จำนวน สส.เขต มาก ย่อมจะทำให้ได้ สส.บัญชีรายชื่อน้อยลง ดังนั้นเมื่อได้เสียงชนะไม่ถล่มทลายการจะเป็นการนำจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นไปได้ยาก

ต่อให้ได้เสียงประมาณ 200 เสียง แต่หากไม่มีเสียงสนับสนุนจาก 250 สว. และเสียงสนับสนุนจากประชาธิปัตย์การจะรวมเสียงเพื่อให้ได้ถึง 376 เสียง ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

ไม่ต่างจากฝั่งพรรคพลังประชารัฐ แม้จะได้เสียงเป็นอันดับสองหรืออันดับสาม และมีเสียงสนับสนุนจาก 250 สว. แต่หากไม่ได้เสียงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ ย่อมไม่อาจตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพเกิน 250 เสียง ในสภาผู้แทนแทนราษฎรได้

ส่วนประชาธิปัตย์ซึ่งไม่มีอะไรจะต้องเสีย ถึงขั้นประกาศพร้อมเป็นพรรคฝ่ายค้านล่วงหน้า การจะให้พรรคพลังประชารัฐทิ้งเป้าหมายภารกิจสำคัญอย่างการผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ และหันมาสนับสนุน อภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ แทนเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้นั้น ก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่พรรคพลังประชารัฐสามารถยอมได้

สุดท้ายหลังการเลือกตั้งโอกาสที่จะเกิดสภาพสุญญากาศ ไม่มีพรรคไหนรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้จึงเป็นไปได้สูง ทางออกจึงอยู่ที่การหว่านล้อมจูงใจและยื่นข้อเสนอเพื่อหาเสียงมาสนับสนุนขั้วของตัวเองให้สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่เมื่อจุดยืนของทั้ง 3 ขั้ว ค่อนข้างชัดเจนแล้ว การจะยกแพ็กไปสนับสนุนฝั่งใดฝั่งหนึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ทางออกที่พอจะเป็นไปได้คือการเจาะดึง สส.เป็นรายบุคคล เพื่อให้มาช่วยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะถือเป็นเอกสิทธิของ สส.แต่ละคนที่จะใช้วิจารณญาณของตัวเอง

ปรากฏการณ์ “งูเห่า” ซึ่งแม้จะไม่ใช่วิถีทางที่ควรจะเป็นในยุคปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะหากเกี่ยวข้องกับเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ อันจะทำให้การเมืองวนกลับไปสู่วังวนเดิมๆ แต่ก็อาจเป็นทางออกเพียงไม่กี่ทางที่จะพาการเมืองให้เดินหน้าต่อไปได้ในวันที่ทุกอย่างกำลังจะเดินหน้าไปสู่ทางตันไร้หนทางเดินต่อไป ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะคุมเสียง และหาเสียงสนับสนุนได้มากกว่ากัน